5 ทุ่ม คืน 'วันแม่' 12 สิงหาคมนี้ รอชม 'ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์' ลุ้นสูงสุด 110 ดวงต่อชั่วโมง
5 ทุ่มคืนวันที่ 12 สิงหาคมนี้ ถึงรุ่งเช้าของวันที่ 13 รอชม "ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์" หรือที่มักเรียกกันว่า "ฝนดาวตกวันแม่" ลุ้นสูงสุด 110 ดวงต่อชั่วโมง
เมื่อวันที่ 10 ส.ค.64 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชวนติดตามปรากฏการณ์ "ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์" (Perseids Meteor Shower) หรือที่มักเรียกกันว่า “ฝนดาวตกวันแม่” มีศูนย์กลางการกระจายอยู่ในกลุ่มดาวเพอร์เซอุส บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือ คืนวันที่ 12 ส.ค. 2564 เวลาประมาณ 23.00 น. จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 13 ส.ค.2564
สำหรับปีนี้ คาดว่าจะมีอัตราการตกเฉลี่ยสูงสุด 110 ดวงต่อชั่วโมง ในช่วงเช้ามืดวันที่ 13 ส.ค. 2564 เวลาประมาณ 02.00 น. ช่วงเวลาดังกล่าวปราศจากแสงจันทร์รบกวน เหมาะแก่การสังเกตฝนดาวตกครั้งนี้เป็นอย่างมาก แนะนำสถานที่ชมให้อยู่ในที่ห่างจากเมืองหรือบริเวณที่มืดสนิท ปราศจากแสงรบกวน
สำหรับวิธีการสังเกตฝนดาวตกที่ดีที่สุด คือ นอนชมด้วยตาเปล่า ตามทิศทางการกระจายตัวของฝนดาวตก หากฟ้าใสไร้ฝนสามารถชมความสวยงามของฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ได้ทั่วประเทศ
ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์
เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับสองรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงระหว่างวันที่ 17 ก.ค. - 24 ส.ค.ของทุกปี มีสีสันสวยงาม เกิดจากเศษฝุ่นละอองที่ดาวหางสวิฟท์-ทัตเทิล (109P/Swift-Tuttle) เหลือทิ้งไว้ในวงโคจร เมื่อโลกโคจรตัดผ่านเข้าไปในบริเวณที่มีเศษฝุ่นดังกล่าว จะดึงดูดเศษฝุ่นเหล่านี้เข้ามาในชั้นบรรยากาศ เกิดการลุกไหม้เป็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า