'มะลิลา' เสี้ยวหนึ่งของบันทึกชีวิต 'อนุชา บุญยวรรธนะ'
ทุกอย่างจะหมดความหมาย เมื่อความตายมาเยือน และนี่คือส่วนหนึ่งของชีวิตผู้กำกับคนนี้
""""""""""""""""""
“ไม่ว่าเรื่องเพื่อนที่เสียชีวิต ศาสนาพุทธ และบายศรี เหมือนบันทึกชีวิตเรา หนังของเราก็เป็นแบบนี้ เรื่องนี้จึงมีความสำคัญกับชีวิตเราในแง่ใดแง่หนึ่ง”
นุชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์มะลิลา เล่าถึง บันทึกเสี้ยวหนึ่งในภาพยนตร์ที่คว้า 7 รางวัลจากเวทีสุพรรณหงส์ (เดือนมีนาคม 2562) คือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม,ผู้กำกับยอดเยี่ยม,บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม,
อนุชิต สพันธุ์พงษ์ ผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม และเวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยมฯลฯ
นอกจากนี้ยังคว้าหลายรางวัลในเอเชีย ตั้งแต่รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม Kim Ji-Seok Awards ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน, รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังนานาชาติสิงคโปร์ ฯลฯ รวมถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายทั้งในยุโรปและอเมริกา
แม้ภาพยนตร์ ‘มะลิลา’ จะเคยฉายในเมืองไทยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา และเมื่อเร็วๆ นี้ก็นำมาฉายอีกครั้ง แต่จำกัดในวงแคบๆ และน่าเสียดายที่คนไทยไม่ค่อยได้ชม
ในภาพยนตร์เรื่องนี้ นุชี่ ทั้งกำกับและเขียนบท โดยเล่าถึงเรื่องราวคำบอกลาของชายหนุ่มเจ้าของสวนมะลิลา ที่มีต่ออดีตคนรักที่กำลังจะจากโลกไปด้วยมะเร็ง...และหนังไม่ได้พูดถึงปัญหาเพศที่ 3 แต่พูดถึงความเป็นมนุษย์
ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้น ผู้กำกับไม่ได้ฟันธงว่า ความคิดแบบไหนผิดหรือถูก ปล่อยให้คนดูคิดเอง โดยเริ่มต้นที่ความสัมพันธ์ที่งดงามของผู้ชายสองคน ผ่านงานบายศรี ดอกไม้ แล้วจบลงด้วยความตาย ความจริง ความเจ็บปวด และบางอย่างที่ยากจะคาดเดา
ที่สำคัญคือ สื่อถึงความละเมียดละไม และสัจจะแห่งชีวิต
แม้เรื่องราวเหล่านี้ อนุชาจะเล่าผ่านสื่อฯหลายครั้งหลายหน แต่ครั้งนี้เขาเล่าถึงชีวิตและความตาย
“มะลิลา เป็นหนังที่สุดแล้วสำหรับความเป็นส่วนตัว”
ตอนที่เขียนบทมะลิลา คุณตั้งใจจะสื่อเรื่องอะไร
ความคิดแรกของนุชี่ ไม่ได้คิดว่า จะเสนอเรื่องอะไร เริ่มจากประสบการณ์ที่เราเจอและชอบ อย่างเรื่องบายศรี เป็นศิลปะที่สวยงาม ก็อยากนำศิลปะมานำเสนอในภาพยนตร์ และตอนที่เราเรียนทำบายศรี เราก็ชอบความไม่จีรังยั่งยืนของมัน เดี๋ยวก็เหี่ยว และยังมีประเด็นเรื่องความตาย รวมถึงเราก็มีประสบการณ์เมื่อ 7-8 ปีที่แล้วบวชหนึ่งเดือน ก็มีโอกาสได้ฝึกอสุภะกรรมฐาน (การฝึกกรรมฐาน โดยการเพ่งซากศพในสภาพต่างๆ เพื่อให้เกิดสภาวะรู้แจ้งตามความเป็นจริง)
ทำไมตอนนั้นคุณบวชเรียน
ตั้งแต่วัยรุ่น ก็สนใจเรื่องพุทธศาสนา เริ่มจากอ่านหนังสือท่านพุทธทาส ประวัติหลวงปู่ชาและหลวงปู่มั่นทำกรรมฐาน และศาสนาพุทธก็มีหลายมิติ ทั้งมุมความเชื่อ และมุมอื่นๆ ตอนนั้นอยากเรียนรู้พุทธศาสนา อยากรู้ว่าการเป็นพระ และการทำกรรมฐานเป็นอย่างไร เมื่อเข้าไปอยู่ในสังคมพระ ก็ทำให้รู้ว่า พระคิดยังไง หรือเวลาที่เราเจอความยากลำบากในการธุดงค์ เผชิญกับความกลัวความทุกข์ยากต่างๆ
เมื่อสัมผัสกับสังคมพระแล้ว คุณคิดเห็นอย่างไร
เวลาสื่อนำเสนอเรื่องพระ ก็มองเหมือนเป็นรูปเคารพ เป็นตัวแทนของความดี แต่ที่เราเห็น พระก็มีอารมณ์ ความอ่อนไหว มีความเป็นมนุษย์ และไม่ใช่ว่าบวชแล้วบรรลุธรรมเลย บวชแล้วก็ต้องต่อสู้กับบางอย่าง เอาคร่าวๆ นะเวลาพระรูปหนึ่งทำกรรมฐานและเห็นว่า พระอีกรูปปฏิบัติก้าวหน้ากว่า ก็คิดว่าทำไมเขาไม่ก้าวหน้าเหมือนท่าน
ตอนนั้นบวชที่วัดอะไร
วัดสังฆทาน นนทบุรี บวชแล้วต้องไปปฏิบัติธรรมที่วังน้ำเขียว นครราชสีมา การเดินบิณฑบาตรรอบๆ ป่าก็หนักอยู่ แล้วยังต้องปฏิบัติธรรมทั้งวันทั้งคืน
และเมื่อมาทำเรื่องมะลิลา เราก็หยิบประสบการณ์ศาสนาพุทธมาเล่า และเคยมีประสบการณ์เพื่อนสนิทคนหนึ่งเสียชีวิตจากมะเร็ง ตอนที่เราอยู่กับเขาในช่วงใกล้ตาย เขาไม่ได้มองโลกแบบเดิม อะไรที่เขาเคยคิดว่าสำคัญ ก็ไม่สำคัญแล้ว เคยทะเลาะกับแฟน จะเป็นจะตายก็ไม่ใช่แล้ว เราจับความรู้สึกได้ว่าวาระสุดท้ายของเขา อยากอยู่กับพ่อแม่ หรือท้ายสุด เขาพูดว่า ผมอยากกินองุ่น เราก็ไม่เคยรู้เลยว่าเขาชอบกินองุ่น แล้วทำไมอยู่ๆ อยากกิน
ท้ายสุดของชีวิต การให้ความสำคัญกับสิ่งต่างๆ รอบตัวของเขาเปลี่ยนไป เขากลับให้ความสำคัญเรื่องกิน ซึ่งกลายเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อนของการมองโลกของคนใกล้จะตาย มันอาจจะเป็นพื้นฐานของมนุษย์ เพราะการกินคือส่วนหนึ่งของปัจจัย 4 ท้ายที่สุดแล้วคนเรากลับสู่พื้นฐานของชีวิตหรือเปล่า เรื่องนี้ยังตอบไม่ได้ ไม่รู้ แต่เป็นความประทับใจที่ได้คลุกคลีกับเพื่อนคนนี้ ทำให้มุมมองการมองโลกเราเปลี่ยนไป
การบวชเรียนทำให้คุณเรียนรู้อะไรบ้าง
ทำให้เราได้สัมผัสกระแสของนิพพาน อาจเป็นกระแสของความสงบ เป็นความสุขอีกแบบ แต่เราไม่ได้มองว่า นี่คือความสุขสุดยอด แต่ละคนจะมองความสุขต่างกัน บางคนมีความสุขที่ได้ทำประโยชน์ให้สังคมหรือรู้จักการให้ อาจไม่ต้องไปนิพพานที่เป็นความสงบร้อยเปอร์เซ็นต์ และนี่ก็เป็นทางเลือกหนึ่ง คนเราชอบแบบไหนก็หาความสุขแบบนั้น บางคนก็มีความสุขที่ได้อยู่บนกองเงินกองทอง เราก็ไม่ได้มองว่า เป็นเรื่องผิด เรามองว่า พุทธศาสนาเป็นวิธีการหาความรู้แบบหนึ่ง
สิ่งที่คุณกล่าวเป็นส่วนผสมอีกส่วนในภาพยนตร์เรื่องมะลิลา ?
ตอนที่เขียนบท เราก็มองว่า เราจะบอกอะไรกับสังคม ก็คิดว่า หนังควรพูดถึงเรื่อง เพศทางเลือกที่มีความกลมกลืนไปกับศาสนา ปรัชญาทางพุทธศาสนา ความไม่จีรังยั่งยืน หนังต้องมีความเป็นสากล เพราะฉายทั่วโลก ต้องทำให้คนที่ไม่นับถือพุทธศาสนาหรือไม่รู้จัก เข้าใจได้ด้วย แก่นของเรื่องก็เป็นเรื่องความตาย ความอาลัยรัก ก็แล้วแต่มุมมองของคนดูแต่ละคน เราไม่ได้ตัดสินว่าอันนี้คือหนทางที่ถูกต้อง หนังจะเปิดโอกาสให้คนตีความได้เยอะ
ตอนพานักแสดงไปเรียนรู้ชีวิตพระเป็นอย่างไรบ้าง
การที่จะเปลี่ยนคนๆ หนึ่งให้รับบทบาทเป็นพระ เขาต้องมีประสบการณ์จริง ต้องรู้ว่าพระท่านคิดยังไง ต้องฝึกกรรมฐาน นั่งสมาธิ ยืนสมาธิ ทางเดียวที่จะทำให้เวียร์เป็นเพศบรรพชิตได้สมจริงก็ต้องให้เขาปฏิบัติธรรม รู้วิธีนั่งและยืนสมาธิ และพาไปนั่งสมาธิกับศพจริงๆ ซึ่งประสบการณ์ที่เกิดขึ้นตรงนั้น เขาสามารถนำมาใช้กับการแสดงได้
หลังจากฝึกปฏิบัติแล้วเวียร์ บอกว่า เหมือนหูเขาได้ยินกว้างไกลมากขึ้น เพราะมีกำลังสมาธิ อันนี้เป็นความเชื่อส่วนบุคคล ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่ทำให้เขารู้วิธีการเจริญสมาธิแบบพระ มีสติรู้ก่อนค่อยทำ ครึ่งแรกที่เวียร์แสดงเป็นผู้ชายธรรมดา แล้วเปลี่ยนมาเป็นเพศบรรพชิต ก็เห็นได้ว่าสงบเสงี่ยมขึ้น ไม่แสดงแข็งๆ
ถ้าเป็นนักแสดงที่ไม่เคยมีประสบการณ์การฝึกกรรมฐาน แม้จะพยายามทำตัวให้สงบ แต่อาจไม่เป็นธรรมชาติ เรื่องนี้คนดูจะรู้เลยว่า เขามีสมาธิหรือจิตใจกระเจิดกระเจิง ส่วนโอ-อนุชิตต้องเรียนรู้เรื่องการทำบายศรี แต่เขามีคุณสมบัติที่ดีคือ แค่จับดอกไม้ คนก็เชื่อว่า ร้อยมาลัยได้
ตอนที่นำมะลิลาไปฉายในต่างประเทศ คุณกังวลเรื่องใดมากที่สุด
แรกๆ กังวลเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับบายศรี และพุทธศาสนา การบวช การธุดงค์ คนต่างชาติไม่เคยรู้ เราต้องทำประเด็นให้เป็นสากล ก็คือความเป็นมนุษย์ เราก็ได้รับการวิจารณ์ว่า เป็นหนังที่มีความกล้า มีความลึกซึ้ง เอาเรื่องเกย์กับศาสนามาผสมกันแบบไม่ธรรมดา พระธุดงค์ที่มีเบื้องหลังเป็นเกย์ แล้วตอนหลังมาเจอคนรักในนิมิต มีภาพที่เป็นพระกอดคนรัก ถ้าจะบอกว่าแรงก็แรง เรื่องนี้วงการหนังชมเรื่องการถ่ายภาพและการแสดง เพราะปกติจะไม่ค่อยมีการเขียนถึงนักแสดงไทยหรือนักแสดงเอเชีย แม้นักแสดงทั้งสองจะโด่งดังในเมืองไทย แต่ในสายตาต่างประเทศ โนเนม บางคนดูแล้วก็ไม่ได้คิดว่าเป็นหนังเกย์ เป็นเรื่องของมนุษย์สองคน
องค์ประกอบศิลปะก็ถูกกล่าวถึงเยอะ ?
เรื่องศิลปะจะถ่ายเทซึ่งกันและกัน อย่างเราศึกษาเรื่องการทำน้ำหอม เราก็เข้าใจเรื่องการบาลานต์กลิ่น ตอนที่เราตัดต่อมะลิลา มีน้ำหอมกลิ่นหนึ่งคือ Chypre น้ำหอมที่สร้างจากวัตถุดิบรอบๆ เกาะไซปรัส คล้ายๆ กลิ่นดิน กลิ่นมอส กลิ่นไม้ และกลิ่นสาปสัตว์ จึงเหมือนกับกลิ่นมะลิลาคือ มีกลิ่นไม้ ดิน หญ้า ธรรมชาติ มีบรรยากาศต่างๆ ซึ่งเราก็จะจินตนาการได้
ทุกองค์ประกอบมีความหมายซ่อนอยู่ ?
มันเป็นสิ่งที่เราใส่เข้าไป ไม่ได้มีสิ่งที่เราไม่ต้องการอยู่ในนั้น พยายามที่จะใส่สิ่งที่เราชอบและมองหาความหมาย ทั้งเรื่องดอกไม้ บายศรี พระธุดงค์เพ่งศพ ความไม่งามของศพ บางคนก็จะมองว่า ความตายเป็นความงามก็เป็นได้ และบางคนก็มองว่าบายศรีเหี่ยว สวยงามกว่าบายศรีสด
คุณมองความตายยังไง
ควรจะระลึกถึง เพื่อให้เรามีสติ ณ วันนี้มีความกลัวน้อยลงเรื่อยๆ และเราไม่อยากตอบว่ามันหมายถึงอะไร มุมมองเรื่องความตายจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตอนเป็นวัยรุ่นก็คิดไม่เหมือนวันนี้
หลักๆ แล้วมะลิลาไม่ได้เน้นปัญหาเพศทางเลือก แล้วคุณผสมผสานเรื่องยังไง
เพราะเรามีความเข้าใจเรื่องเพศทางเลือกเป็นอย่างดี เราก็เขียนเรื่องนี้ได้ดี ตอนนี้เราเป็นกระเทย เป็นผู้หญิง ก็เข้าใจตัวละครที่เป็นผู้หญิงมากขึ้น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีความเข้าใจตัวละครผู้หญิงเลย เพราะมีความเป็นผู้ชายหรือเกย์อยู่ เราจึงไม่โฟกัสปัญหา LGBT และปกติคนทำหนังอินดี้จะไม่ใช้ดารานำแสดงระดับเวียร์ แต่เราอยากได้ดาราที่มีชื่อเสียง เพื่อทำให้คนชมภาพยนตร์เรื่องนี้เยอะขึ้น
อะไรหล่อหลอมให้คุณช่างคิดและตั้งคำถามกับตัวเอง
ตั้งแต่เด็กๆ เราก็เป็นคนนิ่งๆ ชอบฟัง ชอบสังเกตผู้คน ถ้าเราอยู่กับคนเดิมๆ ความคิดเดิมๆ เราก็ไม่รู้อีกแง่มุม ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ความคิดคนก็เปลี่ยนได้ เราเป็นคนชอบหาประสบการณ์ใหม่ๆ บางทีก็ได้วัตถุดิบมาทำหนัง อย่างเราเคยมีความสัมพันธ์กับมือปืน เจอกันผ่านแอพฯ แต่ที่สุดเขาไปเจอผู้หญิงคนใหม่ ก็เลิกกันไป หรือประสบการณ์ที่เราไปเห็นในสลัมธาราวี ที่อินเดีย มีการจัดการชีวิตผู้คนอย่างเป็นระบบ มีมาตรฐานการใช้ชีวิตที่ดี ก็เป็นอีกมุมมอง
"""""""""""""""""""""""
เรื่องโดย เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ
ตีพิมพ์ในเซคชั่นจุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