'ช้อปดีมีคืน' ต้องใช้ 'ใบกำกับภาษี' แบบไหน? ถึงจะนำไปลดหย่อนภาษีได้
ทำความรู้จัก รูปแบบ "ใบกำกับภาษี" ที่จะสามารถนำลดหย่อนภาษีในมาตรการ "ช้อปดีมีคืน" แบบไหนถึงจะถูกต้อง?
มาตรการ "ช้อปดีมีคืน" หนึ่งในมาตรการที่รัฐบาลคลอดออกมาเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจไทยช่วงปลายปี 2563 มาจากกำลังซื้อที่จะเพิ่มมากขึ้นในมาตรการนี้ ขณะเดียวกันก็คาดหวังช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าที่จดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งมาตรการนี้มีข้อยกเว้นให้กับร้านค้าที่ไม่จด VAT ด้วยเช่นกัน เช่น สินค้า OTOP หนังสือประเภทรูปเล่มและ e-book ซึ่งต้องขึ้นทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน โดยระยะเวลามาตรการเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2563 ไปจนถึงสิ้นปี หรือวันที่ 31 ธันวาคม 2563
มาตรการนี้ส่งเสริมให้ประชาชนซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าที่จด VAT และนำมา "ลดหย่อนภาษี" หรือการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปี 2563 ซึ่งผู้ที่มีเงินได้จะต้องยื่นภาษีราวเดือนมีนาคม 2564 ทั้งนี้กำหนดว่าใช้ลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน
โดยการซื้อสินค้านั้น ผู้ที่ต้องการจะนำมาลดหย่อนภาษี จะต้องขอ "ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ" จากร้านค้าที่ซื้อสินค้า
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนทำความรู้จักใบกำกับภาษีที่จะใช้ลดหย่อนภาษี ต้องมีลักษณะอย่างไร บ่งบอกข้อมูลอะไรบ้าง?
ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ มีลักษณะสำคัญที่สังเกตได้ดังนี้
1.ต้องมีคำว่า "ใบกำกับภาษี" ในที่ที่เห็นได้ชัดเจน เด่นชัด
2.ต้องมี ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการ จดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรการ 86/2 หรือผู้ทอดตลาดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86/3 ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย
3.ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
4.หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเชขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
5.ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
6.จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้า และหรือของบริการให้ชัดแจ้ง
7.วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
8.ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด
ตัวอย่างใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ ดังนี้
ทั้งนี้ใน กรณีซื้อสินค้าจากผู้ขายที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีช้อปดีมีคืน ใบเสร็จรับเงิน ต้องมีข้อมูลครบถ้วนดังต่อไปนี้
- เลขประจําตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขาย
- ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ขาย
- เลขลําดับของเล่มและใบเสร็จรับเงิน
- วันเดือนปีที่ออกใบเสร็จรับเงิน
- ชื่อ นามสกุล และเลขประจําตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อ
- ชนิด ชื่อ จํานวน และราคาสินค้าที่ซื้อ
- จํานวนเงิน
นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขสำคัญที่ควรรู้ ก่อนไปซื้อสินค้าหรือบริการเพื่อจะนำไปลดหย่อนภาษี ดังนี้
- 3 สินค้าที่สามารถลดหย่อนภาษีได้
- สินค้าและบริการทั่วไป
- สินค้า OTOP
- หนังสือ ทั้งแบบเล่ม และอิเล็กทรอนิกส์ (E-Book)
- 7 สินค้าและบริการที่ "ไม่ร่วมมาตรการช้อปดีมีคืน"
- เหล้า เบียร์ ไวน์
- บุหรี่หรือยาสูบ
- ค่าน้ำมันและก๊าซที่ใช้เติมยานพาหนะ
- ค่าซื้อรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ เรือ
- ซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ทั้งรูปเล่มและอิเล็กทรอนิกส์
- ค่าบริการจัดนำเที่ยว
- ค่าที่พัก โรงแรม
ที่มา : กรมสรรพากร