อาคาร 100 ปี 'วังค้างคาว' เคยเป็นของใครมาแล้วบ้าง? ชวนย้อนรอยก่อนเปลี่ยนมือ
ชวนย้อนตำนาน "วังค้างคาว" อาคารร้อยปี ที่กำลังจะถูกประมูลเพื่อหา "ผู้ครอบครอง" รายใหม่ ไปดูไทม์ไลน์กันว่า ที่ผ่านมา อาคารเก่าหลังนี้ เคยถูกใครครอบครองมาแล้วบ้าง?
เกี่ยวกับอาคารประวัติศาสตร์ บ้านพระประเสริฐวาณิช (เขียว) หรือ อาคารวังค้างคาว ซึ่งอยู่ในความสนใจอยู่ตอนนี้ หลังจาก "กรมธนารักษ์" ประกาศเตรียมเปิดประมูลสิทธิการเช่าอาคารราชพัสดุ "วังค้างคาว" พร้อมที่ดินนอกที่ตั้งตัวอาคาร รวมเนื้อที่ประมาณ 0-3-29 ไร่ มีกำหนดระยะเวลาการเช่า 30 ปี โดยเป็นไปทั้งเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐกิจ และส่งเสริมการอนุรักษ์อาคารที่ยังทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม หรือสถาปัตยกรรมให้คงอยู่สืบไป
หลายความสนใจจึงมาอยู่ที่อาคารราชพัสดุบ้านพระประเสริฐวาณิช (เขียว) หรือ อาคารวังค้างคาว แห่งนี้ที่กรมธนารักษ์ตั้งราคาเปิดประมูล การเสนอเงินค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าไว้ที่ ไม่ต่ำกว่า 9,475,200 บาท
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จะพาทุกคนไปทำความรู้จัก อาคารวังค้างคาว รวมถึง "เจ้าของ" ในอดีต ว่า "วังค้างคาว" แห่งนี้เคยอยู่ใน "ความครอบครอง" ของใครมาแล้วบ้าง..
- ย้อนตำนาน "วังค้างคาว"
วังค้างคาว หรือ บ้านพระประเสริฐวาณิช (เขียว) เป็นหนึ่งในอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นที่ราชพัสดุที่มีลักษณะยังทรงคุณค่าที่ควรแก่การอนุรักษ์ไว้
อาคารดังกล่าวตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจากหลักฐานตามโฉนดที่ดินเลขที่ 999 ออกเมื่อ 31 ธันวาคม ร.ศ.125 (พ.ศ.2495) เดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของพระประเสริฐวานิช (เจ้าสัวเขียว เหล่าประเสริฐ)
ลักษณะและรูปแบบของอาคาร เป็นกลุ่มอาคารเก๋งจีน 2 ชั้น 2 หลัง ตั้งขนานกันหันหน้าออกแม่น้ำเจ้าพระยา มีระเบียงเชื่อมถึงกัน ล้อมลานโล่งตรงกลางไว้
พื้นที่ตรงกลางด้านล่างอาคาร เป็นลานโล่งขนาดใหญ่และพื้นที่บริเวณใต้ถุนอาคารถูกแบ่งเป็นสัดส่วนทั้งสองฝั่ง เพื่อใช้ประโยชน์เป็นที่เก็บสินค้า
ตัวอาคาร ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้อง หน้าจั่วปูนปั้น สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)
ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นบัญชีให้ อาคารราชพัสดุบ้านพระประเสริฐวาณิช (เขียว) หรือวังค้างคาว เป็น "โบราณสถาน" ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนพิเศษ 165 ง ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2561 เพื่อเป็นการอนุรักษ์อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ราชพัสดุที่มีลักษณะยังทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม หรือสถาปัตยกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้
- ไทม์ไลน์ ผู้ครอบครอง "วังค้างคาว" ก่อนเตรียมเปลี่ยนมืออีกครั้ง
ถัดจากการครอบครองของ พระประเสริฐวานิช (เจ้าสัวเขียว เหล่าประเสริฐ) ซึ่งปรากฏหลักฐานตามโฉนดที่ดินเลขที่ 999 ออกเมื่อ 31 ธันวาคม ร.ศ.125 (พ.ศ.2495) นั้น
..ต่อมา "วังค้างคาว" ได้เปลี่ยนมือสู่ "นายเว้น" ผู้เป็นบุตรชาย ของเจ้าสัวเขียว เหล่าประเสริฐ
ซึ่งถัดจากนั้น ในปีพ.ศ.2464 บ้านและที่ดินซึ่งมี นายเว้น เป็นเจ้าของ ก็ได้เปลี่ยนมืออีกครั้ง โดยนายเว้นได้บริจาคให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2464
ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2450 - 2460 ได้มีการให้ บริษัท หลักสุงเฮง ของ นายเหียกวงเอี่ยม อดีตประธานหอการค้าไทย-จีน เช่า อาคารและพื้นที่เป็นสำนักงานและท่าเรือของบริษัทฯ ซึ่งดำเนินกิจการรับส่งสินค้าทางเรือ
จากนั้น ห้างฮั่วจั่วจั่น ได้มาขอเช่าต่อ โดยใช้พื้นที่ใต้ตึกเป็นที่เก็บสินค้า
..เมื่อเลิกเช่าแล้วตัวอาคารจึงถูกปิดร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์มาหลายสิบปี จึงทำให้มีค้างคาวเข้ามาทำรังและอาศัยอยู่บริเวณใต้ตึกเป็นจำนวนมาก จนเป็นสาเหตุที่ทำให้มีคนเรียกอาคารเก่าหลังนี้ว่า “วังค้างคาว” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา..
- "วังค้างคาว" และอาคารร้อยปีอื่นๆ ของ กรมธนารักษ์
หลายคนอาจไม่ทราบว่า ในจำนวนตึกเก่า อาคารร้อยปี หลายหลังทั้งในกรุงเทพมหานคร และในจังหวัดอื่นๆ นั้น ปัจจุบันมีอยู่ราว 200 หลัง ที่อยู่ในความครอบครองดูแลของ "กรมธนารักษ์" ซึ่งก่อนหน้านี้กรมธนารักษ์ได้มีแนวคิดที่จะนำอาคารเก่าแก่ โบราณสถาน ซึ่งมีความสวยงามเชิงสถาปัตยกรรมและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ นำออกมาให้เอกชน และหน่วยงานต่างๆ ประมูลเพื่อพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่ม แทนที่จะปล่อยทิ้งร้างหรือทำลายจะเสียประโยชน์
โดยนอกจากวังค้างคาวที่เป็นหนึ่งในแผนการดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีอาคารโบราณอื่นๆ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด อาทิ
- บ้านอำมาตย์เอก พระยาพายัพพิริยกิจ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นบ้านของ พระยาพายัพพิริยกิจ (เป้า จารุเสถียร) บิดาของจอมพลประภาส จารุเสถียร ตั้งอยู่ในซอยสามเสน 5 (ซอยพายัพ) ตรงข้ามวัดสามพระยา
- ตึกเขียวขุนพิทักษ์ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา อีกหนึ่งอาคารโบราณที่เคยมีชื่อเสียงในโซเชียล เนื่องจากถูกเล่าขานเรื่องความลี้ลับในทำนองว่า เป็น "บ้านผีสิง" โดยทางกรมฯ มีแนวคิดจะนำมาพัฒนาเป็นบูทีค โฮเตล ร้านกาแฟ สปา ร้านอาหาร หรือปรับให้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์
- บ้านหลุยส์ จ.ลำปาง บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้หลังสวยคฤหาสน์อายุกว่า 112 ปีในจังหวัดลำปางที่เคยเป็นบ้านของนายห้างค้าไม้ชาวอังกฤษ นามว่า หลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ ผู้เป็นลูกชายของ แหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ ครูสอนภาษาอังกฤษในราชสำนักสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น
ข้อมูลอ้างอิง : กรมธนารักษ์