วิจิตรหัตถศิลป์ ‘งานไม้’ ของสะสมของ ‘รอล์ฟ วอน บูเรน’
ผู้ก่อตั้งแบรนด์เครื่องประดับ “โลตัส อาร์ต เดอ วีฟร์” เปิดกรุงานหัตถศิลป์ทรงคุณค่า “เครื่องเรือนไม้และของตกแต่งบ้าน” ของสะสมจากการเดินทางยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ
นอกจากสะสมผ้าโอบิ (ผ้าคาดเอวชุดกิโมโน) ผ้าไหมปักดิ้นเงินดิ้นทอง ผ้าทอพื้นถิ่น จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก มร.รอล์ฟ วอน บูเรน (Rolf von Bueren) ผู้ก่อตั้งแบรนด์เครื่องประดับ โลตัส อาร์ต เดอ วีฟร์ ยังเป็นนักสะสม เครื่องเรือนไม้และของตกแต่งบ้าน ในสไตล์ศิลปะตะวันออก ที่เริ่มแสวงหาและเก็บสะสมมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ
“ของสะสมเครื่องเรือนศิลปะตะวันออก มีจุดเริ่มต้นจากการเดินทางไปประเทศจีนและญี่ปุ่น เพื่อค้นหาสไตล์ เทคนิค การสร้างสรรค์ รวมถึงมุมมองจากช่างฝีมือระดับปรมาจารย์ แล้วเริ่มเก็บรวบรวมไว้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละชิ้นงานล้วนสะท้อนถึงสุนทรียศาสตร์ของไอเทมส์หรือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน” มร.รอล์ฟ เล่าถึงที่มาพร้อมเชิญชวนชมเครื่องเรือนฝีมือประณีต มีอาทิ
โต๊ะไม้โรสวู้ด ที่ทรงคุณค่าในกลุ่มนักสะสมทั่วโลก, เครื่องเขินเคลือบรักแบบญี่ปุ่น ซึ่งใช้เทคนิคการเคลือบอันเลื่องลือแห่งแดนอาทิตย์อุทัยมาแต่โบราณ, โต๊ะไม้บ็อกซ์วู้ด (Boxwood ไม้พุ่มประเภทหนึ่ง) ตกแต่งด้วยเครื่องเงิน, เก้าอี้สตูลไม้ไผ่ตกแต่งสีทอง และ โคมไฟต้นบอนไซ งานฝีมือประณีต ฯลฯ ผู้รักของสะสมงานไม้เผยว่า
โลตัส อาร์ต เดอ วีฟร์ ได้รวบรวมชิ้นงานคุณภาพเยี่ยมในหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นแหล่งที่มา อายุ คุณภาพของไม้ การออกแบบ การประดิษฐ์ชิ้นงาน และหัตถศิลป์ ประกอบกันจนก่อกำเนิดเป็นสิ่งที่หาได้ยากและล้ำค่าในหมู่นักสะสม ผมทราบดีว่าการจะได้มาซึ่งชิ้นงานชั้นดี จำเป็นจะต้องมีสายตาเฉียบคม มีความอดทนอย่างสูง เพราะต้องอาศัยระยะเวลายาวนานในการค้นหา จำเป็นต้องค้นคว้าข้อมูลและมีความรอบรู้ รวมทั้งจังหวะเวลาที่เหมาะสมกว่าจะได้มาครอบครอง
อีกทั้งยังต้องมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เชี่ยวชาญซึ่งจะเป็นเสมือนดวงตาในการค้นหามาสเตอร์พีซเหล่านั้น มูลค่าของแต่ละชิ้นก็ขึ้นอยู่กับการใช้สอย เพราะล้วนแล้วแต่มีเอกลักษณ์และให้ความรื่นรมย์ที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังสะท้อนถึงวิถีชีวิตของผู้ใช้ดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นเจ้านายในราชสำนัก ขุนนาง หรือคหบดีผู้มั่งมี
นอกจากนี้ที่ผมสะสมเครื่องเรือนไม้สไตล์ตะวันออกเก็บไว้ในคอลเลคชั่นนั้นก็สืบเนื่องมาจากว่าปัจจุบันไม้เนื้อแข็งทั่วโลกเริ่มหายาก จึงไม่สามารถสร้างสรรค์ชิ้นงานใหม่ ๆ ได้อีก รวมทั้งเครื่องเรือนส่วนใหญ่ที่พบในประเทศญี่ปุ่น แท้จริงแล้วได้ถูกรังสรรค์ขึ้นในประเทศจีน เมื่อประมาณ 200-300 ปีก่อน แล้วจึงนำส่งออกไปที่ญี่ปุ่น และตอนนี้กำลังเป็นที่นิยมในหมู่นักสะสมเฟอร์นิเจอร์ไม้โบราณจากนานาประเทศ จึงทำให้งานชิ้นเด่น ๆ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงชิ้นงานที่นำมาประดิษฐ์ใหม่จากวัสดุโบราณก็มีความทรงคุณค่าด้วยเช่นเดียวกัน”
ชมแล้วอยากครอบครองหรือศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ เช่น
