'สารทจีน' VS 'ตรุษจีน' ลูกหลานแดนมังกรรู้ไหมต่างกันยังไง?
ชวนรู้ความแตกต่างระหว่าง "สารทจีน" และ "ตรุษจีน" สองประเพณีสำคัญที่ลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนต้องรู้ และทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ทั้งที่มา ความหมาย และการตั้งโต๊ะไหว้ที่แตกต่างกัน
อีกหนึ่งประเพณีสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีนที่ใกล้เข้ามาแล้วก็คือ "สารทจีน" โดยจะตรงกับวันเพ็ญ 15 ค่ำเดือน 7 ตามปฏิทินทางจันทรคติของจีน และเมื่อดูตามปฏิทินสากลพบว่า "วันสารทจีน 2563" ในปีนี้ตรงกับวันพุธที่ 2 กันยายน ที่จะถึงนี้
สำหรับชาวไทยเชื้อสายจีนก็คงทราบถึงสำคัญของวันสารทจีนกันดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้ใหญ่คนรุ่นพ่อแม่หรืออากงอาม่าที่บ้าน แต่สำหรับน้องๆ หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ จะรู้หรือป่าวว่า "วันสารทจีน" มีความสำคัญและมีที่มาอย่างไร โดยเฉพาะบางคนก็ยังสงสัยไปอีกว่า "สารทจีน" แตกต่างกับ "ตรุษจีน" ยังไงบ้าง? วันนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะชวนมาหาคำตอบเรื่องนี้กัน
- "สารทจีน" VS "ตรุษจีน" แตกต่างกันยังไง?
เชื่อว่าหลายคนยังคงสับสนระหว่างวันสารทจีนและวันตรุษจีน บางคนก็งงว่าทั้งสองประเพณีนี้ใช่อันเดียวกันไหม? คำตอบคือ ไม่ใช่! ทั้งสองประเพณีนี้ไม่เหมือนกัน คำถามต่อมาคือ แล้ววันสารทจีนและวันตรุษจีนมันต่างกันยังไง?
คำตอบคือ "วันตรุษจีน" คือวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน รวมถึงคนไทยเชื้อสานจีนก็จะฉลองวันตรุษจีนกันทุกปี เปรียบเทียบเหมือนวันสงกรานต์ที่เป็นวันปีใหม่ของไทยนั่นเอง อีกทั้งการซื้อของไหว้ และการตั้งโต๊ะไหว้ในวันตรุษจีน จะเน้นไหว้เจ้าเป็นหลัก และจัดเครื่องไหว้แบบจัดเต็มมากๆ และไหว้กันหลายรอบ (อ่านเพิ่ม : วิธีไหว้เจ้าเสริมเฮง ‘ตรุษจีน 2563’ จัดครบตั้งแต่เช้ายันดึก!)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ‘สารทจีน’ ความหมาย ‘มงคล’ ของไหว้ และไหว้อะไรบ้าง
- ฮาวทูไหว้ 'สารทจีน 2563' ซื้อ 'ของไหว้' ยังไงไม่ให้งบบานปลาย?
- ไหว้ 'สารทจีน' ต้องรู้ 7 วิธีป้องกันอันตรายจาก 'ควันธูป'
ส่วน "สารทจีน" เป็นวันสำคัญที่ลูกหลานชาวจีนจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ โดยพิธีเซ่นไหว้ และยังถือเป็นเดือนที่ประตูนรกเปิดให้วิญญาณทั้งหลายมารับกุศลผลบุญได้ ส่วนของไหว้และการตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษก็จะไม่ได้จัดเต็มเท่าวันตรุษจีน
แต่เนื่องจากวันตรุษจีนนั้นนอกจากจะต้องเตรียมของไหว้เทพเจ้าประจำปีใหม่แล้ว ก็ยังมีบางช่วงของวันปีใหม่ที่มีการตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษด้วยเช่นกัน (ส่วนวัน "สารทจีน" แต่วันที่จะไหว้บรรพบุรุษหรือไหว้ผีเป็นหลัก) ดังนั้นจึงมีความทับซ้อนกันนิดหน่อย และอาจเป็นเหตุผลให้หลายคนเกิดความสับสนดังกล่าว
- รู้จักที่มา "สารทจีน" ทำไมต้องจัดอาหารไหว้ผีบรรพบุรุษ?
สำหรับความเป็นมาของประเพณี "สารทจีน" นั้น ว่ากันว่าเดือน 7 เป็นเดือนที่ประตูนรกเปิดเพื่อพิพากษาส่งดวงวิญญาณไปสู่นรกหรือขึ้นสวรรค์ ตามแต่ผลบุญกรรมที่ได้ทำมา จึงเป็นช่วงเวลาที่ดวงวิญญาณบรรพบุรุษจะได้มีโอกาสกลับบ้านมาหาลูกหลาน จึงต้องมีการตระเตรียมอาหารคาว หวาน ผลไม้ จานโปรด และเครื่องดื่มเพื่อเซ่นไหว้ดวงวิญญาณของท่านเพื่อแสดงความกตัญญู อีกทั้งยังมีเรื่องราวหลักๆ ที่ชาวจีนเชื่อกันมีอยู่ 2 ตำนาน ได้แก่
- ตำนานที่ 1: วันสารทจีนเป็นวันที่เงี่ยมล้อเทียนจือ (ยมบาล) จะตรวจดูบัญชีวิญญาณคนตาย ส่งวิญญาณดีขึ้นสวรรค์และส่งวิญญาณร้ายลงนรก ชาวจีนทั้งหลายรู้สึกสงสารวิญญาณร้ายจึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ ดังนั้นเพื่อให้วิญญาณร้ายออกมารับกุศลผลบุญนี้จึงต้องมีการเปิดประตูนรกนั่นเอง
- ตำนานที่ 2: มีชายหนุ่มผู้หนึ่งชื่อ “มู่เหลียน” (พระมหาโมคคัลลานะ) เป็นคนเคร่งครัดในพุทธศาสนามาก ผิดกับมารดาที่เป็นคนใจบาปหยาบช้าไม่เคยเชื่อเรื่องนรก-สวรรค์มีจริง ปีหนึ่งในช่วง “เทศกาลกินเจ” นางเกิดความหมั่นไส้คนที่นุ่งขาวห่มขาวถือศีลกินเจ นางจึงออกอุบายให้คนถือศีลมากินอาหารเจที่บ้าน แต่นางผสมมันหมูลงไปด้วย การกระทำของมารดามู่เหลียนนั้นถือว่าเป็นกรรมหนัก เมื่อตายไปจึงตกนรกอเวจีมหานรกขุมที่ 8 เป็นนรกขุมลึกที่สุด
เมื่อมู่เหลียนคิดถึงมารดาก็ได้ถอดกายทิพย์ลงไปในนรกภูมิ จึงได้รู้ว่ามารดาของตนกำลังอดอยากจึงป้อนอาหารแก่มารดา แต่ก็ทำไม่ได้ ทั้งถูกบรรดาภูตผีที่อดอยากรุมแย่งไปกินหมด และแม้จะป้อนได้แต่เม็ดข้าวนั้นกลับเป็นไฟเผาไหม้ปาก แต่ด้วยความกตัญญูและสงสารมารดาที่ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างสาหัส มู่เหลียนได้เข้าไปขอ "เหงี่ยมล่ออ๊อง" (ยมบาล) ว่าตนของรับโทษแทนมารดา
แต่พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงมาโปรดไว้ได้ทัน และให้ทางออกกับปัญหานี้ว่าให้มู่เหลียนสวดคัมภีร์อิ๋วหลันเผินและถวายอาหารทุกปีในเดือนที่ประตูนรกเปิดจึงจะสามารถช่วยมารดาของเขาให้พ้นโทษได้ นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวจีนจึงได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อมาผ่านกิจกรรมการเซ่นไหว้ โดยจะนำอาหารทั้งคาวหวาน และนำกระดาษเงินกระดาษทอง ไปวางไว้ที่หน้าบ้านพร้อมจุดธูป 1 ดอก เรียกวิญญาณบรรพบุรุษมารับอาหารหรือของไหว้ที่ลูกหลานตั้งไว้ให้
- ของไหว้ "สารทจีน 2563" แตกต่างกับ ของไหว้ตรุษจีนยังไง?
สำหรับเรื่องการจัดเตรียมของไหว้ สำหรับวัน "สารทจีน" ก็มีความแตกต่างกันกับของไหว้ "ตรุษจีน" เช่นกัน โดยหากเป็นของไหว้วันตรุษจีน จะเน้นเตรียมของไหว้ที่เป็นอาหารเจ เช่น เต้าหู้ เห็ดหอม เห็ดหูหนู วุ้นเส้น ผลไม้มงคล ข้าวสวย น้ำชา เพื่อนำมาไหว้เจ้าได้แก่ ไหว้เทพเจ้าโชคลาภ และไหว้เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตาประจำปี นอกจากนี้ในวันตรุษจีนยังมีการไหว้เจ้าที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไหว้บรรพบุรุษ และให้ทานสัมภเวสีด้วย ซึ่งของไหว้ในกลุ่มหลังก็จะเป็นอาหารคาวและของหวานที่มีความหมายมงคล
ส่วนของไหว้ในประเพณี "สารทจีน" นั้น เนื่องจากเป็นวันที่เน้นไหว้ผีบรรพบุรุษเป็นหลัก ดังนั้นของไหว้จึงต้องใช้เป็นอาหารคาว อาหารหวาน และผลไม้ โดยเน้นเมนูที่บรรพบุรุษชื่นชอบ รวมถึงในวันสารทจีนก็ยังมีการไหว้เจ้าที่ และไหว้ผีไม่มีญาติเพื่อเป็นการให้ทานอีกด้วย ดังนั้นสรุปได้ว่าของไหว้ของตรุษจีนจะเน้นของไหว้เจ้าซึ่งจะเป็นอาหารเจ ผลไม้ และอาหารมงคล ส่วนของไหว้วันสารทจีนจะเน้นอาหารคาวหวานทั่วไปที่ญาติผู้ล่วงลับชื่นชอบ และอาจรวมถึงอาหารมีความหมายมงคลด้วย
- ของไหว้ "สารทจีน" ต้องเตรียมอะไรบ้าง?
ของไหว้ที่ใช้ในวันสารทจีนแม้ว่าบางส่วนจะมีความคล้ายกับของที่ใช้ไหว้วันตรุษจีน แต่หลักๆ แล้วจะต้องเตรียมของไหว้ ดังต่อไปนี้
- เนื้อสัตว์ : ซาแซ (เนื้อสัตว์ 3 อย่าง) หรือโหงวแซ (เนื้อสัตว์ 5 อย่าง) เช่น เป็ดต้มพะโล้ ไก่ต้ม หมูต้ม หมูกรอบ ขาหมู ปลานึ่ง ปลาหมึก กุ้ง ปู
- ผลไม้ : ถัดมาก็ต้องเตรียมผลไม้มงคล 3 อย่างหรือ 5 อย่างก็ได้ เช่น แอปเปิ้ล สาลี่ ลูกพลับ องุ่น แก้วมังกร ฝรั่ง สับปะรด กล้วยหอมหวีใหญ่
- ขนม : ขนมที่ขาดไม่ได้คือ "ขนมเข่ง" ส่วนขนมเทียนและขนมเปี๊ยะนั้นจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ และข้อสำคัญคือช่วงสารทจีนไม่นิยมใช้ขนมจันอับไหว้
-----------------------------
อ้างอิง :
https://th.wikipedia.org/วันสารทจีน
https://th.wikipedia.org/วันตรุษจีน
https://www.trueplookpanya.com