รู้อะไรก็ไม่สู้รู้จริง : รู้จัก ‘มิวเซียมสยาม’ ผ่าน ‘นักบริการความรู้’

รู้อะไรก็ไม่สู้รู้จริง : รู้จัก ‘มิวเซียมสยาม’ ผ่าน ‘นักบริการความรู้’

ถ้า ‘มิวเซียม’ หรือ ‘พิพิธภัณฑ์’ คือแหล่งรวมความรู้ ‘เจ้าหน้าที่ให้บริการความรู้’ คงเปรียบเหมือนกระบอกเสียง ที่จะถ่ายทอดทั้งสาระและบันเทิงให้คนเข้าใจง่าย

พอพูดถึง พิพิธภัณฑ์ หลายคนคงเมินหน้าหนี เพราะภาพจำมาแต่ไหนแต่ไร พิพิธภัณฑ์คือความน่าเบื่อ เชย แม้ว่าจะเป็นแหล่งความรู้แต่ก็ยังเป็นความรู้ที่ไม่น่าสนใจอยู่ดี

จนกระทั่งปี 2551 ที่ มิวเซียมสยาม หรือ พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ เปิดให้บริการ นับเป็นการพลิกโฉมพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยครั้งใหญ่ทีเดียว โดยการนำสื่อต่างๆ มาประยุกต์ ใส่เทคนิคลูกเล่นมากมายเพื่อสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ในการเสพความรู้

แต่นอกจากกลวิธีนำเสนอที่เป็นจุดเด่นของ “มิวเซียมสยาม” ยังมีอีกหนึ่งกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ที่อาจเข้าใจยาก ย่อยให้เข้าใจง่าย และดึงดูดความสนใจ นั่นคือ เจ้าหน้าที่ให้บริการความรู้

‘แจน’ – กรภัค สุทธิยะรักษ์ หนึ่งในเจ้าหน้าที่ให้บริการความรู้ของมิวเซียมสยาม บอกว่า หน้าที่ของพวกเธอคือสารพัดอย่างเกี่ยวกับความรู้ ตั้งแต่ดูแล อำนวยความสะดวก ไปจนถึงให้ข้อมูลทุกอย่างที่ผู้ชมสงสัย เธอทำงานนี้มาร่วม 7 ปีแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นเธอคือนักโบราณคดีที่ผันตัวจาก ‘หัวหน้าคน’ มาเป็นผู้ให้บริการ

“ตัวพิพิธภัณฑ์มีอยู่ 2 ส่วน คือ นิทรรศการถาวรกับนิทรรศการชั่วคราว ตอนสมัครเราตั้งใจว่าจะสมัครนิทรรศการถาวร แต่ผู้ใหญ่ยังไม่มั่นใจว่าจะทำได้ไหม ด้วยบุคลิกภาพตอนนั้นที่ยังไม่น่าเชื่อถือ ก็เลยไปอยู่นิทรรศการชั่วคราวก่อน พอเสร็จจากตรงนั้นก็มาอยู่นิทรรศการถาวร มาจนถึงบัดนี้”

ความแตกต่างของเจ้าหน้าที่ให้บริการความรู้นิทรรศการถาวรกับนิทรรศการชั่วคราว คือ นิทรรศการถาวรจะได้เซ็นสัญญาเป็นเจ้าหน้าที่ ส่วนนิทรรศการชั่วคราวจะเป็นสัญญาแค่ 3 เดือน ถ้าทำแล้วไม่ชอบหรือไม่เหมาะสมก็ยุติหน้าที่ได้ อีกอย่างที่เป็นความแตกต่างในแง่เนื้อหาคือความหลากหลายที่เจ้าหน้าที่ให้บริการความรู้ต้องรับมือ แจนอธิบายว่านิทรรศการถาวร หลักๆ จะเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม แต่นิทรรศการชั่วคราวจะเล่าหลายเรื่องมาก เช่น ตอนนั้นที่เธอทำเป็นเรื่อง ‘ไฉไลไปไหน?’ เกี่ยวกับความสวยความงาม คนเรามองกันที่เปลือกนอกหรือเปล่า เป็นต้น ซึ่งเธอก็บอกว่าทั้งสองแบบสนุกแตกต่างกัน โดยที่แทบจะไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก ส่วนหนึ่งจากสิ่งที่เรียนมาด้านโบราณคดีก็เกี่ยวพันกับเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มักจะเป็นเนื้อหาหลักของแต่ละนิทรรศการอยู่แล้ว

160257408286

160257408179

“สำหรับแจนงานนี้มันง่ายมากด้วยซ้ำ ด้วยความที่ว่าเนื้อเรื่องนิทรรศการแรก ‘เรียงความประเทศไทย’ เล่าประวัติศาสตร์ประเทศไทยมาเป็นไทม์ไลน์ ตั้งแต่สุวรรณภูมิ สยามประเทศ มาถึงประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งตรงกับสายที่เราเรียนมา พอเราเล่าเรื่องก็จะได้เปรียบคนอื่นเพราะเราดึงสิ่งที่เรียนมาประยุกต์ใช้ บางทีเราไม่ได้เล่าแค่ในนิทรรศการ แต่เล่านอกเหนือแล้วทำให้ผู้ชมเข้าใจนิทรรศการมากขึ้น”

สำหรับ “เจ้าหน้าที่ให้บริการความรู้” ท่านอื่นๆ ก็ต้องรู้เรื่องเกี่ยวกับนิทรรศการทั้งหมด ไม่ว่าจะมาจากสายใดก็ตาม แต่ว่าเรื่องความรู้รอบตัวก็แล้วแต่บุคคล ทว่าเรามีชุดความรู้ที่ทำไว้ให้ เช่น สถานที่ท่องเที่ยวรอบมิวเซียมมีอะไรบ้าง สถานที่สำคัญต่างๆ อยู่ตรงไหน

“คุณสมบัติแรกที่คนจะมาทำหน้าที่นี้ต้องมีคือ ใจรัก พูดแล้วดูสวยนะ แต่มันคือเรื่องจริง ถ้าเราไม่รัก เราจะไม่ให้ความสำคัญ และจะทำมันไม่ได้เต็มที่ ไม่มีประสิทธิภาพ ทำงานไปวันๆ อยู่ไปแบบไม่มีความสุข ถ้าเราไม่ได้รัก

และต้องมีความใฝ่รู้ใฝ่เรียน เป็นคนช่างสังเกตด้วย เช่น ผู้ชมมาอย่างแรกเลยคือเราต้องสังเกตก่อน ไม่ใช่ว่าผู้ชมทุกคนจะต้องการเจ้าหน้าที่ เหมือนเวลาไปชอปปิง บางทีก็มีคนที่อยากดูนิทรรศการเอง ส่วนบางคนที่ต้องการเจ้าหน้าที่ ก็ต้องสังเกตให้เป็น

เรื่องต่อมาคือต้องมีความรู้รอบตัว ตอบคำถามผู้เข้าชมให้ได้ แต่ถ้าเราไม่ทราบก็ต้องมีวิธีการแก้ไขปัญหา เช่น ให้ทิ้งอีเมลไว้แล้วเราหาคำตอบส่งให้เขา”

160257408180

160257408149

ถึงหน้าที่ของ “เจ้าหน้าที่ให้บริการความรู้” จะเป็นผู้ให้ (ข้อมูลความรู้) แต่ความท้าทายในแต่ละวันคือการได้พบเจอผู้ชมมากหน้าหลายตา ที่บ่อยครั้งก็ทำให้พวกเธอได้เป็น ‘ผู้รับ’ ซึ่งมักจะมาพร้อมคำถามที่อาจต้องอธิบายกันยาวหรือไม่ก็ยังไม่จบบริบูรณ์ เพราะเมื่อคำถามที่ยังไม่มีคำตอบในวันนี้ วันพรุ่งนี้ “เจ้าหน้าที่ให้บริการความรู้” ต้องตอบได้ นั่นเท่ากับเป็นการสร้างชุดความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้แจนยังเล่าด้วยว่าการพบปะผู้คนมากๆ ก็มักจะนำมาซึ่งแรงปะทะ ผู้ชมบางคนมีความรู้ที่แลกเปลี่ยนกันได้ แต่มีไม่น้อยที่ความรู้มักจะมาพร้อมความเชื่อ เธอจึงต้องผ่อนหนักผ่อนเบาไม่ให้เกิดการถกเถียงหรือความไม่พอใจ จนแทบจะไม่มีผู้ชมติติงการทำงานของ “เจ้าหน้าที่ให้บริการความรู้” ของมิวเซียมสยามเลย

“พันธกิจของมิวเซียมสยามคือเราต้องการดึงคนดูให้มาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ เราจะทำอย่างไรได้บ้าง เช่น มีอีเวนท์ไหม มีการร่วมสนุกทางเฟซบุ๊คไหม เพราะอย่าลืมว่าคนเราทุกวันนี้จะอยู่ในโซเชียลมีเดียค่อนข้างมาก อย่างน้อยถ้าเราดึงคนจากโลกออนไลน์มาสู้โลกความเป็นจริงได้ เราก็พร้อมจะทำให้มากที่สุด

ซึ่งที่ผ่านมาคนรับรู้ว่าพิพิธภัณฑ์จับต้องไม่ได้ สองมีเจ้าหน้าที่นั่งอยู่มุมห้อง นั่งอ่านหนังสือพิมพ์ ถักโครเชต์ แต่ที่นี่คือไม่ใช่ เจ้าหน้าจะตื่นตัวมาก และจับต้องได้ ถ่ายรูปได้ เล่นกับสิ่งของได้ จึงเป็นอะไรที่แปลกใหม่มาก บางทีผู้ชมมาถามว่าของนี้จับได้ไหม เล่นได้ไหม เราบอกเลยว่าคอนเซปต์เราคือพิพิธภัณฑ์แนวใหม่ ทำได้ทุกอย่าง สงสัยเราก็มีเจ้าหน้าที่ประจำห้องให้ แต่เจ้าหน้าที่เราไม่ได้มีหน้าที่นำชม เราจึงต้องสังเกตก่อนว่าผู้ชมต้องการให้เรานำชมหรือแนะนำไหม”

ในยุคที่หลายบริษัทหลายองค์กรพยายามลดจำนวนพนักงานลงเพราะคิดว่าลดต้นทุน แต่การมี “เจ้าหน้าที่ให้บริการความรู้” คือการเติมให้การนำเสนอความรู้ครบถ้วนสมบูรณ์ เสน่ห์ของการเล่าเรื่องผ่านความรู้ของคนเป็นสิ่งที่ AI ทดแทนได้ยาก แจนบอกว่าหัวใจคือความใส่ใจ ความอ่อนโยน ประเมินความรู้สึกของผู้ชมที่เกิด ณ ขณะนั้น รวมถึงลีลาการเล่าเรื่องที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะบุคคล