ประกาศแล้ว! ภาพประกอบ ‘อิ๊กคาบ็อก’ ฝีมือคนไทยในหนังสือ ‘เจ.เค. โรว์ลิ่ง’
เปิดใจคณะกรรมการตัดสินภาพประกอบของคนไทยที่จะได้ตีพิมพ์จริงใน “อิ๊กคาบ็อก” วรรณกรรมเยาวชนเล่มใหม่ของ “เจ.เค. โรว์ลิ่ง”
หลังจากนานมีบุ๊คส์เผยแพร่เนื้อหา อิ๊กคาบ็อก วรรณกรรมเยาวชนเล่มใหม่ของ เจ.เค. โรว์ลิ่ง ให้อ่านฟรีบนเว็บไซต์ต่อเนื่อง 7 สัปดาห์ (18 ส.ค.-2 ต.ค.) และชวนเด็กๆ อายุ 7-13 ปีทั่วประเทศเข้าร่วม โครงการประกวดวาดภาพประกอบอิ๊กคาบ็อก เพื่อคัดเลือกผลงานไปตีพิมพ์ในหนังสือที่จะวางจำหน่ายวันที่ 28 พ.ย.
เมื่อวันที่ 15 ต.ค. คณะกรรมการได้ประกาศผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศทั้ง 34 คนอย่างเป็นทางการจาก 2,683 ภาพทั่วประเทศ ไปฟังเหตุผลกันว่าทำไมทั้ง 34 ภาพนี้ถึงได้รับรางวัลชนะเลิศ
ครูสังคม ทองมี ผู้อำนวยการศูนย์ศิลป์สิรินธร กล่าวว่า “ผลงานโดยรวมของเด็กๆ ที่เข้าร่วมโครงการนี้ดีมาก มีความคิดดี ที่สำคัญคือมีทักษะ ฝีมือของเด็กไทยอยู่ในระดับสูง คุณภาพที่ทัดเทียมกับเด็กๆ ที่เข้าร่วมโครงการนี้ของประเทศอื่น จินตนาการของเด็กไทยเป็นสากล ไม่ว่าจะเป็นลักษณะ บุคลิก คาแรคเตอร์ต่างๆ หรือเรื่องราวในภาพ กรรมการก็ลำบากใจมากกว่าจะได้ภาพชนะเลิศ เราก็ต้องเลือกภาพที่มีความโดดเด่นที่สุด ภาพที่ได้รับคัดเลือกไม่ใช่ลายเส้นที่หาได้ทั่วไป ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เรามองหา”
โครงการนี้เน้นจินตนาการเป็นสำคัญ ครูสังคมบอกว่าเด็กต้องอ่านความคิดของนักเขียน แล้วจินตนาการเรื่องราวออกมาเป็นภาพวาด โดยดึงจุดสำคัญของแต่ละตอนออกมาเป็นไฮไลต์ เด็กๆ ตีความจินตนาการของนักเขียนด้วยจินตนาการของตัวเองออกมาเป็นภาพวาด อ่านความคิดของนักเขียน แปลงตัวอักษรมาเป็นภาพ ซึ่งต้องอ่านและตีความตามจินตนาการของตัวเอง ซึ่งต่างจากโครงการประกวดวาดภาพทั่วไป บางคนวาดสวย อาจจะอ่านเนื้อหาน้อย หรือผู้ใหญ่มาแทรกแซง และมีเรื่องของความถูกต้องด้วย สวยแต่ไม่ถูกกติกาก็ไม่ผ่าน สวยเพราะมีแต่ทักษะแต่ขาดจินตนาการก็ไม่ได้
“ต้องเป็นงานที่ไม่เห็นได้ดาษดื่นโดยทั่วไป ไม่จำเป็นต้องใส่ทักษะจัดเต็ม ระบายสีแบบมืออาชีพ บางตอนแค่บอกจุดเด่นของเนื้อเรื่อง และถ่ายทอดออกมา เทคนิคก็มีหลากหลาย บางภาพไม่ต้องใส่ฉากมาเยอะแยะ แต่ดูแล้วให้ความรู้สึกสนุก อิสระ เป็นเอกลักษณ์ โดดเด่น ไม่ซ้ำใคร(Uniqueness) ต้องไม่ลอกคนอื่นมา ทั้งความคิด เส้น สี การจัดองค์ประกอบ โดดเด่น มีเอกลักษณ์ (Uniqueness) บางภาพไม่ต้องเยอะ แต่สนุก ไม่น่าเบื่อ ไม่มีอิทธิพลของผู้ใหญ่แทรกแซงหรือควบคุม (Adult influence) ผมพิจารณาจุดนี้มากเป็นพิเศษ ที่สำคัญต้องมีทักษะการอ่าน (reading ability) และทักษะทางศิลปะ (art ability) เพราะต้องอ่านแล้วตีความและจินตนาการออกมาเป็นภาพ บางภาพสวยแต่สวยแบบเห็นได้ทั่วไป ไม่มีเอกลักษณ์ก็ไม่ผ่าน
การได้มีผลงานไปตีพิมพ์ในหนังสือของนักเขียนระดับโลกอย่าง เจ.เค. โรว์ลิ่ง ผมว่ามันเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น ยิ่งใหญ่ และเป็นเกียรติมาก ขอบคุณที่โครงการนี้ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ถ่ายทอดจินตนาการของเขา มันคืองานศิลปะ บางภาพสื่อนิดเดียว ไม่ต้องสร้างองค์ประกอบภาพอะไรมากมายแต่ให้ความรู้สึกเยอะ หลายคนฉายแววอนาคตไกลเลย”
ด้าน ผศ. ดร.อภิชาติ พลประเสริฐ หัวหน้าภาควิชาศิลปะ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ผลงานของเด็กๆ ที่ส่งเข้ามาร่วมโครงการนี้มีความเป็นอินเตอร์และสร้างความเซอร์ไพรส์มาก
“เมื่อเทียบกับหลายๆ เวทีที่เน้นทักษะอย่างเอาเป็นเอาตาย ซึ่งทำให้ภาพมีความเคร่งเครียด เป็น serious art ในขณะที่โครงการนี้ปูพื้นฐานด้วยการอ่านที่เต็มไปด้วยอิสระ เข้ากับเด็ก เปิดกว้างทางจินตนาการ ผลงานที่ออกมาจึง full of imagination และมีลายเส้นแบบเด็กๆ ออกมาด้วย ทำให้เรารับรู้ความรู้สึกของเด็กผ่านผลงาน
มันคือการผสมผสานและทำงานร่วมกันระหว่าง ‘นักเขียนระดับโลก’ กับ ‘เด็กๆ ของโลก’ จึงเป็นโครงการที่ตื่นเต้นแบบผ่อนคลายและสนุกสนาน เป็นการแชร์ความเป็นมืออาชีพแบบนักเขียนระดับโลกสู่มืออาชีพตัวเล็กๆ อย่างเด็กๆ ที่จะเป็นอนาคตของโลก ซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญ”
การเล่าเรื่องผ่านเส้นเป็นการต่อเติมและผสมผสานจินตนาการกับนักเขียน อาจารย์อภิชาติบอกว่าเส้นที่ออกมาจึงสะท้อนความอิสระของความคิด สะท้อนความรู้สึกของภาพผ่านเส้นและสี การจัดวางต่างๆ มีความบริสุทธิ์ของเด็กด้วย ส่วนหนึ่งมาจากการตั้งต้นของวรรณกรรมที่มีความอิสระ ผ่อนคลาย พอเด็กถ่ายทอดออกมาก็เลยได้ทั้งเส้น สี ที่ full of imagination ตามไปด้วย ความเป็นเด็กออกมาเต็มที่ กรรมการจึงรู้สึกเอนจอยกับรูปร่าง เส้น และสีที่เด็กถ่ายทอดออกมา ไม่น้อยไปกว่าการได้อ่านเนื้อเรื่อง รียกว่าเนื้อเรื่องส่งเสริมภาพ ภาพเติมเต็มเนื้อเรื่อง
“ภาพที่เราคัดเลือก บางทีอาจจะขัดความรู้สึกของหลายๆ ท่านที่คุ้นเคยกับการประกวดที่เน้นเรื่องทักษะ การลากเส้นที่ตรง การไล่สีที่เนี้ยบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นทักษะเหล่านี้เป็นทักษะเชิงช่าง แต่การตัดสินโครงการนี้เราใช้หลักเกณฑ์ในการแสดงออกที่มีความบริสุทธิ์ผ่านเส้นสีที่บริสุทธิ์ เห็นแล้วเกิดจินตนาการและรู้สึกอิสระตามไปด้วย ความลื่นไหลของเส้นที่ไม่สะดุดด้วยความพยายามเกินไปที่จะไล่สีให้เนี้ยบ ลากเส้นให้ตรงเป๊ะ แต่ด้วยวัตถุประสงค์ของโครงการนี้และบริบทที่ต้องการให้เด็กๆ สื่อสารจินตนาการออกมา จึงทำให้ลายเส้นที่อิสระเหมือนจะวาดง่ายๆ ได้รางวัล
ในแวดวงศิลปะก็มีศิลปะและมีศิลปินประเภทนี้ ซึ่งเรียกว่า Modern art โดยเฉพาะในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาจะเห็นว่าศิลปินหลายๆ คนพยายามที่นำภาพของเด็กมาศึกษาว่าเด็กมีความรู้สึกอย่างไร ลากเส้นอิสระอย่างไร อย่างปิกัสโซ่และฌูอัน มิโรก็วาดภาพออกมามีลายเส้นเหมือนเด็ก เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งที่เด็กเห็น รู้สึก และแสดงออก มีความบริสุทธิ์ เมื่อบริสุทธิ์ก็สบายใจ เมื่อสบายใจก็ทำให้เกิดจินตนาการที่ลื่นไหล
งานศิลปะของเด็กๆ ทั่วโลกก็เป็นทำนองนี้ ในประเทศที่ให้คุณค่ากับงานของเด็กมันก็เป็นงานที่อิสระ full of imagination ดูแล้วสบายแบบเด็กๆ ซึ่งทำให้เด็กได้วาดภาพแบบมีความสุข แต่ถ้าเป็นโครงการที่ตัดสินบนพื้นฐานที่ต้อง very skill full มากๆ คนที่รู้สึกว่าตัวเองวาดภาพได้แบบนั้นมีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ของประเทศหรอก ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การวาดภาพหรือศิลปะควรจะเป็นกิจกรรมที่เป็นที่รักของเด็กทุกคน ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะทำได้ ซึ่งเด็กที่ได้รางวัลทุกคนสื่อถึงการวาดออกมาตามความรู้สึกของเด็ก แต่ในขณะเดียวกันก็มีทักษะที่สื่อสารความคิดความรู้สึกได้ดี มีความลื่นไหลตามวัยและความคิดของเด็กๆ ด้วย นี่คือจุดเด่น จึงเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจที่มีเวทีประกวดนี้ขึ้นมา และงานที่ได้รับรางวัลผมว่าน่าจะก่อให้เกิดการฉุกคิดกับผู้ปกครองหรือเด็กๆ หลายคนหันมาสนใจการวาดภาพ หรือมีความมั่นใจที่อยากจะวาดภาพถ่ายทอดจินตนาการของตัวเองมากขึ้น ทำให้เห็นว่าการวาดภาพแบบอิสระด้วยลายเส้นง่ายๆ ซึ่งหลายๆ คนก็ทำได้ มันก็จะทำให้เขาเกิดความมั่นใจที่จะวาด แต่ในขณะเดียวกันในการถ่ายทอด ทุกคนก็ต้องมีการพัฒนาทักษะกันในระดับหนึ่ง จึงเป็นประโยชน์แก่วงการศิลปศึกษา หรือสำหรับเด็กๆ ในวงกว้างด้วย”
ส่วน คิม จงสถิตย์วัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด กล่าวว่า การที่เด็กไทยวัย 7-13 ปีได้มีโอกาสกระทบไหล่นักเขียนระดับโลกอย่าง เจ.เค. โรว์ลิ่ง เป็นโอกาสล้ำค่าของชีวิต เธอคิดว่าเป็นไอเดียที่เยี่ยมมาก ที่ เจ.เค. โรว์ลิ่ง เปิดโอกาสตีพิมพ์ผลงานของเด็กๆ ลงหนังสือ “อิ๊กคาบ๊อก” ถือเป็นสมบัติล้ำค่า ที่นอกจากจะให้ความเพลิดเพลินและแรงบันดาลใจตอนอ่านแล้ว ยังเป็นของขวัญที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น จากเพื่อนสู่เพื่อนได้
“สิ่งที่ประทับใจคือ นี่ไม่ใช่แค่การประกวดงานศิลปะ แต่ชิ้นงานที่ออกมานั้นถูกตีความหลังจากอ่านหนังสือ พอเราเห็นว่าเด็กไทยตีความออกมาเป็นอย่างไร และเทียบกับของประเทศอื่นๆ ยิ่งน่าสนใจเข้าไปใหญ่ เพราะเรามีบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่ต่างกัน นี่คือพลังของการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือแปล การอ่านกระตุ้นให้เรารู้จักคิด สะท้อนสิ่งที่เราเห็นในชีวิต หรือสิ่งที่เราอยากให้สังคมเป็น เพราะฉะนั้น ‘การอ่านสร้างตัวตน’ อย่างแท้จริงค่ะ
ขอขอบคุณเด็กๆ ทุกคน ตลอดจน คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูทุกท่าน ที่ร่วมโครงการในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าเราไม่อาจตีพิมพ์ผลงานทุกชิ้นในหนังสือได้ แต่ถือว่าเป็นเกียรติมากๆ ที่ได้ชื่นชมผลงานทุกชิ้นที่ส่งมา พวกเราตื่นเต้นมากที่หนังสือ “อิ๊กคาบ็อก” กำลังจะตีพิมพ์ ดิฉันหวังว่าเด็ก เยาวชน และคนไทยทุกคนจะอ่านอย่างสนุกสนานนะคะ”
สำหรับ กัญญาภัค บุญแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด นอกจากจะเห็นว่าเด็กไทยมีความสามารถทางศิลปะแล้ว ครั้งนี้ก็ได้เห็นถึงทักษะการคิดวิเคราะห์ที่ดีเยี่ยม เพราะเด็กตีความจากเรื่องที่อ่านผ่านจิตนาการออกมาเป็นรูปภาพได้อย่างสวยงามและสร้างสรรค์ สื่อสารอย่างเข้าใจ สอดคล้องกับเนื้อเรื่องของ “อิ๊กคาบ็อก”
“เราต้องมาตั้งคำถามว่า ที่เราบอกว่าเด็กไทยมีความอ่อนในเรื่องของการอ่านหรือขาดทักษะการอ่านวิเคราะห์นั้น แท้จริงแล้วเด็กอาจไม่มีโอกาสเข้าถึงหนังสือที่ดี หนังสือที่เด็กอยากอ่านหรือเปล่า
ฝีมือเด็กไทยไม่แพ้ใครในโลก และน่าภาคภูมิใจแทนเด็กไทยที่ภาพของพวกเขาจะได้เป็นภาพประกอบหนังสืออิ๊กคาบ็อกของนักเขียนระดับโลกอย่าง เจ.เค. โรว์ลิ่ง ขนาดอ่านเนื้อเรื่องที่ยังไม่มีภาพประกอบ เด็กๆ ที่อ่านยังรู้สึกสนุก รู้สึกอิน กับเนื้อเรื่องขนาดนี้ เพราะฉะนั้นเล่มจริงที่มีภาพประกอบฝีมือเด็กไทย ทุกท่านที่ยังไม่อ่านบนออนไลน์ต้องไม่พลาดค่ะ”