เห็นแก่ตัว ขี้ขลาด ขาดวิสัยทัศน์ หัวหน้า 3 แบบที่ลูกน้องส่ายหน้า

เห็นแก่ตัว ขี้ขลาด ขาดวิสัยทัศน์ หัวหน้า 3 แบบที่ลูกน้องส่ายหน้า

‘เห็นแก่ตัว ขี้ขลาด ขาดวิสัยทัศน์ในภาพรวม’ หัวหน้า 3 ประเภทลูกน้องสุดเอือมระอา แต่สิ่งนี้ปรับแก้ได้ ไม่มีใครเป็นแบบนั้นมาตั้งแต่เกิด

KEY

POINTS

  • นักจิตวิทยาสังคม เผย หัวหน้างานที่แย่มักมีลักษณะร่วมกัน 3 ประการ คือ หัวหน้าเห็นแก่ตัว หัวหน้าขี้ขลาด และหัวหน้าขาดวิสัยทัศน์ในภาพรวม
  • 71% ของพนักงานเคยร่วมงานกับหัวหน้างานที่เป็นพิษ (Toxic Boss) พฤติกรรมความเป็นพิษที่พบมากสุดคือ ตั้งความคาดหวังที่ไม่สมเหตุสมผล และ ไม่ให้เครดิตสมาชิกในทีม
  • อย่าด่วนตัดสินหัวหน้าที่มีพฤติกรรมแย่ พวกเขาไม่ได้เป็นแบบนั้นมาตั้งแต่เกิด พฤติกรรมเหล่านั้นแก้ไขได้ มนุษย์เราสามารถขับเคลื่อนตนเองจากปลายสุดของการเป็นหัวหน้าที่น่าหงุดหงิด ไปสู่ปลายสุดอีกด้านของการเป็นผู้ที่สร้างแรงบันดาลใจได้

ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนก็ตาม การที่วัยทำงานจะเติบโตก้าวหน้าในสายงานได้นั้น ไม่ได้เกิดจากความสามารถและทักษะการทำงานของตัวพนักงานเพียงอย่างเดียว แต่อีกส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนและได้รับแรงบันดาลใจของหัวหน้า แต่บ่อยครั้งโชคชะตาก็ไม่ได้เหวี่ยงหัวหน้าที่ดีมาให้เราเสมอไป 

บางคนได้เจอหัวหน้างานที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกน้องรู้สึกตื่นเต้นที่จะทำงานอย่างเต็มที่ ในขณะที่บางคนก็เจอหัวหน้างานที่ทำให้การเข้าออฟฟิศแต่ละวันกลายเป็นฝันร้ายไปเลยก็มี 

หัวหน้า 3 ประเภทที่ลูกน้องสุดเอือมระอา 71% ของพนักงานเคยมีหัวหน้าเป็นพิษ

อดัม กาลินสกี (Adam Galinsky) นักจิตวิทยาสังคมและศาสตราจารย์ด้านภาวะผู้นำจาก Columbia Business School ซึ่งศึกษาเรื่องภาวะผู้นำมากกว่า 20 ปี เล่าถึงประเด็นนี้ในรายการพอดแคสต์ "The Anxious Achiever" เมื่อเร็วๆ นี้ว่า หัวหน้างานที่แย่มักมีลักษณะร่วมกัน 3 ประการ คือ 1. หัวหน้าเห็นแก่ตัว 2. หัวหน้าขี้ขลาด 3. หัวหน้าขาดวิสัยทัศน์ในภาพรวมของงาน

อย่างไรก็ตาม หัวหน้าที่ดีกับหัวหน้าที่แย่อาจเป็นคนๆ เดียวกันก็ได้ เมื่อมนุษย์เราไม่ได้สมบูรณ์แบบมาตั้งแต่เกิด แต่ทุกคนล้วนถูกประสบการณ์ชีวิตเฆี่ยนตีบางคนฟื้นตัวได้เร็วแต่บางคนก็รับมือได้ไม่ดีนัก นักจิตวิทยาสังคมบอกว่า “หนึ่งในแก่นหลักของงานวิจัยของผม คือ ผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจให้ทีม และผู้นำแย่ๆ ที่สร้างความหงุดหงิดให้ทีมนั้น ต่างก็อยู่บนเส้นสเปกตรัมเส้นเดียวกัน” 

การศึกษาแสดงให้เห็นว่าหัวหน้างานที่แย่หรือหัวหน้าที่มีพฤติกรรม Toxic พบได้ง่ายกว่ามาก จากการสำรวจชาวอเมริกันกว่า 1,200 คนโดย The Harris Poll และบริษัทการตลาดระดับโลก Stagwell ในเดือนตุลาคม 2023 พบว่า 71% ของคนทำงานบอกว่าพวกเขาเคยมีหัวหน้างานที่เป็นพิษ

ขณะที่ 31% ของพนักงานรายงานว่าพวกเขากำลังทำงานกับ Toxic Boss อยู่ในปัจจุบัน โดยพฤติกรรมความเป็นพิษที่พบมากที่สุดคือ “หัวหน้าที่ตั้งความคาดหวังที่ไม่สมเหตุสมผล” และ “ไม่ให้เครดิตสมาชิกในทีมตามความเหมาะสม”

พฤติกรรมเชิงลบอาจเกิดโดยไม่รู้ตัว เมื่อเจองานเครียดสูง-ความรับผิดชอบหนักอึ้ง

ศาสตราจารย์ด้านภาวะผู้นำบอกว่า หากมองในมุมของลูกน้อง แน่นอนว่าไม่มีใครอยากทำงานกับหัวหน้าที่เป็นพิษ เพราะทำงานด้วยยากและบั่นทอนจิตใจ ส่วนในมุมของหัวหน้า (บางคน) ก็เผลอแสดงพฤติกรรมเชิงลบโดยไม่รู้ตัวซึ่งอาจมาจากความเครียดกับงาน แต่รู้หรือไม่? เรื่องนี้มีทางออกและไม่จำเป็นว่าทั้งสองฝ่ายจะต้องทนต่อบรรยากาศการทำงานที่เป็นพิษแบบนั้นตลอดไป

“คนเป็นหัวหน้าไม่ได้เป็นคนที่สร้างแรงบันดาลใจหรือคนที่สร้างความหงุดหงิดให้คนอื่นมาตั้งแต่เกิด แต่มันคือพฤติกรรมที่มาจากประสบการณ์ชีวิตและการทำงานของพวกเขาในอดีต แล้วหล่อหลอมเป็นพฤติกรรมนั้นๆ ในปัจจุบัน หัวหน้าบางคนก็ถูกหล่อหลอมให้เป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ แต่บางคนก็เจอชีวิตเฆี่ยนตีจนนำมาสู่พฤติกรรมเป็นพิษ” กาลินสกีอธิบายให้เห็นภาพ

โชคดีที่พฤติกรรมเหล่านั้นสามารถแก้ไขได้ คนเป็นหัวหน้าเองหากวางอีโก้ลงก็สามารถปรับปรุงพฤติกรรมตัวเองได้ ส่วนลูกน้องหากเปิดใจไม่อคติก็จะช่วยสะท้อนปัญหาให้หัวหน้าได้ มนุษย์เราสามารถขับเคลื่อนตนเองจากปลายสุดของพฤติกรรมแย่ๆ ไปสู่ปลายสุดอีกด้านหนึ่งของการเป็นผู้ที่สร้างแรงบันดาลใจได้ โดยต้องเริ่มต้นด้วยการมีความตระหนักรู้ในตนเอง 

กาลินสกีให้คำแนะนำหัวหน้าว่าให้ใช้เวลาสักครู่ คิดถึงอารมณ์และลักษณะนิสัยที่มักจะแสดงออกบ่อยมากที่สุดในที่ทำงาน ส่วนใหญ่พฤติกรรมเชิงลบจะมาจากความเครียดกับปริมาณงานที่ล้นมือในแต่ละวัน ทำให้คุณเผลอพูดจาหรือแสดงท่าทางห้วนๆ และคร่ำเคร่งจดจ่อกับงานมากเกินไป เมื่อพบพฤติกรรมเหล่านี้ ให้จดบันทึกว่าความรู้สึกเหล่านี้ส่งผลต่อประสิทธิภาพในชีวิตและการทำงานของคุณอย่างไร แล้วค่อยๆ ปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่

หัวหน้าต้องกล้าเปลี่ยนแปลงตัวเอง ลูกน้องต้องช่วยเป็นกระจกสะท้อน

นักประสาทวิทยาอย่าง จูเลียต ฮัน (Juliette Han) บอกกับ CNBC Make It ในปี 2023 ว่า คนที่เป็นหัวหน้าอาจลองขอความคิดเห็นจากคนรอบข้าง เช่น ผู้ใต้บังคับบัญชา, เพื่อนร่วมงาน, ที่ปรึกษา ฯลฯ เพื่อถามถึงช่วงเวลาที่คุณทำให้บรรยากาศในที่ทำงานไม่น่าอภิรมย์ หรือถามถึงสถานการณ์ที่พวกเขาอยากให้คุณจัดการในแบบอื่น

คำตอบของพวกเขาเหล่านั้นจะช่วยให้คุณ (หัวหน้างาน) เข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของตัวเอง และตระหนักถึงผลกระทบที่เพื่อนร่วมงาน-ลูกน้องได้รับจากคุณ และรู้ถึงมุมมองที่คนอื่นมีต่อคุณ

“คุณอาจพบว่าความวิตกกังวลของคุณเกี่ยวกับการพลาดกำหนดส่งงาน ทำให้คุณเป็นหัวหน้าที่ชอบก้าวก่าย คอยถามความคืบหน้าหรือจ้องมองการทำงานของพนักงานตลอดเวลา หรือการที่อีโก้ของคุณทำให้คุณยากที่จะยอมรับความผิดพลาด

เมื่อได้ความตระหนักรู้ในตนเองแล้ว คุณก็สามารถพลิกพฤติกรรมเหล่านั้นจากเชิงลบให้เป็นเชิงบวกได้ โดยอาจจัดประชุมทีมทุกสองสัปดาห์เพื่อติดตามความคืบหน้า หรือมุ่งเน้นการทำงานร่วมกันแทนที่จะเป็นคนที่คิดว่าตัวเองรู้ดีที่สุด” ฮัน ให้แนะนำเพิ่มเติม

ท้ายที่สุดกาลินสกีบอกว่า เมื่อหัวหน้างานสามารถควบคุมพฤติกรรมด้านลบของตัวเองได้ ก็จะสามารถจัดการกับพฤติกรรมเชิงลบเหล่านั้นได้อย่าง “กล้าหาญมากขึ้น” และเปลี่ยนให้เป็นพฤติกรรมใหม่ที่สร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าหรือลูกน้องก็ตาม ทุกคนสามารถกำหนดวิธีคิดและพฤติกรรมของตนเองได้ว่า “เราอยากจะเป็นคนที่สร้างแรงบันดาลใจหรือจะเป็นคนที่สร้างความหงุดหงิดให้ทีมมากกว่ากัน”


อ้างอิง: CNBC, TheHarrisPoll, Inspire, ColumbiaBusinessSchool