สนุกสุดหล้า "น้ำว้าตอนกลาง"

สนุกสุดหล้า "น้ำว้าตอนกลาง"

กิจกรรมโหด มัน ฮา ที่ใครๆ ต่างพากันยกนิ้วให้ ถ้าไม่มีชื่อ "ล่องแก่งน้ำว้า" คงต้องมีอะไรผิดไปแน่ๆ

4 ปีเต็ม แต่ภาพความสนุกในวันนั้น ฉันยังจดจำใจได้ติดใจ


"ใครไม่ได้กินน้ำว้า ถือว่ามาไม่ถึง"


และเพราะกลัว "ไม่ถึง" ดังว่า แทบทุกคนในทริปวันนั้นจึงยอมสละเรือยางทั้งที่ไม่เต็มใจ ลงไปดื่มกินน้ำใสๆ บนสายน้ำที่ไหลเชี่ยวกันอย่างพร้อมเพรียง


จากวันนั้นถึงวันนี้ รสชาติหวานอร่อยของ "น้ำว้า" ยังติดอยู่ที่ปลายลิ้น หลายคนตรึงใจถึงขนาดต้องกลับไปลิ้มรสทุกๆ ปี แต่สำหรับฉัน นี่ถือเป็นครั้งที่ 2


ล่องแก่งเรือยางลำน้ำว้า จังหวัดน่าน เป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ได้รับความนิยมทุกๆ ปี โดยจะสามารถทำกิจกรรมได้ตั้งแต่เดือนกันยายนไปจนถึงเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำมาก สามารถทำการล่องแก่งได้


และสำหรับ "นักล่าแก่ง" แล้ว ไม่มีใครพลาดที่จะทำความรู้จักกับความท้าทายบนสายน้ำที่สวยที่สุดแห่งนี้

-โหด-


"ว้า...น้ำน้อยจัง" ใครบางคนบ่นอุบ เมื่อเราเดินทางมาถึงบ้านสบมาง ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมล่องแก่งลำน้ำว้าตอนกลาง


"น้ำมาก น้ำน้อย สนุกต่างกันนะครับ" สตาฟฟ์ที่ได้ยินแอบตะโกนผ่านสายลมมา นั่นเองที่ทำให้ทุกคนเริ่มหันมาหาอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยอย่าง เสื้อชูชีพ หมวกกันน็อค และไม้พายทันที


เข้าหน้าหนาวทีไร "ล่องแก่งเรือยางลำน้ำว้า" จังหวัดน่าน มักจะเป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวถามหาทุกครั้ง อาจเป็นเพราะช่วงเวลานี้น้ำเยอะและใสมาก เหมาะกับการล่องแก่ง ซึ่งลำน้ำว้านั้นมีต้นกำเนิดอยู่บนเทือกเขาผีปันน้ำ ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนน่าน เช่นเดียวกับลำน้ำน่าน โดยลำน้ำสายนี้จะไหลผ่านอำเภอบ่อเกลือ ลงมาที่อำเภอสันติสุข อำเภอแม่จริม ก่อนจะไหลไปรวมกับลำน้ำน่านที่บริเวณอำเภอเวียงสา สุดท้ายไหลเข้าจังหวัดอุตรดิตถ์ และไปทิ้งตัวอยู่ในเขื่อนสิริกิติ์เป็นลำดับสุดท้าย

สำหรับกิจกรรมล่องแก่งลำน้ำว้า เริ่มต้นครั้งแรกราวปี 2545 โดยกลุ่มผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวผู้รักการผจญภัย ที่ทำการสำรวจกันมาตั้งแต่ปี 2539 ความสนุกของลำน้ำว้าอยู่ตรงที่มีแก่งหินท้าทายความสามารถอยู่หลายแก่ง ยิ่งน้ำมาก แก่งยิ่งยาก กว่าจะผ่านไปได้ต้องใช้ทั้งสติปัญญาและแรงกาย แต่เมื่อไรที่น้ำน้อย ก็ใช่ว่าจะหา "ความอร่อย" กับกิจกรรมนี้ไม่ได้ เพราะแก่งเล็กๆ นั้นแอบแทรกความโหดไว้มากมาย ชนิดที่เรียกว่า ปราบเซียนมานักต่อนักแล้ว


แดดสิบโมงที่ร้อนแรง ลดดีกรีความเย็นที่ 17 องศาลงไปได้มากโข หลังจากจัดการแต่งตัวในชุดเตรียม "เปียก" เรียบร้อย พวกเราทั้งคณะก็ไปยืนคอยเจ้าหน้าที่อยู่ริมตลิ่ง เพื่อรับข้อมูลที่ถูกต้องในการล่องแก่งครั้งนี้ก่อน แน่นอนว่า นักล่าแก่งที่เคยผ่านสมรภูมิมา 10 รอบ 100 รอบ ไม่มีใครปฏิเสธจุดเริ่มต้นที่ควรรู้อย่างนี้ได้


สมุน มูลมา ประธานชมรมล่องแก่งลำน้ำว้า บอกว่า กิจกรรมล่องแก่งลำน้ำว้าแบ่งเป็น 3 ตอน ตามสภาพพื้นที่ คือ ล่องแก่งน้ำว้าตอนบน เริ่มต้นที่บ้านสะปัน ในอุทยานแห่งชาติขุนน่าน มีความยาวประมาณ 35 กิโลเมตร ในส่วนนี้จะเปิดให้ท่องเที่ยวได้เฉพาะเดือนกันยายนถึงสิงหาคมเท่านั้น เพราะเป็นระยะปลอดภัย ซึ่งนักล่าแก่งที่รักความท้าทายต่างต่อคิวไม้พายกันข้ามปี เช่นเดียวกับล่องแก่งลำน้ำว้าตอนกลาง ที่ถือเป็นไฮไลท์ของการล่องแก่งทั้งหมด เพราะความยาวเกือบ 80 กิโลเมตร จากบ้านสบมางจนถึงบ้านวังรูนนั้น ลำน้ำไหลผ่าอำเภอที่สำคัญของน่านถึง 3 อำเภอ นั่นคือ บ่อเกลือ สันติสุข และแม่จริม ใช้เวลาล่องแก่ง 2 วัน 1 คืน ซึ่งความยากมีตั้งแต่ระดับ 1-6 (ใช่ 6 จริงๆ)


"ตอนกลางจะปลอดภัยกว่าตอนบน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ชอบมาที่นี่ เพราะสนุก และมีแก่งเยอะ" สมุน ออกปาก ก่อนจะบอกว่า


ล่องแก่งลำน้ำว้าตอนล่าง เส้นทางอาจจะน้อยนิดเพียง 16 กิโลเมตร แต่สามารถทำกิจกรรมได้ทั้งปี โดยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่จริม ซึ่งการล่องแก่งตอนล่างนี้มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง


ประธานชมรมฯ ร่ายข้อมูลให้เราฟังคร่าวๆ ก่อนจะเข้าเรื่องการพายเรือ การหลบหลีกอุปสรรค และการปฏิบัติตัวเมื่อเรือล่ม ซึ่งพอรับทราบข้อมูลเบื้องต้นแล้วก็ถึงเวลา "ลงเรือ"

-มัน-


ระยะทางที่จะล่องในวันแรกอยู่ที่ราว 40 กิโลเมตร สมุนบอกว่า น้ำน้อยแบบนี้พวกเราต้องสามัคคีกันให้มาก เพราะบางจังหวะน้ำอาจไหลเอื่อยๆ ถ้าไม่ออกแรง ดึกดื่นเที่ยงคืนก็คงไม่ถึงที่พัก ว่าแล้วพวกเราก็เตรียมขยับไม้พาย


น้ำว้ายังคงใสสะอาดเช่นเดิม แม้อากาศจะเย็น แต่พอเห็นน้ำใสๆ แบบนี้ไม่มีใครอดใจที่จะไม่เล่นน้ำได้


"กรี๊ดดดด" เสียงหญิงสาวจากเรือยาง 2 ลำด้านหน้ากรีดร้องใส่กัน เปล่า ไม่มีใครตกจากเรือทั้งนั้น แต่เป็นเพราะพวกเธอกำลังฝึกทักษะการใช้ไม้พาย "สาดน้ำ" ใส่กัน เมื่อลองแล้วน้ำเย็นๆ กระเด็นใส่ก็กรี๊ดกันอย่างสะใจก็เท่านั้น แต่เล่นกันไม่ทันไร ของจริงก็มารออยู่ตรงหน้า


"กรี๊ดดดดดดดดด" เสียงนี้ยาวกว่าของเล่นๆ เยอะมาก เพราะแม้จะน้ำน้อย แต่ "แก่งห้วยปึง" ก็สามารถพิชิตนักล่าแก่งทั้งลำลงไปกินน้ำว้าได้สำเร็จ


ไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น เพราะพอผ่าน "แก่งห้วยเดื่อ" สุดโหดแบบสูงเป็นน้ำตก 1 เมตรมาแล้ว ผู้หิวกระหายน้ำอย่าง "นายหัว" ของเรืออีกลำ ก็เสียหลักลงไปชำระร่างกับน้ำว้าเสียเฉยๆ ปล่อยให้นายท้ายและสมาชิกเรืออีก 4 คน นั่งงงๆ อยู่บนเรือว่า พี่แกลงไปทำไม


"ไม่ตกน้ำไม่สนุกหรอก" ใครบางคนบอกแก้เก้อ แต่ก็เห็นจะจริง เพราะพอขึ้นจากน้ำได้ วินาทีเฉียดตายก็ถูกถ่ายทอดต่อๆ กันจนฟังเป็นเรื่องสนุกสนาน


ล่องมาระยะหนึ่งเราก็แวะรับประทานอาหารกลางวันกันที่หาดทรายใกล้ๆ กับบ้านห้วยลอย สตาฟฟ์เรือทุกลำต่างพากันวางไม้พายแล้วถือมีดขนาดย่อมหายเข้าป่าไป สักพักก็กลับมาพร้อมใบตองหอบใหญ่


"ใบตองป่า ตัดได้ เอามาปูบนทรายให้พวกเรานั่งครับ" น่ารักใช่มั้ยล่ะสตาฟฟ์น้ำว้า


อาหารกลางวันกินกันอย่างง่ายๆ ข้าวเหนียว น้ำพริก ผักต้ม หมูทอด ปลาทอด แต่ทุกคนบอก อร่อยจนต้องยกนิ้ว และเมื่ออิ่มหนำ เรือทุกๆ ลำก็พร้อมออกจากท่า


"พาย พาย พาย" เสียงนายท้ายตะโกนก้องป่า และก็เหมือนบ้าจี้ พวกเรา 8 ชีวิตในลำเรือจ้วงไม้พายกันอย่างไม่คิดชีวิต


เรือไหลตะแคงไปทางซ้าย ก่อนจะหักศอกกลับมาทางขวา เจอด่านหินโขดใหญ่ตั้งเด่นอยู่ตรงหน้า นายท้ายจึงใช้วิชาบิดหางเสือเปลี่ยนทิศทาง นั่นแหละที่ทำให้ทุกคนผ่านแก่งสุดท้ายของวันนี้ไปได้ ก่อนจะปล่อยให้เรือไหลไปเองเรื่อยๆ เพราะอาการเมื่อยล้าเข้ากัดกิน กระทั่งมาถึงจุดพักค้างแรมในวันนี้ที่ "แคมป์หาดงาม" ในเขตอำเภอแม่จริม นั่นแหละทุกคนจึงได้พักกันจริงๆ


