เปิดเส้นทาง Escape Routes ในเทศกาลบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020
พบกับ 5 ไฮไลต์ ในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 ภายใต้แนวคิด “Escape Routes” หรือ “ศิลป์สร้าง ทางสุข” บน 9 พื้นที่สำคัญใจกลางกรุงเทพมหานคร เริ่มแล้ววันนี้ - 31 มกราคม 2564
พาจิตใจหลบหนีความวุ่นวายของสังคมชั่วขณะให้ศิลปะช่วยเป็นยาใจไปกับเส้นทาง Escape Routes พบกับผลงานศิลปะกว่า 200 ชิ้น จาก 82 ศิลปินนานาชาติ 35 ประเทศ รวม 5 ทวีป จัดแสดง ณ 9 แลนมาร์กของกรุงเทพฯ ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ล้ง 1919 มิวเซียมสยาม เดอะ ปาร์ค BAB BOX และ เดอะ พรีลูด โครงการวัน แบงค็อก
ก่อนวางแผนเลือกเส้นทางพา ‘ใจ’หลบหนี เรามี 5 ไฮไลต์ของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 มาเป็นอาหารเรียกน้ำย่อยพอสังเขป
- 1 # ลี้ภัยไปกับอ้าย เวยเวย
กระแทกใจไปกับผลงาน Law of Journey (2016) โดยศิลปิน อ้าย เวยเวย (Ai Weiwei) ผลงานเรือเป่าลมสีดำขนาดใหญ่ยักษ์บรรจุร่างผู้ลี้ภัยไร้ใบหน้าจัดวางอยู่กลางห้อง ขนาบข้างด้วยภาพถ่ายบันทึกแหตุการณ์ที่ศิลปินได้ไปเยือนค่ายผู้ลี้ภัย 40 แห่งใน 20 ประเทศ เมื่อปี 2559 และอีกด้านหนึ่งเป็น Odyssey ผลงานรูปสัญลักษณ์และกราฟิกคอมพิวเตอร์ที่แสดงถึงประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการอพยพ สงครามและสภาพเลวร้าย
อ้าย เวยเวย เป็นศิลปินและนักเคลื่อนไหวที่ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของโลก เจ้าของฉายาจอมขบถที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมืองและความไม่ชอบธรรมอย่างเผ็ดร้อนโดยใช้ “ศิลปะ”เป็นสื่อในการนำเสนอ ดังนั้นผลงานศิลปะของอ้าย เวยเวย จึงส่งเสียงดังและดึงดูดผู้คนให้หันมาสนใจ “สาร”ที่เขาต้องการจะบอกเสมอ
ผลงาน Law of Journey (2016) ที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ก็เช่นกัน “ดูเผินๆเหมือนสบายตาแต่เนื้อหามีความกดดัน” อภินันท์ โปษยานนท์ ผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ กล่าว
ผู้ลี้ภัยไร้ใบหน้าเหล่านี้เป็นตัวแทนของผู้ลี้ภัยออกจากประเทศบังกลาเทศ อิรัก ซีเรีย ตุรกี ฉนวนกาซา เม็กซิโกและประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในขณะที่วิดีโอฉายภาพชีวิตของผู้อพยพในยุคปัจจุบัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย การอพยพย้ายถิ่นแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติมีมาแต่ครั้งโบราณกาล อ้าย เวยเวย นำวิธีการเล่าเรื่องตามแบบภาพจิตรกรรมศิลปะกรีกมาเล่าใหม่โดยนำเรื่องราวอดีตและปัจจุบันมาเทียบเคียงกัน จัดวางเป็นงานกราฟฟิกเต็มฝาผนัง
สะท้อนภาพประวัติศาสตร์ที่ยังคงซ้ำรอยเดิม อพยพ พลัดถิ่น สงคราม ปัญหาคลาสสิกที่มนุษย์เรายังคงหาทางออกกันต่อไป
ผลงาน : Law of Journey (2016) ศิลปิน : อ้าย เวยเวย
สถานที่ : ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
- 2 #รถถังและอำนาจ
เกียรติยศ และ อำนาจ เป็นสิ่งที่ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ศิลปินเซรามิก ประติมากร และช่างภาพ หยิบยกขึ้นมานำเสนอ พร้อมกับตั้งคำถามในผลงานที่มีชื่อว่า DRAGONERPANZER (รถถังดรากูน) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของจักรพรรดิเฟรดเดอริค ออกัสตัสที่ 1 แห่งแซกโซนี หรือที่รู้จักกันในนาม Augustus the Strong ผู้หลงใหลในเครื่องลายครามจีน
