เปิด 10 วิธี 'ตั้งเป้าหมายปีใหม่' ช่วยให้ชีวิตแฮปปี้มากขึ้น!
เจาะขั้นตอนการตั้งเป้าหมาย NEW YEAR’S RESOLUTIONS สำหรับการดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดีขึ้น และปรับสมดุลชีวิตให้มีความสุขมากกว่าปีที่ผ่านมา!
สิ่งหนึ่งที่ผู้คนนิยมทำกันในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ปีใหม่นั่นคือ การตั้งเป้าหมายปีใหม่ หรือ New Year’s Resolutions ที่จะทำให้สำเร็จลุล่วงให้ได้ภายในปี 2020 นี้ แต่หลายคนก็กังวลนิดๆ ว่ากลัวจะทำไม่ได้ตามเป้า จะดีกว่ามั้ยถ้าปีนี้อย่าเพิ่งไปตั้งธงอะไรที่ยากเกินกำลังไป เอาแค่เรื่องง่ายๆ ใกล้ตัว เช่น การดูแลสุขภาพกายใจของตนเองให้ดีขึ้นกว่าปีก่อน ถ้าทำเรื่องนี้ได้...เรื่องอื่นก็ง่ายเหมือนปอกกล้วย
และนี่คือ 10 เป้าหมายปีใหม่ ที่จะช่วยให้ชีวิตคุณมีสุขภาพร่างกายที่ดีและใช้ชีวิตได้แฮปปี้มากขึ้น
1. เรียนรู้ทักษะใหม่หรืองานอดิเรกใหม่ๆ
Gina Delucca แพทย์หญิงสาขาจิตวิทยาวิชาชีพจากแคลิฟอร์เนียอธิบายว่า การเรียนรู้ทักษะหรือกิจกรรมใหม่ๆ เป็นประโยชน์อย่างมหัศจรรย์ต่อสุขภาพสมองของคุณ เพราะเป็นการกระตุ้นเส้นใยประสาทในสมองให้ทำงานไปในทิศทางใหม่ๆ ยิ่งฝึกฝนทักษะได้มากเท่าไหร่คุณก็ยิ่งเพิ่มความเร็วและความแข็งแรงของการเชื่อมต่อเส้นใยประสาทเหล่านั้นได้ดีขึ้น กระบวนการนี้เรียกว่า Myelination ที่จะส่งผลดีให้สมองคุณทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง
สมองก็ไม่ต่างจากร่างกาย ถ้าอยากให้ร่างกายแข็งแรงก็ต้องออกกำลังกาย เหมือนกันกับสมองที่ต้องการการออกกำลังกายและการฝึกฝนเพื่อให้สมองแข็งแรงขึ้นเช่นกัน โดยการกระตุ้นให้มันทำงานได้ดีที่สุดจากการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ นั่นเอง
2. ใช้ชีวิตให้ช้าลงหน่อย
หากคุณคิดว่าการทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน (Multi-Tasking) ให้เสร็จได้ไวดั่งใจนั้น ทำให้คุณเป็นคนมีประสิทธิภาพมากขึ้น คุณอาจต้องคิดใหม่! เพราะในความเป็นจริง ความสนใจหรือจุดโฟกัสของคุณถูกแบ่งออกเป็นหลายส่วน ดังนั้นคุณภาพการทำงานของคุณในแต่ละอย่างจะมีประสิทธิผลน้อยลง เพราะความคิดจะฟุ้งซ่านและมีแนวโน้มที่จะหยุดชะงักกลางคัน แถมยังมีผลทำให้เกิดความเครียดในระดับสูงได้
"เมื่อคุณสร้างนิสัยจากการทำงานหลายอย่าง และการทำมากเกินไปคุณจะเสี่ยงต่อการทำให้ร่างกายของคุณอยู่ในภาวะเครียดเป็นเวลานาน ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจของคุณซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยหน่าย ปวดเมื่อยตามร่างกาย เกิดความเหนื่อยล้าจิตใจ ปัญหาการนอนหลับ ความวิตกกังวล ซึมเศร้า และปัญหาสุขภาพอื่นๆ อีกมากมาย
วิธีแก้ไข คือ ชะลอกิจกรรมแต่ละกิจกรรมที่คุณทำให้ช้าลง และมุ่งเน้นที่งานเพียงงานเดียวในแต่ละครั้ง” ทำให้เสร็จไปทีละอย่าง และหลีกเลี่ยงการทำงานที่ซ้ำซ้อนจนเกินไปและพยายามหาวิธีทำให้ชีวิตของคุณง่ายขึ้นและใช้เวลาในการพักผ่อนให้มากขึ้น" Gina Delucca จิตแพทย์หญิงจากแคลิฟอร์เนียอธิบาย
