‘เพลงรบ ฐิติกุลดิลก’ ภาษามือ คือ ความเท่าเทียม

‘เพลงรบ ฐิติกุลดิลก’ ภาษามือ คือ ความเท่าเทียม

กว่าจะมาเป็น "ล่ามภาษามือ" ในช่องเล็กๆ บนหน้าจอทีวี ต้องมีสกิลขั้นไหนและต้องเรียนรู้อะไรบ้าง ทั้งคำใหม่-คำยาก และคำที่หมิ่นเหม่ 'จุดประกาย' ชวนคุยเรื่องนี้ในโอกาส "วันภาษามือโลก"

ถึงยุคนี้ผู้ชมข่าวโทรทัศน์จะเริ่มชินตากับ "ล่ามภาษามือ" ที่ทำหน้าที่แปลเนื้อความให้เป็น Sign Language แต่นอกจากบทบาทในกรอบเล็กๆ ที่มุมจอทีวี ยังมีอีกหลายเรื่องที่ ม่อน - เพลงรบ ฐิติกุลดิลก ล่ามภาษามือประจำช่อง 7 HD และพิธีกรอิสระ จะพาไปรู้ว่าในโลกสะพานภาษาของคนหูหนวกนั้นลึกซึ้ง ซับซ้อน และมีเรื่องให้คนปกติย้อนคิดว่า ที่เห็นและเป็นอยู่นั้นเหมาะสมแล้วหรือยัง

  • เส้นทางการมาเป็นล่ามภาษามือ?

หลักสูตรที่ผมเรียนจบมาคือศิลปศาสตร์ เอกหูหนวกศึกษา เพราะฉะนั้นแล้วหลักสูตรนี้จะสอนทั้งคนหูหนวกที่พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย และคนปกติ โดยที่ทางคณะจะบังคับให้อยู่หอพัก ในห้องจะมีคนหูดีคือเรา และคนหูหนวก จะต้องเป็นรูมเมทกันจนกระทั่งเรียนจบ นี่คือสิ่งที่เขากำหนดมาว่าต้องเป็นแบบนี้ ตอนนั้นเราก็รู้สึกอึดอัดเพราะเราสื่อสารไม่ได้เลย ยอมรับว่าเข้าไปเทอมแรกก็คิดเลยว่าซิ่วแน่ๆ มันอึดอัดไปหมด แต่พอเราเริ่มได้เรียนเทอมที่สอง ได้เรียนวัฒนธรรมคนหูหนวกไทย วัฒนธรรมคนหูหนวกชุมชน วัฒนธรรมคนหูหนวกทั้งโลก เราก็เข้าใจธรรมชาติเขามากขึ้น เลยทำให้เราอยู่ต่อได้ จากที่ว่าปีหน้าซิ่ว ก็เป็นลองอีกหนึ่งปี พอลองอีกปีเราเริ่มได้ภาษามือแล้ว เริ่มมีคำศัพท์ แต่บอกเลยว่าตอนนั้นผมไม่ได้ไวยากรณ์นะครับ แล้วด้วยการที่เราเป็นเด็กกิจกรรม สิ่งที่คนหูหนวกขอให้ผมไปช่วยคือ แปลละครทีวี

  • แปลละครคือนั่งอยู่ข้างทีวีแล้วทำภาษามือ?

ใช่ครับ นั่งอยู่ข้างทีวี คำไหนแปลไม่ได้ก็เขียน แล้วเขาก็แปลเป็นภาษามือให้เรามา พอเราแปลผิดเขาก็จะบอกว่าที่ถูกคืออะไร กลายเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน ในจอทีวีเขาอาจได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราก็แปลได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้จนกระทั่งปีที่ 4 กลายเป็นว่าผมเป็นคนที่พอสองทุ่มต้องมานั่งอยู่ข้างจอทีวีเพื่อให้คนหูหนวกมานั่งดูเราแปล

