หมอหน้าวัง
แม้จะรอคิวนานแค่ไหน เดินทางไกลเพียงใด พวกเขาไม่ย่อท้อ เพราะมาที่นี่หมอช่วยได้
ทุกๆ แปดโมงเช้า รถกระบะสัญชาติญี่ปุ่นจะบรรทุกชาย-หญิงเต็มคัน ผ่านไปคันแล้วคันเล่าอย่างเชื่องช้า เมื่อแล่นผ่านกลุ่มชายฉกรรจ์ชุดลายพราง พวกเขาก็จะได้รับสัญญาณโบกมือให้ผ่านไป เมื่อสิ้นเสียงตะโกนดัง “มาหาหมอ” จากนั้นรถค่อยๆ เคลื่อนตัวผ่านเข้าไปด้านในประตูรั้วเหล็กขนาดใหญ่ ถ้ากวาดสายตามองออกไปด้านข้างก็จะเห็นป้ายบอกที่ตั้ง “พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์”
จุดหมายปลายทางของพวกเขา คือ ศูนย์แพทย์พระราชทาน พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส อาคารชั้นเดียว ที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัง”
เมื่อไปถึง คนกลุ่มใหญ่วัยเลยแซยิดแล้ว ในมือถือกระดาษสีขาวขุ่น สภาพยับยู่ยี่จากรอยพับนับครั้งไม่ถ้วน กุลีกุจอหาที่นั่งพักใต้ต้นไม่ใหญ่ เพื่อให้ร่างกายได้ยืดเส้นยืดสาย หลังจากนั่งขดตัวอยู่ท้ายกระบะรถคันเก่ามานาน ก่อนแจ้งความประสงค์ตามใบนัดตรวจของ “หมอหน้าวัง” ซึ่งชาวบ้านเรียกขานแบบนั้น เมื่อพวกเขาต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพ
พันเอก(พิเศษ)นายแพทย์โชคชัย ขวัญพิชิต หัวหน้าศูนย์แพทย์ทหารบก จังหวัดชายแดนภาคใต้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า (ศพบ.จชต.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) หมอใหญ่ใจดีทำหน้าที่บัญชาการอำนวยความสะดวกแก่ชาวบ้านผู้มาไกล ขยายความให้ฟังว่า ศูนย์แพทย์พระราชทาน พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ตั้งอยู่ที่ส่วนแยกพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ โดยได้รับความอนุเคราะห์ให้เป็นสถานที่ปฏิบัติงานจากผู้อำนวยการ เพื่อเป็นหน่วยแพทย์พระราชทาน หรือ “หมอหน้าวัง”ที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากด้วยความซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ “ในหลวง”
ที่ทำการ “หมอหน้าวัง” ให้บริการคล้ายโรงพยาบาลสุขภาพทั่วไป ทว่ามีความโดดเด่นเฉพาะทางที่งานบริการด้านทันตกรรมทุกรูปแบบ ไม่ว่าอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ตรวจสภาพช่องปาก ทันตกรรมประดิษฐ์ (ฟันปลอม )และรักษารากฟัน โดยลูกค้าขาประจำ หนีไม่พ้นประชาชนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสที่ต่อแถวเข้าคิวรอรับบริการทางการแพทย์มิขาดสาย
ปัจจุบัน ศูนย์แพทย์พระราชทาน ได้รับการพัฒนาทางการแพทย์ เปิดให้บริการตรวจโรคทั่วไปครอบคลุมทุกด้านมากขึ้น ทั้งการตรวจเฉพาะทาง สาขาจักษุกรรม ซึ่งหน่วยแพทย์ทหารบกได้ให้บริการเป็นประจำทุกวัน
ทว่าการให้บริการที่ครองแชมป์สร้างความอุ่นใจ เชื่อใจ และตรึงตราตรึงใจ ต้องยกให้ “งานทันตกรรม” โดยในปี 2556-2557 มีสถิติการรับบริการประมาณ14,000ราย
“โครงการฟันเทียมพระราชทาน” เป็นหนึ่งในโครงการนำร่องที่ตอบโจทย์การเข้าไปช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาสุขภาพในช่องปากที่นับวัน กลายเป็นปัญหาสำคัญที่บั่นทอนสุขภาพของพี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่อายุเพียง 30 ปีก็มีปัญหาสูญเสียฟันหมดทั้งปาก ด้วยฐานะครอบครัวยากจน และมีความยากลำบากในการเดินทาง ห่างไกลความเจริญ แถมบางที่ยังเสี่ยงต่อภัยอันตรายในการเข้าถึงแพทย์ ทำให้ขาดโอกาสในการรักษาสุขภาพช่องปากไปโดยปริยาย
“พสกนิกรในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ต่อพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ทรงมีพระกรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวจังหวัดนราธิวาสตลอดมา ที่ทรงมีพระราชดำริให้หน่วยแพทย์พระราชทานมาให้บริการทางการแพทย์ในด้านต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนรายได้น้อยที่มารับบริการทางการแพทย์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ พร้อมทั้งดูแลและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด” พันเอก(พิเศษ)นายแพทย์โชคชัย กล่าว
หมอทหารคนเดิม บอกว่า หน่วยแพทย์ทหารบกในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสมี 2แห่งด้วยกัน คือ ในพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ และที่ บก.ร.151 ค่ายกัลยานิวัฒนา อันเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงต้องการแก้ไขปัญหาสุขภาพช่องปาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส ให้สามารถเคี้ยวอาหารได้ดีขึ้น มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงมีการก่อตั้งโครงการฟันเทียมพระราชทาน และจัดตั้งทีมแพทย์ขึ้น เพื่อให้บริการทันตกรรมและทำฟันปลอมแก่ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน ที่มีความยากลำบากในการเดินทางมาพบทันตแพทย์
เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีบุคลาการทางการแพทย์ไม่เพียงพอ จึงทำให้ขาดการดูแลรักษาที่ถูกต้อง ส่งผลให้เกิดปัญหาในวงกว้าง เพื่อให้ปัญหาลดลง จึงเริ่มที่การส่งเสริมให้ความรู้แก่ชาวบ้าน เพื่อให้สามารถดูแลสุขอนามัยในช่องปากและการดูแลสุขภาพฟันที่ถูกต้องด้วยตัวเอง
ยิ้มสวยด้วยฟันปลอม
หากเมื่อใดหมอสั่งให้อ้าปาก แทบทุกรายหลงเหลือฟันอยู่ไม่กี่ซี่ เพื่อใช้บดขยี้อาหารรับประทานในแต่ละมื้อ
“เพราะมีฐานะที่ยากจน เราจึงอยากให้พวกเขารู้จักการป้องกันและรักษาฟันให้อยู่กับพวกเขานานๆ ส่วนใหญ่ต้องการฟันปลอม เพราะหวังว่าจะทำให้มื้ออาหารกลับมาอร่อยถูกปากอีกครั้งในยามที่สัมผัสรสชาติอาหารให้ได้อิ่มท้อง”
ส่วนลูกค้าขาประจำที่แวะเวียนมาพบ “หมอหน้าวัง” อยู่เนือยๆ หนีไม่พ้นผู้คนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส อย่าง แซเลาะห์ ยาโก๊ะ ผู้เฒ่ามุสลิม หรือ เปาะจิ วัย 70 ปีชาวอำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ก็เป็น 1ในจำนวนผู้รับบริการฟันเทียมหรือฟันปลอม โครงการฟันเทียมพระราชทาน ที่นั่งยิ้มร่าอวดฟันเรียงสวย หลังเดินออกจากห้องทันตกรรมได้ไม่นาน
ก่อนจะถูกทักให้ถอดฟัน เพื่อเข้ารับการแนะนำในการดูแลฟันอย่างถูกวิธี แม้เป็นเพียงฟันปลอมก็ตาม
ฟันจริงที่เหลืออยู่เพียง 4 ซี่จากที่เคยมีทั้งหมด 26 ซี่ เมื่อนานมาแล้ว ทำให้ “เปาะจิ” ต้องหุบยิ้มทันที เพื่อฟังหมออธิบาย ก่อนผงกศีรษะอย่างเข้าใจ เมื่อได้ฟังการเรียบเรียงถ้อยคำภาษามลายูท้องถิ่น หรือ ภาษายาวี จากล่ามแปลภาษาท้องถิ่น
"ล่ามแปล” ก็ใช่คนอื่นไกลที่ไหน ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ที่สามารถสื่อภาษาให้เข้าใจระหว่างหมอกับผู้รับบริการ
“เปาะจิ” บอกสั้นผ่านล่ามท้องถิ่นที่คุ้นเคยกันดีด้วยอาการเอียงอายว่า มีโอกาสได้ฟันใหม่ยกชุดมาร่วม 2 ปี ทำให้มีความสุขมากขึ้น ได้กินอาหารที่เคยชอบ แม้ต้องระวังไม่ให้ฟันหลุดและเหงือกระบม และคุณหมอก็ใจดีมีหมายนัดให้มาพบอยู่เป็นประจำ
แม้จะเอ่ยเพียงสั้นๆ แต่ใจความชัดเจน พร้อมเผยให้เห็นรอยยิ้มที่เปื้อนหน้า หลังยัดฟันปลอมใส่ปาก พร้อมขยับเหงือกไปมา เพื่อจัดให้เข้าที่ ซึ่งเดาได้ว่ามีความสุขมากขนาดไหน
เช่นเดียวกับ ฟาตีเมาะ เจ๊ะหะ สตรีวัยกลางคนที่มีโอกาสได้ใส่ฟันปลอม บอกคร่าวๆ ว่า จากเดิมไม่ได้สนใจการดูแลสุขภาพปากและฟันมากนัก เพราะไม่คิดว่าจะมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตปัจจุบัน
กระทั่งเริ่มมีปัญหาฟันผุ ฟันโยก จนท้ายที่สุดหมอบอกว่า จำเป็นต้องถอนฟัน จนแทบจะหมดปาก เพราะอาการปวดฟันที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนร่างกายซูบผอม เนื่องจากรับประทานอะไรไม่ได้เลย แถมยังมีผลกระทบต่อการทำงาน ต้องหยุดงานหลายวัน เพราะปวดฟันจนขึ้นขมับ แม้การถอนฟันจะผ่อนคลายความเจ็บปวด แต่สิ่งที่ตามมา ก็คือ ความยากลำบากในการเคี้ยวอาหาร เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องใส่ฟันปลอมและนับว่าโชคดีมากที่ศูนย์แพทย์พระราชทานเปิดโครงการฟันปลอม เพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จึงได้เข้ามาร่วมโครงการ ทำให้สามารถกลับมากินอาหารได้ตามปกติอีกครั้ง
“เราทุกคนรู้จักหมอหน้าวังเป็นอย่างดี ถ้ามีปัญหาสุขภาพ ไม่ว่าเรื่องอะไร หากมีใครในหมู่บ้านเหมาหรือเช่ารถมา ก็มักจะขอติดสอยห้อยตามมาด้วย เพื่อจะได้ไปตรวจด้วย เพราะทุกคนเชื่อใจและเชื่อมั่นหมอที่นี่ใจดีและช่วยเหลือโดยไม่เสียตังค์ แถมบางครั้งยังแจกของที่มีประโยชน์ให้เอาไปใช้อยู่บ่อยๆ ด้” ฟาตีเมาะ กล่าวชื่นชมหมอวังหน้า
ดูแลสุขภาพในพื้นที่
ภารกิจ “หมอหน้าวัง” ไม่เพียงแค่ประจำการ ณ ฐานที่มั่นที่ผู้คนคุ้นเคยเท่านั้น พวกเขายังถนัดงานมวลชนที่พร้อมเคลื่อนที่ไปดูแลสุขภาพชาวบ้าน ร่วมกับทีมศูนย์แพทย์ทหารบกจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่องและเข้าถึงทุกหัวระแหงไม่ว่าจะห่างไกล ยากลำบาก เสี่ยงอันตรายเพียงใด หมอทุกคนไม่เคยหวั่นไหว ยังเดินตามแนวทางพระราชดำริ “เข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา” เพื่อให้เป็นไปตามกลไกสร้างสันติภาพและสันติสุขให้กับพี่น้องคนไทยปลายด้ามขวาน
พันเอก(พิเศษ)นายแพทย์โชคชัย ยังบอกอีกว่า ปัจจุบันกองทัพบกยึดถือยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” แนวคิดหลักที่กอ.รมน.ยืนหยัดในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาที่ปฎิเสธไม่ได้ว่าหากจะแก้ไขชายแดนภาคใต้ เราทุกคนต้องใช้ใจ เพื่อร่วมบูรณาการงานทุกๆ ความร่วมมือจากทุกหน่วยงานในพื้นที่
หลักการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ซึ่งเป็นบันได 3 ขั้น นำไปสู่ความสำเร็จ
“การเข้าใจ” คือ การสร้างให้เกิดความเข้าใจในข้อมูลพื้นฐาน ด้วยการศึกษาเก็บข้อมูลทุกมิติของชุมชน ค้นหารากของปัญหา และรวบรวมองค์ความรู้ของโครงการพระราชดำริทั่วประเทศ
“การเข้าถึง” เป็นเรื่องการสื่อสารและสร้างการมีส่วนร่วม สร้างความเข้าใจและความมั่นใจกับชุมชน ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนามากที่สุด
“การพัฒนา” เป็นเรื่องของการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชน สร้างทีมพี่เลี้ยงการออกแบบหลักสูตรและเมนูการพัฒนา การศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และฝึกปฎิบัติของชุมชน รวมทั้งการให้ทีมพี่เลี้ยงให้คำแนะนำในชุมชน
ทั้งหมดเป็นภารกิจที่มุ่งไปสู่การพัฒนาให้ชุมชนมีความเป็นเจ้าของ และนำไปสู่ความยั่งยืนที่แพทย์ทหารบกยึดเป็นหลักการ
ไม่เพียงเท่านี้ ล่าสุดแพทย์ทหารบกได้เร่งพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานทีมแพทย์ด้วยการระดมทุกความร่วมมือจากโรงพยาบาลในพื้นที่ เพื่อร่วมจัดระบบการลำเลียงผู้ป่วยด้วยเฮลิคอปเตอร์ หรือ การส่งผู้ป่วยทางอากาศยาน เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดให้ทุกนาทีมีประโยชน์ในการรักษาลมหายใจไว้นานเท่าที่จะนานได้