แด่มิตรภาพสองประเทศ
Great and Good Friends คำขึ้นต้นในจดหมายจากประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเขียนกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรสยาม เจริญสัมพันธ์ไมตรีระหว่างสองประเทศ
นำพามาสู่นิทรรศการของขวัญแห่งมิตรภาพ : ราชอาณาจักรไทยและสหรัฐอเมริกา พ.ศ.2361-2561 ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเฉลิมฉลองเหตุการณ์สำคัญช่วง 200 ปีที่ผ่านมา
ในพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว มีจดหมายของพระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) เจ้าพระยาพระคลังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นวัตถุชิ้นแรกที่จัดแสดงบริเวณทางเข้าชมนิทรรศการ เสมือนการเปิดเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาที่มีอย่างยาวนาน ด้วยถ้อยคำเชิญชวนให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำการค้าขายกับสยามประเทศ
"เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งมีคนค้นพบจดหมายฉบับนี้ ซ่อนอยู่ในกองเอกสารของประธานาธิบดีเจมส์ มอนโรล พวกนักอนุรักษ์ต้องค่อยๆ นำมาออกมาฟื้นฟูเพื่อรักษาสภาพสมบูรณ์มากที่สุด แล้วข้อความในจดหมายเราจะเห็นได้ว่า สมัยนั้นราชอาณาจักรสยามยังไม่เป็นที่คุ้นเคยกับภาษาอังกฤษ ในจดหมายฉบับนี้จึงเขียนเป็นภาษาโปรตุเกสว่า พระยาสุริยวงศ์มนตรีกล่าวถึงสตีเฟน วิลเลี่ยม กัปตันเรือชาวอเมริกันที่เดินทางมาถึงท่าเรือบางกอกในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1818 เพื่อเสาะแสวงหาน้ำตาลที่กรุงเทพและเข้าเ้ฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ในประโยคสุดท้ายของจดหมาย ท่านดิศ บุนนาค แนะนำชาวอเมริกันที่ต้องการค้าขายกับไทย นำปืนคาบศิลากลับมาแลกเปลี่ยนกับไทยด้วย" วิลเลียม แบรดฟอร์ด สมิธ ภัณฑารักษ์ประจำนิทรรศการ กล่าวถึงมิตรไมตรีแห่งการพบกันในครั้งแรกระหว่างชาวไทยและชาวอเมริกัน
สนธิสัญญาฉบับแรกระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหรัฐอเมริกา
เมื่อข้อความในจดหมายส่งออกไปนั้น นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีอีกสองปีถัดมาบรรดาพ่อค้าชาวอเมริกันพากันขึ้นเดินทางข้ามทวีปมายังประเทศไทย การค้าขายเจริญรุ่งเรืองจนเป็นที่มาของสนธิสัญญาฉบับแรกระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหรัฐอเมริกา
"ถือเป็นสนธิสัญญาที่เก่าแก่ที่สุดของราชอาณาจักรสยามมีความยาวมากถึงสามเมตรครึ่ง โดยเริ่มร่างในปีค.ศ.1833และให้สัตยาบรรณอย่างสมบูรณ์ในปีค.ศ.1836 มีการบันทึกเป็นสี่่ภาษา ในจำนวนนั้นคือภาษาจีนและโปรตุเกส ก็เพื่อกำกับเนื้อหาสาระสำคัญ เนื่องจากในสมัยนั้นชาวไทยกับชาวอเมริกันยังไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจมากนัก"
สนธิสัญญาฉบับแรกระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหรัฐอเมริกา
ไม่เพียงแต่สนธิสัญญาระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาทำให้เราเห็นความสัมพันธ์รุดหน้า ในสมัยรัชกาลที่ 4 เรายังเห็นการเรียนรู้วัฒนธรรมของสองประเทศผ่านพระราชสาส์นในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว บัตรพระปรมาภิไธยอันเป็นต้นแบบของนามบัตรในยุคปัจจุบัน พระราชทานแก่ประธานาธิบดีแฟรงกลิน เพียรซ์ บันทึกธรรมเนียมปฏิบัติของพระมหากษัตริย์ไทย ทรงประทับพระราชลัญจกรเพื่อรับรองเนื้อความในพระราชสาส์น
ในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเขียนอธิบายลวดลายบนพระราชลัญจกรเพื่อให้ชาวต่างชาติเข้าใจมากยิ่งขึ้น อีกทั้งราชสำนักฝ่ายไทยยังโอบรับจารีตอย่างตะวันตก อาทิ พระราชสาส์นฉบับหนึ่งลงลายพระหัตถ์ว่า ‘จากพระเจ้ากรุงสยาม’ เฉกเช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลงลายพระหัตถ์พระปรมาภิไธยย่อภาษาอังกฤษ ‘S P P M’ อันหมายถึง ‘Somdet Phra Paramindr Maha’ ในพระราชสาส์นพระราชทานแก่และประธานาธิบดียูลิสซีส เอส.แกรนต์