  • ที่บอกว่ามีไวยากรณ์ คืออย่างไร

ภาษามือจะเหมือนภาษาอังกฤษเลย อย่างของเรามีประธาน กริยา กรรม ภาษามือจะมีกรรมมาก่อน เช่น ฉันไปโรงเรียน จะต้องมีโรงเรียนมาก่อน คือ โรงเรียน ฉันไป เพื่อให้เขาเห็นเป็นภาพว่าภาพกว้างคืออะไร ปากกาวางอยู่บนโต๊ะ ต้องมีโต๊ะก่อน ถึงมีปากกาแล้วค่อยวางได้ ถ้าเราวางไปเฉยๆ คือปากกาตก นี่คือภาพที่คนหูหนวกเห็น เพราะฉะนั้นภาษามือคือภาษาภาพที่เราสื่อออกมาให้เขาเข้าใจ รวมกับภาษาร่างกาย มันคือ Body Language และ Sign Language ที่มารวมกันเป็นอีกหนึ่งภาษา

  • ตอนที่ตัดสินใจเรียน อาจลุ่มๆ ดอนๆ แล้วมองอนาคตของอาชีพนี้ไว้อย่างไร

ผมเป็นคนคิดใหญ่ บอกตรงๆ ว่าตอนนั้นคณะผมสิ่งเดียวที่เรียนจบออกไปคือการไปเป็นครูที่โรงเรียนคนหูหนวก ผมก็มองว่าถ้าทุกคนในรุ่น 33 คน จบไปเป็นครูหมด แล้วใครจะขับเคลื่อนนโยบาย ผมก็มองว่าต้องมีใครสักคนที่อยู่ในกระทรวง ผมเลือกที่จะบังคับตัวเองไม่ไปรับใบประกอบวิชาชีพครู เพราะคณะของผมคือ Double Major ถ้าจบมาจะได้ปริญญาตรีหนึ่งใบ รวมถึงใบประกอบวิชาชีพครูอีกหนึ่งใบ แล้วผมก็พยายามดีดตัวเองเพื่อเข้าไปทำงานในกระทรวงให้ได้ กระทรวงแรกคือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็สำเร็จเพราะอาจารย์ไปคุยให้ว่าถ้าจะทำโครงการพัฒนาภาษามือ ทางกระทรวงจะเล่นด้วยไหม ผมก็เริ่มไปเป็นพนักงานแบบจ้างเหมา

  • หน้าที่ในกระทรวง?

ผมทำหน้าที่ประสานงานในโครงการพัฒนาล่ามภาษามือ ในขณะที่ผมเป็นเด็กประสานงานคนหนึ่ง ก็เลยตัดสินใจเดินไปหาผู้อำนวยการที่ดูแลฝ่ายคุ้มครองสิทธิ์ และได้เป็นส่วนหนึ่งในทีมงานโปรเจครวบรวมคนที่มีความสามารถด้านภาษามือในประเทศไทย มารวมเป็นกลุ่มแล้วพัฒนาศักยภาพเพื่อให้เขาให้บริการคนหูหนวก เพราะภาษามือมีทั้งภาษามือชุมชน ภาษามือ Home Made Style (ภาษามือที่เกิดจากคนในบ้าน) ภาษามือในโรงเรียน ซึ่งแต่ละจังหวัดก็มีศัพท์ที่ต่างกัน และภาษามือไทย จะทำอย่างไรคนที่มีพื้นฐานทางภาษากายเข้าสู่กระบวนการของภาษามือไทยได้ เราจะได้มีภาษามือกลางสักที

  • เรื่องภาษามือกลางไปถึงไหนแล้ว

ผมบอกเลยว่า 8 ปีที่ผ่านมาที่ผมเริ่มทำจนกระทั่งทุกวันนี้ ผมยังมองว่าไปไม่ถึงไหน มันก้าวแล้วถอย ไม่ก้าวกระโดด แต่ว่าระบบภายในอาจจะมีการขับเคลื่อนได้ไกลแล้ว แต่ในฐานะที่เราเป็นนักปฏิบัติตอนนี้มันยังไม่ก้าวไปไหน สิ่งที่ก้าวคือ กสทช. เข้ามามีบทบาทคือ มีการพัฒนาล่ามทีวีขึ้นมา ซึ่งพอผมมาอยู่ กสทช. ก็ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมขับเคลื่อนว่า ในต่างประเทศมีบริการสำหรับคนพิการ ประเทศไทยก็ต้องมีแล้ว ถ้าไม่มีจะเป็นหนังสือขอความร่วมมือไหม ออกเป็นระเบียบไหม จนกระทั่งสถานีโทรทัศน์ทุกวันนี้มีบริการสำหรับคนพิการ นั่นคือ ล่ามภาษามือ ต้องขอบคุณ กสทช. ครับ

แต่ในขณะที่ช่อง 7 เริ่มมีการออดิชั่น ผมก็ออดิชั่นด้วย เพราะผมมองว่าความฝันของล่ามภาษามือหลายคนคือได้นั่งอยู่หน้าจอ แล้วแปลภาษามือออกมา ก็ออดิชั่นผ่าน เลยลาออกมาจาก กสทช. จากนั้นก็ลุยยาวที่ช่อง 7

160068902870

160068902734

  • การทำงานเป็นล่ามภาษามือของข่าวช่องใหญ่?

ต้องบอกว่าช่อง 7 มีความตื่นตัวกับเรื่องนี้ ช่อง 7 ไม่ได้มีล่ามภาษามือตามระเบียบหรือตามประกาศของ กสทช. แต่ช่อง 7 ทำก่อน และทำมากกว่า ผมกล้าบอกว่าเขาให้เกียรติ ไม่ว่าจะเป็นอีเวนท์ไหน เมื่อขึ้นไปบนเวที เขาจะแนะนำเรา นี่คือผู้ประกาศช่องเราเป็นผู้ประกาศภาษามือ โอเค ผมรู้ว่าเราอยู่ในกรอบเล็กๆ เรารู้สถานะว่าอาจเป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่งของจอ แต่สิ่งที่เขาพูดมันคือการที่เราได้รับเกียรติ เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีเกียรติ ช่องพยายามให้ล่ามภาษามือมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมของสถานี อย่างฝนฟ้าอากาศ หรือสะเก็ดข่าว เราก็คุยว่าคนหูหนวกเขาคงไม่ได้อยากดูแค่ข่าวมั้งครับ เขาคงอยากดูอะไรที่มันสนุก เขาคงอยากดูอะไรที่บันเทิง และตรงกับที่ทางสถานีอยากให้แปล

  • ในทีมล่ามภาษามือของช่องเป็นใครบ้าง

มีทั้งที่เป็นครูตามโรงเรียน เป็นพนักงานประจำที่มหาวิทยาลัย สิ่งที่เราได้คือครูในโรงเรียนและล่ามประจำมหาวิทยาลัย เขาจะได้ภาษามือที่เข้มแข็ง เพราะภาษามือเป็นภาษาที่อุบัติใหม่ มีคำที่ตาย มีคำที่เกิดใหม่ สามคนนี้จะอัพเดทให้เรา ส่วนอีกสามคนในทีมจะอัพเดทเนื้อข่าว พวกเราทำงานกันเป็นทีม พอมีรายการบันเทิงเข้ามา โปรดิวเซอร์ถามว่าแปลได้ไหม ทุกคนแปลไม่ได้หรอกครับ เราเคยเรียนการแปลเพลง แต่ไม่เคยเรียนการแปลมุก แต่เราบอกว่าได้ คือเราอยากทำ เพราะเราคุยกันว่าอย่างน้อยสิ่งที่เราถ่ายทอดออกไปมันไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็ต้องมีคนที่เขาดูแล้วรู้เรื่อง สนุก เราเลยทำ

ผมไม่ได้อวยสถานี แต่เชื่อมั่นว่าเป็นช่องเดียวที่มีแปลภาษามือทั้งในเนื้อข่าวและรายการครบทุกมิติ เหลือแค่ละครครับ ผมเองอยากให้มีแปลภาษามือสำหรับละคร ขอให้มีสักเรื่องหนึ่ง ละครต้องการให้คนดูมีอารมณ์ร่วม ละครต้องการให้คนมีความสุข ละครต้องการให้มีเรทติ้ง แล้วอีก 2-3 แสนคน (จำนวนคนหูหนวกในประเทศไทย) ก็คือคนดูเหมือนกัน ทุกครั้งที่เขาดูละคร เขาชอบนะ แต่เขาเดา เขาไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แต่เขาสนุก ตื่นเต้นไปกับละคร แล้วทำไมละครไม่อยากทำให้เขาเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้น มันไม่ยากครับ เรามีบุคลากร แต่เราไม่มีค่ายละครที่พร้อมจะทำ

แปลละครง่ายเพราะคือภาษาพูด ผมถามว่าประชากรในประเทศไทยกี่คนที่นั่งดูข่าวทุกวัน แล้วอีกกี่ล้านคนที่ดูเฉพาะละคร และอีกกี่ล้านคนที่ดูเฉพาะยูทูบ ทุกคนมีสิทธิ์ แต่คนหูหนวกไม่มีสิทธิ์ มีสิทธิ์ดูได้แค่ข่าว กับบางรายการที่อยากให้ฉันดู ไม่ใช่ครับเขาอยากดูทุกรายการ เขาคือคนเหมือนเรา

  • ถ้าเป็นละครที่บอกว่าง่าย แล้วกับงานข่าว ประเภทไหนยากที่สุด

ข่าวที่ยากที่สุดคือข่าวกีฬา ข่าวกีฬาจะมีชื่อนักกีฬา ถ้าไม่ดังจริงๆ หรือไม่ติดตลาด จะไม่มีชื่อภาษามือ เราต้องสะกดชื่อเป็นคำๆ หรือเราบอกได้แค่ว่าสีแดงเตะเข้า สีขาวเตะเข้า ล่ามทุกคนอยากใส่รายละเอียดครับ ล่ามทุกคนอยากให้คนหูหนวกได้รู้ว่าคนนี้คือเมสซี่ คนนี้เลี้ยงหลบอย่างไร แต่ภาษามือมีจำกัด เขาอาจเห็นในภาพได้ แต่ถ้าดูภาพและและดูล่ามประกอบมันจะร้อยเปอร์เซ็นต์มากกว่า

และถึงแม้จะเป็นนักกีฬาดังอย่างเมสซี่ซึ่งมีชื่อภาษามือ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะดูแล้วรู้ว่าคือเมสซี่ เพราะนักกีฬาเป็นบุคคลสำคัญเฉพาะกลุ่มที่ชื่นชอบ อย่างนักวอลเล่ย์บอล คนหูหนวกไทยจะรู้ว่านักวอลเลย์บอลเบอร์ 5 คือปลื้มจิตร์ แต่ในขณะเดียวกันถ้าเปลี่ยนทีมเป็นบราซิลเบอร์ 5 ก็จะไม่รู้ นี่คือความยากของข่าวกีฬา

  • ศัพท์ใหม่ของภาษามือ ขึ้นอยู่กับศัพท์ใหม่ของภาษาไทยใช่ไหม

ใช่ครับ อย่างก่อนหน้านี้ไม่มีคำว่ากิ๊ก ไม่เคยมีคำว่า หัวร้อน ไม่เคยมีคำว่า พักก่อน มันไม่เคยมีอยู่ในพจนานุกรมของคนหูหนวก มันคือคำเกิดใหม่ พจนานุกรมของเราทุกวันนี้คือการถามคนหูหนวกเลย เพราะฉะนั้นบางคำที่เราถ่ายทอดออกมาไม่ได้เป็นคำศัพท์สากลที่คนหูหนวกทั้งประเทศรู้ แต่เป็นคำที่เราคือสื่อที่จะทำให้คุณรู้ว่าใช้คำนี้ เราจึงสะกดไปเลย เช่น พักก่อน คือ พอ ไม้หันอากาศ กอ กอ ไม้เอก ออ นอ แล้วท่าโอเคไหม เราอธิบายไปเสร็จ คุณอยากเล่นมุกพักก่อน ก็อยู่ที่บุคลิก สีหน้า ท่าทาง เพราะภาษามือมีไวยากรณ์ สีหน้าท่าทาง และการเคลื่อนไหว 

แค่เราหันทางหนึ่งก็แปลว่าคนหนึ่งพูด หันอีกทางก็แปลว่าอีกคนพูด ถ้าเราโยกไปด้านหน้าแปลว่าอนาคต ถ้าเราอยู่ตรงกลางแปลว่าปัจจุบัน ถ้าเราแปลแล้วเอนหลังคือเรื่องที่เป็นอดีต การโยกตัวเคลื่อนไหวคือความหมายทั้งหมดในภาษามือ

160068902896

160068902753

  • กับข่าวการเมืองยากไหม

ข่าวการเมืองยากในข้อกฎหมาย หรือภาษากฎหมาย ภาษากฎหมายบางคำต้องยอมรับว่าเราข้าม เพราะด้วยเป็นข่าวการเมือง การเมืองเป็นข่าวที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติและความมั่นคง เราไม่สามารถที่จะทำความเข้าใจเอง แปลเอง ให้ความหมายเองได้ แต่เราจะบอกในนั้นว่าเราไม่เข้าใจศัพท์คำนี้ ถ้าเขาบอกว่าเราแปลไม่รู้เรื่อง ไม่ใช่ แต่เราไม่เข้าใจคำนี้ เราจะทำภาษามือไปเลยว่าฟังไม่เข้าใจ

แล้วคำกฎหมาย นักกฎหมายบางคนยังพูดให้คนปกติฟังไม่รู้เรื่องเลย แล้วเราไม่เคยเรียนกฎหมาย เราฟังครั้งเดียวไม่ได้ครับ พอจบปุ๊บผมจะถามผู้ประกาศคนหนึ่งที่จบนิติศาสตร์ว่าคำนี้คืออะไร เช่น แผนประกอบคำรับสารภาพ ก็คือแผนทำผิดแล้วยอมรับในภาษามือ หรือ ให้การภาคเสธ ก็คือรับกึ่งหนึ่ง ไม่รับกึ่งหนึ่ง เราก็ต้องแปลว่า พบตำรวจแล้ว ให้ข้อมูลแล้ว มียอมรับและไม่ยอมรับ 50/50 นะ ซึ่งพวกนี้ล่ามต้องรู้ว่าผู้ประกาศคนใดเก่งอะไร เพราะเราจะต้องอยู่กับเขาตลอด

  • สำหรับช่อง 7 เห็นชัดแล้วว่าให้เกียรติล่ามภาษามืออย่างไร แต่กับโดยทั่วไป การให้เกียรติวิชาชีพนี้เป็นอย่างไรบ้าง

พูดตรงได้ใช่ไหมครับ บอกได้เลยว่าไม่เสมอภาคครับ พี่เจ็ม ชมพูนุช ที่ปัจจุบันเป็นผู้ประกาศของเวิร์คพอยท์ เมื่อก่อนอยู่ช่อง 7 เป็นคนหนึ่งที่เสนอว่าต้องแนะนำล่ามภาษามือ ถามว่าโดยทั่วไปให้เกียรติไหม บางช่องคุณต้องเตรียมตัวมาเอง มาถึงเข้าไปทำหน้าที่เลย หน้าตา ผมเผ้าจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่คุณ ผมมองว่าแบบนี้คือเป็นแค่ตัวประกอบหนึ่งที่ทำเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย คุณไม่ได้ตั้งใจทำ แต่ ณ ตอนนี้เสื้อผ้าหน้าผมของช่อง 7 โอเค ช่องอื่นก็ทำ เขาอาจจะไม่ได้มองถึงความสำคัญ ณ ตอนนั้นก็ได้ แต่พอช่อง 7 ทำ อาจทำให้ช่องอื่นต้องเตรียมเสื้อผ้าให้เขา ต้องทำผม ทำนู่นทำนี่ให้เขา อย่างเรามีเครือข่ายในทุกช่อง ก็จะรู้ว่าใครเริ่มทำอะไรบ้างแล้ว

ผมกล้าพูดแทนเพื่อนๆ ร่วมวิชาชีพว่ามีอีกหลายช่องที่ยังไม่เห็นคุณค่าของการถ่ายทอดภาษามือ ผมอยากให้ลองกลับไปปิดเสียงทีวี แล้วคุณนั่งดูแต่ภาพ คุณจะอึดอัดไหม อยากให้ลองปิดเสียงวิทยุ แล้วคุณดูแค่สเกลขึ้นๆ ลงๆ เสียงต่ำเสียงสูง แต่คุณไม่รู้ว่าในวิทยุพูดอะไรอยู่โดยที่คุณต้องจ่ายค่าไฟ คุณจะรู้สึกอย่างไร

  • ในอดีตวงการนี้ไม่ดีมาก ปัจจุบันดีขึ้น แล้วอนาคตคิดว่าจะเป็นอย่างไร

อนาคตผมยังอยากให้ภาครัฐผลักดันให้มากกว่านี้ ผมต้องการให้มีสภาวิชาชีพล่ามภาษามือ คุณมีสภาการพยาบาล มีสภาแพทย์ มีสภาทนายความ ล่ามภาษามือคืออีกหนึ่งอาชีพที่คุณเห็นเราอยู่ในหน้าจอ ในขณะที่ผู้ประกาศที่นั่งอยู่ข้างๆ เรา เขาก็มาสภาของเขา กรมประชาสัมพันธ์ดูแล แต่ล่ามภาษามือไม่มีสภาวิชาชีพ ไม่มีผู้พิทักษ์สิทธิ์ล่ามภาษามือ พวกเราตอนนี้เหมือนเมฆฝน ตกลงมาก็สลาย ก่อตัวใหม่ให้ยิ่งใหญ่ ตกลงมาก็หาย ตราบใดที่ยังไม่มีสภาวิชาชีพ คนที่จะเป็นล่ามภาษามือจะลดน้อยลงเรื่อยๆ เพราะการมีสภาวิชาชีพหมายถึงความมั่นคงในวิชาชีพ หมายถึงการยอมรับทั้งในหลักสูตร การปฏิบัติงาน ถ้ายังไม่มีผมบอกเลยว่าล่ามภาษามือของเราจะหายไปเรื่อยๆ

  • คนที่อยากมาเป็นล่ามภาษามือ จริงๆ แล้วต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

สิ่งที่คุณต้องทำคือต้องมาศึกษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนหูหนวก และเมื่อศึกษาแล้วต้องอยู่ร่วมกับเขาได้ คุณจะทำงานร่วมกับเขาได้ ไม่ใช่ว่าวัฒนธรรมเขาไม่ดี แต่การที่จะศึกษาวัฒนธรรมใครสักคนหนึ่ง มันทำให้เราทำงานด้วยกันอย่างมีความสุข

สอง ใจรักในการทำงาน สามคือการที่เราต้องจิตแข็ง เราต้องพร้อมรับพลังบวก พร้อมรับพลังลบ เราต้องพร้อมรับคำติชม เราต้องพร้อมรับคำแนะนำ เราต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา สิ่งที่อาจารย์ผมสอนตลอดเวลา คือ เราต้องอ่อนน้อมและยอมรับ เราอย่าบอกว่าเราทำดีแล้ว หากเราทำดีแล้ว จะไม่มีใครแนะนำเรา การที่เขาแนะนำเราคือเขามองว่าเราควรจะปรับปรุง และการที่เขาไม่แนะนำเราเลย ไม่ได้แปลว่าเราเก่ง แต่เขาอาจไม่ชอบเรา ตราบใดที่คุณได้รับคำตำหนิคือคุณยังเป็นที่รักอยู่

สิ่งสุดท้ายที่ล่ามภาษามือต้องมี คือ ใจล้วนๆ ครับ คุณจะโอเคไหมที่จะมาทำงานตอนนี้ที่ไม่ได้รับเกียรติใดๆ เลยจากสังคม คุณจะโอเคไหมที่ไปงานสังคมแล้วไม่มีตำแหน่งหรือยศนำหน้า คุณจะมองตำแหน่งกับยศเป็นจุดสำคัญในการดำรงชีวิต หรือคุณจะมองคุณค่าการทำงานเป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิต มองตรงนี้ให้แตก แล้วเป็นล่ามภาษามือได้แน่นอน