‘Coffee Label’ อีกความหมายดีๆ บนซองกาแฟ
ถอดรหัส "Coffee Label" ตราสัญลักษณ์ทางสิ่งแวดล้อมและการค้าของ “ธุรกิจกาแฟ” ที่ทำให้ผู้บริโภครู้รายละเอียดของ “กาแฟ” ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
ตอนซื้อกาแฟบรรจุซองหรือกล่องโดยเฉพาะกาแฟจากต่างประเทศ เคยสังเกตไหมครับว่านอกจากข้อมูลของกาแฟบนฉลากที่ผู้ผลิตแสดงเอาไว้แล้ว ยังมีเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์กลมๆ เหลี่ยมๆ ติดอยู่ด้วย เครื่องหมายเหล่านี้คือ Coffee Label เป็นตราสัญลักษณ์ทางสิ่งแวดล้อมและการค้าที่สื่อสะท้อนถึงมาตรฐานในการทำธุรกิจผลิตกาแฟตามแนวคิดการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน อันเป็นความหมายในเชิงกระบวนทัศน์ที่ทำให้แตกต่างไปจากการผลิตโดยทั่วๆ ไป
ข้อมูลเบื้องต้นของกาแฟที่ผู้ผลิตทั้งเกษตรกรเจ้าของไร่, โรงคั่วหรือร้านค้า ควรระบุไว้บนหน้าซองให้ผู้บริโภคทราบ เพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อ หลักๆ ก็ประกอบไปด้วยสายพันธุ์กาแฟ, แหล่งปลูกกาแฟ, วันคั่วกาแฟ, ระดับการคั่วกาแฟ และกลิ่นรสกาแฟ
ถ้าเป็น กาแฟพิเศษ (Specialty coffee) ที่มีการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เพิ่มความพิถีพิถันทุกขั้นตอน ทำให้เป็นกาแฟที่มีคุณภาพสูง ฝ่ายผู้ผลิตก็จะเพิ่มเติมข้อมูลในแบบที่เฉพาะเจาะจงและลงรายละเอียดเข้าไปอีก เช่น ชื่อไร่กาแฟ, ซิงเกิ้ล ออริจิน หรือเบลนด์, ความสูงของแหล่งปลูกจากระดับน้ำทะเล, วิธีเก็บผลเชอรี่กาแฟ, รูปแบบการโพรเซส, ระยะเวลาคลายแก๊ส Co2, อุณหภูมิของน้ำเดือดที่ใช้ชง, เหมาะกับเครื่องชงประเภทใด, ระดับการบดกาแฟ กระทั่งวิธีการจัดเก็บหลังเปิดถุงใช้แล้ว
ร้านกาแฟพิเศษ พิถิพิถันในทุกขั้นตอนการชง / ภาพ : Devin Avery on Unsplash
ในแง่มุมของผู้บริโภคแล้ว ก่อนสั่งซื้อกาแฟควรทำความเข้าใจกับฉลากบนบรรจุภัณฑ์ว่ามีข้อมูลอะไรบ้าง แล้วมีความสำคัญอย่างไร ผู้เขียนเคยนำเสนอในประเด็นนี้ไปแล้วในบทความชื่อ "ถอดรหัส Specialty Coffee ‘ฉลาก’ บอกอะไรเราบ้าง?" ท่านผู้อ่านสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากลิงก์นี้ https://www.bangkokbiznews.com/social/896585
นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลอีกประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นั่นคือ "เครื่องหมาย", “ตรา” หรือ "สัญลักษณ์" ต่างๆ บนบรรจุภัณฑ์กาแฟที่กำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นโดยหน่วยงานรัฐและองค์กรอิสระ ได้รับความเชื่อถือสูงจนกลายเป็น "ใบรับรอง" ที่ผ่านการยอมรับใน "มาตรฐาน" จากบรรดาผู้บริโภคและผู้ผลิตทั่วโลก เช่น ทำการค้าโปร่งใส, คุณภาพสินค้าน่าเชื่อถือ และราคาจำหน่ายเป็นธรรม
หรือแสดงถึงคุณสมบัติเฉพาะด้านที่บ่งบอกคุณลักษณะ อาทิ เป็นกาแฟออร์แกนิก ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี มีรูปแบบการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีส่วนร่วมในการรักษาป่า และมุ่งเน้นการทำธุรกิจแบบยั่งยืน (Sustainable Business)
สินค้าที่มีมาตรฐานข้างต้น "ตอบโจทย์" เทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่เอาใส่ใจดูแลกับเรื่อง "สุขภาพ" และ "สิ่งแวดล้อม" ได้เป็นอย่างดีทีเดียว
การปลูกกาแฟตามแนวทางยั่งยืน ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกร / ภาพ : Young_n from Pixabay
ในตลาดกาแฟระหว่างประเทศ มีตราสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการผลิตแบบยั่งยืนใช้กันมากและหลากหลายด้วยกัน โดยเครื่องหมายส่วนใหญ่แล้วก็มีสีเขียวแทบทั้งนั้น อาจเป็นเพราะนอกจากสีเขียวจะสื่อถึงการ "อนุรักษ์" ธรรมชาติแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์สากลของคำว่าผ่านหรือไปได้อีกด้วย
จากประสบการณ์ของผู้เขียน "เครื่องหมาย" หรือ "สัญลักษณ์" ต่างๆ ที่เป็น "สื่อกลาง" ระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคเหล่านี้ มักจะพบจากบรรจุภัณฑ์กาแฟที่ผลิตจากแหล่งปลูกในต่างประเทศ เช่น เครื่องหมาย "สินค้าออร์แกนิค" ที่ผ่านการรับรองจากประเทศสหรัฐอเมริกา (USDA Organic) หรือเครื่องหมาย "พันธมิตรป่าฝน" (Rainforest Alliance) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ทั้งนี้ทั้งนั้น ไร่กาแฟในไทยส่วนใหญ่ก็ปลูกกันใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ และก็มีการปลูก "กาแฟอินทรีย์" (Organic Coffee) ซึ่งไม่ใช้สารเคมีใดๆ ในกระบวนการปลูก เพียงแต่ส่วนใหญ่แม้จะผ่านการรับรองมาตรฐานจากภายในประเทศ แต่ยังไม่มีใบรับรองในระดับสากล อย่างไรก็ตาม ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ไร่กาแฟที่ไม่ได้ติดตราหรือเครื่องหมายดังกล่าว จะไม่ได้หรือไม่มีมาตรฐานนะครับ แต่ถ้ามี ก็เชื่อว่าจะมีความได้เปรียบด้านการแข่งขันและการทำตลาด แล้วก็เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ผลิตที่ต้องการส่งออกกาแฟออร์แกนิกไปยังตลาดต่างประเทศ
ในแง่มุมของผู้บริโภคก็จะได้รับประโยชน์ในหลายๆ ด้าน เช่น ประหยัดเวลาเลือกซื้อ, ได้ราคาเป็นธรรม, มีมาตรฐานรับรอง และเลือกซื้อกาแฟได้ตรงตามความสนใจ, รสนิยมและพฤติกรรมการบริโภค
เกริ่นนำมาพอสมควรแล้ว มาลองมาดูตราสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายสำคัญๆ ในแวดวงกาแฟสากลว่ามีอะไรกันบ้าง รวมไปถึงความหมายของตราเหล่านี้ด้วย
USDA Organic
ในตลาดการค้าโลก มีตราหรือใบรับรองสินค้าออร์แกนิกจากหลายองค์กร แต่ที่ดูเหมือนจะได้รับความน่าเชื่อถือมากที่สุด ก็เห็นจะไม่พ้นไปจากตรารับรองอาหารและผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคจากสหรัฐอเมริกาที่เรียกกันว่า "USDA Organic" โดยคำ USDA นั้นย่อมาจาก U.S. Department of Agriculture อันเป็นกระทรวงเกษตรของสหรัฐ มาตรฐานนี้เริ่มใช้กันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 ซึ่งเป็นยุคที่สินค้าออร์แกนิกเริ่มได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่ชาวอเมริกัน
ข้อกำหนดหลักๆ ก็ชัดเจนในความหมาย คือ ไม่เป็นพืชผักผลไม้ที่ผ่านการตัดแต่งพันธุรกรรม (จีเอ็มโอ) และไม่ใช่ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีในการเพาะปลูก
โลโก้สินค้าออร์แกนิกที่พบเห็นบ่อยอีกชนิด ก็คือ "Canada Organic" ของรัฐบาลแคนาดา นำออกมาใช้ในปีค.ศ. 2009
เฉพาะกาแฟที่ติดตราสัญลักษณ์นี้เท่านั้นหรือจึงได้รับการพิจารณาว่าเป็นกาแฟออร์แกนิก? ก็อย่างที่เรียนให้ทราบว่าไม่จำเป็นครับ ในเอธิโอเปีย ไร่กาแฟของเกษตรกรรายเล็กๆ เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางว่าปลูกกาแฟโดยให้ธรรมชาติเป็นผู้ดูแล นี่ก็เข้าข่ายกาแฟออร์แกนิก ยังไม่นับรวมถึงกาแฟป่าที่เติบโตในประเทศนี้ ที่ถือเป็นกาแฟออร์แกนิกโดยไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองแต่ประการใด
Shade grown
เป็นโลโก้หรือตราสัญลักษณ์ที่มักพบเห็นกันบ่อยๆ บนซองกาแฟพิเศษ เป็นรูปแบบหนึ่งของการเพาะปลูกกาแฟ “ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่” ในป่าธรรมชาติ ตามแนวคิดที่ว่าต้นกาแฟจะเจริญเติบโตได้ดีเมื่อปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่ เนื่องจากเห็นว่าต้นกาแฟเป็นไม้ป่าโดยธรรมชาติถูกค้นพบครั้งแรกในผืนป่าของเอธิโอเปียมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 6
อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.allaboutbirds.org ระบุว่า เนื่องจากเป็นตราสัญลักษณ์ที่ไม่มีกฎระเบียบควบคุมดูแล และก็ไม่ได้ให้ข้อมูลที่ชัดเจนถึงสภาพไร่ที่กาแฟเติบโต จึงมีทั้งต้นกาแฟเติบโตใต้ร่มไม้ใหญ่ในป่าที่ยังสภาพเป็นแหล่งอาศัยทำกินของสัตว์ป่าและนกนานาชนิด หรือมีสภาพใกล้เคียง บางทีก็เป็นกาแฟที่เติบโตในร่มใบกลุ่มต้นกล้วยที่ใส่ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง
จากภาวการณ์นี้ "สถาบันสมิธโซเนียน" อันเป็นเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ของสหรัฐอเมริกา จึงได้พัฒนาตราสัญลักษณ์ที่มีกรอบกติกาเข้มงวดขึ้นมาใช้กับไร่กาแฟตามนิยามความหมายนี้จริงๆ ในปีค.ศ.1996
เครื่องหมายต่างๆ บนซองกาแฟ มีทั้งตราทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
Bird Friendly
อาจเรียกว่า "ไร่กาแฟเพื่อนนก" หรือไร่กาแฟที่เป็นมิตรกับนก นับเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของไร่กาแฟที่ดึงเอาความโดดเด่นของแหล่งปลูกที่เป็นมิตรกับธรรมชาติมาสร้างโอกาสทางธุรกิจ เป็นเครื่องหมายการค้าที่ผ่านการรับรองโดยทีมนักวิทยาศาสตร์จาก "ศูนย์นกอพยพแห่งสมิธโซเนียน" (Smithsonian Migratory Bird Center) ซึ่งเป็นศูนย์อนุรักษ์และศึกษาเส้นทางการอพยพของนกตามฤดูกาล มีสำนักงานอยู่ที่สวนสัตว์แห่งชาติสมิธโซเนียน ในวอชิงตัน ดีซี.
เป็นเครื่องหมายมาตรฐานที่มีระดับความ "เข้มงวดมากที่สุด" ในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะไร่กาแฟที่จะได้ติดตราโลโก้รูปนกบินเหนือผืนป่าในกรอบสีเหลี่ยมสีเขียวนี้ จะต้องเป็นกาแฟออร์แกนิกที่ผ่านการรับรองจาก USDA Organic แล้วยังต้องเป็นไร่กาแฟที่ปลูกกาแฟในบริเวณที่มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมไม่น้อยกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังจะต้องเป็นการปลูกกาแฟในป่าที่ป่านั้นๆ ยังเป็นแหล่งอาศัยและหากินของสัตว์ป่าต่างๆ รวมไปถึงนกด้วย จึงน่าเรียกว่า "สวนป่ากาแฟ" มากกว่า
Rainforest Alliance
เป็นมาตรฐานรับรองกาแฟออร์แกนิกที่ปลูกใต้ร่มเงาไม้ แม้มีความเข้มงวดไม่มากเท่ามาตรฐาน Bird Friendly แต่ก็มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสูงเช่นเดียวกัน ไร่กาแฟที่ติดตรา "กบสีเขียว" ของ "พันธมิตรป่าฝน" ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการเกษตรที่ยั่งยืน ซึ่งออกแบบมาเพื่ออนุรักษ์ระบบนิเวศ, ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและทางน้ำ, ลดการใช้สารเคมี, และปกป้องความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงานในไร่และชุมชนท้องถิ่น
พันธมิตรป่าฝน เป็นองค์กรอิสระ (เอ็นจีโอ) ก่อตั้งขึ้นโดยนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวอเมริกันชื่อ แดเนียล แคทซ์ ในปีค.ศ. 1987 มีเครือข่ายการทำงานอยู่ใน 3 ทวีป 70 ประเทศ ทั้งในเอเชีย, ละตินอเมริกา และแอฟริกา
ในปีค.ศ. 2020 พันธมิตรป่าฝน ได้รวมตัวกับ "ยูทีแซส" (UTZ) องค์การไม่หวังผลกำไรจากเนเธอร์แลนด์ เข้าเป็นหน่วยงานเดียวกัน เพื่อบรรลุถึงความยั่งยืนในการดำเนินงานตามพันธกิจ
กาแฟแบรนด์ Tomorrow's Coffee เต็มไปด้วยตราสัญลักษณ์ต่างๆ บนซอง / ภาพ : www.amazon.com
Fair Trade
ในบรรดาตราสัญลักษณ์ทางการค้า ก็จะเห็นมีตรา "Fair Trade" หรือการค้าที่เป็นธรรมนี่แหละซึ่งดูจะได้รับความนิยมมากที่สุด Fair Trade ก่อตั้งขึ้นอย่างไม่เป็นทางการโดยองค์กรทางการค้าระหว่างประเทศ 4 แห่งด้วยกัน
เป็นเครื่องหมายมาตรฐานการผลิตกาแฟที่ต้องการให้ประเทศผู้นำเข้ากาแฟจ่ายเงินซื้อกาแฟจากเกษตรกรชาวไร่ที่มีตรารับรองนี้ ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดทั่วไป เพื่อให้เกษตรกรนำเงินไปจ่ายเป็นราคาแรงในอัตราที่สมเหตุสมผลให้กับคนงานไร่กาแฟ รวมไปถึงสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศและให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาสังคม
ยังมีตราโลโก้ที่น่าสนใจอีกหลายตราด้วยกัน เช่น ไดเร็ค เทรด (Direct trade) หรือการซื้อกาแฟโดยไม่ผ่านคนกลาง ทำให้เกษตรกรได้ราคาที่สูงขึ้น, โคเชอร์ (Kosher) ใบรับรองของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตตามความเชื่อของชาวยิว, วีแกน (Vegan) ตราสัญลักษณ์ของอาหารมังสวิรัติ รวมไปถึงตรา พันธมิตรกาแฟสตรีสากล (IWCA) ซึ่งถ้าเห็นตราโลโก้ไปแปะอยู่บนกาแฟตัวใด ก็หมายถึงว่า กาแฟตัวนั้นได้รับรองจากองค์กร IWCA ที่มีเป้าหมายต้องการสร้างความเท่าเทียมในทุกๆ ด้านให้กับผู้หญิงที่ทำงานอยู่ในธุรกิจกาแฟระหว่างประเทศ
กาแฟจากรัฐฉานในเมียนมาร์ วางขายบนเว็บค้าปลีกฮ่องกง ติดตรารับรองจาก USDA Organic / ภาพ : www.shopnow.hk
สัญลักษณ์ที่ออกโดยผู้คนในวงการกาแฟก็มีอยู่เช่นกันอย่างตราเครื่องหมาย "Cup of Excellence" บนซองกาแฟ ก็ใช่เลยว่า เป็นกาแฟที่ได้รับรางวัลจากการประกวดเพื่อวัดคุณภาพกาแฟที่จัดขึ้นโดยกลุ่มพันธมิตรเพื่อความเป็นเลิศทางกาแฟ (ACE)
ตราเครื่องหมายทางสิ่งแวดล้อมและการค้าต่างๆ ที่แสดงถึงความยั่งยืนทางธุรกิจที่สะท้อนออกมาในรูปของการประกอบธุรกิจที่เป็นธรรม ควบคู่ไปกับการสงวนรักษาไว้ซึ่งธรรมชาติ ดูออกจะมากและหลากหลายอยู่ไม่น้อยสำหรับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ แต่อย่างน้อยที่สุด ขอเพียงเลือกดื่มกาแฟถ้วยโปรด ก็อาจเป็นอีกทางเลือก...เลือกที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขและสร้างให้โลกนี้น่าอยู่ยิ่งขึ้น…