ช่องเย็น...เข็นหรือขี่
ชีวิตที่ราบเรียบอาจหมายถึงความราบรื่น แต่อีกแง่หนึ่งชีวิตที่ไร้ซึ่งความท้าทายหรืออุปสรรคต่างๆ อาจไม่ใช่ชีวิตของมนุษย์ที่จะเติบโตอย่างกล้าแกร
การได้เจอขวากหนามขวางกั้นบ้างจึงนับเป็นบทเรียนที่จะทำให้คนแข็งแรงมากขึ้นเมื่อข้ามผ่านมันไปได้...
จุดเริ่มต้นของบทเรียนราคาแพงสำหรับผมเริ่มต้นขึ้นที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.กำแพงเพชร
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน ลากยาวมาจนถึงแยกโค้งวิไลบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 307+500 รถตู้ที่ขนทั้งนักปั่นและจักรยานอีกนับสิบเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1242 ผ่านอำเภอปางศิลาทองไปราวๆ 40 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1072 ไปอีก 10 กิโลเมตรจนถึงสี่แยกคลองลาน เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1117 ถนนคลองลาน-อุ้มผาง ประมาณ 15 กิโลเมตร ที่นี่คือที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ แต่กว่าจะเดินทางมาถึงก็เย็นย่ำ เพราะฉะนั้นที่นี่จึงเป็นลานกางเต็นท์นอนหลับให้สบาย เพราะวันรุ่งขึ้นพวกเราจะไปลำบากตรากตรำกัน
แต่กว่าพระอาทิตย์จะขึ้น ห้วงยามแห่งราตรีทอดยาวไปไกล ที่นี่เสมือนลานดูดาวชั้นดี เพียงหน้ามองไปบนฟ้า ดวงดาวนับพันก็แสดงตัวด้วยแสงระยิบระยับ ถ้าพรุ่งนี้เช้าไม่มีภารกิจหนัก ผมไม่อยากเข้านอนเลย
...
พวกเราตื่นเช้ามาพร้อมไอเย็นยะเยือก จักรยานของบางคนจอดไว้ข้างเต็นท์มีน้ำค้างเกาะชุ่มทั่วทั้งคัน รถผมก็เช่นกัน ผมปาดน้ำค้างทิ้ง แล้วขึ้นควบจักรยานออกไปจากที่ทำการอุทยานฯ เป้าหมายของวันนี้อยู่ห่างไปไม่ไกลหากนับด้วยระยะทาง แต่ถ้านับด้วยความสูงชัน นี่คือบทพิสูจน์สำคัญอีกครั้งว่าคนธรรมดากับจักรยานคันหนึ่งจะไปถึงได้หรือไม่ ที่นั่นคือ ช่องเย็น ยอมรับตามตรงว่าผมยังไม่รู้จักช่องเย็นมากมายนัก เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่จะได้ไปเยือน แต่ถ้าพูดถึงอุทยานแห่งชาติแม่วงก์แล้วละก็ผมรู้จักดีทั้งในฐานะผืนป่าอุดมสมบูรณ์แห่งภาคเหนือตอนล่างภาคกลางตอนบน และในฐานะพิกัดที่เคยจะถูกแบ่งสรรไปเป็นเขื่อน เพราะผมก็เคยร่วมแสดงออกต่อต้าน
ที่ว่าเป็นผืนป่ากว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์เพราะมีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอปางศิลาทองจังหวัดกำแพงเพชรและอำเภอแม่วงก์และอำเภอแม่เปินจังหวัดนครสวรรค์ พื้นที่ส่วนมากเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร ตามเทือกเขาสูงชันมีน้ำตกสวยงาม 4-5 แห่ง ทั้งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำแม่วงก์อันเป็นต้นน้ำของแม่น้ำสะแกกรัง นอกจากนี้ยังมีแก่งหินทำให้เกิดน้ำตกเล็กๆ ตามแก่งหินนี้ และมีหน้าผาที่สวยงามตามธรรมชาติ สภาพภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ในช่วงฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน - เดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่เหมาะแก่การไปท่องเที่ยวมากที่สุด เพราะอากาศค่อนข้างหนาวเย็น
แม้เราจะสตาร์ทตั้งแต่หัววันเพื่อเลี่ยงแดดร้อน แต่การที่ได้เจอเนินต้อนรับนักปั่นตั้งแต่ไม่กี่ร้อยเมตรก็ทำให้เหงื่อซึมได้ไม่แพ้ไอแดดเลย ตอนนี้อยู่ที่ว่าจะหันหลังกลับไปนั่งชิลๆ ที่ที่ทำการอุทยานฯ หรือจะปั่นต่อไปข้างหน้าซึ่งยังมีเนินแบบนี้หรือยิ่งกว่านี้อีกเพียบ
แต่พอทอดสายตาไปข้างหน้า เส้นทางนี้ก็สวยเกินกว่าจะถอดใจ การได้ดันเนินไปพร้อมๆ กับชมวิวทิวไม้และกอหญ้าข้างทาง บางจังหวะมีกระรอก กระแต วิ่งผ่านหน้าจักรยานแวบไปแวบมา ก็คุ้มค่าที่จะเหนื่อย
เนินค่อยๆ มากขึ้น และบางเนินก็ชันขึ้น สำหรับคนที่คิดจะมาปั่นพิชิตช่องเย็นแต่ยังไม่เคยปั่นขึ้นเขา แนะนำให้ฝึกฝนก่อนและพกน้ำและอาหารเพิ่มพลังจำพวกแป้งไปด้วย ส่วนเทคนิคไม่มีอะไรมาก แค่ปั่นตามรอบขาของตัวเองโดยไม่ให้รู้สึกว่าต้องออกแรงกดมาก และคอยจิบน้ำตลอด อย่ารอจนริมฝีปากแห้งหรือคอแห้ง มิเช่นนั้นอาจได้เจอเพื่อนเก่าที่ชื่อว่าตะคริว
เราปั่นกันมาจนถึงหลักกิโลเมตรที่ 81 ถ้าการพิชิตช่องเย็นไม่ใช่เรื่องเร่งรีบ ขอแนะนำให้จอดพักที่นี่ก่อน เพราะนี่คือ จุดชมวิวกิ่วกระทิง ตรงนี้มีลักษณะเป็นหน้าผา เป็นจุดชมวิวที่มองเห็นทัศนียภาพของป่ารอบๆ ได้อย่างสวยงาม เป็นมุมพาโนรามาที่ชื่นตาชื่นใจจริงๆ เพราะมันเขียวซะเหลือเกิน!
นอกจากกิ่วกระทิงจะมีหน้าที่เป็นจุดชมวิว สำหรับนักปั่นอย่างผมนี่คือจุดพักชั้นเยี่ยม เพราะมีร่มไม้และสายลมพัดอยู่ตลอด แต่ไม่ควรพักนานเกินไป ประเดี๋ยวกล้ามเนื้อจะหดเกร็งเสียก่อน
สภาพเส้นทางยังคงคล้ายเดิมคือเป็นเนินซึมสลับเนินชันแถมยังคดเคี้ยว แต่ยังมีวิวข้างทางที่บางช่วงคือหุบเขาเขียวขจีคอยปลอบใจ เส้นทางเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนถึงหลักกิโลเมตรที่ 93 หรือห่างจากที่ทำการอุทยานฯ มา 28 กิโลเมตร ถึงตรงนี้พวกเราปั่นไปต่อไม่ได้แล้ว ไม่ใช่หมดแรง แต่เราได้มาถึง ช่องเย็น เรียบร้อยแล้ว
ช่องเย็น เป็นจุดสูงสุดของถนนคลองลาน-อุ้มผาง สูง 1,340 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีสายลมพัดผ่านและหมอกปกคลุมอยู่เสมอ อากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะดูจากเวลาที่เราไปถึงคือสายโด่ง แดดจัดจ้า ทว่าอากาศยังเย็นอย่างน่าประหลาด
ว่ากันว่าช่องเย็นเป็นที่ชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามมากจุดหนึ่งของไทย ส่วนเหตุผลที่ทำให้ช่องเย็นอากาศหนาวเย็นเพราะบริเวณนี้เป็นช่องเขาที่มีสายลมพัดผ่านตลอดเวลา จึงถูกขนานนามว่า ‘ช่องเย็น’ ตามสภาพภูมิอากาศของพื้นที่แห่งนี้ เนื่องจากช่องเย็นมีสภาพอากาศที่เย็นและชื้น จึงมีพันธุ์ไม้นานาชนิดที่ชอบความชุ่มชื้นเกิดขึ้น เช่น กล้วยไม้, เฟิร์น
และสำหรับนักดูนก ที่นี่คือสวรรค์! เพราะช่องเย็นเป็นถิ่นอาศัยของนกหลากหลายชนิด จึงเป็นแหล่งดูนกที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองไทย บริเวณช่องเย็นมีบ้านพักและสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการ แต่จะต้องเตรียมอุปกรณ์มาเอง คือ ผ้าพลาสติก เสื้อกันหนาว โลชั่นกันแมลง และถุงสำหรับนำขยะลงไปทิ้งเอง ตะเกียงหรือไฟฉาย เพราะไฟฟ้ามีให้ใช้ตั้งแต่เวลา 17.00-21.00 น.เท่านั้น ในวันที่เราปั่นขึ้นไปก็มีนักดูนกแบกกล้องพร้อมเลนส์กระบอกโตยืนส่องนกกันอย่างสนุกสนาน
ถ้าใครได้ค้างแรมบนนี้ ตอนเช้าต้องไม่พลาดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นที่จุดชมวิวผาสวรรค์ ชมวิวได้ 360 องศาเลยทีเดียว
หลังจากสุขสมกับการได้พิชิตช่องเย็น ความเหน็ดเหนื่อยจากเส้นทางชันจางหายไป ถึงเวลาไหลลงกลับไปยังที่ทำการอุทยานฯ อีกครั้ง แม้เป็นทางเดียวกันแต่ทุกอย่างผ่านตาไปรวดเร็วเหลือเกิน หนึ่ง เพราะเป็นทางลง สอง เพราะผมได้สุขสุดๆ ไปแล้วบนความสูง 1,340 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
...
สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจมาพักค้างแรมที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีบ้านพักและสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว แต่ต้องนำเต็นท์ไปเอง ระบบไฟฟ้า มีใช้บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ส่วนบริเวณแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ยังไม่มีไฟฟ้าใช้
ส่วนลานกางเต็นท์ นักท่องเที่ยวต้องมาลงทะเบียนที่ศูนย์บริการฯ และแจ้งความประสงค์สำรองที่พักเต็นท์ก่อน สำหรับอัตราค่าบริการอยู่ระหว่าง 250-800 บาท ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาดของเต็นท์ และอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ มีเต็นท์ให้เช่าขนาดเดียว คือ เต็นท์โดม พักได้ 1-3 คน หลังละ 225 บาท ไม่รวมชุดเครื่องนอน ชุดเครื่องนอนมีให้เช่า หมอน 10 บาท แผ่นรองนอน 20 บาท และถุงนอนชิ้นละ 30 บาท