เหตุใด‘น้ำไม่ท่วม’โบราณสถาน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
ขณะที่ตัวเมืองหลายอำเภอของสุโขทัยน้ำทะลัก แต่"อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย" รอดพ้น แค่น้ำปริ่มๆ เนื่องจากการวางระบบชลประทานโบราณอายุกว่า 700 ปีทำไว้ดี แล้วดีอย่างไร
เมื่อเดือนกันยายน 64 จังหวัดสุโขทัยได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 9 อำเภอ 56 ตำบล ซึ่งปกติฤดูน้ำหลาก เมื่อมีพายุพัดผ่าน จะมีปัญหาน้ำท่วมทุกปี
มีรายงานจากสำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัยว่า แหล่งมรดกโลก อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ที่มีระยะห่างจากตัวเมือง 12 กิโลเมตร รอบๆโบราณสถานมีแค่น้ำขังเล็กน้อย รอการระบาย ทั้งๆ ที่น้ำจากแม่น้ำยมที่ไหลผ่านสุโขทัยเอ่อล้นท่วมตัวเมือง
เนื่องจากแม่น้ำยมมีลักษณะลำน้ำแบบกิ่งไม้แยกเป็น 77 สาย มีระดับน้ำสูงสุดในฤดูฝน ลดลงเมื่อถึงฤดูหนาว และต่ำสุดในฤดูร้อน
ภาพจากเฟซบุ๊คอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
ผังเมืองโบราณสุโขทัย
หากมองย้อนระบบชลประทานดั้งเดิมเมืองสุโขทัย และเมืองศรีสัชนาลัย ช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-20 มีร่องรอยหลักฐาน ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ไว้ว่า มีการสร้างเขื่อนขวางทางน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขาทางตะวันออกเฉียงใต้เรียกว่า สรีดภงส์ ทำให้สามารถบังคับน้ำให้ไหลตามคูคลองและสระน้ำที่เรียกว่าตระพัง
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานยืนยันว่า สุโขทัยเป็นเมืองที่มีการวางผังเมืองดีที่สุดในบรรดาเมืองโบราณที่มีอายุตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 17 โดยตั้งอยู่บนที่ราบเชิงเขา
ที่ตั้งเมืองเป็นพื้นที่ลาดเอียง มีการสร้างคันดินกั้นน้ำ ทำเหมืองฝายเพื่อชะลอน้ำ ภายในเมืองจึงมีร่องน้ำและบ่อน้ำจำนวนมาก
สุโขทัยแม้จะเจริญรุ่งเรืองมานานกว่า 200 ปีแต่เป็นความรุ่งเรืองช่วงสั้นๆ ก่อนจะพัฒนาเป็นอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาโดยมีหลักฐานยืนยันว่า มีการตั้งถิ่นฐาน ทั้งบนที่ราบน้ำท่วมถึง และพื้นที่บริเวณเชิงเขา
ระบบชลประทานดั้งเดิม จึงมีทั้งสระน้ำขนาดใหญ่และเล็กประมาณ 175 สระ เป็นสระที่ขุดลงไปในดิน บางสระกรุด้วยผนังอิฐหรือศิลาแลง
ระบบชลประทานโบราณ
ว่ากันว่าในอดีตน้ำในคูเมืองสุโขทัยจะไหลเข้าสู่สระน้อยใหญ่ตามจุดต่างๆ ของชุมชน อย่างสระน้ำตระพังเงิน สามารถกักน้ำได้เกือบสี่หมื่นลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดมหาธาตุ ตรงกลางมีโบสถ์ตั้งอยู่บนเกาะลอย นอกจากนี้ยังมีตระพังทอง จุน้ำได้กว่า 96,000 ลูกบาศก์เมตร,ตระพังตะกวน จุน้ำได้กว่าสองแสนลูกบาศก์เมตร
ระบบชลประทานที่ควบคุมน้ำที่สำคัญก็คือ สรีดภงส์ (คันดินกักเก็บน้ำ ปัจจุบันก็คือเขื่อน แต่ในอดีตเป็นเขื่อนดินเพื่อกักน้ำทางการเกษตรและใช้สอยในตัวเมือง) ส่วนสระน้ำขนาดเล็กใหญ่ที่มีอยู่ทั่วไปในตัวเมืองจะไม่มีท่อระบายน้ำส่งต่อถึงกัน
เดิมทีคนท้องถิ่นตำบลเมืองเก่าอำเภอเมืองสุโขทัยจังหวัดสุโขทัย เรียกร่องรอยของคันดินโบราณ เพื่อการชลประทานว่า ทำนบพระร่วง (แนวเชื่อมระหว่างเขาพระบาทใหญ่กับเขากิ่วอ้าย) เนื่องจาก กษัตริย์สุโขทัยเป็นผู้สร้างขึ้น จึงถือว่าเป็นของที่พระร่วงทำขึ้น
ว่ากันว่า “ทำนบพระร่วง” นักวิชาการหลายท่านเรียกชื่อเป็น สรีดภงส์ ตามชื่อที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1(ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช)
แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม
โบราณสถานทั้งหมด193 แห่ง ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้วจำนวน 58 แห่ง ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่สำคัญในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18–19
แหล่งมรดกโลกแห่งนี้ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย ห่างจากตัวเมืองสุโขทัยปัจจุบันไปทางทิศตะวันตกประมาณ 12 กิโลเมตร
ส่วนของผังเมืองสุโขทัย มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความยาว2 กิโลเมตร กว้าง1.6 กิโลเมตร มีประตูเมืองอยู่ตรงกลางกำแพงเมืองแต่ละด้าน ภายในยังมีร่องรอยพระราชวังและวัดอีก 26 แห่ง อาทิ วัดมหาธาตุ วัดที่ใหญ่ที่สุดสร้างในสมัยสุโขทัยตอนต้น
นอกจากนี้ยังมีวัดสำคัญอีกหลายแห่ง อาทิ วัดศรีสวาย ทางตอนใต้ของวัดมหาธาตุประมาณ 350 เมตร ประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ เป็นศิลปะลพบุรี ลักษณะปรางค์ตั้งอยู่บนฐานเตี้ย ๆ มีลวดลายปูนปั้นบางส่วนเหมือนลายบนเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์หยวน
ว่ากันว่าอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ได้มีการฟื้นฟูในปี 2519 เปิดอย่างเป็นทางการในปี 2531 และเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2534ยูเนสโกได้ประกาศให้อุทยานแห่งนี้เป็นแหล่งมรดกโลกร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์ที่กำแพงเพชรและศรีสัชนาลัยภายใต้ชื่อว่า “เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร”
เนื่องจากเคยเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของชาวสยามในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 และ 14 จึงมีสิ่งก่อสร้างจำนวนมาก แสดงถึงจุดเริ่มต้นของสถาปัตยกรรมไทย ที่มีอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร
อย่างไรก็ตาม แม้สุโขทัยจะเคยเป็นเมืองรุ่งเรืองและมีระบบชลประทานที่ดีที่สุด แต่กาลเวลาย่อมผันแปร ไม่มีอะไรหยุดอยู่กับที่
เมื่อเมืองพัฒนา ระบบชลประทานที่เคยจัดว่าดีที่สุดในยุคหนึ่ง ถูกปรับเปลี่ยนโดยคนรุ่นต่อมา ถมถนนสูงขึ้นเรื่อยๆ วางระบบท่อ ท่อประปา ขุดคูคลอง สร้างกำแพงกั้นทางน้ำ
ณ วันนี้เมื่อเส้นทางน้ำเปลี่ยน ชีวิตก็เปลี่ยน สุโขทัยเมืองเก่า จึงกลายเป็นแหล่งรับน้ำหลากหลายทิศทาง
............
ที่มา : ข้อมูลบางส่วนจากระบบชลประทานเมืองสุโขทัย โดยเอนก สีหามาตย์และคณะ