เทรนด์ Wellness hour โตแรงทั่วโลก นายจ้างดูแลสุขภาพลูกจ้าง ได้ผลดี Win-Win
สุขภาพพนักงานต้องมาก่อน เทรนด์ Wellness hour โตแรงทั่วโลก นายจ้างลูกจ้างได้ประโยชน์แบบ Win-Win ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความตระหนักรู้ด้านสุขภาพของวัยทำงานรุ่นใหม่ พวกเขาจะไม่ยอมจ่ายค่ารักษาเบิร์นเอาท์อีกต่อไป
KEY
POINTS
- เทรนด์ Wellness hour มาแรงและเติบโตสูงทั่วโลก ทั้งนายจ้างลูกจ้างได้ประโยชน์แบบ Win-Win รายงาน Year in Review Trends 2024 เผย องค์กรทั่วโลกกำลังมุ่งสู่เป้าหมายมีพนักงานที่สุขภาพดี
- “ชั่วโมงแห่งสุขภาพ (Wellness hour)” กลายเป็น Happy hour รูปแบบใหม่ในที่ทำงาน โดยวันอังคาร เวลา 18.00 น. เป็นช่วงเวลาคนทั่วโลกทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพมากที่สุด
- พนักงานบริษัทยุคใหม่ พวกเขามีทัศนคติที่ดีต่อการดูแลสุขภาพมากขึ้น ให้ความสำคัญกับโภชนาการ และสร้างนิสัยที่ดีต่อสุขภาพกาย-สุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้น
เหลือเวลาอีกไม่กี่วันก็จะต้องโบกมือลาปี 2024 และก้าวสู่ปีใหม่ 2025 ที่กำลังใกล้เข้ามา หนึ่งในเทรนด์ของโลกการทำงาน-วัฒนธรรมองค์กรที่คาดว่าจะมาแรงในปีหน้า และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ “Wellness hour” หรือเทรนด์ชั่วโมงแห่งสุขภาพ ที่จะเข้ามาทดแทน “Happy hour” แบบเดิมๆ
เทรนด์ดูแลสุขภาพที่ได้รับความนิยมมากขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความตระหนักรู้เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพของวัยทำงานรุ่นใหม่ พวกเขาจะไม่ยอมจ่ายค่าหมอค่ายาเพื่อรักษา “ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout)” จากการทำงานหนักอีกต่อไป มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นที่สนับสนุนว่า วัยทำงานที่มีความสุขคือวัยทำงานที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและสุขภาพจิตใจที่ดี
อีกทั้งงานวิจัยล่าสุดจาก British Journal of Sports Medicine ก็เน้นย้ำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงอันทรงพลังระหว่างการออกกำลังกายและการมีอายุยืนยาว โดยผลการวิจัยพบว่าการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการยืดอายุขัยและลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง
ดร.ซาจาด ซัลซาลา ผู้นำด้านเวชศาสตร์อายุยืนและผู้ก่อตั้งร่วมของ AgelessRx ยึดถือหลักการนี้เป็นประจำทุกวัน เขาออกกำลังกายด้วยการเดินมากกว่า 8,000 ก้าวต่อวัน ซึ่งช่วยสนับสนุนสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดของเขาได้โดยตรง เมื่อมีสุขภาพหัวใจที่ดีก็ส่งผลต่อเนื่องให้อายุยืนยาวขึ้น
กระแสการใส่ใจสุขภาพ กำลังเปลี่ยนวัฒนธรรมในที่ทำงาน
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีหลักฐานเพิ่มเติมที่บ่งชี้ว่า “เทรนด์การดูแลสุขภาพ” กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลกในช่วงปีนี้และปีหน้า ยืนยันจากข้อมูลในรายงาน Year in Review Trends 2024 ฉบับล่าสุดของ Wellhub (แพลตฟอร์มด้านการดูแลสุขภาพกายและจิตใจในที่ทำงาน) ซึ่งเผยให้เห็นว่าหลายๆ ประเทศทั่วโลกกำลังมุ่งสู่เป้าหมายการมีสุขภาพที่ดี รายงานฉบับดังกล่าวได้วิเคราะห์ข้อมูลจากสมาชิก Wellhub กว่า 3 ล้านคน จากองค์กรทั้งหมด 19,000 รายทั่วโลก และเปิดเผยถึงแนวโน้มสำคัญที่ส่งผลต่ออนาคตของสุขภาพในที่ทำงาน ดังนี้
• “ชั่วโมงแห่งสุขภาพ (Wellness hour)” กลายเป็น Happy hour รูปแบบใหม่ในที่ทำงาน โดยพบว่าวันอังคาร เวลา 18.00 น. เป็นช่วงเวลาที่ผู้คนทั่วโลกนิยมทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพมากที่สุด
• พนักงานที่เน้นดูแลสุขภาพด้วยแนวทางผสมผสาน (ทั้งออกกำลังกายที่ยิม และใช้แอปฯ ออนไลน์เพื่อดูแลสุขภาพควบคู่กัน) พบว่ามีส่วนร่วมต่อวงจรสุขภาพดีมากกว่าคนที่ใช้วิธีเดียวถึงสองเท่า
• “Sunday Scaries” เรื่องน่ากลัววันอาทิตย์ ในที่นี้หมายถึงพนักงานจะให้ความสำคัญกับกิจกรรมดูแลสุขภาพของตัวเองน้อยที่สุดในวันอาทิตย์
• การฝึกความแข็งแกร่งของร่างกายยังคงได้รับความนิยม แต่ในปีนี้ผู้คนหันมาเล่นโยคะเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทำให้โยคะกลายเป็นการออกกำลังกายที่เติบโตเร็วที่สุด
• โภชนาการและนิสัยการกินที่ดีต่อสุขภาพมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยปีนี้พนักงานเน้นโภชนาการที่ดีเพิ่มขึ้น 112% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และมีนิสัยการกินที่ดีต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น 71% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
• พนักงานภาครัฐถือเป็นกลุ่มวัยทำงานที่เอาใจใส่ต่อสุขภาพมากที่สุด และมีส่วนร่วมสูงสุดในกิจกรรมต่างๆ เพื่อสุขภาพ โดยแซงหน้าพนักงานในภาคบริการทางการเงินและเทคโนโลยีเล็กน้อย
การจัดทำโปรแกรมดูแลสุขภาพให้พนักงาน ช่วยลดค่าใช้จ่ายการรักษาโรคภายหลังได้
ซีซาร์ คาร์วัลโญ่ (Cesar Carvalho) ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Wellhub บอกกับ Forbes เพิ่มเติมว่า “รายงานดังกล่าวสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของพนักงานบริษัทยุคใหม่ พวกเขามีทัศนคติที่ดีต่อการดูแลสุขภาพมากขึ้น ให้ความสำคัญกับโภชนาการ และสร้างนิสัยที่ดีต่อสุขภาพกาย-สุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการออกกำลังกาย “สมาชิกหลายล้านคนของ Wellhub ใช้แนวทางทั้งแบบดิจิทัลและแบบพบหน้ากันเพื่อให้ความสำคัญกับสุขภาพของพวกเขาเป็นอันดับแรก
“ปัจจุบันมีบริษัทต่างๆ หลายแห่งหันมาจัดทำโปรแกรมดูแลสุขภาพที่ครอบคลุมและราคาไม่แพง (เน้นการดูแลและป้องกัน) ให้แก่พนักงานมากขึ้น สิ่งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาอาการป่วยของพนักงานเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในองค์กร และมีประสิทธิผลในการทำงานมากขึ้น สร้างสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันแบบ win-win”
ผลการศึกษาตามรายงานข้างต้น ย้ำให้เห็นว่าพนักงานในยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงในแง่การดูแลสุขภาพ พวกเขาให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของตนเองแบบองค์รวม แม้การออกกำลังกายยังคงเป็นหัวใจสำคัญ แต่คนรุ่นใหม่กำลังขยายขอบเขตการดูแลสุขภาพให้เป็นมากกว่าการออกกำลังกายทางร่างกาย (โภชนาการ สร้างนิสัยที่ดีต่อสุขภาพ) แต่พวกเขาต้องการดูแลสุขภาพจิตใจด้วย (นั่งสมาธิ ทำกิจกรรมผ่อนคลาย)
Well-being เปรียบเสมือนลายนิ้วมือที่ “ทุกคนต้องมีเป็นของตัวเอง”
“เมื่อเส้นแบ่งระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวเริ่มเลือนลางลง พนักงานจึงมองหาทางเลือกด้านสุขภาพส่วนบุคคลที่สามารถนำไปปรับใช้กับกิจวัตรประจำวันได้อย่างง่ายดาย เช่น พบว่ามีการออกกำลังกายหลังเลิกงานเพิ่มขึ้น ผู้คนออกกำลังกายที่ยิมมากขึ้น แต่ยังใช้แอปฯ ต่างๆ เพื่อดูแลสุขภาพอีกด้วย รวมถึงการให้ความสำคัญกับโภชนาการและการฝึกสติแบบดิจิทัลมากขึ้น” ซีอีโอคนเดิมอธิบาย
เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2025 คาร์วัลโญ่เชื่อว่า เทรนด์และผลกระทบของแนวโน้มด้านสุขภาพนั้น จะยิ่งเห็นได้ชัดเจนกว่าหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การที่คนเรามี Well-being หรือมีความเป็นอยู่ที่ดีนั้น จะเปรียบเสมือนลายนิ้วมือที่ “ทุกคนมีติดตัวเป็นของตัวเอง”
ในขณะเดียวกัน นายจ้างหรือบริษัทเองก็จำเป็นต้องปรับตัวตามเทรนด์เหล่านี้ให้ทัน เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของพนักงานในแง่ของการดูแลสุขภาพ และเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานในองค์กร นายจ้างอาจเริ่มได้ด้วยการเสนอตัวเลือกการทำงานที่ยืดหยุ่นและเข้าถึงได้ เพื่อช่วยให้พนักงานสร้างนิสัยการมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน สิ่งนี้ส่งเสริมให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข นำไปสู่ประสิทธิภาพของการทำงานที่ดีขึ้นตามไปด้วย