'ไวรัสโคโรน่า' แค่โหมโรง... 'ค้างคาว' แหล่งรวมเชื้อโรครอระบาด

'ไวรัสโคโรน่า' แค่โหมโรง... 'ค้างคาว' แหล่งรวมเชื้อโรครอระบาด

การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 อาจเป็นแค่คำเตือนเบาๆ หากมนุษย์เรายังไม่หยุดบริโภคค้างคาวและสัตว์ป่าอื่นๆ

ท่ามกลางความหวาดวิตกต่อสถานการณ์การระบาดของ “ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019” ที่มีจุดเริ่มต้นในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ดูเหมือนว่า “ค้างคาว” จะตกเป็นผู้ต้องสงสัยเบอร์หนึ่งว่าเป็นตัวการสำคัญในการบ่มเพาะเชื้อโรคร้ายนี้

และถ้าย้อนกลับไปดูข่าวเก่าๆ เกี่ยวกับการระบาดของ “โรคซาร์ส” เมื่อปี 2002 ค้างคาวก็เคยถูกระบุว่าเป็นต้นตอสำคัญ ซึ่งอันที่จริงในแวดวงวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เพราะเจ้านกมีหู หนูมีปีกชนิดนี้ ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะเชื้อโรคสารพัดชนิดที่มนุษย์ไม่ควรเข้าใกล้อยู่แล้ว

 

แหล่งรวมโรค ต้นตอ ไวรัสโคโรน่าและอีกกว่า 60 ชนิด

“ค้างคาว” เป็นสัตว์เลี้ยงลูกที่มีวิวัฒนาการมาจากสัตว์จำพวกฟันแทะ สันนิษฐานว่าพวกมันอยู่บนโลกมากว่า 50 ล้านปีแล้ว ปัจจุบันค้างคาวมีจำนวนชนิดพันธุ์หลากหลายถึงราว 1,240 ชนิด เฉพาะในประเทศไทยมีประมาณ 120 ชนิด แบ่งเป็นค้างคาวกินผลไม้ 20 ชนิด ค้างคาวกินแมลง 99 ชนิด ส่วนอีก 1 ชนิด เป็นค้างคาวที่กินสัตว์อื่นเป็นอาหาร

สำหรับค้างคาวที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน (Pteopus vampyrus) เป็นค้างคาวกินผลไม้ มีน้ำหนักตัวเฉลี่ย 1 กก. เมื่อกางปีกออกทั้งสองข้างจะกว้างถึง 2 เมตร ส่วนค้างคาวที่เล็กที่สุดในโลก คือ ค้างคาวคุณกิตติ (Craseonycteris thonglongyai) เป็นค้างคาวกินแมลง มีน้ำหนักเพียง 2 กรัม ช่วงปีกกว้างเพียง 16 เซนติเมตร

158020378343

ด้วยความที่ชอบออกหากินกลางคืนและมักอาศัยอยู่ในถ้ำ ทำให้ชีวิตของพวกมันค่อนข้างเป็นเรื่องลึกลับ คนสมัยก่อนจึงมักมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับค้างคาวโดยเชื่อมโยงกับปีศาจร้าย แวมไพร์ ผีดูดเลือด ทว่าความน่ากลัวของค้างคาวในโลกยุคปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องราวลึกลับหรือตำนานความเชื่อ แต่เป็นการพบไวรัสมากกว่า 60 ชนิดจากค้างคาวหลายชนิดพันธุ์ทั่วโลก และมีรายงานว่าหลายชนิดก่อให้เกิดโรคในคน เช่น ไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies), ไวรัสอีโบลา (Ebola), ไวรัสซาร์ส (SARS), ไวรัสนิปาห์ (Nipah)

นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ (www.bangkokhealth.com) กล่าวในบทความ ‘เชื้อไวรัสในค้างคาว’ ถึงผลการวิจัยในประเทศไทยว่า ได้มีการตรวจพบไวรัสนิปาห์ที่ก่อให้เกิดโรคสมองอักเสบ จากการตรวจเลือด น้ำลาย และปัสสาวะของค้างคาวแม่ไก่ เชื่อว่าค้างคาวชนิดอื่นๆ ก็มีเชื้อไวรัสเช่นกัน สำหรับโรคสมองอักเสบจากเชื้อไวรัสนิปาห์มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 40-80 เลยทีเดียว

ความน่ากลัวก็คือ เมื่อค้างคาวมีการติดเชื้อไวรัสอาจไม่แสดงอาการความผิดปกติใดๆ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย และแม้ว่าจะมีไวรัสบางชนิดทำให้ค้างคาวป่วยหนักจนตาย แต่ก็จะมีจำนวนไม่น้อยที่หายเอง และยังคงแพร่เชื้อต่อไปได้ ...ถึงอย่างนั้นคุณหมอบอกว่า แม้จะพบเชื้อไวรัสในค้างคาวหลายชนิด แต่การแพร่เชื้อโรคสู่มนุษย์ก็ไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่าย

“การแยกพื้นที่ที่ชัดเจนจะช่วยให้ไม่ให้มีการปะปนของค้างคาวติดเชื้อมายังคนและสัตว์ การไม่รุกล้ำเข้าไปในถิ่นธรรมชาติของค้างคาวเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการครอบครองพื้นที่ รวมทั้งการไม่นำค้างคาวมาบริโภค จะเป็นเครื่องมือป้องกันให้ค้างคาวไทยยังคงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่มีคุณค่าโดยที่ไม่มีผลกระทบนำโรคร้ายใดๆ มาสู่คน"

แต่อย่างที่ทราบกัน ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในจีน “ค้างคาว” ถูกนำมาบริโภคและใช้ประโยชน์ในลักษณะต่างๆ จนในที่สุดเชื้อโรคในตัวของพวกมันก็กลายพันธุ์มาก่อโรคร้ายในร่างกายมนุษย์  โดยในรายงานวิจัยของจีนหลังสถานการณ์การระบาดของโรคซาร์สชี้ชัดว่า โคโรนาไวรัสที่คล้ายกับโรคซาร์สมาจากค้างคาวและแพร่กระจายไปยังมนุษย์ ไม่ว่าโดยตรงหรือผ่านอาหารป่าที่วางขายในตลาดจีน

“อีเห็นที่นำมาขายในตลาดเป็นเพียงตัวขยายเชื้อไวรัสโรคซาร์สไปสู่มนุษย์เท่านั้น งานวิจัยพบว่าเชื้อไวรัสตรงกับเชื้อที่พบในค้างคาวมงกุฎจีน”

ผลการศึกษาหลังจากนั้นได้เตือนภัยไว้แล้วว่า หากยังไม่มีการควบคุมการบริโภคค้างคาว เชื้อไวรัสจะโจมตีมนุษย์อีกครั้ง

“ค้างคาวอาจติดเชื้อไวรัสหลายตัวอยู่ตลอดเวลา แต่มักจะไม่แสดงอาการทางคลินิก ด้วยลักษณะเช่นนี้ของมัน และการนำค้างคาวและผลิตภัณฑ์จากค้างคาวมาทำอาการท้องถิ่นและยาแผนโบราณมากขึ้นในจีนภาคใต้และที่อื่นๆ ในเอเชีย ทำให้เราต้องศึกษาค้างคาวในฐานะแหล่งกักเก็บไวรัสโคโรนา ไวรัสของโรคซาร์ส”

ที่น่าสนใจคือ ในเดือนธันวาคม 2560 ทีมนักวิจัยของสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น นำโดย Ben Hu ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสาร PLOS Pathogens ว่า นักวิจัยพบถ้ำห่างไกลแห่งหนึ่งในมณฑลยูนนานเป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาวมงกุฎ (Horseshoe bat) ที่มีเชื้อโคโรนาไวรัสที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับโรคซาร์ส

ครั้งนั้นทีมนักวิจัยฯอู่ฮั่นได้แสดงความกังวลว่า การระบาดสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เพราะถ้ำค้างคาวนี้อยู่ห่างจากหมู่บ้านเพียงหนึ่งกิโลเมตร และห่างจากเมืองคุนหมิงเพียง 60 กิโลเมตร เฉพาะในถ้ำนี้ นอกจากจะพบเชื้อโคโรนาไวรัสของโรคซาร์สแล้ว ยังพบโคโรนาไวรัสอีก 11 ชนิดใหม่

แต่แล้วสถานการณ์ที่พวกเขากังวลก็เริ่มต้นขึ้นในปลายปี 2562 กับการระบาดของไวรัสโคโรนาตัวใหม่ที่เมืองอู่ฮั่นนั่นเอง

เว็บไซต์เซาท์ ไชนา มอร์นิง โพสต์ของฮ่องกง รายงานว่า ผลการวิจัยที่ทำโดยคณะนักวิจัยร่วมจากหลายหน่วยงานของจีนพบว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อยู่ในตระกูลเดียวกับโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือ “ซาร์ส” คือ HKU9-1 เป็นไวรัสที่พบได้ใน “ค้างคาวชนิดกินผลไม้” สมมติฐานก็คือว่า พาหะของไวรัสน่าจะเป็นค้างคาว โดยอาจมีตัวกลางไม่ทราบชนิดเป็นตัวแพร่เชื้อจากค้างคาวไปสู่คน

ขณะที่ ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี นักวิจัยศูนย์วิทยาศาตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ และพบว่าตรงกับไวรัสที่พบในค้างค้าว กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทีมวิจัยจุฬาฯ ร่วมกับ กรมอุทยานแห่งชาติ​สัตว์ป่า​และ​พันธุ์พืช​ และคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ลงพื้น​ที่​สำรวจค้างคาวในประเทศไทย เพื่อหาเชื้อไวรัสในค้างคาว เพื่อจัดทำฐานข้อมูลของโรค​อุบัติ​ใหม่​

เบื้องต้นพบเชื้อโคโรน่าในค้างคาวไทย​ 300-400​ ชนิด​ แต่ยังไม่ติดต่อสู่คน​ หลังจากนี้จะลงพื้นที่ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ​สัตว์ป่า​และ​พันธุ์พืช​อีกครั้ง เพื่อสำรวจค้างคาว​มงกุฎ​ในไทย จำนวน 23​ ชนิด​ ว่ามีเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือไม่​

  โดยที่ผ่านมา ทั่วโลกมีไวรัสโคโรนา​ ที่ติดต่อสู่คน​ใน 7​ ชนิด​ แบ่งเป็น​ 4​ ชนิด​แรก ที่มีอาการโรคหวัด​ อีก​ 2​ ชนิด​ เป็นไวรัสกลุ่ม​เบต้า​ คือ โรคเมอร์​ โรคซาร์ส ที่มีความรุนแรง และ​ 1​ ชนิด​ ล่าสุด​ คือ​ “โคโรน่าสายพันธุ์​ใหม่​2019” ที่มีผลต่อปอดอักเสบ​

สัตวป่า ของหายาก เมนูเปิบอันตราย

แม้นักวิทยาศาสตร์จะยืนยันชัดเจนถึงอันตรายจากการบริโภคสัตว์ป่าทั้งหลายแหล่ โดยเฉพาะค้างคาว แต่ด้วยความเชื่อในสรรพคุณต่างๆ นานา ก็ทำให้ค้างคาวยังเป็นเมนูเปิบพิศดารบนโต๊ะอาหารในหลายวัฒนธรรม

ชัดเจนกับภาพซุปค้างคาวที่เผยแพร่ในโลกโซเชียล หาน หลง หัว เชฟชาวจีนแห่งห้องอาหาร ‘ซัมเมอร์พาเลซ’ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนทัล บอกว่า คนจีนมีความเชื่อว่าของที่หายากจะมีสรรพคุณเรื่องบำรุงร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะ 

“เรื่องการกินแบบนี้มันมีนานมาแล้วเป็นพันปี ซึ่งหลังๆ เราจะไม่ค่อยเห็น เพราะหนึ่ง หายาก สอง ทางการจีนห้าม เช่นสมัยก่อนเราจะเห็นว่ามีกินอุ้งตีนหมี พอทางการห้าม ของพวกนี้ก็จะหายไป หรือพวกเสือ ก็มีเฉพาะที่เขาเลี้ยงแล้วฆ่า ส่วนค้างคาว มักนำมาทำเป็นเมนูพวกตุ๋นยาจีน น้ำแดง และผัด มีมานานแล้ว สรรพคุณก็เพื่อความแข็งแรง"

เชฟบอกว่า สมัยที่อยู่เมืองจีนตอนเด็กๆ เคยเห็นพ่อกินอาหารแปลกเหล่านี้เป็นยาบ้างเหมือนกัน แต่ตนเองไม่เคยกิน เพราะมีความรู้เรื่องสุขอนามัยมากขึ้น ในมุมมองของเขาความเสี่ยงน่าจะมาจากการที่คนนิยมบริโภคค้างคาวป่า เพราะตัวใหญ่และเชื่อว่าสรรพคุณดีกว่าค้างคาวบ้าน

"สำหรับผมคิดว่าไม่ควรกิน ไม่ว่าจะเป็นค้างคาวประเภทไหน ในฐานะเชฟจะไม่นำมาทำเป็นเมนูเด็ดขาด"

158020378474

อย่างไรก็ดี ตามความเชื่อของชาวจีนและอาจจะรวมถึงคนไทยบางส่วน การกินเนื้อค้างคาวจะช่วยรักษาอาการโรคหืด โรคเกี่ยวกับไต และอาการเจ็บป่วยทั่วไป การกินเลือดค้างคาวเชื่อกันว่าช่วยเสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศ ส่วนไขมันที่สะสมอยู่ในตัวค้างคาวช่วยให้ร่างกายอบอุ่นแก้หนาว นอกจากนี้ยังมีการนำมูลค้างคาวไปใช้เป็นเครื่องยาแผนโบราณอีกด้วย

สำหรับรูปแบบการบริโภคที่เสี่ยงต่อการติดโรคจากเชื้อไวรัสสูงที่สุด เห็นจะเป็นการดื่มเลือดค้างคาวสดๆ หรือบริโภคเนื้อและเครื่องในค้างคาวแบบสุกๆ ดิบๆ

ในเมืองไทย พบว่าชาวอีสานนิยมบริโภคค้างคาวปีกถุงซึ่งเป็นค้างคาวกินแมลงมากที่สุด และแม้ว่าการปรุงให้สุกจะช่วยทำลายเชื้อไวรัสได้ แต่คุณหมอเตือนว่าในขั้นตอนของการปรุงมีโอกาสติดเชื้อได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการจับหรือการชำแหละ เพราะเชื้อไวรัสมีการสะสมอยู่ทั้งในเลือด น้ำลาย และเครื่องใน โดยเฉพาะที่ตับ ม้าม และเยื่อบุช่องท้องของค้างคาว ยิ่งถ้าถูกกัด หรือบริเวณที่มีบาดแผลไปสัมผัสบริเวณดังกล่าว เชื้อไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายได้ทันที

“เมื่อรับประทานค้างคาวแล้วไม่รู้สึกถึงความผิดปกติใดๆ ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเชื้อโรคบางชนิดใช้ระยะการฟักตัวนาน เช่น เชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้ามีระยะฟักตัวเป็นเดือน หรือไวรัสนิปาห์ ที่นอกจากจะแสดงอาการของโรคหลังจากรับเชื้อไวรัสเพียงไม่กี่สัปดาห์แล้ว เชื้อไวรัสบางตัวยังสามารถเข้าไปอาศัยอยู่ในร่างกายและใช้ระยะเวลาฟักตัวนานถึง 2 ปี จึงจะแสดงอาการออกมา

ผู้ที่เคยบริโภคค้างคาว หากมีอาการผิดปกติต่อร่างกาย เป็นไข้ ควรแจ้งแพทย์ด้วยว่ามีการบริโภคค้างคาวมาก่อน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวินิจฉัยโรค” นพ.วรวุฒิ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การจับค้างคาวมาบริโภคไม่เพียงเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส ในเมืองไทยยังถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากค้างคาวกินแมลงทุกชนิด และค้างคาวกินผลไม้เกือบทั้งหมดล้วนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 โดยถือเป็นสัตว์ป่าที่ห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก เว้นแต่จะได้รับอนุญาต

การบริโภคค้างคาวเพื่อสรรพคุณตามความเชื่อจึงไม่เพียงไม่ปรากฎหลักฐานว่าส่งผลดีแต่อย่างใด ตรงกันข้ามยังสร้างผลเสียอย่างร้ายแรง ไม่ใช่ต่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่ลุกลามบานปลายกลายเป็นโรคระบาดที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก

  158020378828