เปิดใจ"ผู้ว่าฯปู-วีรศักดิ์" ก่อนเกษียณเป็นราษฎรเต็มขั้น
"ผู้ว่าฯปู วีรศักดิ์" แม้จะไม่แข็งแรงเท่าที่ควร แต่ก็ยินดีให้สัมภาษณ์สั้นๆ ชวนคุยเรื่องเบาๆ ...หนังสือเล่มโปรด หนักขึ้นอีกนิด"ชีวิตเฉียดตาย" ผ่อนคลายอีกหน่อย ชีวิตหลังเกษียณ
คำว่า "ชีวิตคือความไม่แน่นอน"...
คงใช้ได้กับผู้ว่าฯ ปู -วีรศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ที่เพิ่งเดินทางไปรับตำแหน่งผู้ว่าคนใหม่ที่จ.อ่างทอง ในวันที่สัมภาษณ์( 5 ตุลาคม 64) เลขาหน้าห้องคำนวณให้ว่า ผู้ว่าฯเหลือเวลาทำงานอีก 360 วันจะเกษียณ
ในวันที่ร่างกายไม่แข็งแรง แม้จะหายป่วยจากโควิดแล้ว ก็ยังมีอาการLong COVID (อาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19 ) เดินเหินไม่สะดวก แต่ยังมีเสียงหัวเราะ และความเป็นกันเอง ตามสไตล์ผู้ว่าฯ ใจนักเลง
ก่อนจะเป็นผู้ว่าฯ วีรศักดิ์เคยเป็นนักพัฒนาชุมชน จากนั้นไต่เป็นนายอำเภอ และเป็นผู้ว่าราชการหลายจังหวัด ล่าสุดเป็นผู้ว่าฯที่จังหวัดบ้านเกิด
หากใครมีโอกาสพูดคุยกับผู้ว่าฯปู ก็จะรู้ว่า เขาเป็นคนง่ายๆ อารมณ์ดี แม้จะแอบเครียดบ้างในหลายครั้ง ก็ยังมีแนวคิดที่ว่า “ท.ท.ท. ทำทันที เมื่อมีชีวิตอยู่”
ย้อนไป18 ปีที่แล้ว เขาเคยเข้าโรงพยาบาล ผ่าตัดสมอง เพื่อนๆ มาเยี่ยม มาดูใจเป็นครั้งสุดท้าย และตอนนั้นหมอบอกภรรยาเขาว่าให้ทำใจ
และครั้งล่าสุดนอนโรงพยาบาลศิริราช 42 วัน ไม่รู้สึกตัวเลย คนทั้งประเทศแอบคิดว่า ผู้ว่าฯไม่รอดแน่ ...
อยากให้เล่าถึงช่วงปี 2546 ที่ต้องผ่าตัดสมอง ?
ปี 46 ผมเป็นผู้ว่าฯและต้องผ่าตัดสมอง เกือบตายแล้ว หมอบอกว่าเป็นการผ่าตัดเพื่อช่วยชีวิต มีโอกาสรอด 10 % แต่ก็รอดมาได้
เมื่อผ่าตัดแล้ว ปรากฎว่าสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว การเดิน การทรงตัวตาย หมอบอกภรรยาผมว่าให้ทำใจ คงทำงานและเดินไม่ได้
ในช่วงนั้นมีคนมาเยี่ยมเยอะมาก
ณ ปัจจุบันคนที่ไปเยี่ยมผม เกือบๆ 100 คน มีหลายคนเสียชีวิตไปแล้ว ตอนนั้นคนไปเยี่ยมก็คงไปดูใจผม กลายเป็นว่าเขาตายก่อนผม
จึงเป็นที่มาของการทำงานทุ่มเทมากขึ้น เพราะเราไม่รู้ว่า อายุเราจะอยู่ได้แค่ไหน ซึ่งเราก็สามารถเอาชนะตรงนั้นมาได้
ดังนั้นเวลาเราจะทำอะไร ก็ทำเลย เพราะเราไม่รู้ว่า เราจะมีวันพรุ่งนี้หรือเปล่า ไม่รู้ว่าจะตายวันไหน
ผมตั้งใจมาเกษียณที่บ้านเกิด คือจ.อ่างทอง และเหลือเวลาทำงานอีก 300 กว่าวัน และตอนผมประจำที่จ.สมุทรสาคร ที่นั่นวิกฤติมาก
ตอนนี้ถ้าได้ผู้ว่าฯ ที่มีประสบการณ์ เคลื่อนที่ไปที่นั่นที่นี่บ่อยๆ น่าจะเป็นเรื่องที่ดี ผมอยู่อาจเกะกะ เพราะไม่สามารถทำอะไรได้ ผมก็เลยอยากมาอยู่ใกล้ๆ บ้าน (จ.อ่างทอง)
เฉียดตายครั้งที่ 2 เพราะติดโควิด แต่รอดมาได้ ?
ผมว่ากำลังใจสำคัญ กำลังใจจากครอบครัวและประชาชน สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าเราไม่ได้รักครอบครัวหรือไม่รักประชาชนอย่างแท้จริง
แม้ตอนทำงานที่จังหวัดสมุทรสาครจะรู้สึกน้อยใจ เพราะคลัสเตอร์ตลาดกุ้ง จะตั้งโรงพยาบาลสนามก็ทำด้วยความยากลำบาก เดินไปตรงไหนก็มีแต่คนประท้วง บางแห่งถึงขนาดปิดถนนล้อมเจ้าหน้าที่ของเรา
แต่พอเราฟื้นจากหลับๆ ตื่นๆ 42 วันที่ศิริราช ปรากฎว่า โรงพยาบาลสนามสร้างเสร็จแล้ว 10 แห่ง ซึ่งเป็นกำลังใจมหาศาล เกือบตาย พอกลับคืนมารู้สึกว่าชีวิตเราคุ้มค่าแล้ว
ตอนนั้นรู้สึกตัวบ้างไหม
ไม่รู้สึกตัวเลย มาดูไทม์ไลน์ ผมก็คิดว่า ผมไม่น่ารอด ไม่รู้รอดมาได้ยังไง ตอนนั้นวิกฤติมาก
ชีวิตการเป็นผู้ว่าฯ เคยเจอปัญหาหนักที่สุดที่ไหน
ตอนที่ผมไปประจำที่จ.พิจิตร ประชาชนไม่มีน้ำใช้เลย แห้งแล้งมากขนาดทุ่งกุลาร้องไห้ ไม่มีน้ำขนาดที่ว่าเด็กวัยรุ่นเอารถจักรยานยนตร์ไปขี่กลางบึง เป็นความท้าทายมาก
เราก็ให้สัญญาว่า ให้ทุกคนร่วมใจกัน จากที่ไม่มีน้ำเลยบอกไปว่า เดือนพฤศจิกายนจะมาลอยกระทงร่วมกัน ก็สามารถทำได้จริงๆ
อีกแห่งที่เจอปัญหาหนักคือ จ.สมุทรสาคร ตั้งโรงพยาบาลสนามไม่ได้ พอกลายเป็นคนป่วยติดโควิด ทำให้เราได้รับการยอมรับมากขึ้น
เวลาทำงานผมไม่ได้คิดว่า เป็นผลประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นผลประโยชน์ของมวลมนุษย์ชาติ
ใครเป็นกำลังใจสำคัญในชีวิตผู้ว่าฯปู
ภรรยาที่อยู่เคียงข้างผมตลอด และน้ำหวานลูกสาวคนโต ตอนป่วยก็เอาเทปให้พ่อได้ฟังได้อ่าน ส่งข้อความมา ก็มีส่วนกระตุ้นจิตใจ
หลายครั้งเห็นผู้ว่าฯ ท้อและน้อยใจประชาชน ?
ก็ต้องมีบ้าง ผมยึดแนวทางของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่บอกว่า อย่าเอาการขาดแคลนเป็นข้ออ้างในการทำงาน
เห็นบอกว่าพักผ่อนน้อย ?
คุณหมอแนะว่าให้ผมนอนสี่ทุ่ม แต่นอนได้เร็วที่สุดคือ เที่ยงคืน
ตั้งแต่รับตำแหน่งผู้ว่าฯ จังหวัดอ่างทองได้จัดรายการพบประชาชนหรือยัง
สองครั้งแล้วครับ คุยกันสี่โมงเย็นวันอาทิตย์ จำได้ว่าตอนเกิดคลัสเตอร์ตลาดกุ้ง มีคนตำหนิหลายอย่าง ทำไมผู้ว่าฯปล่อยปละละเลย
ผมจึงคิดว่ากลยุทธ์การประชาสัมพันธ์เป็นเรื่องจำเป็นมาก ผมให้ความสำคัญตั้งแต่เป็นนายอำเภอที่แม่วงก์ จ.นครสวรรค์
เป็นผู้ว่าฯอยู่ 3-4 จังหวัดก็ยังจัดรายการวิทยุชุมชน การทำหนังสือพิมพ์ประจำอำเภอ เอาเรื่องราวมาบอกกล่าว
ผมเห็นประโยชน์ที่ได้บอกเล่าความจริงให้ประชาชนทราบ แฟนเพจก็เปิดอย่างอิสระเสรี อยากจะโยนก้อนหินหรือดอกไม้ให้ผู้ว่าฯก็ยินดี
อะไรที่ทำให้ไม่หยุดเรียนรู้
ผมเป็นลูกคนเล็กๆ ครอบครัวมีฐานะปานกลาง พี่ๆ เรียนดี ผมก็เลยต้องหนีไปทำกิจกรรมในเรื่องอ่านหนังสือ ดนตรี ศิลปวัฒนธรรม เพราะเราคิดว่าเราดีไม่เท่าพี่ๆ
บตั้งแต่เด็กจนโตก็อยู่ในแวดวงหนังสือมาตลอด พี่ๆ แม่ๆ ป้าก็เกี่ยวข้องกับหนังสือทั้งทางตรงและทางอ้อม รู้สึกหนังสือเป็นตัวแทนให้เราเปิดโลกทัศน์ ทำให้เรารู้จักตัวตนที่แท้จริงของโลกใบนี้ เราก็ขวนขวายหาความรู้
หนังสือในดวงใจของคุณเรื่องอะไร
พล นิกร กิมหงวน ทำให้เรารักการอ่าน ผมเคยเป็นประธานชมรมวรรณศิลป์ ตอนเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยบูรพา อ.บางแสน จ.ชลบุรี ส่วนหนังสือในดวงใจเลยคือ คำพิพากษา ของชาติ กอบจิตติ
ผู้ว่าฯ มีแนวทางการบริหารอย่างไร
พยายามบอกทุกคนว่า อย่าเอาเงิน งบประมาณ ระเบียบ กฎหมายต่างๆ มาเป็นตัวตั้ง เอารอยยิ้มของประชาชนเป็นตัวตั้งดีกว่า
ถ้าเกษียณแล้วเป็นประชาชนเต็มขั้นจะทำอะไร
สัญญากับลูกๆ ไว้ว่าจะนอนบ้าน อ่านหนังสือ มีกำลังวังชาไปไหนก็ไป ทุกวันนี้ร่างกายยังไม่แข็งแรง มีอาการที่เพิ่งปรากฎคือ มือด้านขวาเกร็ง น่าจะเป็นลองโควิด ก็ทำกายภาพเรื่อยๆ