‘CONNEXT ED’ สานอนาคตการศึกษา
ถึงแม้ว่าทุกโรงเรียนต่างเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่ไม่เป็นอุปสรรคที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายการสร้างการศึกษาแห่งอนาคต
เดินหน้าอย่างต่อเนื่องสำหรับ โครงการสานอนาคตการศึกษา ‘CONNEXT ED’ จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเสริมประสิทธิภาพโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกเป็น ‘ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน’ (Learning community center) เสริมบทบาทสถานศึกษาพร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างอาชีพ สร้างโอกาสให้คนในชุมชนและสังคม ตามเป้าหมายที่จะสร้างความเป็น School Development Project 4.0 ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM)
ธานินทร์ บูรณมานิต กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารสถานศึกษา คุณครู ผู้นำรุ่นใหม่ของซีพี ออลล์ (School partner) จะได้รับทราบเป้าหมาย กลยุทธ์โครงการ (Goal & Strategy) แนวคิดการจัดการศึกษาใหม่ๆ (New Learning Management) แนวคิดเชิงธุรกิจ (Business management) การพัฒนาโครงการไปสู่หลักสูตรสถานศึกษา (Curriculum Development) อันเป็นหลักประกันความยั่งยืน 2 มิติ ในการดำเนินโครงการในอนาคต
ได้แก่ 1. หลักประกันรายได้เพื่อมาบริหารโครงการโดยลดการพึ่งพางบประมาณจากส่วนกลาง 2. การสร้างองค์ความรู้ (Knowledge Management) รักษาและถ่ายทอดในวงกว้างในรูปของหลักสูตรท้องถิ่น โดยแต่ละโครงการของแต่ละโรงเรียนจะได้รับการพิจารณาอนุมัติงบประมาณจากคณะทำงานเพื่อไปดำเนินการและนำผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นไปต่อยอดพัฒนา และเป็นต้นแบบให้กับสถานศึกษาอื่นๆ ต่อไป
โดยการสัมมนาแบ่งเป็น 2 รอบได้แก่การจัดสัมมนาให้โรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกจาก 189 โรงเรียน 259 โครงการ กลั่นกรองจนเหลือ 32 โรงเรียน 32 โครงการที่ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ มาร่วมเรียนรู้และพัฒนาโครงการเพื่อต่อยอดไปสู่การเป็นโรงเรียนต้นแบบ และรอบที่ 2 เป็นการจัดสัมมนาเพื่อเสริมเทคนิค วิธีการเขียนแผนโครงการเพื่อพัฒนาโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการใหม่ จำนวน 51 โรงเรียน
ด้าน พิชัย พยุเวช ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนทัพราชวิทยา จ.สระแก้ว เปิดเผยว่า การเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ได้รับความรู้ในการบริหารจัดการผู้เรียน เพื่อให้มีความรู้ที่รอบด้าน รวมถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับครู และผู้บริหารโรงเรียน ในเรื่องของบทบาทการบริหารจัดการ และการใช้เทคโนโลยี การมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้งหมดนำไปสู่หลักสูตรที่ยั่งยืน อีกทั้งยังทำให้ครูรู้จักการบริหารจัดการเรื่องธุรกิจ และการนำธุรกิจมาสนับสนุนการศึกษา เป็นการคิดแบบมีระบบ โดยโครงการของทางโรงเรียนคือผู้ประกอบการวัยเยาว์ สอนให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การทำธุรกิจอย่างเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และมีระบบบริหารจัดการที่ดี รวมถึงการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม อาทิ เรื่องของการขายออนไลน์
สำหรับ School partner หรือ SP อย่าง รัชนี ศรีปรางค์ นี่เป็นโอกาสได้เข้ามาเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เธอบอกว่าก่อนการลงปฏิบัติงานจะมีการอบรมให้ความรู้ทั้งในเรื่องบุคลิกภาพ การสื่อสาร การเข้าถึงคน และเมื่อลงปฏิบัติงานจริงในแต่ละพื้นที่ ก็นำเอาความรู้นี้ไปใช้โดยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านต่างๆ โดยเฉพาะความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการศึกษาแบบใหม่ บริบทของสถานศึกษาและชุมชน ซึ่งนำทุกส่วนมาประยุกต์ พัฒนา ต่อยอด สร้างกิจกรรมให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ แต่ละโรงเรียน แต่ละชุมชนได้เป็นอย่างดี
ถึงแม้ว่าทุกโรงเรียนต่างเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่ไม่เป็นอุปสรรคที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายการสร้างการศึกษาแห่งอนาคต และเป็นต้นแบบที่จะนำไปสู่การต่อยอดสำหรับการศึกษาไทยที่ก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 และยุคแห่งการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เป็นแบบอย่างที่จะนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาไทยสู่อนาคต