Chief Diversity Officer กับความหลากหลาย เท่าเทียม มีส่วนร่วมและการเข้าถึง

คำสั่งบริหารเรื่องหนึ่งจาก ปธน.สหรัฐคนใหม่ คือการสั่งให้หน่วยงานขอรัฐเลิกจ้างบุคลากรที่ทำหน้าที่ในสายงานด้านความหลากหลาย ความเท่าเทียม การมีส่วนร่วม และการเข้าถึง ซึ่งทำงานอยู่ในหลายกระทรวง ตั้งแต่กระทรวงศึกษาธิการ ไปจนกระทั่งกระทรวงกลาโหม
บุคลากรด้านความหลากหลาย ความเท่าเทียม การมีส่วนร่วมและการเข้าถึง ทำหน้าที่ในการกำหนดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปราศจากความลำเอียงกับกลุ่มคนบางกลุ่ม เช่น ไม่กีดกันชนกลุ่มน้อย LGBTQ คนพิการ
โดยสร้างความตระหนักรู้ในหมู่บุคลากรในเรื่องความหลากหลาย ความเท่าเทียม การมีส่วนร่วมและการเข้าถึงสำหรับคนทุกกลุ่ม
หากมีประเด็นขัดแย้งเกิดขึ้นในเรื่องเหล่านี้ ก็จะทำหน้าที่แก้ไขความขัดแย้งนั้น โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่เสียประโยชน์เกินสมควร
เวลาจะมีการรับบุคลากรใหม่ก็ช่วยดูแลไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ หรือมีสองมาตรฐานกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ถ้าคัดเลือกเข้ามาทำงานแล้ว ก็ทำให้ทุกกลุ่มมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละกลุ่ม คนที่ต้องใช้รถเข็น ก็มีทางลาดให้ผ่านพื้นที่ต่างระดับไปได้
เชื่อกันว่า ความหลากหลาย ความเท่าเทียม การมีส่วนร่วมและการเข้าถึง จะส่งผลให้หน่วยงานได้คนที่มีความสามารถมาทำงาน ไม่ว่าคนเก่งนั้นจะเป็นคนในกลุ่มใด จะเหมือนหรือแตกต่างไปจากคนดังเดิม ถ้าเก่งจริงก็มาทำงานได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงาน และการเลือกปฏิบัติ
สอดคล้องกับที่บ้านเรากำหนดเรื่องความหลากหลาย ความเท่าเทียม การมีส่วนร่วม และการเข้าถึง ไว้เป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ
คุณสมบัติของคนที่จะมาทำงาน ในตำแหน่งผู้รับผิดชอบด้านความหลากหลาย ความเท่าเทียม การมีส่วนร่วม และการเข้าถึง คือจบการศึกษาในด้านสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์
มีประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารทรัพยากรบุคคล และการสร้างการเปลี่ยนแปลง ภายใต้บริบทที่บุคลากรมีความหลากหลาย เป็นผู้ที่มีความรู้และทักษะเกี่ยวกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กร การกำหนดกลยุทธ์ การจัดการความขัดแย้ง การให้บริการสนันสนุนกลุ่มคนที่มีต้องการเป็นพิเศษ
ตำแหน่งสูงสุด ของสายงานนี้ คือ ผู้บริหารด้านความหลากหลาย หรือ Chief Diversity Officer มีเงินเดือนประมาณสองแสนดอลลาร์ต่อปี ถ้าทำงานในหน่วยงานของรัฐ
ในขณะที่หน่วยงานของรัฐเลิกจ้างบุคลากรกลุ่มนี้ ภาคเอกชน โดยเฉพาะที่ทำงานไฮเทคกลับให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับตำแหน่ง Chief Diversity Officer
เช่น Rosalind G. Hudnell ในระหว่างดำรงตำแหน่ง Chief Diversity Officer ของ Intel ได้ริเริ่มให้มีข้อมูลเปรียบเทียบความหลากหลาย ความเท่าเทียม การมีส่วนร่วม และการเข้าถึงในกลุ่มบริษัทไฮเทค บนความเชื่อว่ายิ่งหลากหลาย ยิ่งเท่าเทียม ยิ่งทำให้ไฮเทคมีนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งยังขับเคลื่อนให้มีผู้หญิงและคนกลุ่มน้อยมาร่วมงานกับIntel เพิ่มมากขึ้น
Danielle Brown ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนี้ที่ Google ใช้แนวทางการบริหารที่ยอมรับความหลากหลาย ความเท่าเทียม การมีส่วนร่วม และการเข้าถึง ดึงดูดคนเก่งจากทุกกลุ่มคนเข้ามาทำงาน จากการที่ยอมให้มีแนวทางการทำงานที่แตกต่างกันตามบริบทของแต่ละกลุ่ม ส่งผลให้สามารถสร้างนวัตกรรมได้อย่างมากมาย จากฝีมือของคนเก่งที่หลากหลาย
ในบรรดาผู้ดำรงตำแหน่ง Chief Diversity Officer ในกิจการไฮเทค มีลักษณะที่คล้ายกันอยู่หลายประการ คือเป็นคนที่ทำงานโดยใช้ข้อมูลจริง กำหนดกลยุทธ์จากข้อมูลจริง
งานด้านนี้มีแนวโน้มที่ผู้รับผิดชอบจะมโนไปเองตามความลำเอียงที่มีอยู่ในตัวของแต่ละคน ถ้าไม่ยึดข้อมูลสารสนเทศไว้เป็นสรณะ โอกาสที่จะไปผิดทิศผิดทางมีมากยิ่ง
Chief Diversity Officer เป็นคนที่มีพันธมิตรหลากหลาย มีพรรคพวกเพื่อนฝูงเยอะ เพราะเปิดใจคบค้าได้กับแทบทุกคน ไม่ว่าจะแตกต่างกันแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มใด คบค้าโดยไม่แสดงอาการรังเกียจ ซึ่งดูคล้ายๆ กับคนบ้านเราโดยทั่วไปที่คบค้าคนอื่นง่าย มักเป็นคนที่ทำอะไรอย่างโปร่งใส ไม่แอบซ่อนเรื่องนั้นเรื่องนี้ ทำอะไรให้กลุ่มไหนก็บอกให้ทุกกลุ่มได้รับรู้
ความแตกต่างของคนแต่ละกลุ่มมักทำให้รู้สึกกันไปเองว่าตนเองถูกเลือกปฏิบัติ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะคิดอะไรเวลาที่ตนเองได้สิทธิพิเศษ แต่จะตั้งหน้าตั้งตาดูว่าใครได้อะไรที่พิเศษไปกว่าที่ตนเองควรจะได้ ความโปร่งใสจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดทอนความรู้สึกในเรื่องนี้
Chief Diversity Officer เป็นนักพลิกโฉมวัฒนธรรมองค์กร อะไรที่เป็นอุปสรรคกับการร่วมงานของคนต่างกลุ่ม ต่างประเภท ก็จะพลิกโฉมให้หมด พลิกโฉมไปแล้วทุกคนพอใจอีกด้วย
วันนี้บ้านเรามีสมรสเท่าเทียมก่อนบ้านอื่นเมืองอื่น เราควรคิดถึงการมี Chief Diversity Officer ในองค์กรได้แล้วหรือยัง?