ส่องวัคซีน 'ซิโนฟาร์ม' ที่ 'ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์' เตรียมนำเข้าไทยเร็ว ๆ นี้
ระหว่างรอให้ "ซิโนฟาร์ม" วัคซีนโควิดน้องใหม่จะเข้ามาเป็นอีกหนึ่ง "วัคซีนทางเลือก" แก่คนไทย ชวนไปทำความเข้าใจกันว่า วัคซีนซิโนฟาร์มตัวไหนที่ได้รับการรับรอง ประสิทธิภาพ-ผลข้างเคียงเป็นอย่างไร และไทยเรามีแผนจะนำเข้ามาใช้เมื่อไหร่?
จากข่าวที่ทาง "ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" ได้ออกประกาศเพิ่มอำนาจให้หน่วยงานสามารถทำการนำเข้า-จำหน่าย วัคซีน “ซิโนฟาร์ม” เข้ามาเป็น "วัคซีนทางเลือก" ที่ใช้ฉีดป้องกันโควิด-19 ให้กับประเทศไทยเป็น วัคซีนตัวที่ 5 เร็วๆ นี้
“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ชวนพาไปทำความรู้จักวัคซีนตัวนี้ได้ถูกรองรับอย่างไร ประสิทธิภาพ-ผลข้างเคียง ปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน แล้วจะได้นำเข้ามาใช้ในประเทศไทยเมื่อไหร่?
- “วัคซีนซิโนฟาร์ม” ตัวไหน ที่ได้รับการรับรอง?
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า วัคซีนซิโนฟาร์ม มีด้วยกัน 2 ตัว ซึ่งผลิตจากคนละบริษัทกัน โดยตัวที่ ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การรับรองเมื่อต้นเดือน พ.ค. 2564 นี้ คือตัวที่ผลิตใน Beijing Institute of Biological Product หรือ BBIBP-CorV ซึ่งมาจากปักกิ่ง ประเทศจีน
ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้ตรวจสอบข้อมูลทางเทคนิคแล้วว่า กระบวนการผลิตอยู่ในเกณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ คุณภาพ และความปลอดภัยในการยับยั้งอาการป่วยที่รุนแรง โดยปัจจุบันวัคซีนซิโนฟาร์มตัวนี้ที่ผลิตในปักกิ่งได้รองรับให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินตัวที่ 6 และตัวนี้เป็นตัวที่มีการนำไปใช้ฉีดให้กับคนกว่า 40 ประเทศทั่วโลก โดยฉีดไปแล้ว กว่า 62 ล้านโดส
แต่วัคซีนซิโนฟาร์มตัวที่องค์การอนามัยโลกไม่ได้ให้การรับรองคือตัวที่ผลิตโดย Wuhan Institute of Biological Product ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ COVID19 Vaccine Tracker ที่ใช้สำหรับตรวจสอบการอนุมัติวัคซีน โดยวัคซีนซิโนฟาร์มตัวที่ผลิตในอู๋ฮั่นมีการใช้แค่เพียงประเทศจีนเท่านั้นในตอนนี้
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้อนุมัติการใช้งานวัคซีนป้องกันโควิด-19 ฉุกเฉินแล้วดังนี้ ไฟเซอร์, แอสตร้าเซนเนก้า, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และโมเดอร์นา
- ประสิทธิภาพ-ผลข้างเคียงของซิโนฟาร์ม?
