นิวซีแลนด์ต้อนรับ Digital Nomad ดึงคนเก่งไอทีจากอาเซียน-สหรัฐ พำนัก 90 วัน

นิวซีแลนด์ต้อนรับ Digital Nomad ดึงคนเก่งไอทีจากอาเซียน-สหรัฐ พำนัก 90 วัน

รัฐบาลนิวซีแลนด์ อ้าแขนรับวัยทำงานกลุ่ม Digital Nomad ปรับเกณฑ์วีซ่าให้ต่างชาติอยู่ได้นานสูงสุด 90 วัน เล็งดึงคนเก่งไอทีจากอาเซียน-อเมริกาเข้ามาเที่ยวไปพร้อมกับทำงานระยะไกล (Remote work)

KEY

POINTS

  • รัฐบาลนิวซีแลนด์อ้าแขนรับวัยทำงานกลุ่ม Digital Nomad ชาวต่างชาติ โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่ม “แรง

รัฐบาลนิวซีแลนด์ประกาศผ่อนปรนกฎระเบียบการขอวีซ่าในกลุ่ม Visitor Visa เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่ม Digital nomad สามารถทำงานจากระยะไกลในขณะที่พำนักอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์ได้นานขึ้น โดยอาศัยการท่องเที่ยวเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

นิวซีแลนด์ เป็นประเทศล่าสุดที่พยายามดึงดูดวัยทำงานที่มีความสามารถสูงและการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเสนอให้คนทำงานทางไกล หรือที่เรียกว่า Digital nomad ให้สามารถเข้ามาเที่ยวไปพร้อมกับทำงานระยะไกลในประเทศได้เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ยังยืดเยื้อต่อเนื่อง

โดยก่อนหน้านี้ นิวซีแลนด์เผชิญกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจ จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นซึ่งเกิดจากเงินเฟ้อที่สูงทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศหยุดชะงัก ส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นและจำนวนคนที่หางานทำในต่างประเทศก็เพิ่มมากขึ้นด้วย 

รัฐบาลนิวซีแลนด์ ต้อนรับ Digital Nomad ด้านไอทีจากอาเซียน-สหรัฐ เป็นพิเศษ

นิโคล่า วิลลิส (Nicola Willis) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเติบโตทางเศรษฐกิจ เปิดเผยเรื่องนี้ในการแถลงข่าวที่สนามบินเวลลิงตันเมื่อไม่กี่วันก่อน ระบุว่า รัฐบาลจะมุ่งเป้าไปที่กลุ่ม “แรงงานทักษะสูง” โดยเฉพาะพนักงานด้านไอทีจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสหรัฐอเมริกา กฎหมายวีซ่าฉบับใหม่นี้จะทำให้ประเทศนิวซีแลนด์เป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งต้อนรับวัยทำงานที่มีความสามารถจากทั่วโลก รัฐบาลต้องการให้คนร่ำรวยและมีความสามารถระดับโลก เดินทางมาเยือนนิวซีแลนด์มากขึ้น

กฎหมายวีซ่าที่ถูกการปรับเกณฑ์ใหม่ จะมีผลบังคับใช้ในทันทีในปี 2025 โดยอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถทำงานทางไกลให้กับนายจ้างต่างประเทศได้ระหว่างการพักผ่อนในนิวซีแลนด์เป็นเวลาสูงสุด 90 วัน แต่หากอยู่นานกว่านั้น พวกเขาอาจต้องชำระภาษีถิ่นที่อยู่เพิ่มเติม

เอริก้า สแตนฟอร์ด (Erica Stanford) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงตรวจคนเข้าเมือง มองว่า การเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก สามารถขยายเวลาการอยู่อาศัยในนิวซีแลนด์ได้ ซึ่งจะส่งผลให้มีการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มมากขึ้น 

“เราขอต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกคนสู่ประเทศนิวซีแลนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มทำงานชาว Digital nomad ทุกคนสำหรับการมาเยือนที่นี่บนชายฝั่งของเรา” สแตนฟอร์ดกล่าว

หลายประเทศใช้เทรนด์ Digital Nomad Visa มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงไทยด้วย

รัฐบาลนิวซีแลนด์ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงนี้มีผลกับ Visitor Visa ทั้งหมด รวมถึงวีซ่านักท่องเที่ยวและวีซ่าสำหรับบุคคลที่ไปเยี่ยมครอบครัว คู่ครอง และผู้ปกครองที่ถือวีซ่าระยะยาวด้วย นอกจากนี้ การอนุญาตให้ Digital nomad เข้ามาทำงานทางไกลดังกล่าว จะอนุญาตเฉพาะผู้ที่ทำงานให้บริษัทต่างชาติเท่านั้น (ไม่ใช่บริษัทในนิวซีแลนด์) ส่วนนักท่องเที่ยวที่ต้องทำงานกับบริษัทในประเทศยังคงต้องขอวีซ่าประเภทอื่นตามกำหนด

ก่อนหน้านี้มีหลายๆ ประเทศที่นำโปรแกรม Digital Nomad Visa มาใช้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งดึงดูดความสนใจของผู้คนจำนวนมากขึ้นที่มองหาโอกาสในการเดินทางท่องเที่ยวไปพร้อมกับการทำงานจากระยะไกล เทรนด์การทำงานดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 2010 

โดยส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มวันงานหนุ่มสาวที่ต้องการหลีกหนีจากชีวิตประจำวัน กระแสดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้ทัศนคติต่อการทำงานจากระยะไกลเปลี่ยนไปทั่วโลก สำหรับประเทศที่เคยเสนอวีซ่าสำหรับชาวดิจิทัลนอแมดต่างชาติ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ บราซิล สเปน โปรตุเกส และไทย

อย่างไรก็ตาม การปรากฏตัวของคนเร่ร่อนดิจิทัลในบางพื้นที่ก็ทำให้เกิดการถกเถียงเช่นกัน ในเมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ผู้คัดค้านกล่าวว่าการหลั่งไหลเข้ามาของคนทำงานทางไกลทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น การที่นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาในประเทศต่างๆ เช่น สเปนและกรีก ทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านการท่องเที่ยวมากเกินไปอย่างดุเดือด

 

อ้างอิง: Bloomberg, BBC