วิธีไหว้ แก้ชง เสริมดวงชะตา ตรุษจีน 2564 พร้อมปักหมุดวัดจีน
เปิดวิธี "ไหว้เจ้า" เพื่อแก้ไขดวงชะตา เสริมดวงให้รุ่ง หรือที่เรียกว่าไหว้ "แก้ชง" ว่าต้องทำยังไง? พร้อมส่อง "วัดจีน" หรือศาลเจ้าชื่อดังที่ควรไปปักหมุด เสริมเฮงช่วงเทศกาล "ตรุษจีน" 2564
อีกหนึ่งพิธีกรรมสำคัญของชาวจีน(ผู้ที่นับถือลัทธิเต๋าและเทพเจ้า) นิยมทำกันทุกปีในช่วงเทศกาล "ตรุษจีน" ก็คือการไหว้ "แก้ชง" โดยเป็นการไหว้เทพ "ไท้ส่วยเอี้ย" เพื่อฝากดวงชะตาให้แคล้วคลาดปลอดภัย โดยมักจะทำภายหลังจากการ "ไหว้เจ้า" ตามประเพณีที่ต้องทำใน "วันไหว้" เพื่อต้อนรับโชคลาภ เสริมเฮง ร่ำรวยเงินทองในวันปีใหม่ (ไหว้เจ้าที่ ไหว้บรรพบุรุษ ไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี้ย ไหว้ให้ทานสัมภเวสี)
ว่าแต่.. ทำไมคนจีนต้องไหว้ "แก้ชง" ไหว้ฝากดวงชะตาแล้วดีอย่างไร? แล้วคนไทยที่ไม่มีเชื้อสายจีนต้องทำมั้ย? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ชวนไขข้อสงสัยเรื่องนี้ไปพร้อมกัน
- "ปีชง" หมายถึงปีแห่ง "การปะทะ"
"ปีชง" เป็นเรื่องพลังของกาลเวลาในวิชา "โหราศาสตร์จีน" โดยได้แบ่งพลังของกาลเวลาออกเป็น 60 ช่วงเวลาเรียกว่า “ไท้ส่วย” โดยแต่ละช่วงเวลาจะจับคู่ปะทะและเป็นมิตรซึ่งกันและกัน ในดวงชะตาปีเกิด (ดูตามปีนักษัตร) ของแต่ละบุคคล จะมีพลังของกาลเวลาหรือไท้ส่วยสถิตย์อยู่ เมื่อไหร่ที่พลังของกาลเวลาในปีนั้นหรือไท้ส่วยปีนั้นมาปะทะกับไท้ส่วยในดวงชะตาปีเกิด ก็แปลว่าปีนั้นเป็นปีชงเกิดขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ‘ตรุษจีน 2564’ เช็ค ‘ฤกษ์ไหว้’ พร้อมเคล็ดลับไหว้ไฉ่ซิงเอี้ย โดย อาจารย์คฑา ชินบัญชร
- 9 ข้อห้ามทำวัน 'ตรุษจีน' 2564 เชื่อไว้ไม่เสียหาย
- ไหว้เจ้า 'ตรุษจีน' 2564 วิธีไหว้ 'ไท้ส่วยเอี้ย' และ 'ไฉ่ซิงเอี้ย'
- อยาก 'แก้ชง' ต้องรู้จักเทพเจ้า 'ไท้ส่วยเอี้ย' ประจำปี 2564
- 5 ขั้นตอน 'แก้ชง' 2564 ให้ถูกต้อง พร้อมรู้วิธีแก้ชงที่บ้าน
ดังนั้นวิธีการ "แก้ชง" จึงต้องใช้วิธีการควบคุมพลังของไท้ส่วยประจำปี มาช่วยให้การปะทะนั้นไม่ส่งผลร้ายต่อชีวิต ซึ่งแต่เดิมจะมีวิธีการแก้ชงในแนวทางของลัทธิเต๋าเท่านั้น แต่เมื่อพระพุทธศาสนานิกายมหายานได้เผนแผ่เข้าสู่ประเทศจีน ก็มีแนวทางการแก้ชงแบบพุทธมหายานด้วย
ทั้งนี้การไหว้ "แก้ชง" เป็นความเชื่อส่วนบุคคล ไม่บังคับว่า "ต้องทำ" หรือ "ไม่ต้องทำ" สำหรับชาวพุทธเถรวาทหรือคนไทยที่ไม่มีเชื้อสายจีน สามารถทำได้ตามความสะดวกของแต่ละคน ปัจจุบันมีชาวพุทธเถรวาทหลายคนรับเอาคติความเชื่อและพิธีกรรม "แก้ชง" มาปฏิบัติ แม้ไม่ได้นับถือลัทธิเต๋า นัยว่าทำเพื่อความสบายใจเป็นหลัก ซึ่งก็ไม่ผิดกติกาใดๆ ที่สำคัญคือให้ยึดหลักการใช้ชีวิตไม่ประมาทตามหลักศาสนาพุทธไว้เป็นดีที่สุด
- "แก้ชง" กับเทพเจ้า "ไท้ส่วยเอี้ย"
ตามความเชื่อของลัทธิเต๋าและชาวพุทธมหายาน หากพบว่าปีนี้เป็นปีชงกับปีเกิดของตน ก็อาจจะทำให้ชีวิตไม่ราบรื่น การงานติดขัด เจ็บไข้ได้ป่วย หรือดวงตก ฯลฯ คนจีนและคนไทยเชื้อสายจีนที่มีความเชื่อนี้ จึงมักจะไปทำพิธี "แก้ชง" เพื่อปัดเป่าสิ่งร้ายๆ ออกไปจากดวงชะตาชีวิต เพื่อให้ชีวิตราบรื่นและปลอดภัยตลอดปี