วัคซีนซิโนฟาร์มที่ใช้ในการป้องกันโรคโควิด-19 ต้องทำการฉีด 2 โดส เหมือนกับวัคซีนตัวอื่นๆที่ได้รับการรองรับ โดยทิ้งระยะห่างประมาณ 28 วันถึงจะทำการฉีดโดสที่ 2 ได้ โดยวัคซีนชนิดนี้สามารถใช้ฉีดได้กับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงว่า วัคซีนซิโนฟาร์ม มีประสิทธิภาพในการป้องกันได้ถึง 79-86% แต่ในส่วนของการป้องกันการป่วยหนักและป้องกันการแพร่เชื้อ ยังไม่มีข้อมูลที่ปรากฎในส่วนนี้ นอกจากนี้ วัคซีนชนิดนี้เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย และต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิ 3-5 องศาเซลเซียสเท่านั้น
ผู้ที่ไม่สมควรฉีดวัคซีนตัวนี้ จะมีลักษณะ-อาการต้องห้ามดังนี้:
- อายุต่ำกว่า 18 ปี
- ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์อยู่
- ผู้ที่มีไข้สูงกว่า 38.5 องศาฯ
- ผุ้ที่มีอาการภูมิแพ้อย่างรุนแรง
- ผู้ที่มีอาการแพ้ส่วนประกอบของวัคซีน
- ผู้ที่มีโอาการแพ้รุนแรงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตัวอื่นก่อนหน้านี้
ผลข้างเคียงหลังการฉีด
จะเป็นอาการทั้งหมดที่พบได้ เหมือนกับเวลาที่ได้รับวัคซีนตัวอื่น ๆ และจะหายภายในไม่เกิน 2 วัน มีดังนี้:
- ปวด บวม เป็นรอยแดง บริเวณที่ฉีด
- มีอาการปวดเมื่อย อ่อนเพลีย
- ปวดศีรษะเล็กน้อย
- มีไข้ คลื่นไส้ และหนาวสั่น
- “ซิโนฟาร์ม” แตกต่างกับ “ซิโนแวค” อย่างไร?
วัคซีนซิโนฟาร์ม เป็นวัคซีนตัวแรกของโลกและเป็นตัวแรกของประเทศจีนที่มีแถบสติกเกอร์ตรวจสอบความปลอดภัยของวัคซีน หากวัคซีนขวดนั้นกระทบความร้อน แถบสติกเกอร์ดังกล่าวจะทำการเปลี่ยนสี ซึ่งจะบ่งบอกได้ว่าวัคซีนขวดนั้นที่กำลังจะใช้ มีความปลอดภัยหรือไม่
โดย ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ ขององค์การอนามัยโลก ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า วัคซีนซิโนฟาร์มจะอยู่ในบัญชีรายชื่อวัคซีน “โครงการโคแวกซ์” (Covax) ซึ่งต่างชาติและประเทศที่ยากจน สามารถเข้าถึงการซื้อเพื่อนำเข้าไปฉีดให้กับประชาชนของตนเองได้อย่างมั่นใจ
ในขณะเดียวกัน แม้ว่า วัคซีนซิโนแวค ได้มีการพิจารณาโดยกลุ่มที่ปรึกษากลยุทธ์ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างภูมิคุ้มกัน (SAGE) ขององค์การอนามัยโลกว่า เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ได้
แต่ ณ ขณะนี้ ล่าสุด วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 มีรายงานว่า องค์การอนามัยโลกก็ยังไม่สามารถทำการรองรับวัคซีนซิโนแวค เพราะยังมีข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงไม่เพียงพอต่อการประกอบการพิจารณา โดยคาดว่าจะสรุปผลการรับรองได้เร็วที่สุดเดือนมิถุนายนนี้
- ความคืบหน้าการนำเข้าใช้ในประเทศไทย
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เผยว่าวัคซีนซิโนฟาร์มกำลังอยู่ในขั้นตอนการประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนในประเทศไทย และเป็นไปได้ว่าจะมีการนำเข้ามาฉีดจำนวน 1 ล้านโดส โดยเป็นวัคซีนประเภททางเลือก
และล่าสุดทาง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับทางกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เชิญสื่อมวลชนเข้ารับฟังแถลงข่าวเรื่อง “แนวทางการจัดสรรและนำเข้าวัคซีนทางเลือก ซิโนฟาร์ม” ในวันศุกร์นี้ที่ 28 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.30 น. – 14.30 น. ณ สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ถ.แจ้งวัฒนะ ซอย 7
อ้างอิง: บีบีซี, ซินหัว, COVID19 Vaccine Tracker