ในการเจรจาในปี พ.ศ. 2260 กับ จักรพรรดิเฟรดเดอริค วิลเลียมที่ 1 แห่งปรัสเซีย หรือที่รู้จักกันในนาม the Soldier King จักรพรรดิเฟรดเดอริคแห่งแซกโซนี ได้แลกเปลี่ยนทหารม้า 600 นายที่เพิ่งฝึกเสร็จใหม่ๆ ของเขา ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “ดรากูน” กับคอลเล็คชันแจกันเครื่องลายครามสีน้ำเงินขาวจำนวน 151 ชิ้น
แจกันเหล่านั้นรู้จักกันในชื่อ “แจกันดรากูน” หรือ “แจกันทหาร”
ยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 18 เครื่องลายครามจัดเป็นวัสดุล้ำค่าจากประเทศจีนและเป็นศิลปวัตถุที่มีคุณค่าและควรค่าแก่การสะสม
จักรพรรดิเฟรดเดอริคแห่งแซกโซนีเลือกที่จะสถาปนาความรุ่งโรจน์ของเขาด้วยการสะสมแจกันเครื่องลายครามของจีน ในขณะที่จักรพรรดิเฟรดเดอริคแห่งปรัสเซียเลือกที่จะสถาปนาความรุ่งโรจน์ของเขาด้วยการให้ความสำคัญกับการขยายกองทัพเพื่อต่อสู้ในสงคราม
“ผมสร้างงานชุดนี้ โดยใช้ Porcelain ที่เคยเป็นตัวแทนของสิ่งที่ล้ำค่าในอดีต มาทำเป็นรูปทรงของรถถัง แทนกองทหารม้าในอดีต เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของปัจจุบัน และนำลวดลายที่อยู่บนแจกันชุดนั้น ที่ต่อมาถูกเรียกว่า Dragonervasen (Dragoon Vases) มาจัดวางใหม่บนรถถัง รุ่น Leopard II ที่ผลิตขึ้นจากประเทศเยอรมนี
แม้คุณค่าและมุมมองของวัสดุที่เลือกใช้อย่าง Porcelain จะเปลี่ยนไป แต่ผมต้องการคงไว้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ทางความคิดของสิ่งที่เคยมีมา และ ไม่เคยจางหายไป ในวันนี้เราอาจมีค่านิยมและวิธีการที่แตกต่างไปจากเดิม มีวัตถุอื่นๆ มากมายที่ล้ำค่าให้สะสม แต่เราก็ยังคงมีคนที่เหมือนบ้าคลั่ง เเละ มีคนที่สร้างภาพเสมือนว่าเดินตามอุดมคติที่ยิ่งใหญ่ และทุกฝ่ายมีคนที่เข้าใจ และ ด่าทอ ซึ่งล้วนคือความจริง ที่แตกต่างกัน เพราะขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้มอง และ ตัดสิน
เพราะสุดท้ายสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยน จากอดีต ปัจจุบัน และ ต่อไปในอนาคต คือเป้าที่ทุกฝ่ายต้องการที่เหมือนเดิม นั่นก็คือ เกียรติยศ และ อำนาจ ของตนเองนั่นเอง” ศิลปิน กล่าวพร้อมเฉลยถึงที่มาของรถถัง Porcelain จำนวน 7 คันนั้นว่า
“เป็นการล้อกับแจกัน 7 ใบที่เหลืออยู่ใน State Art Collections of Dresden” นั่นเอง
ผลงาน : DRAGONERPANZER ศิลปิน : วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์
สถานที่ : ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
- 3 # หลุดไปในโลกแฟนตาซีกับ P7
เอ่ยชื่อ P7 ภาพกราฟฟิตีบนผนังกำแพงลอยขึ้นมาเป็นลำดับแรก นอกจากเป็นศิลปินสตรีตอาร์ตที่มีผลงานโดดเด่นอยู่ตามแลนด์มาร์คของกรุงเทพฯและมีแฟนคลับมากมายแล้ว เขายังมีผลงานจิตรกรรมบนผืนผ้าใบและงานประติมากรรมที่เต็มไปด้วยสีสันและจินตนาการอันแสนบรรเจิดไม่แพ้กัน
ในเทศกาลศิลปะครั้งนี้ P7 นำหุ่น Ventriloquist มาสร้างคาแรคเตอร์ใหม่ในสไตล์ P7 ที่มีทั้งความเป็นแฟนตาซี น่ารัก ควบคู่กับกับ ความหลอน และตลกร้าย
P7 เล่าถึงขั้นตอนการทำงานประติมากรรมทั้ง 3 ชิ้น ได้แก่ Max the Spin Necker ,Jack the Skinners และ The Shadow of Zack เทคนิค อะคริลิกสีสเปรย์บนไฟเบอร์กลาส ว่า
“ผลงานชุดนี้เป็นงานแฮนด์เมดที่เริ่มต้นด้วยการวาดเส้นด้วยมือแบบ 360 องศา สำหรับนำเป็นแบบในการปั้นดิน การปั้นดินผมขึ้นโครงด้วยขนาดเท่าจริงแล้วปรับแต่งสัดส่วนสดๆตรงนั้น ใส่ความโอเวอร์เกินจริงเข้าไปอีก แล้วนำแบบไปหล่อเป็นไฟเบอร์”
P7 บอกว่าขั้นตอนที่ยากที่สุดในการทำงาน คือ การขัดผิวไฟเบอร์ให้เรียบที่สุดเพื่อให้การลงสีไม่สะดุด
“ลงสีแบบ improvise ทำสดๆโดยผสานจินตนาการระหว่างความเป็นจริงกับหุ่นที่มีทั้งเส้นเลือด กล้ามเนื้อที่เกินจริง ในอารมณ์แฟนตาซี”
เหมือนจะน่ารักแต่โหดร้าย เหมือนจะชวนฝันแต่แฝงไปด้วยเจตนาร้าย คือ คู่ขัดแย้งที่อยู่รวมกันในหุ่นของ P7 ที่เปิดเรื่องให้เราไปต่อ
ผลงาน : Max the Spin Necker ,Jack the Skinners และ The Shadow of Zack
ศิลปิน : P7
สถานที่ : ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
- 4 # แผนที่จากมุมไบ
ผลงาน Woven Chronicle, 2020 ของ รีนา โซนี กัลลัต ศิลปินจากมุมไบเป็นอีกหนึ่งผลงานที่สะท้อนแนวคิด Escape Routes ในบริบทของสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมุมไบได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการระบาดของอินเดีย ส่งผลให้ศิลปินไม่สามารถเดินทางมาสร้างสรรค์ผลงานในกรุงเทพฯได้ แต่การมีแอพพลิเคชั่นซูมก็ช่วยให้ผลงานศิลปะชิ้นนี้เกิดขึ้นได้สำเร็จ
โดยรีนาส่งรายละเอียดขั้นตอนการทำงานมาให้ทางทีมงานกรุงเทพฯ เพื่อสร้างงานโดยคุยกันผ่านซูม ศิลปินขอให้ทีมงานนำสายไฟฟ้าและลวดหนามขนาดต่างๆมาผูกโยงเป็นรูปแผนที่โลก โดยเส้น สีและความหนาแน่นจะเปลี่ยนตามการเดินทางของนักเดินทาง ผู้อพยพ แรงงานและการค้าข้ามพรมแดน ท่ามกลางอุปสรรค ปัญหา และความวุ่นวายในโลกที่แทนด้วยเสียงแตร ไซเรน และเสียงเพลงของนกอพยพที่นำมาประกอบเข้าด้วยกัน
“โลกของเรากำลังวุ่นวาย เจ็บป่วย สายไฟฟ้าเส้นสีแดงแสดงถึงเมืองที่ซึ่งมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โลกเราวันนี้ไร้พรมแดน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าชายหรือชาวนาก็หนีโควิดไม่ได้” ผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ อธิบาย
ผลงาน : Woven Chronicle, 2020 ศิลปิน : รีนา โซนี กัลลัต
สถานที่ : เดอะ ปาร์ค
- 5 # ขอบเขตที่มองไม่เห็น
หากไปที่วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร เราจะมองเห็นกระจกทรงกลมขนาดใหญ่ที่ส่องสะท้อนภาพท้องฟ้าอยู่กลางแจ้ง ผลงานชิ้นนี้มีชื่อว่า Sky Mirror, 2018 สร้างสรรค์โดย อนิช คาพัวร์ ศิลปินชาวอินเดียที่อาศัยและทำงานอยู่ที่ ลอนดอน สหราชอาณาจักร เขาเป็นหนึ่งในศิลปินสาขาประติมากรรมที่มีชื่อเสียงระดับโลก เป็นเจ้าของผลงาน Cloud Gate (พ.ศ. 2547) จัดแสดงอยู่ที่สวนสาธารณะ Millennium ใน Chicago หรือ Temenos (พ.ศ. 2553) ที่เมือง Middlesbrough และ Orbit สำหรับ the London 2012 Olympic Park (พ.ศ. 2555)
สำหรับ Sky Mirror, 2018 อนิชนำมาจัดวางที่สนามหญ้าของวัดที่สื่อความหมายถึงพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ กระจกสเตนเลสสตีลทรงกลมแวววาวสะท้อนภาพเมฆที่เคลื่อนไหวบนท้องฟ้า เปรียบเสมือนกับความว่างเปล่าที่เปลี่ยนรูปร่างไปเรื่อยๆ ตามการหมุนของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดวงดาว ซึ่งการเคลื่อนไหวเหล่านี้ส่งผลต่อการคำนวณทางโหราศาสตร์และความเชื่อของบุคคล
วัตถุโลหะแวววาวจะสร้างภาพลวงตาที่พาเราหลีกหนีไปยังดินแดนสมมุติอันเกิดขึ้นจากจินตนาการที่ไม่มีสิ้นสุด ส่วนจะหลีกหนีไปได้ไกลแค่ไหนสุดแต่ใจของแต่ละคนไปเลย
ผลงาน : Sky Mirror, 2018 ศิลปิน : อนิช คาพัวร์
สถานที่ : วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
ติดตามข่าวสาร และตารางการจัดกิจกรรมของงานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ “บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020”(Bangkok Art Biennale)เพิ่มเติมได้ทาง www.facebook.com/Bkkartbiennale
และ www.bkkartbiennale.com