Bonsai Lamp with Japanese Fans โคมไฟต้นบอนไซ ประดับใบด้วยพัดญี่ปุ่นโบราณ วาดลายจากต้นศตวรรษที่ 19 ลำต้นของบอนไซตกแต่งสีทองตั้งอยู่บนกระถางสีดำ มาพร้อมอรรถประโยชน์ที่สามารถประดับเป็นงานศิลป์ตกแต่งบ้านในช่วงเวลากลางวัน และใช้เป็นโคมไฟส่องสว่างสร้างบรรยากาศแห่งความหรูหราในยามค่ำคืน โคมไฟชิ้นนี้ใช้เวลารังสรรค์ขึ้นใหม่เป็นเวลา 1.5 เดือน รวมระยะเวลา ตั้งแต่ขั้นตอนในการออกแบบงานศิลป์จนถึงการผลิตชิ้นงานจนเสร็จสมบูรณ์ ด้วยความร่วมมือของนักออกแบบและช่างชั้นครูถึง 9 คน
Bonsai tree with Scallop Shells ต้นบอนไซที่ผลิใบด้วยเปลือกของหอยเชลล์ งานฝีมือสุดประณีต ในขณะที่ลำต้นรังสรรค์ขึ้นจากเงินสเตอร์ลิง ในกระถางสไตล์ญี่ปุ่น ผลงานชิ้นนี้ใช้เวลาในการชุบชีวิตให้กลายเป็นต้นไม้อันงดงามด้วยงานศิลป์กว่า 6 เดือน ด้วยฝีมือของนักออกแบบและช่างฝีมือมากทักษะและประสบการณ์กว่า 20 ชีวิต
Lotus Leaf Lamp โคมไฟใบบัว ที่จะสะกดทุกสายตา ประดับในแจกันดินเผาเพ้นท์สีและวาดลวดลายบนพื้นผิวให้กลมกลืนกับดีไซน์ของใบบัว ดอกบัวมี 2 รูปแบบคือดอกบัวแห้งสีทองทั้งดอกและก้าน ในขณะที่อีกแบบเป็นดอกบัวที่หุ้มด้วยกระดาษสาบนก้านทองเหลืองหุ้มด้วยผ้า เป็นโคมไฟให้แสงสว่างในช่วงค่ำคืนและเปลี่ยนเป็นชิ้นงานศิลป์ประดับบ้านในเวลากลางวัน โคมไฟชิ้นนี้ใช้เวลารังสรรค์เป็นเวลากว่าเดือนครึ่ง ตั้งแต่ขั้นตอนในการออกแบบงานศิลป์จนถึงการผลิตชิ้นงานจนเสร็จสมบูรณ์ ด้วยความร่วมมือของนักออกแบบและช่างชั้นครู 9 คน
Chimpanzee Sculpture/Table with 'Box' Wood งานศิลป์จากไม้ Boxwood ในรูปทรงดั้งเดิมจากธรรมชาติ นำมาออกแบบใหม่และประดับด้วยเงินสเตอร์ลิง รูปลิงชิมแปนซี ที่สามารถใช้เป็นงานประติมากรรมประดับบ้าน หรือจะปรับให้เป็นโต๊ะ coffee table แบบเตี้ยเพื่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน เป็นงานไม้น่าสะสมเพราะหลังจากที่ต้องใช้เวลาค้นหาและคัดสรรไม้ Boxwood ที่มีรูปทรงสวยงามตามธรรมชาติอย่างยาวนานแล้ว จะต้องนำมารังสรรค์ใหม่อย่างพิถีพิถันโดยใช้เวลานานถึง 10 สัปดาห์ ด้วยฝีมือของนักออกแบบและช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญรวม 8 ชีวิต
Bamboo Stool with Gold Leaf เก้าอี้สตูลไม้ไผ่สานรูปทรงร่วมสมัย ที่ดูหรูหรา การสร้างสรรค์ชิ้นงานจากไม้ไผ่สานนั้น ไม้ไผ่จะถูกตัดก่อนจะปอกเปลือก และฝานเพื่อให้ได้ส่วนที่เป็นเส้นใย ถักทอเข้าด้วยกันและเสริมความแข็งแรงด้วยเรซิน แต่งแต้มด้วยใบไม้สีทองเพิ่มความสวยงาม สตูลนี้ใช้เวลาทำ 2-3 สัปดาห์
Japanese Lacquer Cabinet with Bamboo Forest Motifs ตู้เคลือบรักญี่ปุ่น แต่งลายป่าไผ่สไตล์สมัยเมจิ (ค.ศ.1868 - 1912) ผลิตขึ้นในช่วงราวปี ค.ศ. 1880-1900 ส่วนของชั้นวางทำจากไม้โรสวู้ด ผ่านกรรมวิธีการเคลือบด้วยเทคนิคแบบญี่ปุ่นโบราณ ที่เรียกว่า “มากิเอะ” อันมีความสลับซับซ้อน โรยด้วยผงเงินหรือทองลงบนแล็กเกอร์จนเกิดความหนาเพื่อแต่งลาย ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่ต้องใช้เวลานานและมีความประณีตสูง
ผู้สนใจชมงานไม้และของตกแต่งบ้าน สไตล์ศิลปะตะวันออกระดับมาสเตอร์พีซ ในคอนเซปต์ Heritage & Beyond ชมได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ณ Theatre of Indulgence Gallery (ถนนพระราม 3) ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 10.00 น. – 17.00 น. โดยติดต่อนัดหมายเพื่อเข้าชมได้ที่โทร.08 9667 6077 หรือเยี่ยมชมที่เว็บไซต์ www.lotusartsdevivre.com