แปลงนาแห่งรัก
ชาวนารุ่นใหม่ปลูกข้าวก็ใส่ใจต่อคนกินและผืนดินรู้จักสร้างแบรนด์ สร้างเครือข่ายและนี่คือแนวโน้มของชาวนารุุ่นใหม่
ขณะที่รัฐบาลพยายามพยุงช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มใหญ่ แต่อีกฝากหนึ่งของเกษตรกร พวกเขาพยายามช่วยเหลือพึ่งพิงตนเอง คนกลุ่มเล็กๆ เหล่านี้พยายามสร้างเครือข่าย ซึ่งเป็นอีกความหวังของประเทศนี้ พวกเขานำไอเดียจากการทำงานทั้งชีวิตมาสร้างแบรนด์ เพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตร
และในยุคที่เทคโนโลยีสามารถนำมารับใช้ชีวิตได้ ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องเดินไปซื้อข้าว กาแฟ ในห้างสรรพสินค้า เราสามารถสั่งซื้อออนไลน์หรือโทรศัพท์มือถือ จากนั้นเกษตรกรก็จะส่งตรงถึงผู้บริโภค
นี่คือ ทางเลือกใหม่ของเกษตรกรและผู้บริโภค รวมถึงอาสาสมัครหลากหลายอาชีพที่มาช่วยชาวนาขายข้าว เพื่อให้พวกเขาหลุดจากวังวนเดิมๆ
ปัจจุบันจึงได้เห็นกลุ่มเครือข่ายข้าว และแบรนด์เท่ๆ แบบไทยๆ มากขึ้น อาทิ ข้าวหอมคุณยาย (บริษัทมีฟาร์มสุข (ไม่) จำกัด ,ข้าวจากกลุ่มผูกปิ่นโตข้าว ,ข้าวคุณธรรม จากชาวนาที่รักษาศีล ,ข้าวปันสุข และข้าวจากกลุ่มเพื่อนปลูกเพื่อนกิน ฯลฯ
แบรนด์ไทยๆ ใจดี เป็นกันเองกับผู้บริโภค ประมาณกินข้าวแบรนด์นี้่้แล้ว ไปดูกรรมวิธีผลิตข้าวที่ไร่ได้เลยว่า พวกเขาปลุูกข้าวอย่างไร....
จากนักธรณีมาเป็นเกษตรกร
มนุษย์เงินเดือน หันมาทำการเกษตร ปลูกข้าว ปลูกผัก ปลูกผลไม้ ไม่ใช่เรื่องแปลกในพ.ศ.นี้ ในช่วงแรกๆ อาจมีคำถามจากคนรอบตัวว่า "เรียนสูงๆ มาทำนาทำไร่ทำไม" "ทำงานสบายๆ ไม่ชอบมาทำนาจะมีกินหรือ " ฯลฯ
นั่นเป็นคำถามที่มาจากพื้นฐานความคิดแบบเดิมๆ ที่เชื่อว่า เรียนสูงๆ ต้องทำงานในออฟฟิค ต้องเป็นเจ้าคน นายคน แต่ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ใครๆ ก็อยากเป็น เจ้านายตัวเอง แม้บางคนจะคิดว่า สุ่มเสี่ยงกับรายได้ที่หายไป แต่เป็นทางเลือกที่เลือกได้ เพียงแต่ต้องเลือกให้เหมาะและเป็นเรื่องเฉพาะตน ชีวิตของใครก็ของคนนั้น ไม่มีถูกหรือผิด
"เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ลูกสาวผมถามว่า เมื่อไหร่พ่อจะกลับบ้าน"
คำถามที่ว่า "เมื่อไหร่พ่อจะกลับบ้าน" ทำให้ อ๋า-พนมเทียน ทองสิทธิ์ อดีตนักธรณีวิทยาวัย 44 ปีจากบริษัทสํารวจและผลิตถ่านหินระดับประเทศ ทิ้้งเงินเดือนหลักแสนมาทำไร่ทำนา เขาคิดว่า คงไม่ได้ยากลำบากเกินไป เพราะนั่นทำให้เขาได้อยู่กับครอบครัวในเมืองไทยที่บ้านเกิดเมืองเพชรบูรณ์
นักสำรวจถ่านหินคนนี้ ชีวิตส่วนใหญ่ทำงานในต่างประเทศ ได้อยู่เมืองไทยปีละไม่ถึงสองเดือน เขาเคยประจำอยู่ที่อินโดนีเซีย 12 ปีและมองโกเลีย 2 ปี พื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น แต่ที่สุดตัดสินใจหวนคืนสู่แผ่นดินเกิดมาทำไร่ไถนาได้ปีกว่าๆ
พนมเทียน เล่าว่า พ่อแม่ของเขา เคยขายที่ดิน เพื่อให้ลูกๆ ได้เรียนหนังสือ และตัวเขาสร้างฐานะจากศูนย์ เมื่อมีปัจจัย 4 ครบแล้ว เขาคิดว่า พอแล้ว กลับบ้านเกิดดีกว่า
"ตอนผมทำงานอยู่ที่มองโกเลีย ผมเริ่มคิดว่า ชีวิตจะไปอย่างไรต่อ ปีหนึ่งผมได้หยุดอยู่เมืองไทยเดือนกว่าๆ ผมอยู่ต่างประเทศตลอด ทำงานมายี่สิบกว่าปี เมื่อ 5 ปีที่แล้วผมเริ่มมีคำถามกับตัวเอง "
เมื่อได้ไตร่ตรองอย่างรอบคอบและรอบด้าน พนมเทียนเลือกที่จะเป็นเกษตรกร แม้รายได้จะไม่แน่นอน แต่สิ่งหนึ่งที่เขามั่นใจคือได้ชีวิตคืนมา มีอิสรภาพในการใช้ชีวิต
"ถ้าให้ผมมองย้อนกลับไปในชีวิตผมตอนทำงานประจำ ผมรู้สึกเหมือนอยู่ในคุก การเป็นนักสำรวจ เวลาพักก็ไม่ได้พัก ความรับผิดชอบสูง ผมต้องเดินสำรวจในป่า และเป็นนักสำรวจชุดแรกๆ ที่จะต้องเอาข้อมูลออกมาให้นักสำรวจชุดต่อไปทำงาน จึงมีความกดดัน แต่ตอนนี้ผมออกจากคุกแล้ว "
เมื่อถึงเวลาจึงลาออกจากงานประจำ พนมเทียนขอเดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการเกษตรแบบยั่งยืน เขาบอกว่า สิ่งที่เราทำวันนี้ จะอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืนในอนาคต
"แม้ผมจะทิ้งวิชาชีพไปเลย แต่ในแง่ประสบการณ์ การใช้ชีวิต วิธีการทำงานกับคนอื่นและความอดทน ผมได้นำมาใช้กับการเกษตร ซึ่งหลายคนคิดว่า คนทำงานมีเงินเดือน พอมาทำเกษตรไม่ค่อยอดทน จริงๆ แล้วผมทำงานสำรวจต้องเข้าป่าตลอดเวลา ซึ่งลำบากมากกว่าการลงแปลงนาซะอีก"
ตามประสาคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาว และเจอปัญหาจากการทำงานบริหารจัดการมามากมาย เขาพบว่า ถ้าจะทำการเกษตรต่อไป ต้องห่วงใยผืนดิน เขาเลือกตั้งแต่แรกว่า ต้องเป็นเกษตรอินทรีย์ จึงปลูกตั้งแต่ข้าวไร้เบอร์รี่ หอมมะลิ มะขามหวาน ผักหวานป่า และพริกไทย และช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา เขาเริ่มอยู่ตัว จึงเตรียมสร้างแบรนด์และช่องทางสื่อสารทางออนไลน์
"ไม่ว่าจะทำอะไรต้องรู้จริง รู้ลึก ทั้งเรื่องดิน น้ำ สภาพอากาศ ต้องมีเหตุมีผลในการทำ " พนมเทียน เล่า ณ วันที่เขายืนอยู่บนแปลงนาของตนเอง และวันที่ได้อยู่กับครอบครัวมาปีกว่าๆ ไม่ใช่เดือนกว่าๆเหมือนเช่นที่ผ่านมา
เราไม่ได้นักล่าฝัน
คงเคยได้ยินเรื่องราวคนรุ่นใหม่หันมาทำนา ปลูกข้าวกันมากขึ้นเรื่อยๆ บางคน ก็มองว่า เป็นแค่อาชีพฝันๆ ทำสักพักก็เลิกลา แต่สองพี่น้อง ขวัญชนก เหล่าสุนทร สถาปนิก และเชษฐกานต์ เหล่าสุนทร วิศวกร ที่ร่ำเรียน จนจบปริญญาตรีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ รวมถึงศึกษาเพิ่มเติมระดับปริญญาเอก ด้านพัฒนาทรัพยากรชนบท ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เธอใฝ่หาความรู้และลองทำนาเอง เพื่อให้รู้ว่า ทำนา...ทำอย่างไร ทั้งสองสนุกและจริงจังกับผืนนา Mc Nena 's farm Organic Herbs@Chang Rai 50 ไร่
เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ขวัญชนก เล่าให้เราฟังว่า ไม่ได้ทำเล่นๆ แต่ทำจริงจัง ทำมาสองปีกว่าแล้ว มีผลผลิตด้วย
จากการพูดคุย เธอพยายามสร้างเครือข่ายในพื้นที่และมีเป้าหมายส่งข้าวไปขายในต่างประเทศ
" เริ่มจากปั่นนา ไถ คราดดินก่อน ส่วนที่ต้องใช้เครื่องจักร เราก็จ้างคนอื่นทำ ส่วนเรื่องการบำรุงดิน ทำปุ๋ย เราก็ทำเอง ตอนที่เราเริ่มทำ ก็วางแผนว่าจะปลูกข้าวอะไร เราตั้งใจว่าจะต้องเป็นเกษตรอินทรีย์ ตั้งใจจะปลูกข้าวหอมมะลิ เราก็ไปเรียนในโรงเรียนทำนา ได้เรียนรู้กรรมวิธีแบบโบราณ ผสมผสานแนวทางวิทยาศาสตร์ตามประสาคนรุ่นใหม่ เราก็ประยุกต์ใช้ในนาของเรา"
เหมือนเช่นที่กล่าว รุู้ให้จริงในการทำนา แล้วใส่ความคิดสร้างสรรค์ สร้างแบรนด์ แต่สิ่งสำคัญคือ ใส่ความรัก
"ทำนาเปียกฝน ก็สนุกไปกับมัน ช่วงใส่ปุ๋ยเราก็ทำเอง ดำนาก็ช่วยกันทำ" ขวัญชนกเล่าถึงความสนุกในการทำนา เพราะทำนาช่วยทำให้น้ำหนักลดปีหนึ่ง 3 กิโลกรัม
"เวลาว่างเราก็ปลูกถั่ว สาเหตุที่เราทำนาจนถึงทุกวันนี้เพราะใจรัก และมีความสุข ไม่รู้สึกเหนื่อย เพราะเรายังอายุยี่สิบปลายๆ ถ้ามีโอกาสเราจะส่งข้าวไปขายที่สิงคโปร์ จะใช้แบรนด์ ออแกนิค เฮิร์บ@เชียงราย นอกจากนี้ ยังขายในออนไลน์ เราก็ออกแบบผลิตภัณฑ์เอง ก็สนุก "
ส่วน คำนึง เจริญสิริ เกษตรกรรุ่นใหม่อีกคนที่อ.สตึก บุรีรัมย์ เคยเป็นช่างพิมพ์อยู่กทม. 10 ปี เมื่อกลางปีที่ผ่านมามีโอกาสพูดคุยกับเขาในงานรวมพลังปราชญ์อีสานของเอสซีจี
จากคนหนุ่มที่เคยหลงมัวเมาอยู่ในวงเหล้า เมื่อได้มีโอกาสไปเรียนรู้กับปราชญ์ชาวบ้านพ่อคำเดื่อง ก็ฉุนคิดกับชีวิตตนเอง
"ได้ฟังความคิดปราชญ์ชาวบ้าน รู้สึกเหมือนถูกกระบี่เสียบแทงขั้วหัวใจ ปราชญ์เหล่านี้บอกว่า พ่อแม่ได้แค่เลี้ยงลูกให้คนอื่นเอาไปใช้งาน เมื่อโตเป็นหนุ่ม ก็เป็นลูกของบริษัท หรือโรงงาน พ่อแม่เจ็บป่วยก็ลาพ่อแม่บริษัทไม่ได้"
คำนึงเองก็เคยได้ยินประโยคเหล่านี้จากพ่อของเขา แต่กลับบ้านมาครั้งใด เขาก็เมาทุกที ก็เลยไม่ได้สนใจ กระทั่งโดนคนอื่นด่า ก็เจ็บใจ และโดนพวกฝรั่งด่าว่า ประเทศไทยดินก็ดี น้ำก็ดี อากาศและแสงแดดก็ดี แต่มีข้อเสียที่มีคนไทยอยู่ ทั้งๆ ที่ในหลวงให้อยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียง แต่คนไทยไม่อยากทำ อยากเป็นขี้ข้า
ในช่วงแรกๆ ของการทำการเกษตร เขามีรายได้ไม่เท่าเงินเดือนประจำที่เคยทำในกรุงเทพฯ แต่เมื่ออยู่ตัว คำนึง บอกว่า รายได้มากกว่าเงินเดือน เนื่องจากทำเกษตรผสมผสาน เลี้ยงหมู ปลา เพาะต้นไม้ ทำโซล่าเซลล์ หลังจากพึ่งตนเองได้ก็แบ่งปันสังคม
“อย่างผมทำการเกษตรแค่สี่ปี ลงทุนไม่ถึงแสน ก็มีความมั่นคงในชีวิต ถ้าใครศรัทธาแนวทางพระเจ้าอยู่หัวฯ นั่นแหละคือทางสว่างที่แท้จริง แต่คนที่จะเข้าถึงหรือไม่ถึง เป็นเรื่องค่านิยม ต้องถามตัวเองก่อนว่า ชีวิตเราเกิดมาทำไม เราต้องรู้หน้าที่ของมนุษย์ ไม่ใช่เกิดมาเพื่อใช้ทรัพยากรของโลกอย่างเดียว หน้าที่ของเราคือ การพึ่งตนเอง และแบ่งปันเกื้อกูลต่อธรรมชาติ ต่อโลกและสังคม”
แบรนด์สร้างคน
คนสร้างแบรนด์ แบรนด์สร้างคน ถ้าไม่มีแบรนด์ มูลค่าก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างที่ตั้งใจ ในปัจจุบันจึงไม่แปลก หากชาวนาไทยจะมีแบรนด์ของตัวเอง มีเครือข่ายซื้อขายระหว่างรคนกินกับคนปลูก
ด้วยประการฉะนี้ จึงเกิดโครงการมากมาย ยกตัวอย่าง "ผูกปิ่นโตข้าว" เป็นโครงการที่ไม่แสวงหากำไร อาสาสมัครเหล่านี้ เรียกตัวเองว่า "แม่สื่อ" ในการซื้อขายข้าว พวกเขาพา “เจ้าบ่าว” ก็คือชาวนา มารู้จักกับ “เจ้าสาว” ก็คือ คนกินข้าว ดูใจดูคุณสมบัติและความต้องการของแต่ละฝ่าย ให้คำแนะนำ จนตกลงใจผูกปิ่นโตกัน 12 เดือน โดยอาสาสมัคร ยืนหยัดหลักการว่า ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในการซื้อขาย เนื่องจากคนซื้อจ่ายเงินกับคนปลูกโดยตรง
ไม่ต่างจากโครงการ เพื่อนปลูก เพื่อนกิน
กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล สถาปนิก SPACETIME (กา-ละ-เท-ศะ) ผู้ริเริ่มโครงการ เคยคุยให้ฟังว่า เมื่อเห็นเหตุการณ์ชาวนาเป็นหนี้ เพราะจำนำข้าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า คนเมืองหลายกลุ่มในภาคประชาชนก็อยากทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จะได้ไม่ต้องพึ่งพาภาครัฐ เพราะพวกเราก็มีศักยภาพทำได้
"เราต้องการเปลี่ยนจากที่ใครไม่รู้ปลูกข้าวให้ใครไม่รู้กิน มาเป็นเพื่อนปลูกเพื่อนกิน เพื่อจะได้รู้ที่มาที่ไป มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดความห่วงใยกัน เพราะเกษตรกรหลายคนไม่มีเงินทุนในการปลูกข้าวแต่ละปี ต้องไปกู้ยืม เราก็เลยทำระบบกองทุน เมื่อคนกินเข้ามาเป็นสมาชิกเพื่อนปลูก เพื่อนกิน ก็จะมีเงินกองทุนเพื่อคนปลูกข้าว เราอยากให้โครงการนี้เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะความอยาก" กรรณิการ์ เล่าในช่วงที่่เริ่มเปิดเวบไซต์ ตอนนี้คงเป็นรูปเป็นเรื่องแล้ว
“เราค่อยๆ เชื่อมโยงความสัมพันธ์คนกินข้าวกับคนปลูกข้าว เรามองว่า ทุกคนคือ คนกินข้าว เราคิดจะจัดทริปพาคนไปดูนา สัมผัสผืนดินโดยตรง เชื่อมโยงระบบการค้าที่เป็นธรรม"