กายกรรมเด็ก‘ปางแดง’ ต่อตัว ต่อใจ ต่อฝัน
การแสดงเล็กๆ ของเด็กที่(เคย)ไม่กล้าแม้แต่จะฝัน กับเรื่องราวหลังฉากที่อยากให้สังคมรับรู้
“กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว...”
เช่นเดียวกับนิทานเรื่องอื่นๆ ละครกายกรรมเรื่อง ‘สัตว์ป่าในนิทานที่หายไป’ ของเด็กๆ บ้านปางแดงนอก อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ก็เริ่มต้นแบบนั้น พวกเขาพยายามสื่อสารถึงความสามัคคีที่เป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม ผ่านการแสดงทั้งบทพูดและการเคลื่อนไหวร่างกาย
ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 นาทีบนเวทีที่มีเพียงเสื่อผืนใหญ่และผนังห้องประชุมโรงเรียนบ้านปางแดงเป็นฉาก เสียงหัวเราะของผู้ชมรุ่นจิ๋วที่ดังขึ้นเป็นระยะ ตามมาด้วยเสียงปรบมือเมื่อมีการต่อตัวหรือตีลังกา คือค่าตอบแทนที่คณะละครกายกรรมปางแดงยิ้มรับด้วยความภูมิใจ
แต่จะมีใครสักกี่คนที่รู้ว่า “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว” ชาวบ้านปางแดงซึ่งเป็นคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเด็กๆ เหล่านี้เคยมีชะตากรรมเช่นไร...
กายกรรมเด็กชายขอบ
กลุ่มละครกายกรรมปางแดง เริ่มต้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว หลังจากมรสุมแห่งโชคร้ายสงบลง กลุ่มละครมะขามป้อมได้เข้ามาทำงานร่วมกับเยาวชนในพื้นที่เพื่อใช้กระบวนการละครพัฒนาศักยภาพให้กับพวกเขา
“ที่ผ่านมาก็จะมีหัวหน้าโครงการฯเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ล่าสุดก็มีผมที่ดูแล จุดประสงค์คืออยากจะรวมกลุ่มเยาวชนที่หมู่บ้านปางแดงนอกให้เป็นผู้ที่สื่อสารเรื่องราวในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ประเพณี หรือเรื่องราวที่เป็นปัญหาแล้วเขาอยากสื่อสารให้คนภายนอกได้รับรู้ และนำไปสู่การแก้ไขภายในชุมชน
ทีนี้ทางมะขามป้อมเองก็ถนัดในเรื่องราวของการใช้ละคร แล้วพอน้องๆ ได้ไปดูโชว์เคสการแสดงสั้นๆ จากอาสาสมัครของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเขามาแสดงกายกรรมก็รู้สึกประทับใจมาก เลยมาขอให้พี่ๆ สอนกายกรรม เราก็ไปเชิญอาสาสมัครจากออสเตรเลียมาสอนให้กับน้องๆ เป็นจุดเริ่มต้นในการเริ่มทำงานโดยใช้กายกรรมเป็นเครื่องมือ” ธนุพล ยินดี เจ้าหน้าที่มูลนิธิสื่อชาวบ้าน(มะขามป้อม) หรือ ‘ครูกอล์ฟ’ ของเด็กๆ เล่าถึงที่มา
จากวันนั้นถึงวันนี้ มีนักแสดงตัวน้อยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาเป็นสมาชิกของคณะละครกายกรรมปางแดงนับสิบคน ทั้งหมดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดาระอั้ง ซึ่งหลายคนยังไม่ได้รับสัญชาติไทย สำหรับรุ่นล่าสุดของคณะละครนี้เรียกได้ว่าใหม่แกะกล่อง เพิ่งฝึกซ้อมกันได้แค่ 5 เดือน แต่ฝีมือก็ไม่แพ้รุ่นก่อนๆ มีสมาชิกทั้งหมด 6 คน คือ ด.ช.สุขสันต์ ลอยธรรม ชั้น ป.5 ด.ช.อัครพล นายนวล ชั้น ป.5 ด.ญ.จารวี ลุงเมือง ชั้น ป.5 ด.ญ.สุภาพร จะยู ชั้น ป.5 ด.ช.สมชาย รอดเงิน ชั้น ป.6 ด.ญ.ศิริวรรณ ผ่องตุ ชั้น ป.6
