6 และ 14 ต.ค.นี้ สดร. ชวนจับตา 'ดาวอังคาร' ใกล้โลกที่สุด
6 และ 14 ตุลาคมนี้ สดร. ชวนจับตา "ดาวอังคาร" (MARS) ใกล้โลกที่สุดห่างจากโลกประมาณ 62 ล้านกิโลเมตร และดาวอังคารอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โพสต์เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า
ชวนดู "ดาวอังคาร" ปรากฏสีส้มแดงสว่างเด่นชัด หากฟ้าใสไร้ฝนสังเกตเห็นด้วยตาเปล่าทั่วไทย หรือจะมาดูพื้นผิวและขั้วน้ำแข็งดาวอังคารผ่าน กล้องโทรทรรศน์ กับ NARIT ที่ 4 จุดสังเกตการณ์หลัก เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา ก็ได้ และพิเศษสำหรับครั้งนี้ เรามี LIVE ปรากฏการณ์ทางเฟซบุ๊ก NARIT ด้วย
ช่วงนี้ หากสังเกตท้องฟ้าทางทิศตะวันออกในตอนกลางคืน จะเริ่มเห็นดาวอังคารสว่างเด่นชัดอยู่บนท้องฟ้า เป็นสัญญาณให้รู้ว่าดาวอังคารจะกลับมาใกล้โลกอีกครั้ง ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสังเกตการณ์ดาวอังคารใกล้โลกที่สุดคือ ช่วงระหว่างวันที่ 6 – 14 ตุลาคม 2563
วันที่ 6 ตุลาคม ดาวอังคารจะโคจรอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุด ห่างจากโลกประมาณ 62 ล้านกิโลเมตร ค่าอันดับความสว่างปรากฏอยู่ที่ประมาณ -2.6 (ค่าอันดับความสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงประมาณ -12.6) สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาด 10 นิ้ว กำลังขยายตั้งแต่ 100 เท่าขึ้นไป จะเห็นพื้นผิวดาวอังคารได้อย่างชัดเจน
ส่วนวันที่ 14 ตุลาคม "ดาวอังคาร" จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Mars Opposition) หมายถึง ดวงอาทิตย์ โลก และดาวอังคารจะเรียงตัวอยู่ในเส้นเดียวกัน เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก ดาวอังคารจะโผล่ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกพอดี มีระยะทางห่างจากโลกประมาณ 62.7 ล้านกิโลเมตร ทำให้สามารถสังเกตการณ์ดาวอังคารได้ตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้าของวันถัดไป
NARIT เตรียมจัดสังเกตการณ์ดาวอังคารทั้ง 2 วัน ชวนส่องดาวเคราะห์แดงผ่านกล้องโทรทรรศน์ สังเกตพื้นผิวและน้ำเเข็งขั้วใต้บนดาวอังคาร พร้อมส่องวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจอื่น ๆ อาทิ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ กระจุกดาวทรงกลม M4 กระจุกดาวคู่ กาแล็กซีแอนโดรเมดา
ทั้งนี้ "ดาวอังคาร" เป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะลำดับที่ 4 มีขนาดเล็กกว่าโลกครึ่งหนึ่ง พื้นผิวปกคลุมไปด้วยฝุ่นสนิมเหล็ก จึงเห็นปรากฏเป็นสีส้มแดงเป็นที่มาของชื่อ Mars ในภาษาอังกฤษที่ตั้งตามชื่อเทพเจ้าแห่งสงครามของกรีกโรมัน พื้นผิวดาวมีสภาพคล้ายทะเลทราย แต่มีอุณหภูมิต่ำ เป็นดาวเคราะห์ที่คาดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะพบสิ่งมีชีวิตมากที่สุด วงโคจรของดาวอังคารค่อนข้างรีเมื่อเทียบกับดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ทำให้ระยะห่างของดาวอังคารในช่วงใกล้โลกแต่ละครั้งไม่เท่ากัน ซึ่งดาวอังคารจะเข้าใกล้โลกในทุก ๆ 2 ปี 2 เดือน และจะเข้าใกล้โลกมากที่สุดทุก ๆ 15 - 17 ปี
สิ่งที่ควรทำความเข้าใจสำหรับนักถ่ายภาพดาวเคราะห์
ในการถ่ายภาพดาวเคราะห์ นั้น เราจำเป็นต้องถ่ายภาพกล้องโทรทรรศน์ที่มีทางยาวโฟกัสสูงๆ เนื่องจากดาวเคราะห์นั้นมีขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับการถ่ายภาพพวกกาแล็กซี หรือเนบิวลา และควรบันทึกภาพด้วยกล้องเว็บแคม (WebCam) หรือกล้องถ่ายภาพที่มีขนาดของเซ็นเซอร์เล็ก ซึ่งส่งผลต่อขนาดของภาพแล้ว ยังมีรายละเอียดต่างๆ ที่นักถ่ายภาพดาวเคราะห์ควรคำนึงถึงดังนี้
ความยาวโฟกัส กล้องโทรทรรศน์หรือเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสมาก ก็จะมีกำลังขยายมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งส่งผลต่อภาพดาวเคราะห์ที่จะมีขนาดใหญ่ตามมาด้วย นอกจากนี้ความยาวโฟกัส ยังสามารถนำไปคำนวณขนาดของวัตถุท้องฟ้า หรือขนาดภาพ ที่จะเกิดขึ้นจริงบนอุปกรณ์ถ่ายภาพ หรือ CCD ดาราศาสตร์ได้อีกด้วย
ขนาดหน้ากล้อง เปรียบได้กับพื้นที่รับแสงของวัตถุท้องฟ้า ยิ่งกล้องโทรทรรศน์หรือเลนส์ มีขนาดใหญ่เท่าไรความสามารถในการรับแสงก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น รวมทั้งส่งผลโดยตรงกับระยะเวลาในการถ่ายภาพก็จะน้อยลง ตามไปด้วย
Frame rate หรือจำนวนภาพต่อวินาที ยิ่งอุปกรณ์มีจำนวน frame rate มากเท่าไหร่ เราก็จะได้จำนวนภาพที่มากขึ้นเท่านั้น และส่งผลดีต่อการนำภาพไปประมวลผลภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการประมวลผล เราจะคัดเลือกภาพถ่ายที่ดีที่สุดมาใช้ในการประมวลผล ดังนั้นหากมีจำนวนภาพถ่ายมากก็จะมีตัวเลือกมากขึ้น ตัวอย่างเช่น หากถ่ายภาพได้ 2,000 เฟรม ก็อาจเลือกเฉพาะเฟรมที่ดีที่สุดแค่ 1,000 เฟรมเท่านั้นเพื่อนำมาใช้ในการประมวลผล ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถของอุปกรณ์บันทึกภาพ
ระยะเวลาการเปิดหน้ากล้อง ดาวอังคารมีความเร็วในการหมุนรอบตัวเองโดยใช้เวลา 24 ชั่วโมง 37 นาที ในการหมุนรอบตัวเอง 1 รอบ ดังนั้นควรใช้เวลาในการถ่ายภาพไม่เกิน 4 นาที เนื่องจากดาวอังคารมีขนาดค่อนข้างเล็ก และหมุนช้ากว่าดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ จึงสามารถใช้เวลาในการถ่ายได้มากกว่า และใช้กำลังขยายไม่ต่ำกว่า 50 เท่า ของขนาดหน้ากล้องโทรทรรศน์
ตำแหน่งดาวเคราะห์ แนะนำให้เริ่มถ่ายดาวเคราะห์ในตำแหน่งที่ดาวเคราะห์อยู่ในมุมเงยที่สูงที่สุด เพื่อหลีกหนีปัญหาของมวลอากาศที่หนาแน่นบริเวณขอบฟ้า ซึ่งมักทำให้เกิดภาพที่สั่นไหว
การควบคุมอุณหภูมิสถานที่ถ่ายภาพ ควรควบคุมอุณหภูมิของสถานที่ถ่ายภาพโดยรอบให้มีอุณภูมิต่ำ(ไม่ร้อน) โดยอาจใช้น้ำราดพื้นบริเวณที่กล้องถ่ายภาพติดตั้งอยู่เพื่อป้องกันไม่ให้มวลอากาศร้อนไหลผ่านหน้ากล้องโทรทรรศน์ ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพของภาพถ่ายได้เช่นกัน