บุคคลที่ทะเยอทะยานคือผู้นำที่สามารถ หรือไม่?

บุคคลที่ทะเยอทะยานคือผู้นำที่สามารถ หรือไม่?

ในปัจจุบันไม่ว่าในระดับองค์กรหรือประเทศ จะพบเห็นบุคคลที่แสดงออกถึงความปรารถนา ความต้องการและความทะเยอทะยานที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำกันมากขึ้น

ซึ่งในมุมหนึ่งก็เป็นนิมิตหมายที่ดีว่ามีผู้อยากเป็นผู้นำมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็นำไปสู่คำถามว่าแล้วบุคคลที่มีความทะเยอทะยานต้องการเป็นผู้นำนั้น เมื่อได้เป็นผู้นำจริงแล้ว จะเป็นผู้นำที่มีความสามารถหรือไม่?

ความเชื่อที่มีกันมานานคือ เมื่อบุคคลมีความทะเยอทะยานที่อยากจะเป็นผู้นำ บุคคลผู้นั้นจะมีความมั่นใจ และแสดงออกอย่างชัดเจนถึงทั้งความมั่นใจและความต้องการจะเป็นผู้นำ

บุคคลผู้นั้นจะพยายามแสดงให้เห็นว่าตนเองมีความพร้อมและความสามารถที่จะเป็นผู้นำที่เก่งและดีได้ ทำให้มักจะได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากบุคคลอื่นเมื่อต้องมีการเลือกผู้นำ

อย่างไรก็ดี ล่าสุดมีบทความจาก Harvard Business Review ฉบับเดือนมกราคมนี้ที่อ้างอิงงานวิจัยต่างๆ และพบว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างความทะเยอทะยานของบุคคลกับความสามารถในการเป็นผู้นำ

นั้นคือการที่บุคคลผู้หนึ่งมีความทะเยอทะยานและแสดงออกถึงความต้องการเป็นผู้นำ “ไม่ได้” เป็นเครื่องชี้วัดว่าบุคคลผู้นั้นจะเป็นมีความสามารถในการเป็นผู้นำที่ดีได้

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างบุคคลที่มีความทะเยอทะยานจะเป็นผู้นำ และบุคคลที่ไม่มีความทะเยอทะยานแล้ว งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างความสามารถในการเป็นผู้นำระหว่างบุคคลทั้งสองกลุ่ม ถึงแม้ว่าการแสดงออกถึงความทะเยอทะยานจะเปิดโอกาสให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำได้มากกว่า

สำหรับสาเหตุที่ทำให้บุคคลที่มีความทะเยอทะยานมีโอกาสที่จะได้รับเลือกเป็นผู้นำมากกว่านั้นก็มาจากสาเหตุที่ว่า ความทะเยอทะยานที่แสดงออกมา ทำให้คนอื่นได้เห็นถึงความต้องการในการเป็นผู้นำ

และการแสดงออกที่เกิดขึ้นจะเป็นในลักษณะของความมั่นใจที่สูง นำไปสู่ความเข้าใจผิดว่าเมื่อบุคคลผู้นั้นมีความพร้อมและมั่นใจในการเป็นผู้นำ บุคคลผู้นั้นมีความสามารถในการเป็นผู้นำด้วย

ดังนั้น ถ้ามีโอกาสได้เลือกผู้นำ อย่าดูแค่ความทะเยอทะยาน ความมั่นใจ หรือ การแสดงออกถึงความต้องการเป็นผู้นำเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีการพิจารณาในหลายๆ ปัจจัยประกอบด้วย 

ทั้งทัศนคติ มุมมอง ผลงานในอดีต ความฉลาดทางอารมณ์ ความสามารถในการคิด การตัดสินใจ ความสามารถในการทำงานร่วมกับบุคคลอื่น ความสามารถในการปรับเปลี่ยนและรับมือกับความไม่แน่นอน ฯลฯ

นอกจากนี้ องค์กรจะต้องเปิดโอกาสให้กับบุคคลที่มีความสามารถ แต่ไม่ได้มีความทะเยอทะยาน และแสดงออกมาว่าต้องการเป็นผู้นำ ให้ได้รับการพัฒนา และโอกาสในการแสดงความสามารถเพื่อเตรียมพร้อมที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้วย

ผู้ที่มีหน้าที่ในการแสวงหาผู้นำ (ในทุกระดับ) จะต้องปรับมุมมองและทัศนคติว่าการเลือกผู้นำนั้น ความทะเยอทะยานและการแสดงออกถึงความต้องการเป็นผู้นำ ไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดว่าบุคคลดังกล่าวจะเป็นผู้นำที่มีความสามารถ

เมื่อเทียบกับคุณลักษณะตรงข้ามกับความทะเยอทะยาน ซึ่งคือ ความถ่อมตัว หรือ Humility นั้น มีงานวิจัยที่ชี้ว่าผู้นำที่ถ่อมตัว จะประสบความสำเร็จในการสร้างทีม ทำให้พนักงานเกิดความผูกพัน และทำให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวในทีมที่ทำงานด้วยกันมากกว่าผู้นำที่มีความมั่นใจจนเกินตัว

ทั้งนี้เนื่องจากผู้นำที่ถ่อมตัวจะยอมรับต่อความเห็นที่หลากหลายและแตกต่าง กระจายอำนาจในการตัดสินใจให้พนักงานมากขึ้น ให้ความสำคัญต่อความสำเร็จของทีมและองค์กรมากกว่าความสำเร็จส่วนตัว และสามารถสร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมในการทำงานที่ทั้งปลอดภัย (ทางด้านจิตใจ) และเกิดการเรียนรู้

สรุปว่า ความเชื่อหรือสมมติฐานดั้งเดิมที่มักจะคิดว่าบุคคลที่มีความทะเยอทะยาน มีความอยากเป็นผู้นำ มีความมั่นใจ ไม่ได้เป็นปัจจัยที่สามารถชี้นำได้ว่าบุคคลผู้นั้นจะเป็นผู้นำที่มีความสามารถได้

ดังนั้น ถ้ามีโอกาสได้เลือกผู้นำ ก็ต้องดูดีๆ ว่าอย่าให้ความทะเยอทะยาน ความต้องการเป็นผู้นำ และความมั่นใจที่แสดงออกมา ลวงให้เข้าใจผิดว่าเขาจะเป็นผู้นำที่มีความสามารถได้