‘บุกรังนักออกแบบ’ ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ
The Nestel living in the gallery ในซอยเจริญกรุง 45 เป็นอีกหนึ่งจุดหมายที่น่าค้นหาในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 (Bangkok Design Week 2020)
ไม่น่าเชื่อว่าในซอยเล็กๆตรงข้ามกับไปรษณีย์กลางจะมีโฮสเทล แกลลอรี และร้านอาหารจีนแนวๆซ่อนตัวอยู่ และทั้ง 3 กิจการมีความเชื่อมโยงกันโดยมี “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ” เป็นตัวกลาง
น้ำฝน ไล่สัตรูไกล นักออกแบบและเจ้าของ The Nestel โฮสเทลขนาด 2 ห้องพัก ซึ่งแบ่งพื้นที่ชั้นล่างเป็นแกลลอรี และชั้นลอยเป็นสำนักงาน กล่าวว่าเป็นความเหมาะเจาะที่พอดีที่ได้รู้จักกับ ชาลี นิภานันท์ หนึ่งในหุ้นส่วนร้านอาหารจีนวัวทองโภชนา ซึ่งมีอาชีพหลักเป็น Sound designer ความร่วมมือระหว่างนักออกแบบเท็กซ์ไทล์กับนักออกแบบเสียงจึงเริ่มต้นขึ้น
ชาลี ไม่ได้มาพร้อมกับซาวด์ดนตรี เขายังดึงเอากลุ่มเพื่อน Keep_Your_Eyes_On ได้แก่ ชัยภัทร์ พลับศิริ (Founder and Director )ปฐมพร ศรีเวียง (Lighting Designer ) วรวุฒิ บวรวรการ ( Motion Graphic Designer) มาร่วมทำงานในแนวคิด The Nest in the nestle ในเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ
ขณะที่ น้ำฝน ได้เชื้อเชิญศิลปิน นักออกแบบ และช่างภาพ ได้แก่ ชลิต นาคพะวัน ชัยชน สวันตรัจฉ์ เอก ทองประเสริฐ ปัญจพล อัศวลาภนิรันดร ปิยพร พงษ์ทอง กุลยา กาศสกุล และสมัชชา อภัยสุวรรณ มาร่วมกันนำผลงานมาจัดแสดงใน The Nestel ที่จัดให้ทุกพื้นที่เป็นแกลลอรี
รังแห่งนี้ต้อนรับเราด้วยผลงานโลกนี้คือละคร ของน้ำฝนที่นำเอาตุ๊กตาแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสวยเก๋มาร้อยเรียงเป็นโคมไฟขนาดใหญ่ ทันทีที่เราเดินเข้าไปใต้โคมนั้นเซ็นเซอร์จะจับความเคลื่อนไหวของเราแล้วยิงภาพไปที่ผนังสีขาว ตุ๊กตาบนจอภาพจะขยับแขนขาท่าทางเหมือนเราไม่มีเพี้ยน ในขณะเดียวกันก็มีเสียงเพลงประกอบ จะเต้นจะกระโดดไปทางไหนตุ๊กตาจะทำตามเราเสมือนเป็นหนึ่งเดียวกัน
เป็นโลกแห่งละครของน้ำฝนที่มีนักออกแบบดนตรีอย่างชาลี และทีมKeep_Your_Eyes_On นำทางให้ผู้ชมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของผลงานได้ลึกเข้าไปอีก
ในแกลลอรีชั้นล่างนี้ ยังจัดแสดงผลงาน มืดกับสว่าง ของ ชลิต นาคพะวัน สื่อให้เห็นถึงความไม่แน่นนอนของชีวิต โดยนำเศษไม้เก่า เศษไม้เหลือทิ้งจากโรงงาน มาสร้างงานชิ้นใหม่ โดยใช้เทคนิค แกะสลัก ขุด เจาะ ขัด วาดลวดลายด้วยการเผาที่ใช้ความร้อนที่แตกต่างๆ สร้างสรรค์ออกมาเป็นโคมไฟ เก้าอี้
จากเศษไม้ไร้ค่า กลับมามีชีวิตใหม่เมื่อเรามองเห็นคุณค่า วันนี้อาจเป็นวันที่มืดหม่นไม่แน่ว่าพรุ่งนี้ท้องฟ้าอาจแจ่มใสก็เป็นได้
ส่วนใครที่หลงเสน่ห์ของงานลูกไม้ทำมือเทคนิคแบบโบราณ ที่มุมด้านหนึ่งจัดแสดงผลงานถักลูกไม้ชื่อน่ารัก แมงมุม 10 ตา ของ ปัญจพล อัศวลาภนิรันดร อดีตอาจารย์สอนแฟชั่นที่ผันตัวมารับทำงานลูกไม้จริงจัง ส่วนแนวคิดในงานชิ้นนี้เขาบอกสั้นๆว่า หยากไย่ติดงาน ปัดๆ อ้าวปัดไม่ออก อย่าลืมแวะดูให้ได้นะคะ
ถัดขึ้นไปบนชั้นลอยพบกับงานออกแบบของ เอก ทองประเสริฐ แฟชั่นดีไซเนอร์ที่กำลังสนุกกับการค้นหาวัสดุจากย่านต่างๆในกรุงเทพฯแล้วนำมาสร้างเป็นเครื่องแต่งกายขึ้นมาใหม่ โดยสิ่งที่เขาสนใจในยามนี้ ได้แก่ ผ้ายันต์ จากตลาดขายส่งพระย่านพระนคร ผ้าเช็ดหน้าไหมพิมพ์ลายค้างสต็อกจากย่านงามวงศ์วาน เชือกไนล่อน จากเขตบางรัก เป็นต้น
“เรานำวัสดุเด่นๆของแต่ละย่านมาคอลลาจใหม่ เป็นเสื้อผ้า ทุกอย่างจะมีเพียง 1 ชิ้นเท่านั้น” นอกจากนี้ยังมีกระเป๋า และรองเท้าที่ทำร่วมกับแบรนด์ Devant ของน้ำฝนด้วย
คราวนี้ชวนขึ้นไปชมห้องชั้นบนกันบ้าง หากเราต้องถอดรองเท้าแล้วเดินสัมผัสพรมเนื้อนุ่มที่ปูลาดขั้นบันไดมุ่งไปชั้นสอง พรมเนื้อนุ่มนี้ถ้าบอกว่าผลิตจากขวดน้ำพลาสติกคุณจะเชื่อไหม ?
เชื่อเถอะ น้ำฝนกล่าวว่าเป็นการทำงานร่วมกับบริษัท CARPET MAKER ที่ผลิตพรมจาก ECO Friendly Yarn โดยมีโทนสีที่สื่อความหมายถึงความเป็นเจริญกรุง
ก่อนจะเข้าห้องมีงานออกแบบกระเป๋าเท่ๆทำจากถุงพลาสติกวัสดุที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเอาเสียเลย แต่ เบญญาภา เจนเสน นักออกแบบแบรนด์ Juno Janssen นำมาสร้างเป็นผลงานชื่อ The Andaman Islander
“ระหว่างออกแบบก็นั่งร้องเพลงจากThe Little Mermaid และ Coconut Woman ให้ได้อารมณ์ก่อนเริ่ม จึงได้มาซึ่งการMixผ้าไหมหลายชนิดเข้าด้วยกัน แมงกระพรุนความโปร่งแสงของมัน และยังนำการอัพไซเคิลถุงพลาสติก มาผลิตเครื่องประดับสนุกๆเพื่อที่ถุงเหล่านั้นจะได้ไม่กลายไปเป็นขยะในท้องทะเลอีกด้วย” เธอว่างั้น
มาถึงเวลาเข้าห้องกันสักที ไปกันที่ห้องสีขาวของกลุ่มศิลปิน Host นำโดย กุลยา กาศสกุล นักประชาสัมพันธ์ สมัชชา อภัยสุวรรณ ช่างภาพ และ ปิยพร พงษ์ทอง แฟชั่นดีไซเนอร์ สองคนแรกเป็นคนที่อาศัยอยู่ในย่านเจริญกรุง ในขณะที่คนสุดท้ายรู้จักเจริญกรุงในตอนที่ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ย้ายมาอยู่ที่นี่
“เราออกแบบให้ห้องนี้เป็นสีขาวทั้งหมด แล้วให้ฉายภาพวิดีโอเล่าเรื่องเจริญกรุงในมุมมองของช่างภาพ ในห้องนี้จะมีผู้หญิงคนหนึ่งนั่งปักผ้า โดยนำเอาสิ่งที่เขาพบเห็นจากในงานบางกอกดีไซน์วีค อาจเป็นแผ่นกระดาษโฆษณา ซองขนม หรืออะไรก็ได้มาเย็บและปักลงบนผ้าที่อยู่ในห้องนี้ โดยมีเส้นไหมพรมสีต่างๆเป็นสื่อของความเชื่อมโยงของผู้คนในย่านนี้”
วันสุดท้าย เส้นไหมพรมที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมงานเข้ามาร่วมปัก หรือ ผูกลงบนผ้าขาว จะเปรียบเสมือนกับรังที่ห่อหุ้ม
“มันอาจจะไม่ได้สวยเพอร์เฟ็ค แต่อยากให้คนดูเข้ามาตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราเข้ามาในพื้นที่นี้ในฐานะอะไร” ปิยพร บอกกับเรา
จากห้องที่เต็มไปด้วยสีสันของเส้ยด้ายและไหมพรมหลากสี มาสู่ห้องสุดท้าย ชัยชน สวันตรัจฉ์ ผู้ก่อตั้งและดีไซเนอร์แบรนด์ Good Mixer พาเรามาดำดิ่งไปสู่ความนิ่งในห้องที่มีโคมไฟสีทองส่องแสงสว่างเรื่อเรือง กับผลงานจัดวางที่มีชื่อว่า Peace/สงบ
“ท่ามกลางความวุ่นวายของสังคมเมือง การได้อยู่ในที่สถานที่ที่ถูกจัดวางเพื่อความพอใจของผู้อยู่มีความสำคัญในการสร้างพลังงานบวก ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และความสงบสุขทางจิตใจ” คือ สิ่งที่ชัยชนอยากจะบอกกับทุกคน
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 (Bangkok Design Week 2020) ภายใต้แนวคิด “RESILIENCE: NEW POTENTIAL FOR LIVING ปรับตัว > อยู่รอด > เติบโต วันนี้ถือเป็นวันสุดท้าย อยากชมไอเดียสร้างสรรค์ของเหล่านักออกแบบอย่ารอช้างาน มาได้จนถึงสามทุ่ม