อาหารค่ำถูกเตรียมอย่างว่องไวโดยพี่ๆ สตาฟฟ์ฝีพายเมื่อกลางวัน ซึ่งบางส่วนแอบแวะไปเก็บ "ผักกูด" ริมน้ำ บ้างก็ดำน้ำไปจับปลาในเขตที่สามารถจับได้มาปรุงอาหาร เรียกว่า ทั้งสด ทั้งอร่อยเลยจริงๆ สำหรับพวกเราแม้จะเปียกมาทั้งวันแต่ก็ต้องอาบน้ำก่อนเข้านอน ที่แคมป์นี้ดีเพราะมีห้องน้ำ(ส้วม) สะดวกสบาย 2 ห้อง และห้องอาบน้ำอีก 2 ห้อง ซึ่งในส่วนของสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ สมุน บอกว่า ต้องสร้างใหม่ทุกๆ ปี เพราะเป็นเพียงที่พักชั่วคราว เมื่อเวลาผ่านไปจึงผุพังไปตามแรงลมแรงฝน ซึ่งสถานที่ตั้งแคมป์ใหม่ก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่นกัน


ค่ำนั้นไม่หนาวเท่าที่ควร เราจึงมีโอกาสออกมายืนสูดอากาศเย็นสบายนอกเต็นท์ พร้อมๆ กับชื่นชมดวงดาวระยิบระยับบนฟ้ากว้างได้อย่างไม่ต้องทนเหน็บหนาว สำหรับคนเดินทางอย่างเรา แค่เห็นดาวเต็มฟ้าท่ามกลางดงป่าหนาทึบ ไม่มีอะไรจะสุขไปกว่านี้อีกแล้ว

-ฮา-


ไอหมอกจางๆ ลอยผ่านหน้าเต็นท์ไปอย่างอ้อยอิ่ง แสงเล็กๆ ของดวงตะวัน บอกให้รู้ว่า วันใหม่กำลังเริ่มต้นขึ้นแล้ว หลังจัดการภารกิจส่วนตัวยามเช้าเสร็จสรรพ พวกเราก็ผลัดไปใส่เสื้อผ้าชุดเดิม ถือไม้พายอันเดิม แล้วเดินลงเรือลำเดิมไปโดยไม่ต้องมีใครมาสั่งการ


ความเมื่อยล้าจากการใช้แขนขวาซ้ายมาทั้งวัน ทำให้กำลังพายของเราลดระดับความแรงลง แต่ไม่ทันไรนายท้ายคนเดิมก็สั่ง "พาย พาย พาย" อีกคำรบ


"โครม!!!" ไม่ใช่เสียงเรือคว่ำ แต่เป็นมวลน้ำมหาศาลที่สาดเข้ามากระแทกเรือจนดูคล้ายจะกลืนกินเรือทั้งลำลงไปใต้น้ำ พวกเราทั้ง 8 ชีวิตจับไม้พายไว้มั่น เพราะมาน้ำว้าใครๆ ก็รู้ว่า ไม่มีคำสั่ง "จับเชือก" แน่นอน ทุกชีวิตต้องช่วยกันประคับประคองเรืออย่างถึงที่สุด และเราก็ผ่านมันมาได้


ไม่รอจังหวะให้หายใจ หลังผ่าน "แก่งครก" ขนาดใหญ่มาได้ เรือก็ล่องต่อไปยัง "แก่งขี้นก1" และ "แก่งขี้นก2" ก่อนจะปล่อยให้เราได้ทำใจพักเล็กๆ เพื่อพิชิตกับสุดยอดแห่งความท้าทายที่ "แก่งรถเมล์" ซึ่งนายท้ายแอบกระซิบว่า "วันนี้น่าจะอยู่ที่ระดับ 5 นะครับ"


จริงดังว่า เพราะคะเนจากสายตาที่เรือยางลำหน้าล่องหายไป ต้องมี 1-2 เมตรแน่ๆ ฉันหมายถึงความสูงของน้ำตก

"กรี๊ดดดดด" เรากรีดร้องด้วยความยินดีเมื่อล่องผ่านแก่งสุดโหดมาได้ด้วยอาการครบ 32 แต่เรืออีกลำกลับต้องสังเวยสมาชิกในเรือไป 1 คน เพราะเกิดอาการ "ติดใจ" รถเมล์เข้าให้อย่างจัง สุดท้ายก็ได้ชื่อใหม่ตามเพื่อนๆ ตั้งให้ว่า "นายรถเมล์"


เราเจอแก่งแบบโหดๆ อีกหลายแก่ง และแก่งเล็กๆ แบบน้ำกระเซ็นพอชื่นใจอีกมาก ซึ่งจะว่าไป แก่งที่เราเจอวันนี้มีมากมายนับได้เกือบ 50 แก่ง ทั้งที่มีชื่อ และไม่อาจตั้งชื่อได้ ซึ่งระยะทางดูเหมือนยาวไกล คือราว 35 กิโลเมตร แต่เพราะแก่งเยอะทำให้แรงส่งน้ำดี เราจึงถึงปลายทางอย่างรวดเร็วเกินคาด


"น้ำมาก น้ำน้อย สนุกต่างกันนะครับ"


ขึ้นฝั่งได้ฉันก็นึกถึงคำของนายท้ายเรือลำหนึ่ง ซึ่งบอกไว้แต่ตั้งต้นทาง มันเป็นเรื่องจริงแท้แน่นอนและถึงตอนนี้ฉันไม่แปลกใจแล้วว่า ทำไมจึงมี "นักล่าขาประจำ" จองคิวมาลงล่องแก่งน้ำว้าทุกๆ ปี


รสชาติ "น้ำว้า" เป็นอย่างไร ปีนี้ฉันเองไม่ได้พิสูจน์ แต่ได้ฟังจากเพื่อนๆ ที่ถูก "ดูด" ลงไปในน้ำแล้วก็พอจะคาดเดาได้ว่า ความหวานคงไม่แตกต่างจากทุกๆ ปีที่ผ่านมา และฉันก็เชื่อเหลือเกินว่า นักล่าแก่งทุกคนไม่มีใครไม่รักน้ำว้า เพราะมันช่าง "โหด มัน ฮา" แบบเข้าเส้นซะจริงๆ


...............

การเดินทาง


น่าน อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 668 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมง รถยนต์ให้ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 32 ถึงนครสวรรค์เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 117 ถึงพิษณุโลกและใช้เส้นทางหมายเลข 11 ผ่านอุตรดิตถ์ และอ.เด่นชัย(แพร่) จากนั้นเลี้ยวขวาใช้ทางหลวงหมายเลข 101 ผ่านแพร่ไปจนถึงตัวเมืองน่าน

ถ้าเป็นเครื่องบิน มีสายการบินนกแอร์ ให้บริการทุกวัน สอบถาม โทร. 1318 หรือ www.nokair.com รถโดยสารมีไปน่านทุกวัน ติดต่อที่ สถานีขนส่งสายเหนือ(หมอชิต 2) โทร. 0 2936 3670, 0 2936 2852-66 ต่อ 442, 614 หรือ www.transport.co.th รถไฟต้องไปลงที่เด่นชัย แล้วต่อรถโดยสารประจำทางมาที่จังหวัดน่าน 142 กิโลเมตร สอบถามการรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 0 2223 7010, 0 2223 7020

ถึงน่านแล้วต่อไปที่บ้านสบมาง อ.บ่อเกลือ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมล่องแก่งน้ำว้าตอนกลางอีกประมาณ 100 กว่ากิโลเมตร โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 1080 จากเมืองน่านตรงไปทาง อ.ท่าวังผา เรื่อยไปจนถึง อ.ปัว กลับรถแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1256 ผ่านอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ตามป้ายมาจนถึง อ.บ่อเกลือ แล้วต่อไปบ้านสบมางอีกประมาณ1 ชั่วโมง

ผู้ประกอบการที่ทำกิจกรรมล่องแก่งน้ำว้า แนะนำ น่าน ทัวร์ริ่ง โทร. 0 5475 1122, 08 1961 7711, น่าน ม่วน ทัวร์ โทร. 0 5477 3598, 08 9755 5820, น่านแอดเวนเจอร์ทัวร์ โทร. 05477 1999, 08 6610 5828, ริเวอร์ ราฟท์ โทรง 0 5471 0940, 08 9853 1506 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ททท.สำนักงานแพร่ โทร. 0-5452-1127 หรือ www.tourismthailand.org/phrae