"TBS-AIM" เมื่อเหล่า Avengers ธุรกิจรวมทีม เพาะพันธุ์นักธุรกิจรุ่นใหม่
ตลอด 5 เดือนที่บรรดา Mentors ระดับพระกาฬจะถ่ายทอดวิชาสู่ Mentees รุ่นน้องคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ เป็นปฐมบทของโครงการ "TBS-AIM" สร้างนักธุรกิจที่จะเป็นอนาคตต่อไป
เหนือกว่าคำว่า “รุ่นพี่รุ่นน้อง” เหนือกว่าคำว่า “สายสัมพันธ์” คือการส่งต่อประสบการณ์แบบหมดเปลือก ที่ในสายธุรกิจหาไม่ได้ง่ายๆ ที่จะมีใครมาเผยเคล็ดลับของความสำเร็จชนิดส่งให้กันมือต่อมือแบบนี้ แต่โครงการ TBS-AIM (Thammasat Business School – Advanced Institute of Mentorship) ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้เป็นไปได้
โครงการ "TBS-AIM" เปรียบเสมือนการรวมพลังของยอดฝีมือในแวดวงธุรกิจหลากหลายสาขาซึ่งเป็นรุ่นพี่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มาก่อนทั้งสิ้น เพื่อถ่ายทอดวิชาให้แก่รุ่นน้อง เป็นการใช้พลังของ Alumni อย่างสร้างสรรค์
รูปแบบของโครงการคือคัดสรรรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จในอาชีพการงานและองค์กรที่มีชื่อเสียงมาเป็น Mentor แล้วเปิดรับสมัครนักศึกษาปริญญาตรีที่มีศักยภาพเข้ามาเป็น Mentee เข้าร่วม Monthly Mentoring Session พบปะพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกันทุกเดือน ทั้ง Online และ Offline อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
ที่ผ่านมาศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ไม่ว่าจะคณะใด หลายคนต้องการตอบแทนมหาวิทยาลัยโดยทุ่มเทแรงกายแรงใจ เสียสละเวลาเพื่อก่อตั้งและพัฒนาโครงการต่างๆ สร้างโอกาสให้นักศึกษาปัจจุบันได้รับความรู้แล้วนำไปต่อยอดได้ เหมือนกับที่ รศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า มีศิษย์เก่าหลายคนบอกว่าถ้ามีอะไรให้ช่วยก็ยินดี นำไปสู่คำถามว่าแล้วจะให้ช่วยอะไร จนเกิดเป็นกลไกที่ศิษย์เก่าเข้ามามีส่วนร่วมกับคณะ
“สิ่งที่สำคัญคือการได้มีส่วนร่วมในชีวิตของนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ เพราะโลกปัจจุบัน แต่ละ Generation หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องมีความเชื่อมโยงระหว่าง Generation ได้ จึงเป็นที่มาของโครงการ TBS-AIM
การที่ธรรมศาสตร์ทำ Mentorship ต้องสะท้อน DNA ของพวกเรา อะไรคือความเป็นธรรมศาสตร์ อะไรคือการเป็นคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ตรงนี้สำคัญ เพราะการที่นักศึกษาเข้ามาเรียนเขานึกภาพการทำงานไม่ออก ยิ่งมีสองแคมปัสที่ท่าพระจันทร์และรังสิตก็แตกต่างกัน Mentor ผู้มีประสบการณ์จะให้คำแนะนำให้คำปรึกษาแก่เด็กได้ และทำให้เราเชื่อมโยงได้ว่าเด็กยุคนี้เขาคิดอย่างไร มองอย่างไร”
เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด อัตราส่วน Mentors กับ Mentees จึงค่อนข้างกระชับ คือ Mentors 20 คน จากหลากหลายองค์และสายงานทั้ง Finance, Marketing, Accounting และ Technology ประกบ Mentees จำนวน 40 คน
แน่นอนว่า Mentors แต่ละคนคือ Avengers ของแต่ละสายงาน อาทิ เจติยา งามเมฆินทร์ Principal Venture Capital ของ SCB10X, สมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี Senior Director Product and Solution ของ VISA, ชมพรรณ กุลนิเทศ Vice President, Investment & Sustainability ของ Minor International, ภูมิ สุธัญญา Managing Director ของ Waraporn Sompong Foods ฯลฯ
สมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี หนึ่งใน Mentor เปิดเผยว่า ประสบการณ์จากตอนที่เขาเรียนจบช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งพอดีและการเรียนรู้เรื่องซื้อขายหุ้นรวมถึงไอทีทำให้เขาผ่านประสบการณ์ธุรกิจ Online Payment และได้ทำงานในองค์กรใหญ่หลายองค์กร
“ประสบการณ์ของผมค่อนข้างแตกต่างจากคนอื่น น่าจะเป็นโอกาสดีที่ได้มาเล่าให้น้องๆ ฟัง เพราะผมคิดว่าใกล้เคียงยุคนี้ที่หลายคนอยากออกมาทำธุรกิจส่วนตัว หรือหลายคนที่อยากทำให้บริษัทใหญ่ สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์แก่น้องๆ ได้
ผมเคยเข้าหลักสูตรที่มี Mentor ก็เห็นว่ามีประโยชน์มาก เราได้เรียนรู้ ได้ฟัง เรื่องราวจากผู้มีประสบการณ์มาแบ่งปันให้เราเกิดแรงบันดาลใจ ทำให้คิดอะไรใหม่ๆ น่าจะนำมาใช้เป็นประโยชน์กับโครงการได้มาก”
ด้าน ภูมิ สุธัญญา ทายาทของวราภรณ์ซาลาเปา บอกว่า ถึงเขาจะไม่มีความรู้วิชาการมาให้รุ่นน้อง แต่เขามีประสบการณ์และเรื่องราวสนุกๆ ในชีวิตมาแบ่งปัน
“ตอนที่อาจารย์ชวนผมก็กลัวๆ อยู่เหมือนกัน ถ้าจะมาแนะนำน้องๆ ในแง่วิชาการผมไม่มีให้ แต่ถ้ามาเล่าเรื่องราวสนุกสนานในชีวิตนั้นพอได้ และผมก็มาทำอะไรที่คณะบ่อย ก็ถึงเวลาลุยกันต่อ”
ในศาสตร์ของพาณิชยศาสตร์และการบัญชี นอกจากในตำราเรียนแล้วจำเป็นต้องรู้จักโลกภายนอกด้วย รศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ บอกว่า Mentors ทั้ง 20 คน จะเป็นสะพานเชื่อมให้นักศึกษาที่ต้องออกไปสู่สังคมภายนอกต่อไปได้ติดอาวุธทางปัญญาให้ตัวเอง ซึ่งความรู้ที่จะถูกถ่ายทอดนั้นมีทั้งความสำเร็จและล้มเหลว เป็นประสบการณ์ที่น้อยคนจะได้เรียนรู้ก่อนจะพบเจอกับตัวเอง
“รุ่นพี่แต่ละคนมีประสบการณ์แตกต่างกัน ใช่ครับ รุ่นพี่ที่เข้าโครงการนี้ประสบความสำเร็จ แต่จะมีใครรู้บ้างว่ากว่าที่เขาจะถึงตรงนี้ต้องเจออะไรมาบ้าง เป็นสิ่งที่ต้องแบ่งปัน กับคนมีชื่อเสียงของโ,กอาจมีคนเขียนชีวิประวัติ แต่กับ Mentors พวกนี้ไม่มีใครเขียนประวัติชีวิตของพวกเขา แต่ประวัติชีวิตของพวกเขาเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและน่าเรียนรู้”
เมื่อโครงการจบลงและ TBS-AIM ได้สร้างยอดฝีมือรุ่นใหม่ขึ้นมา ทางคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจะต่อยอดโครงการด้วยการเฟ้นหาหัวกะทิจำนวน 20 คน เพื่อพัฒนาต่อเป็นที่ปรึกษาให้ธุรกิจ SMEs และชุมชน เพื่อช่วยแก้ปัญหาธุรกิจ ในรูปแบบของคลินิกด้านธุรกิจ
“เราต้องการให้นักศึกษารู้ว่าเขาคือส่วนหนึ่งของสังคม เขาไม่ควรคิดแค่ว่าจะทำงานอย่างเดียว กินเงินเดือนสูงๆ อย่างเดียว มันไม่ใช่ปรัชญาของธรรมศาสตร์ ปรัชญาของเราคือ “เพื่อประเทศ เพื่อสังคม” แต่พอเรามองภาพของเด็กที่เรียนพาณิชยศาสตร์และการบัญชีก็คือภาพของการทำธุรกิจ เป็นพนักงาน จริงๆ ไม่ใช่เลย เพราะเมื่อเราเป็นสายปฏิบัติ ผลสำเร็จจะเห็นได้ชัด เช่นเขาทำบัญชีไม่เป็น เราสอนเขาทำบัญชีได้ ขายของไม่เป็นเราสอนเรื่องการตลาดเขาได้”
ล่าสุดในวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เหล่า Mentors ได้สัมภาษณ์และคัดเลือก Mentees ที่ร่วมทีมเรียบร้อยแล้ว นับจากนี้ไป 5 เดือน พลังของ Alumni จะสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่ให้แวดวงธุรกิจไทยได้มีอนาคตอันสดใส