โดยการแก้ชงนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "การฝากดวงชะตากับองค์ไท้ส่วย" หรือ "ไท้ส่วยเอี้ย" ซึ่งเป็นเทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตาของมนุษย์ โดยไท้ส่วยเอี้ยมีทั้งสิ้น 60 องค์ ครบตามกาลเวลาที่แบ่งออกเป็น 60 ช่วงเวลาตามหลักของโหราศาสตร์จีน แต่ละปีก็จะสลับเปลี่ยนองค์เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตาหมุนเวียนไปเรื่อยๆ สำหรับปีนี้มีเทพเจ้าไท้ส่วยเอี้ยประจำปี 2564 เป็นองค์ที่ 38 มีพระนามว่า "ขุนพลเอี่ยสิ่งไต่เจียงกุง" (楊信大將軍) เป็นเทพประจำดวงชะตาของปีนักษัตรฉลู (ซิงทิ่วไท้ส่วยเอี้ย)
ดังนั้น ตามความเชื่อเรื่องปีชง ผู้ที่เกิดตรงกับปีชงปี 2564 ก็ต้องไปฝากดวงชะตากับ "ขุนพลโหล่วปี่ไต่เจียงกุง" ซึ่งเป็นองค์เทพไท้ส่วยผู้คุ้มครองดวงชะตาปีนี้ หากดวงชะตาชีวิตดีอยู่แล้วก็จะช่วยส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ถ้าชะตาชีวิตไม่ดี ท่านก็จะช่วยปัดเป่าและผ่อนหนักให้เป็นเบา สำหรับปีนักษัตรที่ต้องแก้ชงในปีนี้ ได้แก่ ปีมะแม (ชง 100%) ปีฉลู, ปีมะเมีย, ปีมะโรง, ปีจอ
- วิธีไหว้ "แก้ชง" รู้ทุกขั้นตอน
ผู้คนส่วนใหญ่นิยมทำพิธี "แก้ชง" กันในวันเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ปีใหม่ของชาวจีน นั่นคือช่วง "ตรุษจีน" หรือหลังจากวันตรุษจีนเล็กน้อยก็ได้ ส่วนอุปกรณ์และ "ของไหว้" สำหรับการแก้ชงสามารถไปซื้อได้ในวัดเพื่อความสะดวกสบาย ส่วนขั้นตอนการแก้ชงอย่างคร่าวๆ คือ
1. ทำบุญชุดสะเดาะเคราะห์แก้ปีชง โดยการบริจาคเงินทำบุญและรับของไหว้แก้ชงที่วัดจัดไว้ให้ จากนั้นรับ "ใบฝากดวงปีชง" หรือ "เทียบแดง" สำหรับเขียนชื่อ
2. จากนั้นนำใบฝากดวงมาเขียนชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิดของตนเอง พร้อมกับพระนามขององค์ไท้ส่วยประจำปีลงบนเทียบแดง เสร็จแล้วเดินถือเครื่องแก้ชงไปวางตามจุดที่เจ้าหน้าที่จัดไว้
3. จุดไฟธูปเทียน พร้อมไหว้ขอพรและฝากดวงชะตากับไท้ส่วยเอี้ย โดยสวดมนต์ตามบทสวดนี้ "โอม สะ ระ วะ ตะ ถา คะ โต ศะ นี ศะ สิ ตา ตะ ปะ เต หูม ผัฏ หูม มะ มะ หู นิ สะ วา หา"
4. ปักธูปเทียนตามจุดที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ให้เรียบร้อย แล้วไปเติมน้ำมันตะเกียง
5. นำใบฝากดวงปีชงพร้อมกระดาษเงินกระดาษทอง ปัดออกจากตัวเอง 12 ครั้ง (วัดจีนแต่ละแห่งแนะนำไม่เหมือนกัน วัดบางแห่งก็ให้ปัดตามจำนวนอายุ) เมื่อปัดเสร็จแล้วก็ให้นำเทียบแดงไปวางหน้าองค์เทพไท้ส่วยเอี้ย แล้วเผากระดาษเงินกระดาษทอง (บางวัดก็ไม่เผาเพื่อลดการก่อฝุ่นPM 2.5) จากนั้นไปรับส้มมงคลและอาหารเจแห้ง กลับบ้านไปกินเพื่อความเป็นสิริมงคล
*ข้อควรระวัง : คนปีชงไม่ควรไปร่วมงานศพ เพราะเชื่อกันว่าดวงชะตาอาจได้รับผลกระทบ ทำให้ร่างกายเกิดการเจ็บป่วย กิจการ/ธุรกิจอาจประสบปัญหาได้
- วัดจีนที่เหมาะกับการ "แก้ชง" ฝากดวงชะตา
1. ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ จ.ชลบุรี
