เทรนด์ RTO ปีหน้าจะหนักขึ้น? บริษัทไม่อยากสูญเงินค่าเช่าสำนักงานฟรีๆ

เทรนด์ RTO ปีหน้าจะหนักขึ้น? บริษัทไม่อยากสูญเงินค่าเช่าสำนักงานฟรีๆ

ปีหน้า เทรนด์ RTO จะหนักขึ้นไหม? ผลสำรวจล่าสุดจาก Resume.org เผย ผู้บริหาร 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่าง เร่งใช้คำสั่งให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศ (RTO) มากขึ้น เพราะไม่อยากสิ้นเปลืองค่าเช่าสำนักงานไปฟรีๆ 

KEY

POINTS

  • Resume.org เผยผลสำรวจ บริษัท 1 ใน 3 ยอมรับว่า สาเหตุที่พวกเขาเร่งใช้คำสั่ง RTO เป็นเพราะบริษัทไม่อยากสิ้นเปลืองค่าเช่าสำนักงานระยะยาวไปฟรีๆ โดยไม่มีพนักงานเข้ามาใช้งาน 
  • เกือบครึ่งหนึ่ง (50%) ของกลุ่มบริษัทดังกล่าว มีสัญญาเช่าสำนักงานที่ไม่สิ้นสุดจนกว่าจะถึงปี 2028 เป็นอย่างเร็วที่สุด เจ้าของบริษัทจึงเกิดความกังวล แต่หากพนักงานเข้าออฟฟิศก็จะทำให้รู้สึกว่าเงินที่จ่ายไปนั้นคุ้มค่า
  • อีลอน มัสก์ หนึ่งในผู้สนับสนุนคำสั่ง RTO อย่างแข็งขัน ล่าสุด..เขาบอกว่า การที่สำนักงานว่างเปล่าในรัฐบาลกลางสหรัฐ เป็นสาเหตุของการสูญเสียเงินของรัฐบาลกลาง 2 ล้านล้านดอลลาร์

ตลอดปี 2024 ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าองค์กรใหญ่ระดับโลกหลายแห่ง เริ่มงดการทำงานไฮบริด งดการทำงานทางไกล งดการทำงานยืดหยุ่น แต่เร่งออกคำสั่งให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศมากขึ้นเรื่อยๆ บางแห่งให้เข้าออฟฟิศ 5 วัน/สัปดาห์ เหมือนกับ “อีลอน มัสก์” ซีอีโอ Tesla ที่ออกมาเรียกร้องเรื่องนี้อย่างแข็งขันเช่นกัน หนึ่งในเหตุผลเบื้องหลังของคำสั่ง Return To Office (RTO) ก็เพราะว่าบริษัทได้จ่ายค่าเช่าสำนักงานระยะยาวไว้แล้ว และไม่อยากเสียเงินค่าเช่าสำนักงานฟรีๆ เพราะไม่มีใครเข้ามาใช้งาน

อีกหนึ่งเทรนด์การทำงานปีหน้า 2025 หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่าเทรนด์ RTO อาจหนักขึ้นกว่าเดิม เพราะยังมีหลายบริษัทที่ทำสัญญาเช่าสำนักงานไว้ระยะยาว ตั้งแต่ช่วงเกิดโรคระบาดใหญ่ไปจนถึงหลายปีข้างหน้า อย่างน้อยก็จนถึงปี 2028 ดังนั้นการเช่าสำนักงานแบบยาวนานที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงอาจเป็นแรงผลักดันที่ทรงพลังที่สุดในการผลักดันให้พนักงานกลับเข้าสำนักงาน (RTO)

ยืนยันจากผลสำรวจในรายงานล่าสุดจาก Resume.org ที่ได้ทำการสำรวจผู้นำทางธุรกิจจำนวน 900 ราย ระบุว่า บริษัท 1 ใน 3 ยอมรับว่า สาเหตุที่พวกเขาใช้คำสั่ง RTO มีแรงขับเคลื่อนเบื้องหลังนโยบายนี้มาจากข้อตกลงการเช่าสำนักงานระยะยาวของบริษัท โดยกลุ่มตัวอย่าง 38% รายงานว่าสัญญาเช่ามีส่วนสำคัญต่อการสนับสนุนคำสั่งดังกล่าว และมีบริษัทประมาณ 600 ราย ที่ปัจจุบันติดสัญญาการเช่าสำนักงานระยะยาว โดยหลายรายได้ทำการลงนามสัญญาเช่าระยะยาวก่อนที่จะเกิดโรคระบาดด้วยซ้ำ

ตามรายงานยังระบุอีกว่า เกือบครึ่งหนึ่ง (50%) ของกลุ่มบริษัทดังกล่าว มีสัญญาเช่าสำนักงานที่ไม่สิ้นสุดจนกว่าจะถึงปี 2028 เป็นอย่างเร็วที่สุด ข้อดีก็คือ บริษัท 1 ใน 10 แห่ง ยอมรับว่ามีแผนที่จะยกเลิกสัญญาทั้งหมดหลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลง ในขณะที่ประมาณ 25% ของบริษัทกลุ่มตัวอย่างรายงานว่า พวกเขาจะลดจำนวนพื้นที่สำนักงานที่เช่าเมื่อถึงเวลาต้องต่ออายุสัญญาเช่า

เจ้าของธุรกิจ-ผู้นำองค์กร ชี้ จ่ายเงินค่าเช่าสำนักงานไปแล้ว ก็ต้องใช้งานมัน! 

แน่นอนว่า แม้จะบังคับให้พนักงานกลับเข้ามาใช้พื้นที่ในสำนักงานเต็มเวลา ก็ไม่ได้ทำให้สัญญาเช่าระยะยาวที่มีราคาแพงเหล่านั้นเป็นภาระน้อยลง แต่แนวคิดที่ว่าพนักงานต้องนั่งทำงานที่โต๊ะทำงานของตนเองและใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์นั้น น่าจะช่วยคลายความกังวลของเจ้านายได้ และจะทำให้เจ้านายรู้สึกว่าเงินที่จ่ายไปนั้นคุ้มค่ามากกว่า

ไบรอัน เอลเลียต (Brian Elliott) ซีอีโอของ Work Forward ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาผู้นำ แสดงความเห็นผ่านนิตยสาร Fortune ว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจอาจผลักดันให้เทรนด์ RTO เกิดขึ้นในวงกว้างอย่างต่อเนื่องต่อไป เพราะข้อตกลงการเช่าตึกนั้นมีความสำคัญมาก (และแพงมาก) บางครั้งบริษัทก็มีภาระผูกพันขั้นต่ำกับร้านค้าต่างๆ ในอาคารด้วย 

ยกตัวอย่างเช่น ไปจ้างร้านกาแฟให้มาเปิดในล็อบบี้ หรือจ้างร้านอาหารจานด่วนมาเปิดที่ชั้นล่างของตึก เพื่อให้บริการพนักงาน ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่กรณีมาตรฐานที่จะเหมารวมได้ และใช้ได้เฉพาะกรณีที่บริษัททำสัญญาเช่าอาคารทั้งตึกเท่านั้น

“หากมองในมุมนี้แล้วจะเห็นว่า ความจำเป็นที่จะต้องสั่งให้บุคลากรเข้ามาทำงานในสำนักงาน (ที่บริษัทจ่ายค่าเช่ารายเดือนอยู่แล้ว) จึงเป็นเรื่องทางอารมณ์มากกว่าทางปฏิบัติ เพียงแค่เห็นโต๊ะว่างๆ เรียงรายกันเป็นแถว ก็สามารถเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้บริหารผลักดันคำสั่ง RTO ได้แล้ว” เอลเลียต อธิบาย

ซีอีโอบางคนบอกว่า เขาไม่รู้หรอกว่าพนักงานที่ทำงานที่บ้าน จะแอบใช้เวลางานพาสุนัขเดินเล่นวันละสี่ชั่วโมงหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ คือ เขารู้ว่าพนักงานจะทำแบบนั้นไม่ได้ถ้าเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ

สำนักงานที่ว่างเปล่าหรือเกือบจะว่างเปล่า กระตุ้นให้เกิดความกลัว แม้ว่าตามหลักการแล้วจะดูไม่ถูกต้องก็ตาม อย่างในกรณีของ “อีลอน มัสก์” เขาถือเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนคำสั่ง RTO อย่างแข็งขันเสมอมา เพราะมองว่าการเข้างานที่ออฟฟิศจะช่วยพัฒนาขวัญกำลังใจพนักงานมากที่สุด ตามรายงานของรอยเตอร์สระบุว่า ในปี 2022 มัสก์ส่งอีเมลถึงพนักงานที่ Tesla พร้อมคำสั่งให้ทำงานแบบพบหน้ากัน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มิฉะนั้นจะถือว่าคุณลาออก

เขาทำเหมือนกันกับพนักงานของ X หรือชื่อเดิม Twitter ซึ่งหลังจากที่เขาซื้อมาในเดือนตุลาคม 2022 เขาบุกเข้าไปในห้องทำงานของพนักงาน พร้อมกับขู่ทันทีว่าจะเลิกจ้างพนักงานที่ต้องการทำงานจากที่บ้านต่อไป เขาอ้างว่าพนักงานที่ทำงานจากระยะไกล พวกเขาเพียงแค่"แกล้งทำเป็นทำงาน" และพนักงานที่ยืนกรานจะทำงานจากที่บ้านต้องนำข้อโต้แย้งของตนไปให้เขาพิจารณาเป็นการส่วนตัวและอนุมัติเป็นรายบุคคล

การทำงานจากที่บ้าน อาจทำให้รัฐบาลกลางสหรัฐสูญเสียเงิน 2 ล้านล้านดอลลาร์ 

ล่าสุด อีลอน มัสก์ ได้เน้นย้ำจุดยืนของเขาเรื่องนี้ในฐานะที่ปรึกษาให้กับรัฐบาลทรัมป์ชุดใหม่ โดยเข้าได้เข้ามาเป็นหัวหน้า “กระทรวงประสิทธิภาพของรัฐบาล (DOGE)” ร่วมกับ วิเวก รามาสวามี และพวกเขากำลังเล็งเป้าไปที่คำสั่ง RTO เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศ 5 วัน/สัปดาห์

มัสก์บอกว่าการที่สำนักงานว่างเปล่า และการขาดการทำงานแบบพบหน้ากันในหมู่พนักงานของรัฐบาลกลาง เป็นสาเหตุของการสูญเสียเงินของรัฐบาลกลางอย่างมหาศาลอาจถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ก็ได้ (แม้ว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญออกโต้แย้งเรื่องนี้แล้ว)

หากไม่นับรวมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและเจ้าหน้าที่บำรุงรักษา จำนวนพนักงานของรัฐที่เข้ามาทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จะเหลืออยู่เพียง 1% เท่านั้น ดูเหมือนว่าแทบไม่มีใครเข้าออฟฟิศเลยมัสก์ โพสต์ข้อความดังกล่าวบน X 

อีกทั้งได้แนบลิงก์ไปยังบทความหนึ่งของ New York Post ที่เขียนเกี่ยวกับรายงานที่สนับสนุนการทำงานของสำนักงานของ Joni Ernst สมาชิกรัฐสภาจากไอโอวาและผู้สนับสนุน DOGE อย่างเหนียวแน่น โดยในโพสต์นั้นเขายังบอกอีกว่า “มีอาคารว่างเปล่านับพันแห่ง ไม่ใช่แค่ในอเมริกา แต่มีอาคารว่างเปล่าแบบนี้ทั่วโลก ที่ต้องชำระด้วยเงินภาษีของคุณ!” 

สุดท้ายแล้วเทรนด์ RTO ในปี 2025 จะหนักขึ้นกว่าหลายปีที่ผ่านมามากน้อยแค่ไหน? ชาวออฟฟิศคงต้องติดตามดูกันต่อไป เชื่อว่าประเด็นนี้จะยังคงเกิดการถกเถียงในระหว่างนายจ้างและลูกจ้างอย่างต่อเนื่องในองค์กรต่างๆ ทั่วโลก และขณะเดียวกัน เทรนด์การทำงานยืดหยุ่นก็ยังคงไม่หายไปในปีหน้าแน่นอน