'วันนอนหลับโลก' ชวนรู้ นอนน้อยกว่า 6 ชม.ต่อวัน เสี่ยงตายเร็ว!
อวสานคนนอนดึก! "วันนอนหลับโลก" ปีนี้ ชวนคนที่มัก "นอน" น้อยกว่า 6 ชม.ต่อวัน รู้ไว้เลยว่าคุณอาจเสี่ยงตายเร็วกว่าคนที่นอนหลับเพียงพอ มีผลวิจัยพบว่าการ "อดนอน" เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ โรคอ้วน ความดัน และเบาหวาน
เนื่องในโอกาส "วันนอนหลับโลก" (World Sleep Day) ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 19 มีนาคม 2564 กำหนดให้เป็นวันศุกร์ในสัปดาห์ที่ 2 (แบบเต็มสัปดาห์) ของเดือนมีนาคมในแต่ละปี "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนหนุ่มสาวชาวออฟฟิศมารู้จักผลเสียจากการ "อดนอน" หรือ "นอนน้อย" ว่ามีความรุนแรงและอันตรายถึงชีวิตได้เลยทีเดียว โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
1. นอนน้อยกว่า 6 ชม. เสี่ยงตายเร็ว
มีรายงานผลการวิจัยที่ชวนให้ตกใจ ระบุว่า คนที่นอนหลับน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันมักจะตายเร็ว มากกว่าคนที่นอน 7-8 ชั่วโมงต่อวัน โดยนักวิจัยพบว่ามีหลักฐานชัดเจนที่แสดงความเชื่อมโยงระหว่าง การอดนอน กับ การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- 19 มีนาคม 'วันนอนหลับโลก' 2564 รู้จักวิธีนอนให้ถูกวิธี ต้องทำไง?
- ‘กลางคืนตื่น กลางวันนอน’ เปิดเทคนิคทำยังไงให้ 'นอน' แบบมีความสุข
- ‘วันนอนหลับโลก’ ล้วงลึกปัญหา 'นอนไม่หลับ' น่ากลัวแค่ไหน?
ทีมนักวิจัยจาก University of Warwick และโรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัย Federico II ในเมืองเนเปิลส์ ประเทศอิตาลี ค้นพบว่าคนที่หลับน้อยกว่า 6 ชั่วโมงในแต่ละคืนนั้น มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร 12% หมายความว่าอาจเสียชีวิตก่อนอายุ 65 ปี ซึ่งมากกว่าคนที่นอนหลับ 7-8 แปดชั่วโมงต่อคืน
เมื่ออธิบายให้ลึกลงไป พวกเขาชี้ให้เห็นว่าการอดนอนสัมพันธ์กับโรคร้ายต่างๆ มากมาย เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคเบาหวานประเภท 2 และโรคคอเลสเตอรอลสูง เป็นต้น
2. นอนมากเกิน 9 ชม. ก็เสี่ยงตายเร็วเช่นกัน
ทั้งนี้ มีนักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งพบข้อมูลที่น่าสนใจในทางตรงข้าม พวกเขาพบว่าการนอนมากเกินไป (มากกว่า 9 ชั่วโมงต่อคืน) ก็เชื่อมโยงกับการตายก่อนวัยอันควรเช่นกัน โดยมีโอกาสเสียชีวิตเร็วขึ้น 30% ซึ่งงานวิจัยที่ขัดแย้งนี้ถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่ชื่อว่า The Journal SLEEP
โดยผู้เขียนงานวิจัยฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า การนอนหลับที่ยาวนานเกินไป ก็เป็นสัญญาณของการเจ็บป่วยพื้นฐานได้ เช่น ภาวะซึมเศร้า หรือมะเร็งบางชนิด
Francesco Cappuccio ศาสตราจารย์ผู้นำโปรแกรมการนอนหลับเพื่อสุขภาพและสังคมจาก University of Warwick และแพทย์ที่ปรึกษาของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Coventry และ Warwickshire NHS Trust อธิบายว่า การนอนหลับระยะสั้นอาจเป็นสาเหตุของสุขภาพที่ไม่ดี โดยเฉพาะหนุ่มสาววัยทำงานในสังคมสมัยใหม่
จะเห็นว่าพวกเขามักจะนอนน้อย นอนหลับยาก ซึ่งเป็นผลมาจากแรงกดดันทางสังคม การมีชั่วโมงทำงานที่ยาวนาน และบางคนก็ทำงานเป็นกะ ก็ยิ่งทำให้นอนหลับได้ยาก ส่งผลให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรมตามไปด้วย
"การนอนอย่างต่อเนื่อง 6-8 ชั่วโมงต่อคืน อาจดีที่สุดสำหรับสุขภาพ ระยะเวลาของการนอนหลับควรได้รับการพิจารณาว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมเพิ่มเติมหรือตัวบ่งชี้ความเสี่ยง ที่ได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมและสามารถแก้ไขได้ผ่านการศึกษาและการให้คำปรึกษา ตลอดจนมาตรการด้านสาธารณสุขที่มุ่งปรับเปลี่ยนสภาพร่างกายและสภาพแวดล้อมในการทำงาน" Francesco อธิบายเพิ่ม
3. "นอนน้อย" เพิ่มความเสี่ยงอุบัติเหตุขณะทำงาน
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจาก Karyn O'Keefe จากศูนย์วิจัย Sleep/Wake Research Centre ที่ Massey University ประเทศนิวซีแลนด์ ระบุว่า การนอนไม่หลับ เพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุในขณะที่ปฏิบัติงานหรือระหว่างการขับรถได้
โดยคนที่ "อดนอน" จะเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์เพิ่มขึ้น 4 เท่า! เมื่อเทียบกับผู้ที่มีเวลานอนหลับสนิทประมาณ 7-8 ชั่วโมง
"ในระยะยาวการนอนหลับไม่เพียงพอยังส่งผลให้มีปัญหาสุขภาพร่างกายตามมา เช่น เพิ่มความเสี่ยงการป่วยเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวานประเภท2 โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองตีบ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลอีกด้วย" O'Keefe กล่าวทิ้งท้าย
---------------------------
อ้างอิง: