ภูมิแพ้กรุงเทพฯ
กรุงเทพฯ ศูนย์กลางความทันสมัย ดึงดูดให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาแสวงหาคำตอบของชีวิต ทว่าคนจำนวนหนึ่งกลับเบื่อหน่าย อยากหันไปใช้ชีวิตในชนบท
หนึ่งในตัวอย่างผู้ที่เกิดอาการแพ้กรุงเทพฯ ต้น-เสรี ตันศรีสวัสดิ์ ย้ายถิ่นฐาน เพราะว่าแม่ป่วยเป็นมะเร็ง ทั้งที่แม่เป็นพยาบาล ดูแลตัวเองดีมาตลอด เขาจึงมานั่งวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่าท่านป่วยเพราะอะไร อาจจะเป็นเพราะทำงานย่านสีลม โรงพยาบาลจุฬาฯ ไกล ขับรถจากบ้านไปทำงานวันละ 2 ชั่วโมง แถมทางเลือกในการรับประทานมีไม่มาก
“อาหารการกินในย่านนั้นก็มีข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ก๋วยเตี๋ยว วนเวียนอยู่แบบนั้น แถมยังทำงานเครียด เราเองก็มีอายุเยอะขึ้น ก็เลยออกจากกรุงเทพฯดีกว่า ข้อดีที่อยู่ต่างจังหวัด ข้อแรกคืออากาศดี๊ดี ข้อที่สองเราอยากกินอะไรก็ปลูกเองเลือกวัตถุดิบเองได้ อยากกินข้าวดีๆ ก็ปลูกเอง อยากกินชะอมชุบไข่ทอด อยากกินมะเขือก็ปลูกเอา ต่างกับชีวิตในเมือง 30 วันก็ต้องกินข้าวนอกบ้าน ผงชูรสเอย สารกันบูดเอย เข้าไปในร่างกาย อย่างที่บ้านปลูกพริกเยอะเพราะเราชอบกินเผ็ด กินพริกทุกมื้อ พริกในท้องตลาดมียาฆ่าแมลงเยอะมาก”
เขามีที่ดินของครอบครัวที่อำเภอแม่ริมอยู่แล้ว จึงคิดว่าจะทำอาชีพอะไรเพื่อเลี้ยงตัวอยู่ที่นั่นได้ จึงตัดสินใจทำฟาร์มสเตย์เล็กๆ ชื่อ อยู่ดินกินดี ได้ 3 ปีแล้ว ข้อดีของการไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นข้อแรกก็คือ ไม่ป่วยไม่เป็นหวัดอย่างที่เคยเป็น ความดันไม่ขึ้น ไม่ปวดหัวบ่อยๆ เหมือนตอนที่อยู่เมืองกรุง
หนุ่มเมืองกรุงคนนี้จบปริญญาตรีด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นทำงานด้านโปรดักชั่นภาพยนตร์ ตำแหน่งล่าสุดคือโลเคชั่นเมเนเจอร์ให้กับหนังดังหลายเรื่องเช่นแฟนฉัน องค์บาก ฯลฯ ก่อนทิ้งทุกอย่างไปใช้ชีวิตทางเลือก
“อยู่ต่างจังหวัด โอกาสใช้ตังค์มีไม่เยอะ ขึ้นอยู่กับความพอเพียงของเรา ไม่ต้องใช้ฮาร์เล่ย์ ไม่ต้องใช้บีเอ็ม แค่มอเตอร์ไซด์ธรรมดา มีรถยนต์เก่าๆ ไว้ใช้งานสักคัน แต่ด้วยความที่เราเคยเป็นคนเมือง ยังคงเสพหนัง อยากไปกินอาหารญี่ปุ่น แต่ก็ไม่เยอะมาก ปกติใช้ชีวิตเงียบๆ ในบ้าน เวลาอยากจะคึกก็ขับรถเข้าไปในตัวเมือง ซึ่งเชียงใหม่มีตัวเลือกในการใช้ชีวิตได้หลากหลาย มีงานศิลปะดีๆ ให้ดู อยากไปเดินชิคๆ นิมมานฯก็ไป อยากไปกินของอร่อยๆในห้างก็ได้ สิ่งที่ผมได้ก็คือมีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดี ไม่ต้องไปวุ่นวายกับคนเยอะๆ ไม่ปวดหัว ”
ส่วนอีกหนุ่มหนีเมืองกรุงไปสูดอากาศดีๆ ที่จังหวัดน่าน เนื่องจากสุขภาพทรุดโทรม ภูมิแพ้อากาศ และ ไมเกรนกำเริบบ่อย หัวใจเรียกร้องหาน่าน เชื่อว่าต้องหายป่วยหากอยู่ที่น่าน แล้วเขาก็ได้ใช้ชีวิตอยู่กับงานศิลปะที่รัก มีคุณภาพชีวิตดีอย่างที่หวัง
โอม-นัฐนัท สุดฤทธิ์ จากอาร์ติสท์ กลายเป็นครูสอนโยคะ ที่จังหวัดน่าน เขาเล่าว่าพอเรียนจบปริญญาตรีด้านศิลปกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พลันรีบย้ายหนีเมืองกรุงมุ่งสู่อ้อมกอดของขุนเขาจังหวัดน่าน ความจริงบ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดอุทัยธานี เข้ากรุงเพื่อเรียนหนังสือ ตั้งแต่ชั้นมัธยมที่ช่างศิลป์ กรมศิลปากร จนจบมหาวิทยาลัย
“ด้วยตัวผมเองไม่ใช่คนกรุงเทพฯ พอเข้าไปก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ตั้งแต่สมัยที่เรียนอยู่ชั้นมัธยม พอเรียนมหาวิทยาลัยก็เริ่มรู้สึกมากขึ้น เพราะต้องเข้าไปอยู่ในใจกลางเมืองคราวนี้ยิ่งลำบาก สิ่งที่แย่สำหรับผมก็คือสุขภาพ เสียเวลากับการเดินทาง อาหารการกินก็ไม่ค่อยมีทางเลือก ต้องกินแบบซ้ำๆ เดิมๆ ต้องกินอาหารฟาสต์ฟูดด้วยความรีบเร่ง อากาศก็ไม่ดีไม่เอื้อต่อสุขภาพของเราเลย ผมวางแผนตั้งแต่เรียนปี 2 ว่าถ้าเรียนจบจะไม่อยู่กรุงเทพฯแน่นอน ไม่ต้องแย่งชิงทั้งอากาศหายใจและอาชีพการงาน ”
โอม มีปัญหาด้านสุขภาพเป็นภูมิแพ้ และโรคไมเกรน ปวดหัวเป็นประจำ พกยาติดตัวตลอดเวลา เนื่องจากร่างกายปรับตัวไม่ทันกับอากาศเดี๋ยวร้อน เดี๋ยวเย็น เช่นพอเข้าห้องเรียนแอร์ที่จุฬาฯเย็นมากออกมาเปลี่ยนคลาสอากาศร้อนมาก เดินถนนไปพารากอนสยามร้อนมากพอเข้าห้างฯเย็นมาก เป็นอากาศที่สุดขั้วตลอดเวลาทำให้ป่วยง่าย
“อาหารการกินก็ไม่มีตัวเลือกเลย ในความคิดของผม เราโดนเลือกไว้แล้ว คนส่วนใหญ่เลือกไว้เองว่าเราต้องการผักประเภทนั้น สวยแบบนี้ แล้วผักที่เข้าไปในกรุงเทพฯก็เป็นผักอันตรายเกือบทั้งหมด เป็นผักจีเอ็มโอ ผักที่ได้คุณภาพตามที่บริษัทต้องการ คนปลูกต้องประโคมปุ๋ยและยาอย่างหนักเพื่อให้ได้ผักสวยตามที่ผู้บริโภคต้องการ ผมคิดว่าเราต้องการชีวิตแบบนี้หรือเปล่า เหนื่อยกับการเดินทาง เวลาเราเหลือน้อยลง การทำงานศิลปะของเราก็ไม่มี คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าชีวิตในเมืองหลวงเป็นชีวิตที่ฉันต้องการ แต่สำหรับผมมันไม่ใช่ ผมต้องการอยู่ในเมืองที่มีศิลปะอย่างจังหวัดน่าน ได้ปลูกผักที่ปลอดภัยกินเอง”
เขาเลือกน่านเพราะคิดว่าเชียงใหม่จะเหมือนกรุงเทพฯในอีกไม่ช้า อีกอย่างเมืองน่านมีงานศิลปะให้ทำ มีหอศิลป์ใหญ่ที่ศิลปินทุกคนต้องดู ศิลปินต่างประเทศมาจัดแสดงที่นี่บ่อยๆ เขาคิดว่าไม่จำเป็นต้องอยู่กรุงเทพฯก็ได้
“ตอนเรียนปีสองเกือบทุกเสาร์ อาทิตย์ ทุกวันหยุดที่มหาวิทยาลัยมี ผมจะเดินทางมาที่จังหวัดน่าน แล้วสัมผัสได้ว่ามาอยู่ที่นี่แล้วเราจะไม่ป่วย ปัจจุบันไมเกรนหายไปแล้ว แต่พอมากรุงเทพฯเกิน 3 วันไมเกรนจะขึ้นทันที (หัวเราะ) อากาศที่น่านร้อนในหน้าร้อนแต่ไมเกรนไม่กำเริบนะครับ อาจเป็นเพราะกรุงเทพฯมลพิษเยอะ ทั้งคนทั้งรถสับสนวุ่นวาย ผู้คนแข่งขันกันตั้งแต่ตอนเรียนก็แข่งแล้ว รู้สึกกดดัน เพื่อนไม่พูดด้วยถ้าเราสอบได้คะแนนเยอะกว่า ผมว่าจุฬาฯเป็นตัวอย่างสังคมเล็กๆ ที่เราเรียนจบแล้วก็ต้องเจอในที่ทำงานอีกแน่นอน ผมคิดได้ตั้งแต่ตอนนั้นก็เลยวิ่งมาที่จังหวัดน่านบ่อยๆ เพื่อที่จะวางรากฐานว่าจบแล้วเราจะมาอยู่ที่นี่นะ”
ศิลปินวัย 27 ปีคนนี้ใช้ชีวิตอยู่เมืองน่านได้ 3 ปี ปัจจุบันซื้อที่ดินไร่กว่าตรงเชิงเขา กำลังจะสร้างวิมานในฝันที่มีแกลลอรี่ ที่พัก กาแฟจากป่า ร้านอาหารออร์แกนิค ปลูกผักเอง เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อ มีสตูดิโอโยคะเพื่อสุขภาพที่ดีของตนเองและคนในชุมชน พร้อมทั้งสร้างรายได้ไปในตัว
“ตั้งชื่อว่าโยคะสตูดิโอ ปลูกผักไว้รอบๆ ห้องพัก ราวบันได เป็นต้นสลัดแทนการปลูกไม้ดอก เรื่องเกษตรอยู่ในสายเลือดอยู่ ผมไปเจอพืชในตระกูลกระหล่ำ เดี๋ยวนี้เขาฉีดสารเคมีแบบหัวต่อหัว ก่อนลงพืชชาวสวนก็ใส่ยาฆ่าหญ้าอย่างหนักก่อน จากนั้นก็อัดปุ๋ยอัดยาตลอดจนได้ผลที่สวยงาม กระหล่ำที่เรากินที่นี่กับชาวบ้านจะแคระแกรนแต่ปลอดภัย ผมเคยเจอพ่อค้าคนกลางมาเลือกผักไปขาย หัวไม่สวยไม่เอา ที่ไม่สวยเพราะโดนยาน้อยจึงตกเกรด อย่างฟักทองบางลูกโดนแมงกัด หัวไม่สวยเบี้ยวๆ ชาวบ้านต้องเอามานั่งขายเอง ผมว่าไม่ใช่ผิดที่คนปลูก ผิดที่คนเลือกต่างหาก ”
ทุกวันนี้เขามีสุขภาพที่ดี ได้ทำงานและเสพงานศิลปะ รับประทานอาหารปลอดภัยทุกวัน สอนโยคะ วันละ 3 คลาส บ้านของเขากลายเป็นศูนย์พักใจให้กับเพื่อนๆ ที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยือน และเร็วๆ นี้ เขาจะแสดงงานศิลปะของตัวเองในวันที่ 30 ธันวาคม 2558 ทำงานร่วมกับชุมชน มีความสุขในแบบของเขาเอง
ถ้าชีวิตเลือกได้จะไม่ขออยู่กรุงเทพฯ
หลายคนเบื่อกรุงแต่ไม่รู้จะหนีไปไหน ไปทำมาหากินอะไร ทว่าบางคนวางแผนมาอย่างดี พร้อมแล้วติดปีกบินทันใด
พัชระ มีสัจจี หนุ่มกรุงเทพฯหนีไปใช้ชีวิตที่เมืองเชียงใหม่เกือบ 3 ปี หลังจากเรียนจบปริญญาตรี ด้านวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จบปริญญาโทด้าน MBA ที่นิด้า ทำงานดูแลระบบโรงงานอุตสาหกรรม 2 ปี แล้วไปคลุกคลีอยู่กับงานก่อสร้าง ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวอีก 6 ปี จนกระทั่งตัดสินใจโบกมือลามหานคร
“ตอนทำงานอยู่ตัวงานก็โอเคนะครับ เพราะต้องออกไปดูไซท์งานต่างจังหวัด ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯตลอดเวลา จะมีนิดหน่อยก็ตรงความคิดเห็นของผมกับพ่อต่างกัน พอแม่ป่วยเป็นมะเร็งและเสียไป ผมก็คิดจะมาอยู่ที่เชียงใหม่ ชวนเพื่อนที่เบื่อกรุงเทพฯ มาทำร้านอาหารด้วยกัน ตอนแรกก็เซอร์เวย์ก่อนว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง ลงตัวที่ร้าน nimmohouse shabu & grill bar เป็นที่แฮงเอาท์ชิลชิล ริมทะเลสาบแถวแม่โจ้ ไม่อยากไปอยู่ในตัวเมืองเพราะไม่ต่างจากกรุงเทพฯ ”
ภาพจำกรุงเทพฯ ของเขาคือ ขับรถฝ่าการจราจร ไปประมูลงานในเมือง แย่งลิฟท์ แย่งซื้ออาหาร แย่งที่จอดรถ เงินทองที่หามาได้ก็ต้องใช้รักษาสุขภาพ โดยเฉพาะสุขภาพจิต ใช้ชีวิตอยู่เชียงใหม่ รายได้ลดไปเกิน 5 เท่า ทว่ามีความสุขกว่าเก่า
“ตอนอยู่กรุงเทพฯไปรับงานที่อโศกใช้เวลาเดินทาง 6 ชั่วโมง ต้องเจอกับคนที่ไม่เคารพกฏจราจร เครียดไม่สบาย เครียดงานด้วย สิ่งแวดล้อมด้วย จนมีอาการมือเกร็งมีอยู่ครั้งหนึ่งต้องจอดรถเพราะเบลอกระทันหัน รู้สึกว่าชีวิตเครียดเกินไปแล้วแม่ผมก็เป็นมะเร็งปอด เป็นพันธุกรรมพอเจอมลพิษก็เร่งให้เป็นเร็วขึ้น น้าของแฟนผมอายุ 56 ปีทำงานที่ไทยเบฟก็เจอปัญหานี้ ป่วยบ่อย ภูมิแพ้อากาศ แพ้ควันรถ ล่าสุดเป็นเนื้องอกในมดลูก อีก 4 ปีจะเกษียณแล้วไปอยู่เชียงใหม่เหมือนกัน”
หนุ่มวัย 32 ปีเศษเล่าว่าอยู่ที่เชียงใหม่ทำร้านอาหารก็มีปัญหาบ้าง หน้าฝนเครียดเรื่องต้นทุนบ้าง แต่ก็เป็นปัญหาของการทำงานทั่วไปมากกว่า หากวันไหนเครียดๆ ขับรถไปสูดอากาศดีๆ บนดอย ขึ้นไปม่อนแจ่ม ไปเที่ยวน้ำตกบ้าง ถ้ายังมีทางทำมาหากินที่นี่ ปีหน้ามีแผนทางธุรกิจอีก 2 อย่าง ถ้าประสบความสำเร็จจะปักหลักอยู่ที่นี่ไม่กลับเมืองกรุงอีกแล้ว และจะชวนคนที่รักเช่นน้าและแฟนมาอยู่ด้วยกันที่เชียงใหม่
โอ๋-พรมวิหาร บำรุงถิ่น หนุ่มภูเก็ต ช่างภาพอิสระทำงานอยู่ในกรุงเทพฯมาหลายปี หนีกรุงมุ่งสู่ดอยสูง
“ผมเรียนมาทางด้านการถ่ายภาพที่มหาวิทยาลัยทักษิณ ทำงานถ่ายภาพมาตลอด เป็นทั้งช่างภาพ นักเขียน บรรณาธิการนิตยสาร จุดเปลี่ยนของผมก็คือติดปริญญาโท ด้านสื่อสารมวลชนที่มช. จำได้ว่าสมัยเรียนถ่ายภาพ ชอบเชียงใหม่มาก พอทำงานประจำเป็นนิตยสารแนวหัตถกรรม มีโอกาสเดินทางบ่อยมีความสุขดี ชอบ อยากมีชีวิตแบบนี้ แล้วผมก็คิดว่าต่อให้อยู่เชียงใหม่แต่ต้องทำงานประจำก็คงเข้าอีล็อบเดิม ต้องบรีฟงานในที่ประชุม ไปพบลูกค้า ซึ่งไม่ใช่คำตอบ เคยดูรายการเจาะใจเขาสัมภาษณ์ โจน จันได คำพูดที่ผมประทับใจก็คือ ชีวิตเป็นเรื่องง่าย
“แต่ตอนนั้นผมกำลังคิดว่าชีวิตผมมันไม่ง่าย พี่โจนเขาทำบ้านดิน ก็เลยหาข้อมูลแล้วเดินทางไปอำเภอแม่แตง เพื่อไปพบเขา มีอบรมการทำบ้านดิน และเกษตรอินทรีย์พอดี พอเรียนจนจบคอร์ส ปรึกษากับแฟนซึ่งเป็นผู้จัดการโรงแรม ขอไปใช้ชีวิตทางเลือก”
เขาได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเองไปอย่างสิ้นเชิง ปลูกผักกินเองได้ โดยซื้อที่ดินแปลงเล็กๆ ทำบ้านดิน พร้อมกับรับงานฟรีแลนซ์ เป็นนักเขียน เป็นบรรณาธิการฟรีแลนซ์
“ผมเคยอยู่เชียงใหม่ครั้งหนึ่ง ผมทำบริษัทผักอินทรีย์ส่งร้านอาหารและโรงแรมห้าดาวก็เลยต้องกลับมาอยู่กรุงเทพฯ แต่ทำได้ 2 ปี ค้นพบคำตอบเดิมคือ กรุงเทพฯแสนวุ่นวาย ชีวิตผมต้องถูกจำกัดด้วยเวลา ตื่นเช้าตี 3 แพคผักซ่อมผักชั่งน้ำหนัก ไปรับผักเองที่ขนส่งมาแล้วอาจจะมีผักช้ำต้องดึงออกแต่งใหม่ แล้วเดินทางไปส่งผักทั้งหมดก่อนเที่ยง พอแฟนคลอดลูก เด็กอายุ 1 สัปดาห์ นอนอยู่หลังเบาะ ลูกร้องไห้อยู่ข้างหลัง ผมกับแฟนมองหน้ากันแล้วคิดว่า ใช่เหรอ ชีวิตที่เราต้องการ ทำให้ผมกลับไปเชียงใหม่อีกครั้ง ตอนนี้ผมกำลังจะเปิดร้านชื่อ อิ่มเอมมังสวิรัต เป็นไบท์คาเฟ สำหรับคนชอบปั่นจักรยาน ลูกค้าผมเป็นฝรั่ง 95 เปอร์เซ็นต์เป็นคนที่ชอบปั่นจักรยาน เป็นครูสอนโยคะ คนที่รักสุขภาพ ทุกวันนี้ผมถือว่าชีวิตตกกระไดพลอยโจน จันไดมาก พี่เขามีบุญคุณ เปลี่ยนชีวิตผมเยอะ”
กรุงเทพฯจะน่าอยู่กว่านี้ ถ้าไม่มี...
มหานครแห่งนี้ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสียจนเกินให้อภัย ข้อดีอาจจะมีมากกว่าด้วยซ้ำ ทว่ากรุงเทพฯจะน่าอยู่กว่านี้ ถ้าไม่มีสิ่งรบกวนจิตใจ และคุณภาพชีวิตควรจะดีกว่าที่เป็น
สำหรับ โอม-นัฐนัท สุดฤทธิ์ เห็นว่ากรุงเทพฯ น่าจะมีต้นไม้เยอะกว่านี้ ดูอย่างเมืองใหญ่เพื่อนบ้าน โฮจิมินห์ซิตี้ ที่มีความเจริญท่ามกลางธรรมชาติเขียวขจี
“สิ่งที่กรุงเทพฯ ขาดหายไป เมื่อเทียบกับประเทศที่มีความใกล้เคียงกับเราอย่างเวียดนามเขารักษาต้นไม้ใหญ่ บ้านเราใช้วิธีตัดต้นไม้ เพื่อการทำงานที่ง่ายกว่า แต่โฮจิมินห์ปล่อยให้ต้นไม้สูงคู่กับตึก ถนนทุกสายมีอุโมงค์ต้นไม้ ฟุตบาทและถนนกว้างขวาง ไม่มีคนมาขายของเบียดคนเดินถนน ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ผมรับไม่ได้ เมื่อทางเดินของฉัน ถูกมอเตอร์ไซด์เบียด ถูกคนกินอาหารเบียด ผมเลยเกลียดการกินอาหารข้างทางไปเลย”
โอมมองว่าโฮจิมินห์ซิตี้ ไม่มีสายไฟเกะกะ เพราะลงไปอยู่ใต้ดินหมด ทั้งที่ประเทศเขาไม่ได้มีตังค์เยอะ แต่เขาก็สามารถพัฒนาความเจริญควบคู่กับสิ่งที่เขามีอยู่ ต่างจากเราที่พัฒนาไปแล้ว พอเกิดปัญหาแก้ไขไม่ได้ก็กลายเป็นขยะในอนาคต
ส่วน พัชระ มีสัจจี เห็นว่าคุณภาพชีวิตคนในเมืองหลวงน่าจะดีกว่านี้ หากระบบขนส่งมวลชนและสาธารณูปโภคพัฒนา เพราะทุกวันนี้ สวนธารณะมีน้อย เวลาค่ำคืนมีความปลอดภัยต่ำ
“ระบบคนส่งไม่ดีเราต้องขับรถเอง ขับรถในกรุงเทพฯแล้วเครียดทั้งเจอรถติด เจอคนขับรถที่ไม่ค่อยโอเคบนท้องถนน เช่นขับรถปาดหน้าบ้าง ทำให้รู้สึกหงุดหงิด ผมไม่ชอบความไม่แฟร์ ไม่ชอบความไม่เป็นระเบียบหลายๆ อย่าง ส่งผลให้ผมปวดไมเกรน ปวดหลัง พอย้ายไปอยู่ชานเมืองเชียงใหม่อาการเหล่านี้ก็หายไปเองอย่างไม่น่าเชื่อ”
พรมวิหาร บำรุงถิ่น มองว่า การจัดการปัญหาจราจรบ้านเรายังคงแย่ เขามีข้อสงสัยว่าหลายประเทศก็มีเมืองใหญ่เหมือนกัน แต่ทำไมเขาจัดการปัญหาการจราจรได้ดี
“อีกอย่างถ้ากรุงเทพฯอากาศดี ควันพิษไม่เยอะก็จะน่าอยู่กว่านี้ การห้ามคนไม่ให้เข้าไปอยู่ในกรุงเทพฯก็คงไม่ได้ เพราะทุกคนต้องทำมาหากิน ก็เหมือนกับเมืองใหญ่ทั่วโลกนั่นแหละ ถ้าระบบขนส่งมวลชนทำดีๆ ก็โอเคนะ เชียงใหม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา อย่างผมปั่นจักรยานในเชียงใหม่บางทีเลนจักรยานก็ไม่ดี เจอรถขายของจอดขวาง มีท่อระบายน้ำบ้างละ เอาเป็นว่าปรับปรุงแค่การจราจร และระบบขนส่งมวลชนให้ดีๆ กรุงเทพฯก็น่าอยู่ขึ้นเยอะแล้วครับ”
โอ๋ทิ้งท้ายว่าบ้านเรายังมีปัญหาอีกมากทั้งเรื่องโจร ขโมย ฯลฯ หากกฏหมายเข้มแข็ง ปัญหาก็จะทุเลา ประเทศก็จะน่าอยู่มากกว่านี้
โรคภูมิแพ้ธรรมดาปรึกษาหมอก็พอบรรเทาได้ ทว่าโรคภูมิแพ้เมืองหลวงเชื่อว่าขอเวลาอีกไม่นาน ระบบขนส่งมวลชนก็จะมาตามสัญญา ชาวกรุงคงอยู่ได้อย่างสุขกายสบายใจขึ้น