เที่ยวตามใจไปชมศิลปะสมัยใหม่ที่ 'โมเดิร์น พินาโกเธค'
ยังคงเที่ยวไปในมิวนิก คราวนี้ตามไปชมผลงานศิลปะสมัยใหม่ของกลุ่มเดอะ บริดจ์ (The Bridge) กลุ่มศิลปินหัวก้าวหน้าของเยอรมัน และชมงานศิลปะแนวเซอร์เรียลิสม์ของศิลปินชื่อดัง ที่ 'โมเดิร์น พินาโกเธค' หนึ่งในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ได้เวลารื่นรมย์ชมงานศิลปะกัน ที่มิวนิก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มีพิพิธภัณฑ์ศิลปะให้เยี่ยมชมมากมายหลายแห่ง
เฉพาะในกลุ่มพินาโกเธคก็มีให้เลือกถึง 3 แห่ง ได้แก่ อัลเท่อ พินาโกเธค (The Alter Pinakothek จัดแสดงผลงานจิตรกรรมของเฟลมิชและดัตช์ ช่วงค.ศ.16-17 และงานศิลปะอิตาเลี่ยน ค.ศ.14-18) นิว พินาโกเธค (Neue Pinakothek) และ โมเดิร์น พินาโกเธค (Pinakothek der Moderne)
ด้วยความที่มีเวลาไม่มากนัก รักจึงต้องเลือก เราเทใจไปที่ นิว พินาโกเธค เพราะอยากไปทักทายศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์ให้ชื่นใจ ปรากฎว่าเป็นช่วงเวลาที่ปิดปรับปรุง ทำให้มุ่งหน้าไปที่หอศิลป์โมเดิร์น พินาโกเธค (Pinakothek der Moderne) แบบไม่ตั้งใจ
สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นดีเสมอ จำไม่ได้ว่าใครพูดแต่ครั้งนี้จริงแท้
(ซ้าย) ผลงานของอองรี มาติสส์ แขวนอยู่เคียงกับ จอร์จ บราค
ที่หอศิลป์โมเดิร์น พินาโกเธค เราได้พบผลงานของจิตรกรเจ้าถิ่นชาวเยอรมันที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในนาม เดอะ บริดจ์ (The Bridge) หรือภาษาเยอรมันออกเสียงว่า ดีบรึกเค่ (Die Brucke) เห็นผลงานชิ้นแรกในห้องจัดแสดงอยากจะร้องเย้ออกมาดังๆเลย เพราะมีทั้งผลงานของ อองรี มาติสส์ (Henri Matisse) แขวนอยู่เคียงกับ จอร์จ บาร์ค (Georges Braque) ก่อนนำไปสู่ส่วนจัดแสดงของจิตรกรคนสำคัญในกลุ่มเดอะ บริดจ์ ซึ่งอยู่ในห้องถัดไป
กลุ่มเดอะ บริดจ์ (ค.ศ.1905-1913) กล่าวได้ว่าเป็นจิตกรกลุ่มที่สร้างความอื้อฉาวในการแสดงผลงานในหลายๆครั้ง ด้วยการใช้สีที่รุนแรงและเร่าร้อนในการแสดงออกทางอารมณ์ ทว่าชื่อเสียงแบบฉาวๆที่ไม่เป็นที่สบอารมณ์ของผู้คนในสมัยนั้นกลับดึงดูดความสนใจและกลายเป็นรูปแบบเฉพาะของศิลปะเยอรมันในช่วงนั้น
ความทรงจำเกี่ยวกับกลุ่มเดอะ บริดจ์ หรือ สะพาน มีเพียงบางๆ โชคดีที่มีหนังสือศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัย : ตะวันตกและไทย เขียนโดย สุธี คุณาวิชยานนท์ มาเป็นตัวช่วยจึงถือโอกาสอ้างอิงเพื่อช่วยเพิ่มอรรถรสในการเล่าสู่กันฟัง
ในหนังสือกล่าวถึงความหมายของชื่อกลุ่มว่า เป็นสะพานที่จะนำพาไปสู่ศิลปะแห่งอนาคต รวมทั้งเป็นสะพานในการเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงปฏิวัติต่างๆ ก่อตั้งโดยศิลปินภาพพิมพ์ คาร์ล ชมิดท์-รอตต์ลุฟ และเพื่อนๆ ได้แก่ ฟริทซ์ เบิล อิริคช์ เฮคเคล และ เอิร์นส์ท์ ลุดวิค เคิร์ชเนอร์
ศิลปินกลุ่มเดอะ บริดจ์ Erich Heckel ชื่อภาพ Reclining Girl (nude on Sofa,1909)
ศิลปินกลุ่มนี้เป็นเพื่อนนักเรียนสถาปัตย์ที่รักอิสระ ต่อต้านกระฎุมพี หัวขบถ ต้องการสร้างยูโทเปียด้วยงานศิลปะ โดยการแสดงออกอย่างตรงๆ รุนแรง ปฏิเสธอิมเพรสชั่นนิสม์และเรียลิสม์ ซึ่งครอบงำวงการศิลปะเยอรมนีในช่วงนั้น
เดอะ บริดจ์ สร้างความงามในแบบ primitive ผสมผสานกับภาพพิมพ์แกะไม้ในยุคกลางและศิลปะโอเชียนิค อัฟริกัน รวมถึงงานในแนวเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ของ เอ็ดวาร์ด มุ้งช์ แวนโก๊ะห์ และกลุ่มโฟวิสม์ในฝรั่งเศสที่มี อองรี มาติสส์ เป็นผู้นำ
Interior,1915 ผลงาน Ernst Ludwig Kirchner
ศิลปินในกลุ่มเดอะ บริดจ์ : Paula Modersohn-Becker ชื่อภาพ : Nude Child,Standing,with Goldfish Bowl
ในหนังสือเล่มนี้ยังบอกอีกว่า อองรี มาติสส์ เคยพูดถึงผลงานของ จอร์จ บาร์ค จิตรกรผู้คิดค้นศิลปะแนวคิวบิสม์ ว่า “ไม่มีอะไรนอกจาลูกบาศ์กเหลี่ยมเล็กๆ” วันนี้ได้เห็นภาพเขียนของทั้งคู่จัดแสดงอยู่เคียงกัน อยากรู้เหมือนกันว่าถ้าเขาคุยกันได้จะคุยอะไรกันบ้าง
รู้จักจิตรกรเจ้าบ้านแล้ว ผลงานในห้องจัดแสดงถัดไปนำไปสู่การแสดงออกของศิลปินในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ยูโทเปียที่ฝันไว้ล่มสลาย สงครามก่อให้เกิดความเจ็บปวด หวาดกลัว ความจริงที่โหดร้ายทำลายความฝันที่เคยมี ทุกความรู้สึกจิตรกรถ่ายทอดไว้ในทุกผลงานที่อยู่ตรงหน้า
The Painter and His Model,1963 โดย ปิกัสโซ่
นิทรรศการที่จัดแสดงร้อยเรียงผลงานศิลปะที่เกิดขึ้นตามช่วงเวลา ใครที่เป็นแฟนปิกัสโซ่ ค่อนข้างเต็มอิ่มกับผลงานที่มีทั้ง The Painter and His Model,1963 Seated Woman : Dora Maar,1947 Woman,1930 Madame Soler,1903 แน่นอนว่าย่อมต้องมีงานของ จอร์จ บาร์ค จัดแสดงอยู่ภายในห้องที่เล่าถึงศิลปะแนวคิวบิสม์ด้วย
ส่วนห้องเซอร์เรียลิสม์ ได้อิ่มกับผลงานของ ซัลวาดอร์ ดาลี และ เรอเน่ มากริต ที่พาเราเข้าไปสู่ในโลกเหนือจริง ในหนังสือศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัย : ตะวันตกและไทย ให้นิยามของเซอร์เรียลิสม์ว่ามีหลากหลาย ไม่มีนิยามใดนินามหนึ่งที่อธิบายได้อย่างสมบูรณ์ แต่พอจะกล่าวได้ว่าเป็นการรวม 2 สภาวะที่ขัดแย้งเข้าไว้ด้วยกัน นั่นคือ ความฝันกับความจริง
The Third Dimension,1942 ผลงาน เรอเน่ มากริต
The Enigma of Desire,1929 โดย ซัลวาดอร์ ดาลี
เมื่อเราย้อนกลับไปดูบริบทของช่วงเวลาเกิดของลัทธินี้ สดชื่น ชัยประสาธน์ ระบุไว้ในหนังสือ การตีความเป็นจริงกวีนิพนธ์และจิตรกรรมเซอร์เรียลิสต์ในฝรั่งเศส ค.ศ.1919-1969 กล่าวถึงที่มาของศิลปะลัทธิเซอร์เรียลิสม์เอาไว้ว่า
ผลจากสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ.1914-1918)ทำให้คนในยุโรปอพยพจากชนบทเข้าสู่เมือง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความยากจน แออัด ปัญหาทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจปะทุ เช่น กรรมกรหยุดงานประท้วงหรือเรียกร้องสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศเยอรมนีและอิตาลี ชนชั้นกลางระดับนายทุนฝ่ายขวาที่เป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายซ้ายสังคมนิยมหันไปสนับสนุนฟาสซิสต์ที่เป็นพวกเผด็จการชาตินิยม
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ถ้าบุพเพสันนิวาสพาย้อนกลับไปยุคนั้นเราก็คงอยากอยู่ในโลกเหนือจริงมากกว่าโลกความจริงเป็นไหนๆ
โชคดีที่วาร์ปไปไม่ได้ จึงได้ดื่มด่ำไปกับผลงานศิลปะอันเกิดจากการพบกันระหว่างความฝันและความจริง เส้นบางๆที่ไม่ชัดเจนซึ่งในสภาวะบางอารมณ์การได้อยู่กับความเบลอๆมันก็ออกจะสุขอยู่ไม่น้อย
สรุปว่าการมาหอศิลป์โมเดิร์น พินาโกเธค แบบไม่ได้ตั้งใจ กลับได้อะไรกลับไปแบบอิ่มใจ ถ้าใครวางแผนไปเที่ยวมิวนิก ชอบศิลปะสมัยใหม่ขอแนะนำให้จัดเวลาไว้นานๆเลย
#tiewtamjaiinmunich
ขอบคุณ : บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)