3. ฝึกการหายใจปรับอารมณ์
รู้หรือไม่? การเรียนรู้วิธีควบคุมการหายใจนั้น เป็นหนึ่งในการเรียนรู้จากการลงมือทำ (Neurohacks) ที่ทรงพลังที่สุดและเป็นอิสระ การหายใจอย่างมีเป้าหมายสามารถจัดการกับความรู้สึกและอารมณ์ได้ทุกประเภท
Stuart Sandeman โค้ชฝึกสอนการเปลี่ยนแปลงและผู้ก่อตั้ง Breathpod อธิบายเรื่องนี้ว่า ร่างกายของคนเรามีเซลล์ประสาทหลายพันเซลล์ในสมองที่มีหน้าที่ปลดปล่อยลมหายใจสะท้อนรูปแบบอารมณ์ต่างๆ เช่น อารมณ์ปกติ, ตื่นเต้น, ถอนหายใจ, กลั้นหายใจ ตะลึงอ้าปากค้าง ฯลฯ เซลล์ประสาทเหล่านี้จะตรวจสอบสัญญาณที่ได้รับจากรูปแบบการหายใจและถ่ายทอดไปยังก้านสมองซึ่งจะกระตุ้นการตอบสนองทางสรีรวิทยา พูดได้ว่าสภาพจิตใจและอารมณ์ของคุณเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับวิธีการหายใจของคุณ
"เมื่อคุณรู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือกลัว ลมหายใจของคุณจะสั้นและตื้น ซึ่งจะกระตุ้นระบบประสาท Sympathetic ทำให้ร่างกายตื่นตัว ต่อสู้ และเอาตัวรอดอย่างอัตโนมัติ ในขณะที่หากคุณรู้สึกผ่อนคลายและสงบ ลมหายใจของคุณจะช้าและลึก ดังนั้น ด้วยการฝึกการหายใจอย่างช้าๆ และควบคุมลมหายใจอย่างมีสมาธิ จึงสามารถช่วยให้คุณส่งสัญญาณความสงบและผ่อนคลายไปสู่จิตใจและช่วยปรับสมดุลอารมณ์และความรู้สึกได้ทุกเมื่อ" เขากล่าว
หากฝึกควบคุมลมหายใจได้อย่างดี จะช่วยเพิ่มระดับพลังงาน เพิ่มสมาธิในการโฟกัสเรื่องต่างๆ และกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ในที่ทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้การควบคุมลมหายใจยังช่วยปลดล็อกความตึงเครียด บรรเทาหรือขจัดความรู้สึกแย่ๆ ที่พบเจอมาในแต่ละวันออกไปได้ วิธีฝึกก็ง่ายๆ คือ 1) หายใจเข้าทางจมูกนับ 1-4 และ 2) หายใจออกผ่านริมฝีปากนับ 5-8 ทำแบบนี้นับเป็นหนึ่งรอบ ให้ทำทั้งหมด 5 รอบ
4. กินอย่างมีสติ
การรู้จักเลือกกินอาหารและกินอย่างมีสตินั้น ไม่ใช่แค่การเช็กดูปริมาณน้ำตาล โซเดียม โปรตีน หรือนับแคลอรีในอาหารก่อนซื้อเท่านั้น แต่ยังหมายถึงอาหารในลักษณะที่กระตุ้นให้เกิดการรับรู้ในสิ่งที่หล่อเลี้ยงร่างกายและจิตใจ แปลว่าคุณจะคิดก่อนหยิบอะไรเข้าปากเสมอว่าของกินชิ้นนี้มีสารอาหารที่ดีต่อร่างกายหรือไม่? การมีความตระหนักแบบนี้สามารถช่วยลดการดื่มสุรา และส่งเสริมการย่อยอาหารได้ดีขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดจะช่วยให้คุณควบคุมปริมาณอาหารได้ด้วย
นอกจากนี้ก็มีวิธีการกินอย่างมีสติมาแนะนำ เช่น กินช้าๆ เคี้ยวให้นาน 30 ครั้งในแต่ละคำ, ขณะทานอาหารไม่ควรเปิดทีวีหรือเล่นมือถือไปด้วย, ให้นั่งกินข้าวดีๆ อย่าเดินกินหรือกินแบบรีบร้อน, เลือกอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลี่ยงของทอด ดื่มน้ำมากๆ, ถามตัวเองก่อนว่า...กินเพราะหิวหรือแค่อยากกิน? เป็นต้น
5. ออกกำลังกายซะบ้าง!
การออกกำลังกายเป็นประจำนั้น ไม่เพียงแค่ทำให้ร่างกายแข็งแรง แต่ยังช่วยเพิ่มอารมณ์ในแง่บวก กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มความจำ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้สำเร็จลุล่วง มีผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการใช้เวลาเพียง 10 นาทีในการออกกำลังกายต่อวัน ก็ดีพอที่จะทำให้คุณได้รับประโยชน์ด้านสุขภาพจากการออกกำลังกาย ดังนั้นปีนี้มาตั้งเป้าหมายกับการออกกำลังกายให้มากขึ้นกันเถอะ!
6. นอนหลับให้มากขึ้น
นิสัยการนอนหลับของคุณมีผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของคุณ "การนอนหลับคิดเป็นระยะเวลามากถึง 1 ใน 3 ของเวลาชีวิตในแต่ละวัน และมันมีผลกระทบอย่างมากต่อวิธีที่เราใช้ชีวิต ทำงาน และการทำกิจกรรมต่างๆ การนอนหลับนั้นมีความสำคัญพอๆ กับอากาศที่เราหายใจ และอาหารที่เรากินเข้าไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีโรคเรื้อรังหรือระบบภูมิคุ้มกันที่ถูกบุกรุก การอดนอนบ่อยๆ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณรวมถึงความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงเบาหวานประเภท 2 รวมไปถึงโรคสมองเสื่อมและโรคหัวใจ
7. ยืดหยุ่นและไม่กดดันตัวเอง
คนเราอาจมีความยากลำบากในการใช้ชีวิตด้วยเหตุผลหลายประการ บางคนอาจเคยผ่านประสบการณ์ที่ไม่ดีในชีวิตมา บางคนก็อาจมีบาดแผลในอดีต บางคนต้องต่อสู้ชีวิตและยากลำบากกว่าคนอื่น ฯลฯ ทำให้มีหลายคนเชื่อว่าการวิจารณ์ตนเองและผลักดันตัวเองให้มาก เป็นวิธีที่ทำให้พวกเขาแข็งแกร่งขึ้น แต่นั่นก็อาจทำให้คุณเครียดและกดดันตัวเองมากเกินไป
ในทางตรงกันข้าม การยอมรับตนเองหรือยอมรับความพ่ายแพ้เป็นรูปแบบหนึ่งของการประคบประหงมจิตใจของคนเรา เป็นการปลูกฝังให้เรายอมรับและเข้าใจความเป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์มีทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน ข้อจำกัด ความไม่สมบูรณ์ และศักยภาพในการเติบโต ดังนั้นมันก็คงดีต่อใจไม่น้อย หากเราหันมาใจดีกับตัวเองให้มากขึ้น และรู้สึกดีกับตัวเองให้มากขึ้น
8. อ่านหนังสือให้มากขึ้น
คนที่ประสบความสำเร็จอย่าง Bill Gates, Barack Obama และ Oprah Winfrey ลงทุนด้านเวลาของพวกเขาไปกับการอ่านหนังสือ เพราะหนังสือไม่ใช่แค่ให้ความรู้ แต่ยังช่วยเพิ่มสมาธิ ปรับโฟกัส ช่วยเรื่องความจำ ปรับปรุงการนอนหลับให้ดีขึ้น และช่วยให้คุณมีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น นักวิจัยเชื่อว่าการอ่านอาจช่วยป้องกันอาการความจำเสื่อมได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยจากมหาวิทยาลัย Sussex ระบุว่า การอ่านหนังสือเพียง 6 นาทีต่อครั้ง สามารถลดความเครียดได้ถึง 68% ซึ่งเป็นวิธีที่ที่ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการฟังเพลงหรือดื่มชา
9. ลดเวลาบนหน้าจอมือถือ แท็ปเล็ต คอมพิวเตอร์
ถอดปลั๊กจากเทคโนโลยีให้มากที่สุด ปิดมันวางไว้ในห้องอื่น หรือทิ้งไว้ที่บ้านก่อนออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน หากคุณเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เหล่านี้อยู่ตลอดเวลา มันจะทำให้คุณเสียสมาธิในการทำกิจกรรมอื่นๆ ทุกครั้งที่คุณได้รับการแจ้งเตือนจากมือถือ นอกจากนี้คุณอาจรู้สึกผูกพันกับความต้องการของผู้อื่นทุกครั้งที่คุณได้รับแมสเสจหรืออีเมลเรื่องงาน ยิ่งไปกว่านั้นการใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ในการเลื่อนดูโซเชียลมีเดียสามารถส่งผลเสียต่อความนับถือตนเองได้เช่นกัน มีแนวโน้มทำให้เกิดอาการเบื่อหน่ายและซึมเศร้าได้ง่ายขึ้น
ดังนั้นควรปรับโหมดชีวิตใหม่ ลองถอยห่างจากเทคโนโลยีเหล่านั้นดูบ้าง เพื่อให้คุณได้มีเวลาใช้ชีวิตไปกับสิ่งอื่นรอบๆ ตัว นอกจากนี้ให้พิจารณาลบแอปฯ ที่คุณไม่ค่อยใช้และเลิกติดตามผู้คนและหน้าเว็บที่คุณรู้สึกว่าเป็นพิษกับตัวคุณ
10. ให้ความสำคัญกับชีวิตคุณเอง
Caroline Britton โค้ชด้านการใช้สัญชาตญาณและการเปลี่ยนแปลงชีวิตอธิบายว่า เป็นเรื่องสำคัญที่คุณต้องตระหนักให้ได้ว่า เมื่อคุณให้ความสำคัญกับตัวเองเป็นอันดับแรกทุกคนจะได้รับประโยชน์ เพราะทุกอย่างในชีวิตจะดูแย่ลงไปทันทีเมื่อคุณปล่อยให้งานหรือปัญหาต่างๆ จากคนอื่นถาโถมเข้ามาหาคุณ จากนั้นอารมณ์ร้อนและความหงุดหงิดก็จะเข้าครอบงำ และทำให้ชีวิตเสียศูนย์ได้
ดังนั้นเมื่อคุณพบว่าตัวเองกำลังก้าวเข้าสู่ความบ้าคลั่ง จงทำอะไรก็ได้ที่จะช่วยให้ตัวเองหลุดออกจากภาวะนั้น เช่น ไปเดินเล่น ไปนั่งร้านคาเฟ่กินกาแฟหอมๆ หรืออาบน้ำที่ผ่อนคลาย เป็นต้น จากนั้นให้เริ่มวางแผนและจัดลำดับว่าอะไรควรทำก่อนหลังให้ดี แล้วค่อยๆ จัดการไปทีละอย่าง นอกจากนี้คุณควรบล็อกช่องทางการสื่อสารจากผู้อื่นอย่างน้อย 10 นาทีต่อวัน เพื่อทำสิ่งอื่นๆ ที่คุณรู้สึกสนุกหรือผ่อนคลายมากขึ้น
-------------------------------
อ้างอิง: