Career Shock คนรุ่นใหม่ผิดหวังในที่ทำงาน ไม่ทะเยอทะยานในอาชีพ

Career Shock คนรุ่นใหม่ผิดหวังในที่ทำงาน ไม่ทะเยอทะยานในอาชีพ

คนรุ่นใหม่ผิดหวังในที่ทำงาน หันหลังให้ตำแหน่งใหญ่ ไม่ทะเยอทะยาน สะท้อนภาวะ ‘Career Shock’ ขอเลือกใช้ชีวิตที่ดีมากกว่าก้าวหน้าในอาชีพ

KEY

POINTS

  • วิจัยเผยวัยทำงาน Gen Z และมิลเลนเนียล ไม่อยากเลื่อนตำแหน่ง ไม่ทะเยอทะยานไต่เต้าสู่ตำแหน่งสูงๆ ในองค์กรอีกต่อไป สะท้อนภาวะ ‘Career Shock’ ที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน
  • การแพร่ระบาดโควิดทำให้ผู้คนหันมาจัดลำดับความสำคัญของความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานใหม่ เน้นความมั่นคงทางการเงิน และความสำเร็จในชีวิตส่วนตัว

ตั้งแต่ยุคหลังการระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา โลกการทำงานเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก เกิดวิธีการทำงานใหม่ๆ ที่ยืดหยุ่นกว่าเดิม ไม่ใช่แค่นั้นยังมีอีกอย่างที่เปลี่ยนไปเช่นกัน (แต่หลายคนอาจไม่ทันสังเกต) นั่นคือ ความรู้สึกต่อการอยากเติบโตก้าวหน้าในอาชีพของคนรุ่นใหม่ที่ลดลงอย่างมาก ผลการวิจัยหนึ่งพบว่า วัยทำงานชาว Gen Z และมิลเลนเนียล ไม่อยากเลื่อนตำแหน่ง ไม่ขอเป็นหัวหน้า ไม่อยากทะเยอทะยานไต่เต้าสู่ตำแหน่งสูงๆ ในองค์กรอีกต่อไป สะท้อนภาวะ ‘Career Shock’ ที่เกิดขึ้นในสังคมการทำงาน

แคโรไลน์ ฮิกกี (Caroline Hickey) โค้ชด้านอาชีพการงาน ได้ค้นพบสาเหตุเบื้องหลังความรู้สึกผิดหวังในที่ทำงานที่เพิ่มมากขึ้น ของคนทำงานกลุ่มมิลเลนเนียลและ Gen Z เธอชี้ว่าการระบาดของโควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการสูญเสียความทะเยอทะยานในอาชีพการงานจำนวนมาก

คำถามชวนคิด: การไม่ทะเยอทะยานในอาชีพเหมือนเมื่อก่อน เป็นปัญหาหรือไม่? 

แคโรไลน์ ฮิกกี (Caroline Hickey) ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองบริสตอล ประเทศอังกฤษ ไม่คาดคิดว่าวิดีโอ TikTok ของเธอที่พูดถึงประเด็นดังกล่าว (24 พ.ย. ปีที่แล้ว) จะกลายเป็นกระแสไวรัลด้วยยอดชมกว่าหลักแสนครั้ง ซึ่งข้อความของเธอได้สะกิดใจคนทำงานรุ่นใหม่ที่กำลังเผชิญกับความสิ้นหวังในองค์กรเพิ่มมากขึ้น

ในคลิปสั้นๆ ของฮิกกีได้ตั้งคำถามว่า “คุณคิดว่าการที่ฉันไม่ทะเยอทะยานในอาชีพเหมือนเมื่อก่อนนั้น เป็นปัญหาหรือเปล่า ฉันเคยหมกมุ่นอยู่กับความคิดที่จะได้งานใหญ่ๆ และการไต่เต้าขึ้นไปเป็นเจ้านาย แต่ตอนนี้ฉันไม่สนใจมันแล้ว”

คำพูดตรงไปตรงมาของเธอสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่กว้างขึ้น ซึ่งได้รับความสนใจในหมู่คนทำงานรุ่นมิลเลนเนียลและ Gen Z อย่างมาก การเปลี่ยนแปลงทัศนคตินี้ เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดโควิดทั่วโลก ซึ่งทำให้ผู้คนหันมาจัดลำดับความสำคัญของความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานใหม่ เน้นความมั่นคงทางการเงิน และความสำเร็จในชีวิตส่วนตัว มากกว่าให้ความสำคัญการทำงานแบบเร่งรีบเหมือนในอดีต

Career Shock ผลสะท้อนจากยุคโควิด เปลี่ยนแนวคิดด้านอาชีพของคนรุ่นใหม่

ฮิกกีได้ศึกษาในหัวข้อนี้ระหว่างเรียนปริญญาโท สาขาโค้ชอาชีพจากเบิร์คเบ็ค มหาวิทยาลัยลอนดอน และผลวิจัยของเธอค้นพบว่า ความรู้สึกเกี่ยวกับอาชีพการงานของคนทำงานรุ่นใหม่เปลี่ยนไปมากหลังจากการระบาดใหญ่ โดยเธอเรียกมันว่า Career Shock (ภาวะช็อกจากอาชีพการงาน) ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่หลังยุคโควิดเป็นต้นมา 

คนทำงานรุ่นใหม่จัดลำดับความสำคัญในชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิม ก่อนโควิดระบาดคนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเรื่องงานเป็นอันดับหนึ่ง แต่ตอนนี้พวกเขาเลือกที่จะทุ่มเทพลังงานของตนให้กับงานเสริม การท่องเที่ยว การใช้ชีวิตที่เรียบง่าย สร้างเครือข่ายชุมชน มากกว่าทุ่มเทเพื่อการก้าวหน้าในอาชีพการงาน พนักงานกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดบอกว่า รู้สึกไม่สนใจที่จะก้าวหน้าในโลกการทำงานเหมือนเมื่อก่อน แต่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงและการควบคุมชีวิตได้มากขึ้น

เธอบอกอีกว่า ตลอดช่วงการระบาดใหญ่วิธีทำงานของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปมากมาย ทั้งเกิดการทำงานจากที่บ้าน มีแรงกดดันทางการเงินที่เพิ่มขึ้น การลาพักงานแบบไม่รับเงินเดือน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลอย่างมากต่อวิธีการทำงานในช่วงเวลานั้น แล้วเชื่อมโยงมาถึงวิธีการทำงานในปัจจุบัน

ตามการวิจัยของโค้ชด้านอาชีพคนนี้ยังพบด้วยว่า ภาวะ Career Shock ดังกล่าว ยังเป็นผลมาจากเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน ที่เปลี่ยนมุมมองของบุคคลต่อชีวิตและการทำงานของพวกเขาอย่างมาก เช่น บางคนการสูญเสียคนที่รักในช่วงการระบาดใหญ่ และคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน-ความผันผวนทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่าการไต่เต้าเพื่อเติบโตทางอาชีพแบบเดิมๆ นั้นคุ้มค่าหรือไม่

ความเหนื่อยล้าและภาวะหมดไฟ อีกหนึ่งสาเหตุให้เกิด Career Shock

อีกสาเหตุหนึ่งที่หนุนให้เกิด Career Shock ก็คือความเหนื่อยล้าและอาการหมดไฟ มีผลการวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า อัตราความเหนื่อยล้า (Burnout) ความวิตกกังวล และความไม่พอใจในที่ทำงานของคนรุ่นมิลเลนเนียลและ Gen Z เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลสำรวจด้านสุขภาพปี 2023 ของ Cigna พบว่า 98% ของพนักงาน Gen Z กำลังเผชิญกับภาวะหมดไฟอย่างจริงจัง 

ขณะที่รายงานของ Deloitte ในปี 2022 ระบุว่า 46% ของกลุ่ม Gen Z และ 45% ของกลุ่มมิลเลนเนียล รู้สึกหมดไฟเนื่องจากแรงกดดันจากการทำงาน นอกจากนี้ พนักงานกลุ่ม Gen Z และมิลเลนเนียลมากกว่า 40% ปฏิเสธโอกาสงานที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของพวกเขา

สมาคมจิตวิทยาอเมริกันยังเน้นย้ำว่า ความเครียดที่เกี่ยวข้องกับงานเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลในกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นนี้ต้องการแนวทางใหม่ในการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและอาชีพมากกว่าที่เคย พวกเขาได้นิยามความสำเร็จแบบใหม่ที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนๆ 

นอกจากนี้ ฮิกกี ยังพบด้วยว่า คนทำงานรุ่นใหม่จำนวนมากรู้สึกว่าสิ่งที่พวกเขาเคยเชื่อเกี่ยวกับความสำเร็จในอาชีพในอดีต อาจไม่ตอบโจทย์กับชีวิตปัจจุบันของพวกเขาอีกต่อไป หลายคนเริ่มมองหาความหมายใหม่ในงานของตนเอง และต้องการอาชีพที่เติมเต็มชีวิตมากกว่าการไต่เต้าสู่ตำแหน่งสูงสุดเพียงอย่างเดียว

โค้ชด้านอาชีพชี้ชัด การไต่เต้าในองค์กรไม่ใช่วิธีเดียวที่จะสำเร็จในชีวิต

ฮิกกีเองเคยทำงานในแวดวงโฆษณาและไต่เต้าจนถึงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบัญชี แต่สุดท้ายเธอกลับรู้สึกว่าสายงานนี้ไม่เหมาะกับเธอในระยะยาว การตระหนักถึงปัญหานี้ทำให้เธอหันมาสำรวจเส้นทางใหม่และเปลี่ยนอาชีพมาเป็นโค้ชด้านอาชีพในปี 2020 ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 

ฮิกกี้เน้นย้ำว่า วัยทำงานไม่จำเป็นต้องยึดติดกับเส้นทางอาชีพแบบเดิมๆ หากสิ่งนั้นไม่เหมาะกับพวกเขาอีกต่อไป ในฐานะที่เธอเป็นโค้ชด้านอาชีพ เธอได้ช่วยให้ลูกค้ากำหนดแนวทางอาชีพของตัวเองใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่มีความหมายกับพวกเขาอย่างแท้จริง

“มันไม่เป็นไรเลย หากคุณต้องเปลี่ยนแปลงบางอย่างเพื่อให้ชีวิตและอาชีพของคุณสอดคล้องกันมากขึ้น” เธอให้คำแนะนำ

ท้ายที่สุดเธอย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดข้างต้นส่งสัญญาณว่า ต่อไปจะเกิด “การนิยามความสำเร็จในอาชีพที่ไม่เหมือนเดิม” พนักงานรุ่นใหม่เริ่มมองหาวิธีสร้างอาชีพที่ตอบโจทย์ทั้งด้านการเงิน สุขภาพจิต และความพึงพอใจในชีวิต ไม่ใช่แค่ต้องการความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แต่ต้องการงานที่มีความหมายและสอดคล้องกับชีวิตของพวกเขาจริงๆ องค์กรที่ต้องการรักษาบุคลากรรุ่นใหม่ไว้ อาจต้องทบทวนนโยบายและแนวทางการทำงานของตนเอง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของคนทำงานยุคใหม่มากขึ้น

 

อ้างอิง: Newsweek, Caroline Hickey, LinkedIn