ต้องรู้! 'เจาะคอ' ใส่ 'เครื่องช่วยหายใจ' อาการแบบไหนต้องทำ?

ต้องรู้! 'เจาะคอ' ใส่ 'เครื่องช่วยหายใจ' อาการแบบไหนต้องทำ?

จากกรณี ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ที่ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ล่าสุดแพทย์ได้เริ่ม "เจาะคอ" เพื่อให้ดูแลการหายใจง่ายขึ้น ชวนรู้ลึกวิธีการรักษาด้วยการ "เจาะคอ" ว่ามีเคสแบบไหนต้องทำบ้าง?

จากกรณี ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ที่ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ล่าสุดแพทย์ได้เริ่ม "เจาะคอ" เพื่อให้ดูแลการหายใจง่ายขึ้น เนื่องจากผู้ว่าฯ มีการหายใจแบบมีเสมหะเยอะ  โดยได้ทำการ "เจาะคอ" ไปเมื่อวันเสาร์ตอนบ่ายโมง คนที่ใส่เครื่องช่วยหายใจนานๆ มีแนวโน้มต้องเจาะคออยู่แล้ว และเนื่องจากหากใส่เครื่องช่วยหายใจทางปาก จะทำให้ระคายตลอดเวลา ดังนั้น การเจาะคอจึงเพื่อลดการระคาย ไม่อึดอัด ซึ่งการเจาะคอทุกอย่างดำเนินการเรียบร้อยดี 

การกรณีนี้ทำให้หลายคนอาจอยากรู้เพิ่มเติมว่าการ เจาะคอ จริงๆ แล้วมีข้อดีต่อคนไข้อย่างไร? มีข้อเสียอย่างไร? และคนไข้เคสแบบไหนถึงได้รับการเจาะคอ? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมาหาคำตอบไปพร้อมกัน

  • ทำไมต้องเจาะคอ? 

สำหรับการรักษาคนไข้ด้วยการ "เจาะคอ" เป็นหัตถการทางการแพทย์รูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มระดับการหายใจของผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้ โดย นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เคยให้ข้อมูลเรื่องนี้เอาไว้ว่า การเจาะคอนั้น แพทย์จะผ่าตัดใส่ท่อหลอดลมคอผ่านผิวหนังที่ลำคอ เพื่อสร้างทางติดต่อระหว่างหลอดลมกับผิวหนังบริเวณด้านหน้าของลำคอ ทำให้อากาศสามารถผ่านเข้าสู่ปอดโดยไม่ผ่านช่องจมูกและลำคอส่วนบน เพื่อเป็นการบรรเทาอาการอุดกั้นในระบบทางเดินหายใจส่วนบน

หรือใช้ในการดูแลเสมหะและป้องกันการสำลักในผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นระยะเวลานาน หรือใช้ในกรณีผู้ป่วยที่มีเสมหะมากไม่สามารถไอออกเองได้ เช่น ผู้ป่วยอัมพาต ผู้ป่วยไม่รู้สติ เป็นต้น

  • เคสแบบไหนบ้างที่ต้อง "เจาะคอ"

แพทย์อาจพิจารณาเจาะคอผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มบุคคล ดังต่อไปนี้

- ผู้ที่มีอาหารหรือวัตถุขนาดใหญ่อุดตันทางเดินหายใจ

- ผู้ที่ไม่สามารถหายใจได้ด้วยตนเอง หรือต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นเวลานาน

- ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งบริเวณคอซึ่งไปกดทางเดินหายใจ เช่น มะเร็งกล่องเสียง เป็นต้น

- ผู้ที่มีกล้ามเนื้อส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกลืน เส้นเสียง หรือกระบังลมเป็นอัมพาต

- ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณช่องปาก คอ หรือผนังทรวงอกอย่างรุนแรง

- ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดบริเวณรอบกล่องเสียง คอ รวมถึงกะโหลกศีรษะ

- ผู้ที่สูดดมเขม่าควันหรือสารพิษที่ทำให้ทางเดินหายใจบวมและอุดตัน

- ผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการดูดเสมหะในท่อลมและหลอดลมบ่อยครั้ง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่มีสติ มีการติดเชื้อในปอด หรือมีเสมหะคั่งมากๆ ซึ่งไม่สามารถไอออกมาได้ดี

- ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคท่อลมตีบ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดรุนแรง การติดเชื้อในปอด หรือมีเสมหะมากและไม่สามารถไอออกมาได้ เป็นต้น

- ผู้ป่วยที่มีอาการโคม่า ไม่มีสติ หรือเป็นอัมพาต

161157387413

  • นอกจาก "เจาะคอ" มีวิธีอื่นไหมที่ช่วยคนไข้หายใจได้ดี? 

นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ เคยให้ข้อมูลประเด็นนี้ไว้ว่า ทางเลือกในการควบคุมทางเดินหายใจนอกเหนือจากการเจาะคอ ได้แก่

1. การใส่ท่อช่วยหายใจทางปากหรือจมูก

เป็นวิธีที่สามารถทำได้รวดเร็วเพื่อควบคุมทางเดินหายใจของผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน แต่หากผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจเป็นระยะเวลานานมากกว่า 2 – 3 สัปดาห์ โดยทั่วไปผู้ป่วยควรได้รับการเจาะคอ

2. การเจาะเยื่อระหว่างกระดูก Cricoid และกระดูก Thyroid

เป็นหัตถการที่ใช้เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉิน ในกรณีที่ไม่สามารถใส่ท่อช่วยหายใจได้ และไม่พร้อมที่จะเจาะคอเนื่องจากมีเวลาจำกัดหรืออยู่ในสถานที่ที่ไม่มีความพร้อมของเครื่องมือ อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่ปลอดภัยแล้วควรเปลี่ยนเป็นการเจาะคอ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถดูแลทางเดินหายใจของผู้ป่วยได้ง่าย ป้องกันปัญหากล่องเสียงและหลอดลมคอตีบแคบ

  • การดูแลตัวเองของคนไข้ขณะ "เจาะคอ"

ผู้ป่วยที่ "เจาะคอ" เพื่อใส่ "ท่อช่วยหายใจ" ควรดื่มน้ำมากๆ ดูแลร่างกายให้อบอุ่น หลีกเลี่ยงในที่อากาศเย็นหรือแห้งจัด เพื่อป้องกันการเกิดเสมหะอุดตันที่ท่อหลอดลมคอ ไม่คลุกคลีกับคนที่เป็นหวัด เนื่องจากผู้ที่ใส่ท่อหลอดลมคอจะขาดปัจจัยป้องกันตนเองจากเชื้อโรคในอากาศโดยระบบของทางเดินหายใจส่วนบน และระวังน้ำหรือสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าท่อหลอดลม

อย่างไรก็ตามหากพบอาการผิดปกติ เช่น ท่อหลอดลมหลุด ท่อชั้นในหาย หรือใส่เข้าไปไม่ได้ หายใจลำบาก หอบเหนื่อย มีการ ปวด บวม แดง มีหนอง หรือมีเลือดออกจากท่อหลอดลม ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

  • การดูแลตนเองหลัง "เจาะคอ"

หลังการผ่าตัดเจาะคอเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยอาจต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลาหลายวัน ในช่วงแรกอาจรู้สึกเครียดหรือวิตกกังวลที่ไม่สามารถหายใจหรือพูดได้ตามปกติ ซึ่งผู้ป่วยจะต้องดูแลตนเอง ดังนี้

- การพูด : ใช้วาล์วเปิดปิดที่ปลายท่อหลอดลมคอเพื่อกันลมออก และช่วยให้ผู้ที่เจาะคอสามารถพูดหรือเปล่งเสียงออกมาได้

- การรับประทานอาหาร : ในช่วงแรกหลังการผ่าตัด ผู้ที่เจาะคออาจมีปัญหาในการกลืน แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็จะสามาถรับประทานอาหารได้ตามปกติ โดยอาจเริ่มจากการจิบน้ำทีละน้อย จากนั้นจึงค่อยเริ่มรับประทานอาหารอ่อนหรืออาหารที่เคยรับประทานตามปกติ

- การทำความสะอาดบริเวณที่เจาะคอ : ผู้ที่เจาะคอจำเป็นต้องทำความสะอาดสายดูดเสมหะและท่อหลอดลมคอเป็นประจำ ซึ่งผู้ป่วยควรได้รับการฝึกฝนวิธีทำความสะอาดจากทางโรงพยาบาลจนสามารถทำได้อย่างถูกต้องก่อนกลับมาทำเองที่บ้าน เพื่อลดการสะสมของเสมหะและลดความเสี่ยงการติดเชื้อ

----------------------

อ้างอิง : 

pobpad.com

hfocus.org