ส่วนของขวัญที่แลกเปลี่ยนระหว่างสยามกับสหรัฐอเมริกา อาจกล่าวได้ว่า มีความสำคัญและมีชื่อเสียงมากที่สุดชิ้นหนึ่ง คือพระราชสาส์นฉบับที่สอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานของขวัญ โดยส่งช้าง 1 คู่ ไปขยายพันธุ์ที่สหรัฐอเมริกา ทรงอธิบายความสำเร็จในโครงการแพร่พันธุ์ช้างในศรีลังกาและประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมทรงแนะนำวิธีนำช้างไปสหรัฐอเมริกา แก่เจมส์ บูแคนัน ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในเวลานั้น
แต่กว่าพระราชสาส์นฉบันนี้จะไปถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีอับราฮัม ลินคอร์นเป็นผู้นำประเทศคนใหม่ จึงทำหน้าที่เป็นผู้รับพระราชทานพระราชสาส์นแทน ซึ่งห้วงเวลานั้นสหรัฐอเมริกาเกิดสงครามกลางเมืองพอดี เขาปฏิเสธรับของขวัญนี้ลงไปในจดหมาย โดยใช้คำขึ้นต้นว่า Great and Good Friend เขียนกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น พร้อมกันนี้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ยังมอบหมายให้จอห์น ควินซี่ อดัม วอร์ด ประติมากร สร้างกระบี่สององค์ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อแสดงให้เห็นถึงมิตรภาพที่สองประเทศมีต่อกัน
ในบรรดาของขวัญพระราชทาน อันได้แก่เครื่องถมทอง เครื่องนุ่งยกทองตลอดจนเครื่องยศต่างๆ จากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแก่ประธานาธิบดีแฟรงกลิน เพียร์ซ ล้วนเป็นของเทียบเคียงเครื่องราชย์อิสริยยศที่พระราชทานให้แก่ประมุขของประเทศ แม้จะไม่ใช่เจ้านายแต่ฐานะเสมอขุนนางชั้นสูง ส่งผลให้ราชทูตจากสหรัฐอเมริกาพยายามสรรหาของขวัญมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายทั้งสองพระองค์เพื่อเป็นที่พอพระราชหฤทัย ด้วยทราบว่าสนพระราชหฤทัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น กล้องจุลทรรศน์ หนังสือสารานุกรม ภาพเหมือนประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐ วาดโดยเรมบรันต์ พีล จิตรกรเลื่องชื่อ และภาพเหมือนประธานาธิบดีแฟรงค์กลิน เพียร์ซ ซึ่งช่วงต้นของเวลาแห่งมิตรภาพ จึงเป็นการพยายามทำความเข้าใจและสานสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ผ่านของขวัญที่แลกเปลี่ยนและดำเนินสืบเนื่องไปในสมัยรัชกาลที่ 5
เครื่องถมตะทองและผ้านุ่งสำหรับเจ้านาย
ภาพเหมือนประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน
ภัณฑารักษ์ประจำนิทรรศการพาเราไปชมภาพถ่ายและสิ่งของที่เคยนำไปจัดแสดงในงานเวิลด์แฟร์หรืองานนิทรรศการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี ประเทศสหรัฐอเมริกาและงานนิทรรศการตามเมืองฟิลาเดเฟียร์ ในปี ค.ศ 1876 และงานนิทรรศการต่างๆในเมืองชิคาโกเซ็นต์หลุยส์ ซานฟรานซิโกจนถึงปีค.ศ.1915
มีของชิ้นหนึ่งที่คนอเมริกันมองว่าเป็นของหายาก คือบาตรประดับมุกย่ามบาตร พัดรองทำจากงาช้าง ผ้าไหมปักดิ้นทอง เป็นสิ่งของจัดทำในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งที่ 2 นำมาจัดแสดงให้ได้รับชมกัน รวมทั้งหัวโขน เรือในกระบวนพยุหยาตราทางชลมาตรจำลองเครื่องใช้ไม้สอยอื่นๆนับเป็นของขวัญที่ได้รับจากประเทศไทยสะท้อนวิถีไทยอันน่าตื่นตาตื่นใจก่อนนำไปสู่การก่อตั้งสถาบันสมิธ โซเนียนในการเป็นผู้เก็บสิ่งของจากไทยที่มีจำนวน 6,000 ชิ้น เสมือนเป็นการแนะนำเมืองไทยให้ผู้คนรู้จัก
นอกจากนี้ยังมีบันทึกข่าวในหนังสือพิมพ์ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา ทั้งยังได้ประทับรถไฟพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินจากอเมริกาฝั่งตะออกไปยังฝั่งตะวันตก
ช่วงปี ค.ศ. 1931 ประเทศสหรัฐอเมริกาถวายการต้อนรับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ในฐานะพระมหากษัตริย์และพระราชินีแรกที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนอย่างสมพระเกียรติ ขณะประทับอยู่นิวยอร์ก ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินยังสถานที่สำคัญหลายแห่ง อาทิ ยอดตึกเอ็มไพร์สเตตที่มีความสูงที่สุดในโลกในขณะนั้น ทอดพระเนตรการแข่งขันเบสบอลของทีมนิวยอร์ก แยงกี้ส์ ณ สนามแยงกี้ สเตเดี้ยม
พระบรมฉายาลักษณ์ในกรอบทองฝังเพชร
ในโอกาสนี้ของขวัญพระราชทานจากสองพระองค์แสดงให้เห็นถึงธรรมเนียมเปลี่ยนไปจากสมัยก่อน โดยรวมความโดดเด่นไว้ในขันถมเงินลวดลายรูปครุฑ หนุมาน ช้างเอราวัณ พระปรมาภิไธยย่อในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แก่ประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์พร้อมด้วยพระบรมฉายาลักษณ์ในกรอบทองฝังเพชรแก่ลู เฮนรี ฮูเวอร์ สุภาพสตรีหมายเลข 1 เกี่ยวกับเรื่องนี้ เทรเวอร์ เมอร์เรียน ภัณฑารักษ์ประจำนิทรรศการอีกคนหนึ่ง เป็นผู้รับหน้าที่บรรยายคลอไปกับพระสุรเสียงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับสัมพันธไมตรีระหว่างสองประเทศ บันทึกไว้ในภาพยนตร์ขาวดำที่นำมาจัดแสดงควบคู่ไปกับสิ่งของสำคัญ
"ส่วนของขวัญแห่งมิตรภาพชิ้นที่เล็กที่สุดในนิทรรศการนี้ ทว่าสะท้อนสันติภาพที่ไทยต้องการให้เกิดขึ้นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง นั่นคือ กล่องบุหรี่ ประดับพระปรมาภิไธยย่อ อปร. ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ของขวัญจากหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แก่ประธานธิบดีแฟรงคลิน ดี.รุสเวลต์ เป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาผ่านทางกระบวนการเสรีไทย"
ของขวัญแห่งมิตรภาพชิ้นที่เล็กที่สุดในนิทรรศการนี้
ในสมัยรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปีพ.ศ.2503 มิตรภาพแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นด้วยเพราะเป็นสถานที่ที่พระองค์เสด็จพระราชสมภพ ชาวอเมริกันต่างให้ความสนใจทั้งสองพระองค์ผู้ทรงมีอายุน้อย ของขวัญพระราชทานแก่สหรัฐอเมริกา ยังแสดงให้เห็นธรรมเนียมที่เปลี่ยนไป
เช่น เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมวงศ์ ภาชนะเครื่องถมมีรูปทรงสมัยใหม่ หรือชุดเครื่องเขียนถมทอง ที่มีการตั้งเข็มนาฬิกาไว้ที่เลข 10.12 เป็นช่วงเวลาที่พระองค์พระราชทานพระราชดำรัสในงานถวายพระกระยาหารค่ำ ณ ทำเนียบขาว เครื่องดนตรีไทย ของขวัญจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ แทนเครื่องแสดงฐานันดรศักดิ์อย่างในอดีต เท่ากับเป็นการเผยแพร่งานศิลปวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่ประจักษ์ นอกจากนี้ยังมีพระบรมฉายาลักษณ์เมื่อครั้งทั้งสองพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินยังเมืองต่างๆ พร้อมด้วยพระราชโอรสและพระราชธิดาที่หาชมได้ยาก
เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมวงศ์และชุดเครื่องเขียนถมทอง
เสื่อจันทบูรทอรูปสุนัข
“สิ่งที่น่าสนใจอีกชิ้นหนึ่งคือ เสื่อจันทบูรทอลายรูปสุนัข ที่ได้รับการซ่อมแซมก่อนนำมาจัดแสดง ในนิทรรศการนี้มีกาารจัดแสดงวีดีโอขั้นตอนการเก็บรักษาให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ที่เราอยากเชิญชวนให้คุณๆมาชม” เทรเวอร์ กล่าวทิ้งท้าย
นิทรรศการของขวัญแห่งมิตรภาพ : ราชอาณาจักรไทยและสหรัฐอเมริกา พ.ศ.2361-2561 ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง เปิดให้เช้าชมตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 30 มิถุนายนศกนี้ ทุกวัน เวลา 9.00 น.-16.30 น.อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 150 บาท/นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่แสดงบัตร 50 บาท/เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ชมฟรี