บ้านน้ำเคียงดิน จากจินตนาการ'บรรเจิด'

บ้านน้ำเคียงดิน  จากจินตนาการ'บรรเจิด'

เป็นร้านอาหารของตำรวจคนหนึ่งที่ชอบชิม ชอบดื่ม และรักงานศิลปะ

บางทีความรักและความชอบในศิลปะ ก็ไม่จำเป็นต้องเรียน เหมือนเช่น บรรเจิด ลบล้ำเลิศ เจ้าของร้านอาหาร บ้านน้ำเคียงดิน ย้ำระหว่างการสนทนาว่า

"ผมเป็นนักก็อปปี้ ชอบตรงไหน ก็ถ่ายรูปเอาไว้ แล้วเอาแบบมาทำเอง ทำตามจินตนาการของผม" บรรเจิดเล่าถึงบ้านน้ำเคียงดิน ที่เปิดมากว่า 16 ปีด้วยบรรยากาศที่ไม่เหมือนใคร มีบ้านสไตล์ยุโรปที่สวยสดงดงาม ไม่แต่งเติมมากจนเกินงาม หรือดูรกตาเหมือนร้านอาหารทั่วไป แต่ดูอบอุ่น มีพื้นที่ให้เด็กๆ วิ่งเล่น เดินเล่น ดูกระต่าย หงส์ดำ และฟลามิงโก ฯลฯ

เหตุใดเขาจึงสร้างสรรค์ 'บ้านน้ำเคียงดิน' ออกมาโดนใจคนไทย ทั้งๆ ที่เป็นตำรวจ
"ผมเคยเป็นตำรวจสืบสวนนอกเครื่องแบบ จึงต้องกิน เที่ยว พบปะผู้คน เพื่อสืบคดี ผมเริ่มรู้ตัวว่า ชอบศิลปะตอนไปสืบคดีเรียกค่าไถ่ แฝงตัวในร้านขายภาพศิลปะ ผมรู้สึกดีมากๆ แม้จะปิดคดีแล้ว วันว่างผมก็กลับมานั่งที่ร้านศิลปะนั้นอีก มีความสุขที่ได้คุยกับคนเขียนภาพ เจ้าของร้านก็สอนผม เอาภาพศิลปะมาให้ผมดู ปกติผมก็ชอบเดินดูเฟอร์นิเจอร์ งานไม้อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ทำให้ผมรู้ว่าเฟอร์นิเจอร์ไทยสวยสู้ที่อื่นได้ ผมจึงไปเปิดร้านเฟอร์นิเจอร์ที่อเมริกา เพราะมีน้องสาวอยู่ที่นั่น" บรรเจิด เล่าถึงจุดเปลี่ยนจากอาชีพตำรวจมาสู่การขายเฟอร์นิเจอร์ไม้ และผันตัวมาทำร้านอาหาร

"เมื่อก่อนผมนั่งร้านอาหารบ่อยมาก ทำให้ผมรู้ว่าคนส่วนใหญ่ชอบร้านอาหารแบบไหน ผมเป็นนักชิม ทำอาหารได้บ้าง เวลาทำอาหาร ผมไม่ชอบเอาวัตถุดิบมาดัดแปลงเยอะเกินไป ถ้าทำต้มยำ ไม่จำเป็นต้องใส่ขิง ข่า ตะไคร้ มากเกินไป จนลืมกลิ่นหอมของกุ้ง ผเป็นต้มยำน้ำใสๆ บีบมะนาว ใส่สมุนไพรนิดหน่อย ถ้าให้ลูกน้องทำ ก็จะบอกว่า พี่เจิดกินง่าย แต่ทำยากนะ"

นี่คือมุมละเมียดละไมในเรื่องอาหาร เขาชิมจนรู้ว่า ทำอาหารแบบไหน คนไทยจะติดใจ

ส่วนเรื่องการแต่งร้านมาจากไอเดียของเขาล้วน ๆ ซึ่งบ้านน้ำเคียงดินก็คือตัวตนของเขา และตอนนี้เขากำลังสร้างพื้นที่อีกส่วนสำหรับการถ่ายพรี เวดดิ้ง และคนชอบถ่ายภาพ

“บ้านพวกนี้ ผมให้ลูกน้องที่เป็นช่างไม้ทำ ถ้าไม่สวยทำใหม่ ผมเคยจ้างคนมาจัดองค์ประกอบหินตรงสระน้ำ หมดเป็นแสนๆ แต่พอฝนตก หินไหลมากองรวมกัน ต้องจัดใหม่ ผมก็ไม่กล้าเรียกเขามาทำ ผมกับลูกน้องก็จัดเรียงหินกันเอง "

เมื่อชอบแล้วก็เสาะแสวงหา เวลาเดินทางไปต่างประเทศหรือไปที่ไหนก็ตาม ถ้าบรรเจิดเห็นบ้านสวยๆ ทิวทัศน์ดีๆ ของตกแต่งบ้านที่ไม่เหมือนใคร เป็นต้องแวะดูและอยู่ตรงนั้นจนกว่าจะพอใจ และเมื่อมีร้านอาหารของตัวเอง เขาก็เอาจินตนาการเหล่านั้นใส่ไว้ตรงนั้น

“ผมสร้างบ้านแบบฝรั่งเป็นร้านอาหาร ถ้าผมตั้งชื่อแบบฝรั่งอีก คนไทยคงไม่เข้าร้านผม ถ้าเปิดร้านอาหาร แล้วทำเป็นบ้านทรงไทย ผมคงไม่เอา เราก็คิดว่า ต้องเอาแนวใหม่ ผมตั้งชื่อลิเกๆ ว่าบ้านน้ำเคียงดิน ดูใกล้ชิดกับคนไทย ” บรรเจิด เล่าถึงสไตล์ร้านอาหารเมื่อ 16 ปีที่แล้ว

“ผมมีสามครัวคือ ไทย ฝรั่ง จีน มีที่ไหนขายสปาเก็ตตี้ในสวนอาหาร ผมทำเลย ผมขายขาหมูเยอรมัน เสาะหาแหล่งซื้อสมุนไพรเยอรมันมาทำเอง ส่วนครัวไทย ผมเห็นว่า คนไทยกินอาหารชาววังมาเยอะ ดังนั้นอาหารไทยรสชาติต้องแซ่บ ครัวจีนต้องไม่ใช่แนวภัตตาคาร ยกตัวอย่างเมนูปลากระพงกิเลน และที่ขาดไม่ได้กล้วยหอมทอด "

ใช่ว่าร้านอาหารขนาดใหญ่จะลงตัวทุกอย่างตั้งแต่แรก บรรเจิด เล่าว่า ตอนที่ลูกค้าเข้ามาเยอะจนเกิดความสับสน ก็เลยให้ลูกน้องช่วยกันคิดหาวิธีจัดการ หลังครัวปิดพนักงานระดับหัวหน้าต้องมาร่วมประชุมระดมความคิด โดยพวกเขาเรียกว่า โต๊ะ 5

“ถ้าอาหารชุดนี้ไม่อร่อย หรือการจัดการไม่ดี เมื่อประชุมแล้ว เรื่องราวเหล่านั้นจะไปถึงครัวทันที ลูกน้องผมเป็นเสมือนครอบครัวผม อีกอย่างผมคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ถ้าบรรยากาศดีแล้วมีกลิ่นเน่าเหม็น มันไม่ใช่แล้ว ผมซื้อถังบำบัดน้ำเสีย ตัวดักไขมัน นำเศษอาหารมาทำปุ๋ยอินทรีย์ ทำก๊าซใช้เอง พัฒนามาเรื่อยตั้งแต่เปิดร้าน ”

คิดให้ต่างอย่างเข้าใจ คงเป็นสไตล์ของผู้บริหารบ้านน้ำเคียงดิน
"ที่ผ่านมา คนมักจะมีคนโทรมาถามว่า อยากเข้ามาถ่ายรูป จะคิดเงินเท่าไหร่ ผมก็เลยคิดว่า น่าจะทำพื้นที่ตรงนี้ พรี เวดดิ้ง ขึ้นมาเพื่อให้คนถ่ายภาพ ผมก็อยากให้พวกเขามีความสุข ผมเป็นสถาปนึก บ้านจะสวยหรือไม่สวย ตอนสร้างผมวิ่งออกไปไกลๆ ดูองศาบ้านเลย ถ้าไม่งามก็ทำใหม่ ผมก็อปปี้แบบมา แล้วจินตนาการว่า ควรเป็นยังไง แต่เวลาทำจริงๆ ก็เปลี่ยนบ่อย จำได้ว่า เคยมีศิลปิน ลูกศิษย์อาจารย์ศิลป์ พีระศรี มากินอาหารที่ร้านผม เขาต้องนั่งมุมเดิม เขาถามผมว่า ผมเรียนจบศิลปะที่ไหน ผมบอกว่า ไม่ได้เรียน เขาก็บอกว่า คุณไม่ต้องเรียนหรอก"

หลายคนที่ได้เห็นพื้นที่ที่เขากำลังจัดแลนด์สเคป ต่างออกปากว่า เหมือนเมืองนอกเลยนะ