เชิดชูเรื่องราวอันมีคุณค่า 'ปลากัดไทย' ในฐานะสัตว์น้ำประจำชาติ
เปิดงานแล้ว!! ไอคอนสยาม จัดงาน “The ICONIC Siamese Fighting Fish at ICONSIAM” เชิดชูเรื่องราวอันมีคุณค่าของปลากัดไทยในฐานะสัตว์น้ำประจำชาติ 19 – 23 เมษายน 2562 ณ ไอคอนสยาม ถนนเจริญนคร
ไอคอนสยาม ร่วมกับ กรมประมง กระทวงเกษตรและสหกรณ์, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), Optimum Betta, ไปรษณีย์ไทย, ชมรมอนุรักษ์และพัฒนาปลากัดพื้นบ้าน และฟาร์มเพาะและพัฒนาพันธุ์ปลากัดสวยงาม Glodenbetta ร่วม เชิดชูเรื่องราวอันมีคุณค่าของปลากัดไทยในฐานะสัตว์น้ำประจำชาติ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ในงาน “The ICONIC Siamese Fighting Fish at ICONSIAM” (ดิ ไอคอนิค ไซมีส ไฟท์ติ้ง ฟิช แอท ไอคอนสยาม) แสดงพันธุ์ปลากัดไทย ที่เป็นต้นกำเนิดของปลากัดทุกสายพันธุ์ พร้อมสายพันธุ์ปลากัดที่พบในภาคต่างๆ ของประเทศไทย และปลากัดสวยงามที่แปลกและหาชมได้ยาก จำนวนกว่า 500 ตัว ซึ่งล้วนแล้วเป็นสายพันธุ์ปลากัดที่มีการพัฒนาทางด้านพันธุกรรมมาจากปลากัดไทยที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta splendens และมีชื่อสามัญว่า Siamese Fighting Fish รวมทั้งจัดงานเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับปลากัดในเชิงการค้าและการต่อยอดธุรกิจ ระหว่างวันนี้ – วันที่ 23 เมษายน 2562 ณ เจริญนครฮอลล์ ชั้น M ไอคอนสยาม ถนนเจริญนคร
นายสุพจน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด กล่าวว่า “ไอคอนสยามมีปณิธานที่จะเชิดชูเรื่องราวอันมีคุณค่า และเป็นความภาคภูมิใจจากทุกมิติของความเป็นเอกลักษณ์ของไทยที่มีการบันทึกในประวัติศาสตร์ของชาติไทยมามากกว่า 100 ปี โดยนำเสนอเรื่องราวความเป็นไทยที่มีคุณค่าให้แก่ประเทศ และช่วยกันเผยแพร่และสืบทอดเรื่องราวดีๆ ให้คนไทยและทั่วโลก จึงได้จัดงาน “The ICONIC Siamese Fighting Fish at ICONSIAM” ขึ้น เพื่อร่วมเชิดชูปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำที่เป็นสัญลักษณ์ (ICONIC) ประจำชาติ โดยนำเสนอในรูปแบบของนิทรรศการให้ความรู้ ได้แก่ การผลักดันให้ปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ, ถิ่นที่อยู่ของปลากัด, ความรู้เกี่ยวกับปลากัดและปลากัดสายพันธุ์ต่างๆ และการต่อยอดภาพลักษณ์ของปลากัดในเชิงการค้า ในเชิงธุรกิจ เพื่อเป็นการส่งเสริม อนุรักษ์ และเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับปลากัดนานาพันธุ์ ให้ประชาชนที่สนใจและกลุ่มคนรักปลากัด ตลอดจนผู้ประกอบการและเกษตรกรผู้เพาะพันธุ์ปลาได้มาเรียนรู้พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน”
ดร.อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “ปลากัด เป็นปลาน้ำจืดประจำถิ่นของประเทศไทยมาแต่โบราณ โดยทางประวัติศาสตร์นั้นมีทั้งหลักฐานและเอกสารที่พบว่า คนไทยเลี้ยงปลากัดมาเนิ่นนาน หลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่ามีการบันทึกไว้ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี รัชกาลที่ 1 มีการบันทึกเรื่องราวของปลากัดในกฎหมายตราสามดวง รัชกาลที่ 2 มีบันทึกไว้ในบทละครเรื่องอิเหนา รัชกาลที่ 3 ได้มอบปลากัดให้เป็นของขวัญเป็นตัวแทนระลึกจากไทย ซึ่งต่อมามีการจำแนกชื่อวิทยาศาสตร์ในปี พ.ศ. 2453 ว่า Betta splendens ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ 5 จากหลักฐานที่มีการบันทึก
ไว้ว่า ตัวอย่างปลากัดที่นำมาจำแนกตามหลักอนุกรมวิธานเป็นตัวอย่างที่เก็บมาจากลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพ ฯ จึงเป็นการแสดงถึงความเป็นเจ้าของและถือว่าเป็นสัตว์ประจำถิ่นของประเทศไทยนั้นเอง เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 คณะรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบให้ปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ โดยพิจารณาองค์ประกอบสำคัญ 3 มิติ ทั้ง
- ด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เนื่องจากคนไทยรู้จัก คุ้นเคย และมีความผูกพันกับปลากัดมาตั้งแต่โบราณ
- ด้านความเป็นเจ้าของ และความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยปลากัดไทย ที่เสนอให้เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ มีชื่อว่า Betta splendens ชื่อสามัญ “Siamese Fighting Fish” ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย เป็นสายพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น และได้รับการยอมรับในระดับสากลมากกว่า 100 ประเทศ
- ด้านประโยชน์ใช้สอย โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการเพาะเลี้ยง และการสร้างนวัตกรรมด้านการเพาะพันธุ์ ซึ่งนําไปสู่การค้าเชิงพาณิชย์และก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ”
ภายในงานพบกับไฮไลท์ ประติมากรรมน้ำแข็งแกะสลักรูปปลากัด โดยทีมช่างแกะสลักน้ำแข็งคนไทยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในงาน “International Snow Sculpture ครั้งที่ 46 ปี 2562” ณ เมืองซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น การจัดแสดงพันธุ์ปลากัดไทย ที่เป็นต้นกำเนิดของปลากัดทุกสายพันธุ์ ด้วยความสามารถของเกษตรกรไทยในการพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดสวยงามที่แปลกและหาชมได้ยาก จำนวนกว่า 500 ตัว อาทิ ปลากัดสีทอง ปลากัดลายธงชาติ, ปลากัดโพนี, ปลากัดกาแล็กซี่สตาร์, ปลากัดมังกร, ปลากัดอสูร ฯลฯ
การแสดงสายพันธุ์ปลากัดที่พบในภาคต่างๆของประเทศไทย ได้แก่ ปลากัดภาคกลาง, ปลากัดภาคอีสาน, ปลากัดภาคใต้, ปลากัดมหาชัย ซึ่งพบได้ในประเทศไทยที่เดียว และ ปลากัดภาคตะวันออก นอกจากนั้นยังมีการจัดแสดงประวัติความเป็นมาของ “ปลากัดไทย” กับ การประกาศให้เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ และผลิตภัณฑ์ที่นำเอาปลากัดมาสร้างสรรค์และการต่อยอดทางธุรกิจ อาทิ โทรศัพท์มือถือ iPhone 6S ที่นำปลากัดไทยโกอินเตอร์ออกสู่สายตาชาวโลก, Srichand x ASAVA เครื่องสำอางค์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสีสันของปลากัด, Betta Paradiso หนังสือภาพถ่ายปลากัดของ วิศรุต อังคทะวานิช, ผลงานมาสเตอร์พีซปลากัดที่รังสรรค์จากไม้ไผ่โดย กรกต อารมย์ดี นักออกแบบผู้สร้างงานจากเทคนิคการทำว่าว, ชุดราตรีผลงานของไทยดีไซเนอร์ อธิษฐ์ ฐิรกิตติวัฒน์ หรือ โจ้ Surface ที่ออกแบบให้กับผู้เข้าประกวด Miss International Queen 2019 และ Papercraft ศิลปะจากงานตัดกระดาษโดย Pitoon Paper Artist
พลาดไม่ได้กับงานเสวนาและกิจกรรมเวิร์คช็อปให้ความรู้เกี่ยวกับปลากัด อาทิ งานเสวนาหัวข้อ ”จากปลากัดพื้นบ้าน สู่การเพาะพัฒนาสายพันธุ์ใหม่”, งานเสวนาเรื่อง “การต่อยอดปลากัดไทยในเชิงธุรกิจ”,งานเสวนา “ปลากัดสมบัติชาติและความผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทย”, เวิร์คช็อปจัดตู้ไม้น้ำสำหรับเลี้ยงปลากัด และเวิร์คช็อปเทคนิคการถ่ายภาพปลากัด เป็นต้น โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจร่วมกิจกรรมฟรี ระหว่างวันนี้ – วันที่ 23 เมษายน 2562 ณ บริเวณเจริญนครฮอลล์ ชั้น M ไอคอนสยาม ถนนเจริญนคร