"THE RAILWAY MAN" ย้อนประวัติศาสตร์สุดโหด

"THE RAILWAY MAN" ย้อนประวัติศาสตร์สุดโหด

จากเรื่องราวการเปิดฉากสร้างทางเดินรถไฟเส้นทางไทย-พม่า มาจนถึงภาพยนตร์แอคชั่นดราม่าเรื่อง THE RAILWAY MAN

ทั้งหมดทำให้เราเห็นว่า "กาญจนบุรี" นั้นเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์สงครามกลายเป็นบันทึกหน้าความทรงจำตลอดมาจวบจนทุกวันนี้

ย้อนกลับไปเมื่อ ปี 2486 กองกำลังทหารจักรวรรดิญี่ปุ่น ได้สร้างเส้นทางรถไฟไทย-พม่า ตั้งแต่เมืองธันบยูซายัท ประเทศพม่า และอำเภอบ้านโป่ง ผ่านจังหวัดกาญจนบุรี ข้ามแม่น้ำแควใหญ่ ช่วงสะพานข้ามแม่น้ำแคว ไปทางทิศตะวันตกจนถึงด่านเจดีย์สามองค์ ประเทศพม่า ระยะทางรวม 415 กิโลเมตร ภายใต้งบประมาณ 4 ล้านบาท เพื่อใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2

โดยระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟเส้นทางช่วงไทย-พม่า มีการใช้แรงงานจากพลเรือนชาวเอเชียกว่า 2 แสนคน รวมทั้งเชลยศึกจากฝ่ายพันธมิตร ได้แก่ ทหารอังกฤษ อเมริกัน ออสเตรเลีย ฮอลันดา และนิวซีแลนด์ รวมถึงกรรมกรชาวจีน เวียดนาม ชวา มลายู พม่า อินเดีย กว่า 6 หมื่นคน มีผู้เสียชีวิตถึง 8 หมื่นคน และสูญหายไปกว่า 1.3 หมื่นคน (ไม่มีสถิติยืนยันแน่นอน) จนถูกขนานนามให้เป็น"เส้นทางรถไฟสายมรณะ"

รถไฟสายมรณะ ถือเป็นเส้นทางรถไฟสายยุทธศาสตร์ในการเคลื่อนกำลังและลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อจะไปโจมตีพม่าและอินเดียต่อไป

การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแควและทางรถไฟไทย-พม่า ความยาว 415 กิโลเมตร เต็มไปด้วยความยากลำบาก ความทารุณของสงครามและโรคภัย ตลอดจนการขาดแคลนอาหาร ทำให้เชลยศึกจำนวนหลายหมื่นคนต้องเสียชีวิต จนกลายเป็นอนุสรณ์ของโลกที่จารึกความโหดร้ายทารุณของสงครามโลกครั้งที่ 2

ปัจจุบันเส้นทางรถไฟสายมรณะยังพอมีร่องรอยให้เห็นอยู่บ้าง อย่างที่บริเวณช่องเขาขาดหรือ "ช่องคอนยู" (KONYU CUTTING) ซึ่งเป็นช่วงกิโลเมตรที่ 133 แม้จะเป็นเส้นทางสั้นๆ ของทางรถไฟ แต่เชลยศึกชาวออสเตรเลียและเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร ต้องขุดเจาะทางรถไฟผ่านภูเขา มูลดินขอบทางรถไฟ เนื่องจากภูมิประเทศแถบนี้เป็นเทือกเขาหินสูงชัน ทางรถไฟระยะทาง 110 เมตร จะทอดตัวจากชั้นหินด้านบนลงไปยังหุบเขาลึกที่ติดกับชั้นหินถัดไปใกล้กับฝั่งแม่น้ำแควน้อยทางด้านทิศเหนือ

การก่อสร้างช่องเขาขาดในช่วงแรกเหล่าเชลยศึกต้องขุดเจาะพื้นดินลึก 17 เมตร เพื่อสร้างทางรถไฟ และการใช้กำลังคนในการขนย้ายดินนั้นใช้เครื่องมือขนาดเล็ก โดยเหล่าเชลยศึกจะใช้ค้อนหนัก 8 ปอนด์ สว่าน ระเบิด เสียม พลั่ว จอบ และตะกร้าหวายอันเล็กๆ ส่วนเครื่องระบายอากาศและค้อนเจาะหินนั้นได้มีการนำมาใช้ในภายหลัง

รุจิกาญจน์ เสตียร์ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานช่องเขาขาด เล่าถึงความโชคร้ายของเหล่าแรงงานเชลยศึกระหว่างสร้างทางรถไฟว่า ช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2486 เหล่าเชลยศึกต้องสร้างทางรถไฟท่ามกลางฤดูมรสุม และชุมไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้เกิดการล้มตายจำนวนมาก

"การเจ็บป่วยล้มตายในช่วงนั้น ส่งผลให้การก่อสร้างทางรถไฟที่ช่องเขาขาดต้องเผชิญกับความกดดันอย่างสูงจากวิศวกรชาวญี่ปุ่นและผู้คุมชาวเกาหลี ที่บังคับให้ทำงานต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืน เป็นเวลา 16-18 ชั่วโมง ทำให้พวกเขาขนานนามช่องเขาขาดเป็น "ช่องไฟนรก" ด้วยเหตุที่ผู้คุมชาวญี่ปุ่นบังคับให้เหล่านักโทษทำงานในเวลากลางคืน แสงสว่างจากคบไฟให้ความรู้สึกราวกับว่าที่แห่งนี้เป็นขุมนรกจริงๆ เมื่อมองมาจากทางด้านบน" ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ เล่า

ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ เสริมต่อว่า ในแต่ละปีพิพิธภัณฑสถานช่องเขาขาดจะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนกว่าแสนคน โดยร้อยละ 50 จะเป็นอดีตเชลยศึกและครอบครัว เพื่อเยี่ยมชมประวัติศาสตร์เส้นทางรถไฟสายมรณะ ซึ่งมีการจัดแสดงเรื่องราวด้วยนิทรรศการและวีดีทัศน์ไว้อย่างครบถ้วนทั้งฉบับภาษาไทย และภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ยังมีเส้นทางให้เที่ยวชมร่องรอยรางรถไฟช่วงช่องเขาขาด แต่โดยมากนักท่องเที่ยวจะนิยมมาในช่วงวันที่ 25 เมษายน เนื่องจากที่นี่มีการจัดพิธีรำลึกกองกำลังทหารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ พร้อมด้วยเหล่าทหารจากสหราชอาณาจักร อินเดีย และฝรั่งเศส ที่รับใช้ประเทศในช่วงเวลาของสงคราม ความขัดแย้ง หรือในปฏิบัติการรักษาสันติภาพ

"ในแต่ละปีจะมีอดีตเชลยศึกชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เดินทางมาร่วมงานดังกล่าว และเคยมีอดีตเชลยศึกคนหนึ่งค่อยๆ พยุงตัวที่ใหญ่และชราลงนั่ง ระหว่างที่เดินมาถึงช่องเขาขาด โดยเขาบอกว่า เขาขอนั่งในที่แห่งนี้สักครั้ง เพราะที่ผ่านมาเขาไม่เคยที่จะได้นั่งพักแม้แต่ครั้งเดียว"

จากความยากลำบาก ความโหดร้ายของสงคราม ถูกนำมาร้อยเรียงเรื่องราวเป็นภาพยนตร์และหนังสือมาแล้ว ล่าสุด แอนดี้ พาเทอร์สัน ผู้คร่ำหวอดในวงการภาพยนตร์ ได้ทุ่มทุนสร้างกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อเนรมิตฉากสงคราม และฉากการสร้างทางรถไฟสายมรณะให้ยิ่งใหญ่สมจริง อย่างที่ อีริค โลแมกซ์ บันทึกเอาไว้ ซึ่งเป็นบันทึกที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับสงครามที่ดีที่สุดในโลก โดยที่เขาได้ใช้เวลากว่า 5 ปี ในการเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ และเพื่อความสมจริงของสร้างภาพยนตร์ THE RAILWAY MAN ทีมงานของแอนดี้ ได้เช่ารถไฟไทยรุ่นเดียวกับที่ใช้วิ่งในยุคสงครามโลก มาเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งปักหลักถ่ายทำที่จังหวัดกาญจนบุรี ณ สุสานทหารสัมพันธมิตร โรงงานกระดาษ และช่องเขาขาด เป็นระยะเวลากว่า 8 เดือน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงกองกำลังทหารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ จึงมีการกำหนดให้วันที่ 25 เมษายนของทุกปี เป็นวันอนุสรณ์ทหารผ่านศึกออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ หรือวันแอนแซค(Australian and New Zealand Army Corps : ANZAC) ที่ชาวออสเตรเลียทั่วโลกร่วมกันรำลึกและจดจำเหล่าทหารออสเตรเลียที่รับใช้ประเทศชาติในสงคราม วันแอนแซค จารึกเหตุการณ์สำคัญของวันที่เหล่าทหารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ยกพลขึ้นบก ณ ชายฝั่งของคาบสมุทรแกลลิโปลี ประเทศตุรกี เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2458 หรือเมื่อ 99 ปีมาแล้ว

สำหรับประเทศไทย ในปีนี้ที่จังหวัดกาญจนบุรี ฯพณฯ โจนาธาน เคนนา อุปทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย และพันเอกแอนดรูว์ ดัฟ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร สถานทูตออสเตรเลีย กรุงเทพฯ ได้ร่วมกับเอกอัครราชทูต นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการระดับสูง รวมทั้งประชาชนทั่วไป รวมถึงมีญาติมิตรของผู้เสียชีวิต นักท่องเที่ยวจากประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ กว่า 1,250 คน ร่วมพิธีรำลึกถึงเชลยศึกหลายพันคน ที่เสียชีวิตจากการก่อสร้างทางรถไฟสายไทย - พม่า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ถือเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในอดีตแล้วตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันประวัติศาสตร์ในอดีตก็เป็นเหมือนรอยรำลึกถึงความโหดร้ายที่ไม่ให้คนรุ่นหลังเดินซ้ำรอย