วิหารเทพสถิตพระกิติเฉลิม หรือ ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ ตั้งอยู่ที่ริมเส้นทางเลียบชายทะเลจากอ่างศิลาไปเขาสามมุข จ.ชลบุรี ก่อสร้างโดยมูลนิธิธรรมรัศมีมณีรัตน์ ภายในศาลเจ้าแห่งนี้สวยงามอลังการด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีน มีพื้นที่โอ่อ่ากว้างขวางมากถึง 4 ไร่ ที่สำคัญคือเป็นวัดจีนที่มีองค์ไท้ส่วยเอี้ย ครบ 60 องค์ เหมาะกับการเดินทางไป "แก้ชง" ตามความเชื่อ และขอพรให้องค์ไท้ส่วยช่วยคุ้มครองดวงชะตาตามปีเกิดได้ทุกๆ ปี และที่นี่มีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำขั้นตอนการทำพิธีแก้ชงทุกขั้นตอน สะดวก รวดเร็ว ไม่เสียเวลา
2. วัดเล่งฮกยี่ (วัดจีนประชาสโมสร) จ.ฉะเชิงเทรา
วัดเล่งฮกยี่เป็นวัดจีนในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน วัดเล่งฮกยี่ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2449 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้คนนิยมมาสักการะวัดนี้เพื่อขอให้โลคลาภวาสนา ภายในพระอุโบสถนั้นประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะแบบมหายาน คือ พระยูไล พระโอนิโทธุด ทำจากกระดาษ ซึ่งอันเชิญมาพร้อมด้วย "องค์ 18 อรหันต์" ที่ทำจากกระดาษเช่นกัน โดยมีการผลิตและส่งมอบมาจากเมืองจีน
นอกจากนี้ภายในวัดยังมีเทพเจ้า "ไฉ่ซิงเอี้ย" อยู่ทางด้านขวาของพระประทาน และยังมีเทพเจ้าอีกหลายองค์ตามคติจีน โดยวัดแห่งนี้เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ขึ้นชื่อเรื่องการแก้ชงมานาน และมีรูปปั้นเทพเจ้า "ไท้ส่วยเอี๊ย" เพื่อให้ประชาชนได้มาทำพิธีแก้ชงได้ด้วย
ที่มาภาพ : facebook.com/วัดเล่งฮกยี่
3. วัดเล่งเนยยี่ (วัดมังกรกมลาวาส) กรุงเทพฯ
ตั้งอยู่ที่ย่านเยาวราช ระหว่างซอยเจริญกรุง 19 และ 21 แขวงป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ เดินทางไปง่ายๆ ด้วยรถไฟฟ้าลงที่สถานีวัดมังกร เป็นวัดที่คนไทยเชื้อสายจีนนิยมไปไหว้เจ้าช่วงตรุษจีน รวมถึงนิยมไปไหว้แก้ชงตามความเชื่อกันด้วย โดยภายในวัดมีเทพเจ้าหลายองค์ประดิษฐานอยู่ ได้แก่ ไฉ่สิ่งเอี้ย, ไท้ส่วยเอี้ย, จับโป๊ยหล่อหั่ง, หั่วท้อเซียงซือกง, เทพกวนอิม, ซำป้อหุกโจ้ว เป็นต้น
4. วัดเล่งเน่ยยี่ 2 จ.นนทบุรี
วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ 2 ตั้งอยู่ที่ย่านบางบัวทอง จ.นนทบุรี เป็นวัดมหายานในความอุปถัมภ์ของคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ภายในวัดประกอบด้วยอาคารสถาปัตยกรรมสวยงามอลังการ ตามแนวปรัชญาและคติธรรมทางศาสนาพุทธจีนนิกายฝ่ายมหายาน ได้แก่ วิหารพระกวนอิมโพธิสัตว์, วิหารหมื่นพุทธเจ้า, วิหารบูรพาจารย์, ห้องปฏิบัติธรรม ฯลฯ
การออกแบบอาคารต่างๆ จำลองมาจากสถาปัตยกรรมจีนในพระราชวังต้องห้ามของกรุงปักกิ่ง ทุกปีจะมีผู้คนเดินทางมาแก้ชงที่วัดนี้จำนวนมาก เนื่องจากตามความเชื่อของคนจีนส่วนใหญ่ มักจะไปแก้ชงที่วัดจีน เพื่อฝากดวงชะตาไว้กับ เทพเจ้าไท้ส่วยเอี้ย ให้คุ้มครองดวงชะตาเพื่อชีวิตที่ราบรื่นตลอดปี
----------------------
อ้างอิง: