‘มังกร’ ตัดเหล็กให้งามแบบธรรมชาติ
แบรนด์ไทย “มังกร” ผู้สร้างสรรค์ผลงาน "ศิลปะ" จากโลหะที่มีความแข็งแกร่ง แต่นำเสนอด้วยเนื้อหาและเรื่องราวที่มีความประณีตพลิ้วไหวโดยได้รับแรงบันดาลใจจากความงามของธรรมชาติ
เหมือนชะมัด..มองครั้งแรกคิดว่าเป็นเทคนิคการนำ ‘ใบไม้แห้ง’ มาเคลือบให้อยู่รูปคงตัวเพื่อทำเป็นงานประดับผนัง ด้วยวัตถุที่เห็นมีรูปทรงและเส้นสายอ่อนช้อยอย่างใบไม้ตามธรรมชาติ แต่ความจริงแล้ววัตถุที่เห็นคือ ‘โลหะ’
นี่คือผลงานสร้างสรรค์และออกแบบโดย ตอง-ศุภกร คำศรีสุข ศิลปินและที่ปรึกษาแบรนด์ มังกร (MangGon) แบรนด์ผู้ออกแบบและจัดทำเครื่องประดับผนัง (Wall Art) และงานประติมากรรม ซึ่งร่วมกันก่อตั้งกับ แพม-อาภาพิชญ์ วงศ์ประสิทธิ์ คนรู้ใจ
“แฟนผมเชื่อว่า ‘มังกร’ เป็นสัตว์นำโชค จึงนำมาตั้งชื่อร้าน แล้วจึงมาใช้เป็นชื่อแบรนด์” คุณตองกล่าว
ก่อนหน้านี้ ‘ตองและแพม’ ร่วมกันเปิดร้านขาย ‘เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก’ ที่สวนจตุจักรเมื่อปีพ.ศ.2544 ออกแบบกันเองและสั่งผลิตจากเชียงใหม่ สองปีต่อมาจึงเพิ่มงาน ‘ไม้ไผ่’ และ ‘กะลามะพร้าว’ มุ่งเน้นการถ่ายทอดเนื้อหาของวัสดุออกมาในมุมมองที่แปลกใหม่ดูคล้ายงานศิลปะมากกว่าที่จะเป็นของใช้
จนถึงปี 2552 จึงเริ่มเบางานเฟอร์นิเจอร์ไม้ และค่อยๆ เปลี่ยนมาสู่การทำงานด้วยวัสดุโลหะประเภท เหล็ก (iron) และ สเตนเลส (stainless) เป็นหลัก รวมทั้งพัฒนาชื่อร้านมาเป็นชื่อ ‘แบรนด์’ เพื่อความชัดเจนในการทำตลาด
โดยนำ ‘เหล็กและสเตนเลส’ มาผลิตเป็น ชิ้นงานศิลปะสำหรับตกแต่งผนัง และงาน ประติมากรรม สำหรับการประดับเช่นกัน
“เราทำในมิติของงานศิลปะ ใช้สำหรับชื่นชม ตกแต่ง เพื่อสร้างบรรยากาศของพื้นที่ หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่น โรงแรม รีสอร์ท บ้านเช่าราคาสูงที่จำเป็นต้องใช้ของที่ดูเป็นงานศิลปะเข้าไปเสริม เพื่อเพิ่มมูลค่า” ตองกล่าวถึงประโยชน์ใช้สอยหลักๆ ของงานออกแบบชิ้นงานประจำแบรนด์มังกรในขณะนี้
ตอง-ศุภกร สำเร็จการศึกษาจากภาควิชาวิจิตรศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เขาใช้วิชาศิลปะที่ร่ำเรียนมาเป็นองค์ความรู้หลักในการทำงานออกแบบและผลิตชิ้นงานที่ทำด้วยวัสดุแข็งๆ อย่าง เหล็ก และ สเตนเลส เพื่อให้เกิดรูปทรงสวยงามตามแบบอย่างความงามของ ’ธรรมชาติ’
“ผมใช้ประสบการณ์เกี่ยวกับงานศิลปะล้วนๆ เพราะเทคนิคการผลิตไม่ใช่เทคนิคแปลกใหม่มากมาย คือตัด ทุบ เคลือบ ความสำคัญคือเราจะนำเทคนิคธรรมดาเหล่านี้มาแสดงผลที่ไม่ธรรมดาได้อย่างไร ซึ่งต้องใช้ความรู้ประสบการณ์การทำงานด้านศิลปะค่อนข้างสูง”
แนวคิดหลักในการสร้างสรรค์งานของแบรนด์ ‘มังกร’ คือการนำเสนอ ความงามเชิงศิลปะ ผ่านงานเหล็กและสเตนเลสที่มีความแข็งแกร่ง ไม่ต้องการความสลับซับซ้อนใดๆ ให้ต้องคิดมาก ดูแล้วสบายใจ ส่วนใครจะตีความได้มากไปกว่านี้ขึ้นอยู่กับจินตนาการของแต่ละคนที่ได้ชมชิ้นงาน