“ฝึกยากมั้ย” คือคำถามที่พวกเขาเจอบ่อยๆ
“ไม่ยาก สนุกดี” คือคำตอบเหมือนกันทุกครั้ง ...เด็กๆ ว่า โหนผ้า โยนบอล ต่อตัว ตีลังกา คืองานถนัดมากกว่าการต้องพูดบทยาวๆ
“น้องๆ เป็นคนที่ถนัดในการใช้ร่างกายอยู่แล้ว เดินไปโรงเรียน ขึ้นต้นไม้ ปีนป่าย เขาถนัด เพราะฉะนั้นการใช้ร่างกายของเขาเปลี่ยนให้เป็นความหมายอีกรูปแบบ เขาก็จะชอบ แล้วก็เป็นวิธีการที่ค่อนข้างที่จะสากล ต่อให้ไปเล่นที่ไหนก็ตามที่ไม่ได้ใช้ภาษาที่สื่อสารกันได้โดยตรง ก็ใช้ภาษาทางร่างกายภาษาการเคลื่อนไหวสื่อสารกัน”
ส่วนเรื่องที่เลือกมาแสดง ครูกอล์ฟบอกว่า เกิดจากกระบวนการคิดร่วมกันว่าเด็กๆ อยากจะสื่อสารเรื่องอะไร ซึ่งส่วนใหญ่มองการทะเลาะเบาะแว้งกันในชุมชนเป็นปัญหาจึงอยากให้เกิดการแก้ไข
“น้องๆ เขาก็เสนอในมุมที่เขาพอจะเข้าใจว่า ไม่ตีกันคือสิ่งที่ดีที่สุดละ แต่ในทางเป้าหมายของโครงการเราอยากจะเห็นตัวน้องๆ พูดถึงเรื่องราวอื่นๆ ได้ด้วยทั้งมิติทางวัฒนธรรม ประเพณี รวมไปถึงการต่อสู้ของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เขาที่กว่าจะเรียกร้องเรื่องสิทธิเรื่องพื้นที่อยู่อาศัยอย่างในปัจจุบันนี้ได้
แต่จุดเริ่มต้นเราอยากจะสร้างการเป็นเจ้าของร่วมกับผลงาน คือรู้สึกเป็นเจ้าของจริงๆ ไม่ใช่ว่าพี่ๆ ชี้ให้ทำก็ทำ มันก็เลยจะเริ่มจากจุดเล็กๆ ซึ่งสิ่งที่เห็นในการแสดงเป็นแค่การจุดประกายให้น้องเข้าใจเครื่องมือ ทักษะการละคร ว่ามีพลังแค่ไหนในการสื่อสารเรื่องราวที่เขาอยากจะเล่า”
แม้จะเป็นช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่เด็กกลุ่มนี้ได้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคณะละครกายกรรมปางแดง แต่ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ครูกอล์ฟมองเห็น
“อันแรกคือน้องมีความมั่นใจ เพราะว่าครั้งแรกๆ ที่เข้ามาเรียนละคร เขารู้สึกว่าตัวเองทำเรื่องแบบนี้ไม่ได้ แต่กระบวนการละครอนุญาตให้เขาแสดงความรู้สึก แสดงความคิดเห็น น้องๆ ก็จะซึมซับว่าตัวเองสามารถพูดได้ คิดต่างได้ มีเสียงได้ แล้วพอยิ่งมีโอกาสไปแสดงให้คนอื่นได้รับรู้ เขาก็ยิ่งภูมิใจในตัวเองมากขึ้น ครั้งแรกที่ได้แสดงคือในหมู่บ้านของเขาเอง พ่อแม่มานั่งดู น้องก็รู้สึกภูมิใจในตัวเอง แต่ความท้าทายในลำดับต่อไปก็คือ เอาเรื่องที่น้องทำไปเล่นในหมู่บ้านอื่นๆ เขาก็กล้าที่จะส่งพลังใจทั้งที่ตัวเองก็ถูกกดทับทางสังคมด้วยเหมือนกัน แต่ก็ยินดีที่จะไปบอกคนอื่นว่าลุกขึ้นมาช่วยกัน เราเป็นคนรุ่นใหม่ที่สามารถช่วยชุมชนของตัวเองได้”
ถึงตรงนี้ คงไม่ต้องถามแล้วว่าภูมิใจมั้ยเวลาที่ได้แสดงให้ทุกคนชม ...แววตาเป็นประกาย บอกได้ดีอยู่แล้ว
ละครชีวิตชาวปางแดง
การแสดงสิ้นสุดลง นักแสดงกายกรรมกลายร่างไปเป็นเด็กน้อยที่อยากวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ สนุกสนานตามประสา
หลังจากเอากระเป๋านักเรียนเข้าไปเก็บในบ้าน ‘พล’ อัครพล นายนวล หนึ่งในนักแสดงที่เพิ่งโชว์ลีลาเมื่อชั่วโมงที่แล้วขอแม่ออกไปเล่นข้างนอก
ดูเผินๆ คำ นายนวล แม่ชาวดาระอั้งวัย 40 ปี ก็ไม่ต่างจากแม่ทั่วๆ ไปที่อยากเห็นลูกชายเติบโตมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่สิ่งที่ยังฝังลึกอยู่ในใจของเธอกลับเป็นเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว
ปี พ.ศ.2541 และ 2547 ชาวบ้านปางแดงถูกเจ้าหน้าที่รัฐกวาดจับเกือบทั้งหมู่บ้านด้วยข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน ซึ่งเหตุการณ์เมื่อปี 2547 นั้นเองที่ทำให้คำถูกจับขณะที่กำลังตั้งท้องลูกคนแรก พร้อมเพื่อนบ้านอีก 48 คน และต้องใช้ชีวิตในเรือนจำแรมเดือน กระทั่งเธอแท้งลูกในที่สุด
“ตอนนั้นถ้าจะหนีก็หนีได้ แต่เราไม่ยอมหนี เพราะว่ามีลูกกับแม่อยู่ที่บ้าน ถ้าหนีก็กลัวเขาจะมาจับแม่ แล้วเราก็คิดว่าเขาคงมาจับแค่ผู้ชาย ไม่คิดว่าจะคว้าไปหมด ตอนอยู่ในเรือนจำก็ลำบากมาก เขาดูถูกเราด้วย เพราะว่าเราเป็นชนเผ่า น้ำเราไม่เคยได้อาบน้ำที่ดีๆ อาบน้ำเศษของคนอื่นตลอดเวลา การประสานงานการพูดจาเราก็ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง กินอะไรก็ไม่ค่อยได้ ร้องไห้ทุกวันเลย”
หลังจากพ้นโทษและเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐจนได้ข้อยุติ โดยชาวบ้านตกลงซื้อที่ไร่ข้าวโพดจากเจ้าของเดิมเพื่อทำเป็นที่อยู่อาศัย มุมมองของคำก็เปลี่ยนไป จากที่เคยคิดแค่ไปรับจ้างพอให้มีรายได้กินใช้ไปวันๆ ก็เริ่มเข้าร่วมในเวทีวิชาการต่างๆ
“ถามว่าโกรธมั้ยที่เราถูกจับตอนนั้น คิดย้อนไปไม่ค่อยจะโกรธนะ เพราะว่ามันทำให้เราได้ประสบการณ์ แล้วก็รู้สึกว่าจะต้องทำอะไร เหมือนกับว่าเขาผลักดันให้เราโต รู้ว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ ก็ได้ไปเรียนหลายอย่าง คือตอนแรกเราก็คิดว่าถ้าเราไม่ไปยุ่งกับเขา เขาก็ไม่ยุ่งกับเรา แล้วสุดท้ายถึงเราไม่ได้ยุ่งกับเขา เราก็ยังโดน หลังจากนั้นเขาเรียกไปประชุมที่ไหนก็ไปเรื่อย เราต้องรู้เรื่องสิทธิอะไรต่างๆ สิทธิของผู้หญิง สิทธิความเป็นคน สิทธิชุมชน”
ถึงวันนี้ คำมีลูกชาย 3 คน พลเป็นคนเดียวที่ไปฝึกละครกายกรรมกับมะขามป้อม ซึ่งเธอเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นแล้ว เด็กยังรู้จักการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม
“ถึงเขาจะเป็นละครเล็กๆ แต่การเล่นละครมันเหมือนกับเป็นการบอกเล่าเรื่องราวให้คนอื่นๆ ได้รับรู้ แต่มันจะลึกซึ้งตรงที่การให้เด็กเล่นละครด้วยกันมันเหมือนการสร้างความผูกพันให้เขากับเพื่อนๆ อย่างเมื่อก่อนเด็กๆ จะชอบทะเลาะกัน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ทะเลาะแล้ว อีกอย่างคือเขาจะได้รู้ว่าถึงจะเป็นชนเผ่า แต่เราก็ทำแบบนี้ได้”
คุณแม่คนนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่า การฝึกกายกรรมทำให้เด็กๆ เรียนรู้เรื่องความเท่าเทียมระหว่างหญิง-ชายด้วย
“อย่างการต่อตัว ตามประเพณีของดาระอั้งจะไม่ให้ผู้หญิงขึ้นไปอยู่ข้างบนเหนือผู้ชาย พอเด็กเขาเล่นกายกรรม ตอนแรกๆ เด็กผู้ชายเขาก็ไม่ค่อยพอใจที่ให้ผู้หญิงขึ้นไป ตอนนั้นเราก็ได้ไปคุยกับเขาว่า การละเล่นแต่ละอย่าง บางอย่างผู้ชาย ความแข็งแรงอาจจะไม่พอ ผู้หญิงอาจจะเป็นต้นต่อให้ได้ บางทีผู้หญิงแข็งแรงมากกว่าผู้ชายก็มี มันไม่ใช่เสมอไปว่าผู้ชายต้องแข็งแรงกว่า เพราะฉะนั้นหญิงหรือชายใครสามารถที่จะขึ้นไปข้างบนก็ขึ้นไปได้ พอเราคุยจุดนี้ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงปัจจุบันก็ไม่มีปัญหา ถึงเวลาเล่นก็สนุกสนาน ไม่มีการเหล่ตามองกันเหมือนไม่ค่อยพอใจ”
คำบอกว่า เด็กๆ ในหมู่บ้านถ้าไม่มีกิจกรรมแบบนี้ก็จะไม่มีโอกาสได้เรียนรู้โลกภายนอก ได้ฝึกฝนทักษะที่หลากหลาย ยิ่งถ้าเป็นครอบครัวที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทยยิ่งไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ได้ ไม่มีสิทธิในหลายๆ ด้าน ถึงแม้จะสามารถเข้าเรียนได้ แต่ความหวังที่จะมีอนาคตที่ดีก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
การแสดงเล็กๆ ที่อาจจะไม่ได้ดูน่าตื่นตาตื่นใจ จึงไม่ได้มีความหมายแค่ความบันเทิงยามว่าง แต่เป็นการเรียกความเชื่อมั่นให้กับเด็กๆ ที่เคยถูกกันไปอยู่ชายขอบของสังคม จุดประกายความหวังให้กับชุมชนที่เคยถูกตีตราว่าทำลายป่า ซึ่งก้าวต่อไปของคณะละครกายกรรมปางแดง ครูกอล์ฟบอกว่าจะเป็นกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชน
“เมื่อเด็กๆ มองว่าการทะเลาะกันของคนในชุมชนเป็นอุปสรรคในการพัฒนา หลังจากเปิดการแสดงตามที่ต่างๆ แล้ว สเต็ปต่อไปเราจะเชิญคนในชุมชนเข้ามาพูดคุยถึงปัญหาแล้วหาทางแก้ไขร่วมกัน จากนั้นก็จะเอาข้อสรุปมาทำเป็นละครอีกครั้ง โดยเน้นการมีส่วนร่วมของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชน แล้วค่อยนำไปสื่อสารข้างนอกต่อไป”
แต่ถ้าถามใจชาวปางแดงอย่าง‘คำ’ เธอหวังว่าละครเรื่องต่อๆ ไป น่าจะมีเรื่องราวการต่อสู้ของคนที่นี่
“ไม่อยากให้เด็กๆ เขาลืม เพราะมันจะเป็นแรงบันดาลใจให้เขา สมัยก่อนพ่อแม่เราเคยโดนอย่างนี้นะ เราต้องต่อสู้แบบนี้นะ เราจะหาทางออกและพัฒนาชุมชนในอนาคตอย่างไร ถ้าเขาลืมไปมันจะเหมือนกับเขาอยู่แค่ปัจจุบัน ลืมอดีตของพ่อแม่ไปแล้ว”
ไม่ว่าจะด้วยหัวใจของความเป็นแม่ หรือคนดาระอั้ง เธอย้ำว่า “อยากให้เด็กรู้เรื่องสิทธิของตัวเองว่ามีอะไรบ้าง แล้วถ้าเขาไม่รู้จะโดนอย่างไรบ้าง ซึ่งถ้าเขารู้เขาจะได้ปกป้องคนในชุมชนด้วย ไม่ใช่ปกป้องแค่ตัวเอง”
ทุกวันนี้แม้ว่าลูกหลานชาวปางแดงจะรับรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านการบอกเล่าของคนในครอบครัวมาบ้าง แต่หากกระบวนการละครจะทำให้เขาได้ตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของตัวเองที่มีต่อครอบครัว ชุมชน และสังคม คงเป็นความคาดหวังที่หลายคนเห็นตรงกัน
และถ้าฝันได้มากกว่านั้น ทุกการแสดงย่อมจบลงด้วยการสอนให้รู้ว่า...ไม่ว่าจะต่างกันด้วยอะไร เราต่างมีสิทธิความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน