SE.School ทางเลือกธุรกิจเพื่อสังคม
โรงเรียนออนไลน์แห่งนี้เปิดขึ้นเพื่อให้ัคนเข้าใจเรื่องธุรกิจเพื่อสังคม
“เราเชื่อว่าการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กับการสร้างรายได้ เพื่อความยั่งยืน นี่คือแนวทางของกิจการเพื่อสังคม (social enterprise)”
...........................
ส่วนหนึ่งของปรัชญาแนวคิด SE.School แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์กิจการเพื่อสังคม โดย สถาบัน ChangeFusion และ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพื่อให้ความรู้ผู้สนใจเรื่องนี้
“กิจกรรมเพื่อสังคม หรือ SE (social enterprise) เป็นกิจกรรมที่คนเริ่มสนใจเยอะขึ้น ส่วนใหญ่ก็จะติดต่อมาทางเรา ก็เลยลองทำเนื้อหาพื้นฐานให้คนเรียนรู้ เพราะตอนนี้มีกูรูเยอะ มีทั้งให้ข้อมูลผิดและข้อมูลถูก ” สุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบันChange Fusion กล่าว
“ผมสังเกตว่าโครงการบ่มเพาะที่เกิดขึ้น และที่มีประโยชน์จริงๆ คือ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของคนที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมอยู่แล้ว แต่คนส่วนใหญ่กลับมาถกเถียงเรื่องคำนิยาม “กิจการเพื่อสังคม” ทั้งๆ ที่มีนิยามกลางๆ ที่ใช้กันทั่วโลก ผมก็เลยคิดว่า น่าจะทำคอร์สออนไลน์ให้คนมาเรียนรู้เบื้องต้นด้วยตนเอง แล้วทดลองทำ”
นอกจากเนื้อหาความรู้เรื่องกิจการเพื่อสังคม เขายังคิดต่อว่า จะทำยังไงให้คนเรียนมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการเพื่อสังคม
“ผมก็แค่ถอดบทเรียนที่เคยทำ เพื่อให้คนเข้าถึงเนื้อหา แทนที่จะพูดเชิงวิชาการอย่างเดียว บทเรียนที่เราดีไซน์มาจากประสบการณ์คนที่เคยทำกิจกรรมเพื่อสังคม นอกจากอ่านเนื้อหา ดูคลิป แชท วิดีโอคอลระหว่างคนเรียน ก็จะให้ผู้ประกอบการที่เคยทำเรื่องเหล่านี้มาเล่าให้ฟัง และสุดท้ายให้ผู้เรียนคิดแผนธุรกิจเบื้องต้น โดยทั้งหมดไม่เสียค่าใช้จ่าย”
เมื่อถามว่า ได้แนวคิด SE School มาจากไหน
สุนิตย์ บอกว่า ได้แรงบันดาลใจจาก โครงการบ่มเพาะ Y Combinator ที่เปิดหลักสูตรออนไลน์ Startup School
“ผมก็อยากทำฐานชุดความรู้ที่คนเอาไปใช้ได้เลย เราก็คุยกับองค์กรต่างๆ มีเนื้อหาเปิดที่ทุกคนเข้าถึงได้ อาจได้ร่วมงานกับหลายองค์กรอย่าง ทีซีดีซี อยากทำ SE กับการออกแบบ หรือสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และ YNDC (Youngstown Neighborhood Development Corporation)ขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน อาจร่วมมือกับ SE ทำคอร์สทางสังคมอะไรสักอย่างก็เป็นได้
หากถามว่ากิจการเพื่อสังคมในต่างประเทศเป็นอย่างไร
เขา เล่าต่อว่า 4-5 ปีที่แล้วเราก็ได้ตัวอย่างกิจการเพื่อสังคมจากอังกฤษ แต่ช่วงนี้มีกิจกรรมเพื่อสังคมในเอเชียเยอะขึ้น ในเกาหลี เวียดนาม และสิงคโปร์ มีกฎหมายเรื่องนี้โดยเฉพาะ ยกตัวอย่างสิงคโปร์มี SE เรื่องการจ้างงานคนพิการ,ในญี่ปุ่นมี LITALICO ทำเรื่องการจ้างงานผู้พิการ มีกฎหมายคล้ายๆ ไทย คือ เมื่อบริษัทเติบโตถึงจุดหนึ่ง หากมีการจ้างงานคนปกติร้อยคน ต้องจ้างผู้พิการหนึ่งคน
“บริษัทจัดหางานที่จ้างผู้พิการในญี่ปุ่นที่ผมกล่าวถึง จะค้นหาว่างานแบบไหนเหมาะกับผู้พิการคนไหน ถ้ามีปัญหา ก็เปลี่ยนตัวผู้พิการได้ และบริษัทแบบนี้เกิดประโยชน์จริงๆ เป็นธุรกิจที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ด้วย มูลค่าตลาดแปดพันล้านบาท ,ในเกาหลี มีดีไซเนอร์รุ่นใหม่ไปทำงานร่วมกับผู้หญิงเกาหลีที่เคยมีปัญหาถูกบังคับให้บริการผู้ชายญี่ปุ่นในยุคที่ประเทศมีปัญหาการเมือง ซึ่งตอนนี้ผู้หญิงกลุ่มนี้เป็นคุณยายแล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบต่อครอบครัวคุณยายเหล่านั้น ซึ่งเป็นประเด็นร้อนที่คุยกันยาก กลุ่มคนรุ่นใหม่เกาหลี จึงใช้งานดีไซน์ช่วยคุณยายที่มีความสามารถออกแบบลายดอกไม้อยู่แล้ว พัฒนาสินค้าออกมาเป็นสมุดโน้ต เคสมือถือ ฯลฯ สร้างรายได้ช่วยคุณยายเหล่านี้และทำให้คนเข้าใจประเด็นทางสังคมมากขึ้น”
ไม่ต่างจากเมืองไทยมีคนหันมาทำกิจการเพื่อสังคมมากขึ้น เขายกตัวอย่าง กลุ่ม open Dream ซึ่งเป็นคนทำเทคโนโลยีด้านต่างๆ ทั้งโปรแกรมเมอร์ ดีไซเนอร์ พวกเขาทำทั้งเกม แอพพลิเคชั่น ร่วมกับหลายองค์กร อาทิ ร่วมกับกลุ่มหมอชาวบ้าน ทำแอพ Doctor me มีคนดาวน์โหลดกว่าห้าแสนราย ล่าสุดทำเกม Judies เรื่องสอนเด็กใส่ถุงยาง เพราะพวกเขาเคยทำงานกับมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง
"พวกเขาเห็นว่าการอบรมเด็กผู้หญิงจะง่ายกว่า เพราะผู้หญิงรุ่นๆ จะมีเหตุผลมากกว่าเด็กผู้ชาย ถ้าสอนเรื่องความเข้าใจเรื่องถุงยาง จะทำให้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีกว่า เกมนี้มีคนโหลดไปเล่น เจ็ดแสนกว่า มีสปอนเซอร์ด้วย”
สุนิตย์ เล่าต่อว่า กิจการเพื่อสังคม ควรมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่เน้นการแก้ปัญหาด้วยหลักการกว้างๆ เหมือนเมื่อก่อน แต่เน้นเจาะประเด็นปัญหา
“จริงๆ แล้ว กิจการเพื่อสังคม ก็เหมือนธุรกิจ SME โดยเงินส่วนหนึ่งนำไปแก้ปัญหาสังคมโดยตรง ไม่ต้องแบ่งเงินมาช่วย และมีโมเดลที่ประสบสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ เราอยากให้กระจายแนวคิดโรงเรียน SE ไปในชุมชน”
............
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษาและทำแบบทดสอบเพื่อวัดผล โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่ SE.School มีบทเรียนให้อ่าน12 บทเรียน นอกจากนี้ยังมีเคล็ดลับความสำเร็จจากรุ่นพี่ในโครงการ“พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม”ผ่านบทเรียนต่างๆ อาทิ
การเข้าใจปัญหาสังคม โดยตัวแทนจาก Toolmorrow นักผลิตไวรัลวีดีโอทดลองกรณีศึกษาประเด็นทางสังคม เพื่อแก้ปัญหาความเชื่อและพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องในสังคมของไทย
การทดสอบตลาดและโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม โดยตัวแทนจากTP Solutionกิจการบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกที่สามารถย่อยสลายได้
การนำสินค้าเข้าตลาด โดยตัวแทนจาก NokHook Group
การพัฒนานวัตกรรม การสร้างความร่วมมือกับภาครัฐ-เอกชน โดย หมอพูลชัย แห่งS.H.E. (Social Health Enterprise)
การพัฒนาทีม เพื่อการทำงานและการเติบโตขององค์กร โดยตัวแทนจากSiam Organic
การสื่อสารสินค้า บริการ และตัวตนของกิจการเพื่อสังคม โดยตัวแทนจากCreativeMoveเป็นต้น