“ผมเน้นการสื่อสารเรื่องอารมณ์มากกว่าแนวความคิด ผมถือว่าการเสพงานศิลป์เสพเพื่อการสุนทรีย์ บางทีไม่จำเป็นต้องใส่แนวความคิดเยอะ ดูแล้วไม่ค่อยสบาย ผมต้องการให้ดูแล้วผ่อนคลายสบายอารมณ์ ผมก็จะเน้นเรื่องลายเส้น ฟอร์มเป็นหลัก ลายเส้นที่ได้มาก็มาจากวัสดุตามธรรมชาติ เช่น ลายใบไม้ ดอกไม้ สัตว์ต่างๆ นำมาสร้างสรรค์ขึ้นในลักษณะลายเส้นเฉพาะตัวของเรา
ผมมองว่าคนเรามักโหยหาเรื่องความสบายใจ ถ้าว่างก็ชอบไปเที่ยวตามสถานที่ธรรมชาติใช่ไหมครับ เพื่อไปสัมผัสกับสีเขียว ก้อนหิน ดิน ทราย แม่น้ำ ผมก็เลยจับประเด็นตรงนี้เข้ามาทำงานให้คนได้สัมผัสธรรมชาติในสถานที่ในมุมมองของงานศิลปะ”
ลายเส้นอ่อนช้อยที่เลียนแบบความงามทางธรรมชาติ หรือประกอบขึ้นเพื่อให้งามอย่างธรรมชาติ ล้วนเป็นวัสดุที่มีความแข็งแกร่ง ซึ่งต้องใช้ เครื่องจักร เข้ามาช่วยในการผลิต
หลายคนมองว่าการทำงานด้วย ‘เครื่องจักร’ เป็นสัญลักษณ์ของงาน mass หรือการผลิตซ้ำๆ เป็นจำนวนมากด้วยเครื่องจักร ไม่เหมาะที่จะใช้สร้างงานศิลปะ แต่ตองมีเหตุผลในอีกแง่มุม
“ลายเส้นที่เราใช้เครื่อง CNC ตัด (ซีเอ็นซี เลเซอร์คัต) เป็นลายเส้นที่ส่วนหนึ่งออกแบบโดยผมเอง อีกส่วนหนึ่งคือนักออกแบบของบริษัท เครื่องตัวนี้ภาษาศิลปะจะมองว่าเป็นงานแมส (mass) แต่ในทัศนคติของผมคือการถ่ายทอดลายเส้นของเราออกมาให้ตรงใจเรามากที่สุด ได้ความเป็นตัวเราร้อยเปอร์เซ็นต์ เราวาดอย่างไร เครื่องก็ตัดออกมาได้อย่างนั้น ต่างจากการใช้คนตัด บางทีอาจไม่ได้อย่างที่เราต้องการ ความแม่นยำของอารมณ์ไม่มี”
การเลือกทำงานกับวัสดุสุดแข็งประเภท ‘เหล็ก’ และ ‘สเตนเลส’ นอกจากได้ชิ้นงานที่มีความคงทน ยังมีเหตุผลที่ดีในเรื่องสุขภาพผู้สร้างงาน
“นอกจากควบคุมง่ายในเรื่องการหาวัสดุ เทคนิคการทำยังไม่สิ้นเปลืองเรื่องสุขภาพมากเกินไป อย่างวัสดุประเภท ‘ทองเหลือง’ เวลาทำ เราอาจมีการหลอมการเชื่อมที่มีการฟุ้งกระจาย พนักงานบางคนแพ้ทองเหลือง เวลาขัดจะมีอาการคัน ส่วนผมเองก็แพ้เรซินแพ้ใยแก้ว วัสดุบางประเภทก็สวยจริง ทำได้หลากหลาย แต่ก็ต้องระวังเรื่องสุขภาพตัวเองด้วย” ศุภกร กล่าว
ศุภกรเลือกใช้โทนสีในการสร้างสรรค์ชิ้นงานด้วยกัน 2 โทนสีหลักๆ คือโทนสีที่ค่อนข้างจัด ได้แก่กลุ่มสีแดง สีฟ้า สีเขียว ให้ความรู้สึกดูแล้วเป็นนธรรรมชาตติในตัว กับอีกโทนคือสีขาว สีเอิร์ธ สีทอง สีที่ให้อารมณ์เกี่ยวกับความทันสมัย ให้ความรู้สึกหรูหรา มีค่า
ขนาดชิ้นงานสามารถผลิตได้ตั้งแต่ขนาด 20-30 เซนติเมตร และเท่าที่แบรนด์เคยทำงานชิ้นใหญ่สุดคือโคมไฟขนาดความสูง 6 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตร
“ขนาดไม่จำกัดในเรื่องความต้องการใช้งาน แต่ถูกจำกัดด้วยเรื่องการขนย้าย งานชิ้นใหญ่บางชิ้นอาจต้องทำเป็นชิ้นส่วนเพื่อไปประกอบหน้างาน โดยปกติเราทำงานขนาดมาตรฐาน ขนย้ายได้ง่าย ไม่เปลืองพื้นที่มาก จะอยู่ที่ขนาด 1.20 เมตรถึง 3 เมตร” ศิลปินกล่าว
การเปิดร้านที่สวนจตุจักรทำให้ลูกค้าหลักของแบรนด์ ‘มังกร’ คือ ชาวต่างชาติ กลุ่มหลักๆ คือนักออกแบบที่ทำงานให้กับโรงแรม และเจ้าของสถานที่โดยตรง
“ลูกค้าส่วนใหญ่ของแบรนด์ก็จะผ่าน ‘นักออกแบบ’ คือเจ้าของโรงแรมเจ้าของบ้านชอบ แต่ไม่รู้ว่าจะเหมาะหรือเปล่า เขาก็ให้นักออกแบบของเขามาดูมาคุย ว่าเหมาะกับพื้นที่ไหน หรือเราจะปรับเปลี่ยนอะไรได้บ้างที่จะทำให้เข้ากับการออกแบบของเขาบ้าง”
ปัจจุบัน งานเหล็กที่เลียนแบบความงามธรรมชาติของแบรนด์ ‘มังกร’ ปรากฏอยู่ตามโครงการอสังหาริมทรัพย์และบ้านพักหรูหราในประเทศญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไต้หวัน อังกฤษ ฝรั่งเศส แอฟริกา รวมทั้งโรงแรมทางภาคใต้ของไทย พัทยา และกรุงเทพฯ
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สร้างผลกระทบต่อแบรนด์ ‘มังกร’ มากเช่นกัน
“กระทบกับตลาดส่งออกที่เป็นตลาดหลักของเรา แปดสิบเปอร์เซ็นนต์ของเราคืองานส่งออก พอส่งออกไม่ได้ เราต้องหันมาทำตลาดภายในประเทศมากขึ้น ก็ได้ยอดขายกลับมาบ้าง ไม่ถึงกับร้อยเปอร์เซ็นต์ของยอดปีที่แล้ว แต่ก็ยังถือว่าเสมอตัว ต้นทุนการจัดการตลาดเพิ่มขึ้น เมื่อก่อนเรานั่งรอที่ร้าน ลูกค้าเดินมาหา แต่ตอนนี้เราต้องออกไปหาลูกค้า ต้นทุนก็เพิ่ม ยอดขายคงเดิม ก็โอเคในระยะปรับตัว”
นอกจากชิ้นงานเพื่อความสวยงาม ล่าสุดศุภกรได้เพิ่มประเภทชิ้นงานเพื่อ ‘ประโยชน์ใช้สอยจริงจัง’ เข้าไว้ในการออกแบบ Bodhi Set ประติมากรรมเหล็กรูปกลีบบัวและใบโพธิ์ที่ใช้ประดับผนังก็ได้ วางรูปสักการะก็ได้ในลักษณะคล้าย ‘หิ้งพระ’
“ก็มีงานชิ้นนี้ที่คิดคอนเซปต์เป็นเรื่องเป็นราว ตอบสนองกับกลุ่มคนและใช้ประโยชน์ได้ในการวางรูปสักการะ ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา ใบโพธิ์ก็เป็นสัญลักษณ์การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นงานที่จับมาผสมกันเพื่อนำเสนอในมุมมองอีกแบบมากกว่า ไม่ใช่ว่าใหม่เลย เพราะผมเคยทำงานประติมากรรมที่เป็นรูปกลีบบัวและใบโพธิ์มาก่อน เป็นการนำเสนอประโยชน์ใช้สอยและได้ความรู้สึกทางทัศนศิลป์ด้วย” ตองกล่าวถึง Bodhi Set
ถ้าถามว่าอะไรคือลายเซ็นในงานออกแบบของเขา ตอง-ศุภกร คำศรีสุข กล่าวว่า
“คือลายเส้นและฟอร์ม คือความเป็นงานศิลปะที่ดูแล้วรู้สึกได้ โดยไม่ต้องถามหาว่ามีแนวความคิดอะไรมาจากไหน เหมือนเราไปเห็นวิวสวยๆ แล้วสบายใจจังเลย การใช้ชีวิตมันทุกข์ยากปากหมองแค่ไหน สังคมมันนกดดันแค่ไหน ผมจะไม่มีความรู้สึกตรงนั้นเข้ามาเกี่ยวข้องในชิ้นงาน”
ไม่น่าแปลกใจที่งานของแบรนด์มังกรมองครั้งแรกก็ชวนให้หยุดดูในทันที