เรียนอะไรตกงานมากที่สุด
ไม่เพียงแต่เทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างแล้ว วันนี้พฤติกรรมของผู้คนก็เปลี่ยนไปด้วย เช่นเดียวกับภาคการศึกษาที่ได้รับผลกระทบ มาดูกันว่าหากย้อนเวลาได้ บัณฑิตจบใหม่ของสหรัฐสาขาไหน อยากเปลี่ยนสาขาเรียนมากที่สุด
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในรอบสิบปีที่ผ่านมา มีปัจจัยเหตุมาจากเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม พฤติกรรมผู้บริโภค และอีกด้านหนึ่งที่กำลังถูกผลกระทบกระหน่ำอย่างรุนแรงในทุกวันนี้ คือ แวดวงการศึกษา เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวันนี้ล้วนส่งผลให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะวันหนึ่งเมื่อเขาทุ่มเทเวลาเรียนจนจบหลักสูตรที่กำหนดกลับพบว่า ความรู้ที่มีไม่สามารถใช้ประโยชน์ใดๆ ในโลกธุรกิจทุกวันนี้ได้
ในสหรัฐ จึงมีบริษัทวิจัยแห่งหนึ่งทดลองทำแบบสอบถามบัณฑิตจบใหม่ว่ามีสาขาใดบ้าง ที่มีความรู้สึกว่าหากย้อนเวลากลับไปได้ จะขอเปลี่ยนไปเรียนสาขาอื่นแทน ซึ่งผลที่ได้ก็ไม่ผิดไปจากที่เราคาดสักเท่าไร คือ สาขาแรกที่เหล่าบัณฑิตแสดงอาการผิดหวัง คือ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ เนื่องจากเป็นการทำแบบสอบถามในประเทศสหรัฐ ซึ่งใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก จึงต้องเปรียบเทียบว่า เป็นการเรียนภาษาหลักของประเทศตัวเอง ซึ่งเป็นสาขาที่หางานยากมาก
อันดับถัดมา คือ สาขาวิชาฟิสิกส์ ซึ่งเป็นสาขาวิชาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ที่เรียนยากเช่นเดียวกับสาขาวิชาคณิตศาสตร์ แต่กลายเป็นว่าคนที่เรียนจบคณิตศาสตร์ กลับมีโอกาสหางานทำได้ง่ายกว่ามาก เพราะในยุคที่ไอเอ บิ๊กดาต้า ทำให้เราต้องการดาต้า ไซอันทิสต์ ที่เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้นมหาศาล แต่คนที่เรียนฟิสิกส์กลับไม่ได้รับโอกาสนี้แต่อย่างใด
อันดับที่สามคือ สาขาศึกษาศาสตร์ อันเป็นสาขาที่ถูกดิสรัปชั่นอย่างรุนแรงในรอบสิบปีที่ผ่านมา ยุคของออนไลน์ พฤติกรรมของนักเรียนก็เปลี่ยนไปเป็นการเรียนรู้ได้จากทุกที่ทุกเวลาโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สื่อสมัยใหม่อย่างยูทูบเข้ามาแทนห้องเรียนแบบเดิมๆ และเป็นการเปิดกว้างให้เรียนรู้ทุกเรื่องจากทุกประเทศทั่วโลก สามารถเรียนในเวลาใดก็ได้ จะเรียนจากอาจารย์ที่มีชื่อเสียงคนไหนก็ได้ (หากไม่มีปัญหาในการใช้ภาษาอังกฤษ)
แนวโน้มการหางานทำของนิสิตนักศึกษาในสายศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์ นอกจากได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี ยังมีเรื่องโครงสร้างประชากรที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง หลายๆ ประเทศกำลังเผชิญกับการลดลงของจำนวนประชากรเพราะจำนวนผู้เสียชีวิตในแต่ละปีมีมากกว่าจำนวนประชากรเกิดใหม่ เมื่อเด็กเกิดใหม่ลดลง จำนวนนักเรียน นิสิต นักศึกษาในแต่ละโรงเรียนไปจนถึงมหาวิทยาลัยก็มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ
ในบ้านเราก็กำลังประสบปัญหานี้อยู่เช่นเดียวกัน นั่นคือ มหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่ง มีจำนวนนักศึกษาลดลง 20%-30% และแนวโน้มดังกล่าวก็ลุกลามมาถึงมหาวิทยาลัยรัฐในบางสาขาเช่นเดียวกัน เราจึงเห็นหลายสถาบัน ต้องเปิดรับนักศึกษาเพิ่มหลายรอบกว่าจะได้นักศึกษาตามเกณฑ์ ขณะที่บางคณะต้องปิดตัวลงเพราะมีจำนวนผู้เรียนไม่มากพอ
สาขาที่สี่คือ สาขาสังคมศาสตร์และนิติศาสตร์ เพราะในทุกวันนี้ความสนใจเรื่องสังคมและคนรอบข้างของเราลดน้อยลงเรื่อยๆ การตระหนักถึงคนจน คนรวย คนด้อยโอกาส ฯลฯ ในทุกวันนี้ดูจะเป็นเรื่องสำคัญน้อยกว่าการ “เอาตัวเองให้รอด” คนจึงมองว่าสาขานี้ไม่น่าเรียนเท่าไรนัก
สาขาที่ก่อให้เกิดคำถามมากที่สุด คือ นิติศาสตร์ว่าเป็นไปได้อย่างไร เพราะในสหรัฐ มีความต้องการบุคลากรด้านกฎหมายสูงสุดมาโดยตลอด และสหรัฐก็เป็นประเทศที่ใช้กฎหมายในทุกขั้นตอนไม่ว่าจะเป็นการซื้อขาย การแต่งงาน การซื้อบ้านซื้อรถ ฯลฯ
ประเด็นสำคัญอยู่ที่การใช้นักกฎหมายในชีวิตประจำวันนี่เอง ที่ทุกวันนี้คนอเมริกันสามารถใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ เข้ามาแทนที่ได้หมดแล้ว ยิ่งระบบเอไอก้าวหน้า ยิ่งทำให้งานซับซ้อนเป็นเรื่องง่ายขึ้นความต้องการนักกฎหมายมือใหม่ที่เกี่ยวกับการร่างสัญญาจึงลดน้อยลงเรื่อยๆ
สาขาสุดท้ายคือ นิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชน ช่วงสิบปีที่ผ่านมาเราจึงเห็นสื่อเก่าแก่ที่อยู่ในตลาดมาหลายสิบปีต้องปิดตัวเองลง หรือไม่ต้องปรับตัวไปทำธุรกิจอื่นซึ่งก็มีทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว เช่นเดียวกับในบ้านเรา สื่อที่เป็นกระแสหลักในทุกวันนี้ล้วนเป็นสื่อออนไลน์จากแพลตฟอร์มต่างประเทศซึ่งทำให้เม็ดเงินโฆษณาในประเทศหดหาย ในขณะที่ภาครัฐก็ไม่อาจเก็บภาษีใด ๆ จากบริษัทเหล่านี้ได้
แนวโน้มเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐแต่เห็นได้ในเกือบทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งบางสาขาก็อาจต้องปิดตัวลง ในขณะที่บางสาขาก็ต้องปรับปรุงหลักสูตรให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก