BE@RBRICK หมีนักสื่อสาร
นิทรรศการ BE@RBRICK World Wide Tour II ครั้งแรกที่เดินทางมาจัดยังประเทศไทย
Bearbrick (แบร์บริค) คือหุ่นรูปตัวหมีซึ่งออกแบบและผลิตโดยบริษัทญี่ปุ่น Medicom Toy Incorporated เกิดขึ้นเมื่อปีค.ศ.2001 มีลักษณะของตัวการ์ตูนเป็นหุ่นรูปตัวหมีที่มีลักษณะกายภาพเหมือนคน คือยืนสองขาตัวตรง โดยได้รับเกียรติจากศิลปินและนักออกแบบหลายสาขาร่วมสร้างสรรค์คาแรคเตอร์ของตัแบร์บริคด้วยคอนเซปต์เปิดกว้าง เช่น ชาร์ลส์ อีมส์, คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์, วิเวียน เวสต์วูด, ภาพยนตร์เรื่อง Kill Bill, มาร์เวล, ซานริโอ, Rilakkuma ฯลฯ ทำให้แบร์บริคหรือ ‘ฟิกเกอร์หุ่นตัวหมี’ กลายเป็นของเล่นครีเอทีฟอาร์ตสำหรับนักสะสมที่ชื่นชอบงานประเภทนี้
แบร์บริคมีลักษณะเฉพาะหลายอย่าง เริ่มจากชื่อแบรนด์ที่เขียนในลักษณะนี้ BE@RBRICK ขนาดของตัวหุ่นก็มีวิธีการเรียกเป็น ‘เปอร์เซนต์’ โดยขนาดที่ถือว่าเป็น ‘มาตรฐาน’ มีความสูง 7 เซนติเมตร เรียก 100%, ขนาดอื่นๆ ก็จะอ้างอิงจากขนาดมาตรฐาน เช่น ขนาด 50% คือหุ่นที่สูง 4 เซนติเมตร, ขนาด 70% สูง 5 เซนติเมตร, ขนาด 400% สูง 28 เซนติเมตร และ 1000% สูง 70 เซนติเมตร รวมทั้งวิธีการขายก็ใส่กล่องมิดชิด มองไม่เห็นดีไซน์ คนซื้อต้องลุ้นเองเมื่อเปิดกล่องออกมาจะใช่ดีไซน์ที่อยากได้หรือไม่ เป็นต้น
สยามเซ็นเตอร์ เคยติดต่อ Medicom Toy Incorporated เพื่อนำงานออกแบบของแบร์บริคมาจัดแสดงอยู่หลายครั้ง แต่ด้วยเวลาที่ไม่พอดีกัน จึงคลาดเคลื่อนกันไปมา ล่าสุดทุกอย่างลงตัว สยามเซ็นเตอร์สามารถนำ BE@RBRICK World Wide Tour II (BBWT II) มาจัดแสดงในเมืองไทยได้เป็นผลสำเร็จ และมาในลักษณะกองทัพที่มากกว่า 80 ตัว ขนาด 1000% เต็มพื้นที่ไอเดียอเวนิว ชั้น 1 สยามเซ็นเตอร์
นิทรรศการ BBWT II ในกรุงเทพฯ เป็นการจัดต่อจากเซี่ยงไฮ้เมื่อปีที่แล้ว โดยมี เอดิสัน เฉิน (Edison Chen) หรือ ‘เฉิน กวานซี’ รับหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์
ด้วยความที่ติดตามผลงานแบร์บริคมาตั้งแต่เรียนหนังสือและเป็นเพื่อนกับบุคลากรของเมดิคอมฯ มีการทำงานร่วมกันมา 10-15 ปี เมื่อเมดิคอมฯ คิดจัดนิทรรศการ BBWT II ที่ประเทศจีน ประกอบกับทำงาน ‘คอนเทมโพรารี่ อาร์ต’ เป็นงานอดิเรก จึงได้รับเชิญให้ร่วมออกแบบแบร์บริคเพื่อนำไปจัดแสดงที่ประเทศจีน มร.เฉิน กล่าวถึงการได้มาร่วมงานเป็นภัณฑารักษ์ให้กับเมดิคอมฯ
มร.เฉิน กล่าวด้วยว่า ความน่าสนใจประการหนึ่งของแบร์บริคอยู่ตรงแนวคิดการสร้างที่เป็นมากกว่า ‘ของเล่น’ คือการสร้างคุณค่าให้มีความเป็น ‘งานศิลปะ’
“ผมอยากแสดงให้เห็นถึงประชาชนชาวจีนที่แท้จริง ว่าพวกเขากำลังคิดอะไร พวกเขาไม่มีโอกาสมากนักที่จะได้เห็นความสามารถในการสร้างสรรค์โดยปราศจากข้อจำกัด” มร.เฉิน กล่าว
เอดิสัน เฉิน ออกแบบแบร์บริคของเขาด้วยโทนสีบรอนซ์-ดำ ดูไม่ค่อยสดใสนัก...คนชอบงานออกแบบลองไปตีความงานของเขาได้ที่สยามเซ็นเตอร์ เพราะเขานำมาจัดแสดงไว้ให้ชมร่วมกับกอบทัพแบร์บริคซึ่งเป็นผลงานของ James Jarvis นักอิลัสเตรเตอร์ชาวอังกฤษ เจ้าของผลงานตัวการ์ตูน Aos Toys, Mika Ninagawa ช่างภาพและผู้กำกับสาวชาวญี่ปุ่น เจ้าของผลงานภาพถ่ายดอกไม้สีสด รางวัล Kimura Ihei Photography, Andre Saraiva นักกราฟิตีชาวสวีเดน เจ้าของตัวการ์ตูนอารมณ์ดี Mr.A, Michiko Nakayama ดีไซเนอร์สาวผู้ก่อตั้งแบรนด์ Muveil, Uglydoll ตุ๊กตาคาแรคเตอร์สุดกวนของ David Horvath เป็นอาทิ ร่วมด้วยผลงานของนักออกแบบชาวไทย ทุกคนต่างพยายามสื่อสาร ‘ความคิด’ ผ่านตุ๊กตาแบร์บริค
กราฟฟิกดีไซเนอร์ซึ่งผันตัวเองมาทำงานเป็น Street Artist รักกิจ ควรหาเวช หนึ่งในนักออกแบบคนไทยซึ่งได้รับเชิญให้ร่วมสร้างสรรค์แบร์บริคสำหรับนิทรรศการครั้งนี้ กล่าวถึงการทำงานออกแบบครั้งนี้ว่า เขาด้นสด(improvise)สไตล์งานออกแบบของตนเองซึ่งเป็นงานแนวเรขาคณิตให้เข้ากับฟิกเกอร์หุ่นตัวหมี ผ่านการใช้เทคนิคสเปรย์พ่น โดยเลือกใช้สีเพียงสามสี คือ สีน้ำเงิน สีแดง สีเทา จาก 10-20 สีที่เคยใช้กับการทำงานบนกำแพง
รักกิจบอกว่า เขาเป็นคนหนึ่งที่ชอบและสะสมงานแบร์บริค “ยิ่งดูยิ่งเป็นมากกว่าของเล่น เป็นความลงตัวของรูปทรง”
นักวาดภาพประกอบ ธัชมาพรรณ จันทร์จำรัสแสง หรือ ‘ปอม ชาน’ นำเสนอผลงานคาแรคเตอร์ดีไซน์ผ่านแรงบันดาลใจเกี่ยวกับความเชื่อแบบไทยแท้ คือภาพใบหน้ายักษ์ ถอดแบบจากยักษ์วัดโพธิ์ สื่อถึงสถานที่แห่งความศรัทธาของคนไทยคือ ‘วัด’ รอยสักรูปเสือเผ่น ยันต์ห้าแถวของอาจารย์หนู ตัวอักษร ‘มั่งมีศรีสุข’ องค์ประกอบที่หมายถึงความโชคดี ซึ่งเธอมองไกลไปว่า หากเมดิคอมฯ ทำฟิกเกอร์นี้ออกจำหน่าย ฟิกเกอร์นี้จะมีความหมายเหมือน ‘ตุ๊กตานำโชค’
นับเป็นครั้งแรกของโลกที่ ‘สยามเซ็นเตอร์’ ร่วมออกแบบแบร์บริคคาแรคเตอร์โดยเลือกคอนเซปต์ มวยไทย สุดยอดกีฬาไทย แปลงโฉมแบร์บริคให้กลายเป็นนักมวยไทยด้วยขนาดที่มีความสูง 2.1 เมตร ออกแบบโดย ชุติมา กิจประยูร ผู้อำนวยการด้านศิลป์และตกแต่ง บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด
ขณะที่บริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด(มหาชน) นำเสนอหุ่นแบร์บริค KTC Be@rbrick Concept สูง 2.1 เมตร ด้วยสีสันให้ความรู้สึกเหมือนมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา แรงบันดาลใจจากการพัฒนาของ ‘เคทีซี’ ที่มีความเปลี่ยนแปลงและแตกต่างอย่างมืออาชีพ ได้รับเกียรติจาก อ.สิงห์ อินทรชูโต ร่วมเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบ
แต่ละสถานที่ต่างมีลักษณะเฉพาะตัว การจัดแสดงนิทรรศการ BBWT II ครั้งนี้ แตกต่างจากที่เซี่ยงไฮ้ ตรงที่ครั้งนี้ดูสนุกกว่า ผ่อนคลายกว่า ดูเป็นงานศิลปะที่เข้าถึงได้มากกว่า เห็นเนื้อศิลปะได้มากกว่า เนื่องจากจัดแสดงอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ไม่แยกจัดเป็นห้องๆ ทำให้ดูน่าเชื้อเชิญเข้ามาชม ซึ่งถ้าจัดแสดงในรูปแบบเหมือนกันทุกที่ก็จะดูน่าเบื่อ หากใครได้ไปชมที่เซี่ยงไฮ้เมื่อมาชมนิทรรศการที่กรุงเทพฯ ก็จะได้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน เป็นความน่าสนใจที่เราสามารถทำให้งานชิ้นเดียวกันแต่ได้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน อันเนื่องมาจากการจัดสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน มร.เฉิน กล่าว
มร.เฉิน กล่าวด้วยว่า ขณะนี้เขาอายุ 34 ปี และเป็นผู้ชายที่ชอบตุ๊กตาหมีแบร์บริค เพราะมองว่าไม่ใช่แค่ ‘ของเล่น’ แต่เป็นของตกแต่งบ้านที่สามารถอธิบายหรือสื่อถึงความรู้สึกได้เมื่อจับไปวางไว้ตามมุมต่างๆ ภายในบ้าน เช่น โถงทางเดิน ห้องนั่งเล่น แต่ละคนมีการตีความที่แตกต่างกันเมื่อได้เห็นแบร์บริคที่มีดีไซน์ต่างๆ กัน นี่คือเสน่ห์อย่างหนึ่งของแบร์บริค
“ทุกวันนี้ผมยังสะสมแบร์บริคทุกครั้งที่ออกดีไซน์ใหม่ๆ กล่าวได้ว่าขณะนี้ผมมีแบร์บริคประมาณ 70% ของคอลเลคชั่นทั้งหมด” มร.เฉิน กล่าวและว่า บางดีไซน์มีมูลค่าสูงขึ้นหลายเท่าตัวจากราคาที่วางจำหน่ายครั้งแรก การสะสมแบร์บริคจึงเปรียบเสมือนการลงทุนรูปแบบหนึ่ง
นิทรรศการ BBWT II ที่กรุงเทพฯ จัดแสดงให้ชมถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2558
นี่คือวิธีคิดอีกรูปแบบหนึ่งของการคิดแบบญี่ปุ่นที่สามารถต่อยอดได้ในระดับสากล
ภาพ : เอกรัตน์ ศักดิ์เพชร