"ซอฟต์พาวเวอร์" กับการซ่อมแซมความฝันที่สึกหรอ
ปรากฎการณ์"ลิซ่า"อยากกินลูกชิ้นทอด สามารถปลุกความเงียบเหงาทางเศรษฐกิจให้ฟื้นคืนชีพได้ด้วยพลัง"ซอฟต์พาวเวอร์" แต่ทำไมซอฟต์พาวเวอร์สัญชาติไทยไม่เติบโต...
ลูกชิ้นทอดที่ไหนก็มีขาย แต่เมื่อนักร้องชื่อดังอย่างลิซ่า ลลิษา มโนบาล แห่งวงแบล็คพิงค์ เอ่ยปากว่าอยากกินลูกชิ้นทอดหน้าสถานีรถไฟจังหวัดบุรีรัมย์ ทำเอาบรรยากาศที่ค่อนข้างเงียบเหงาของร้านค้าลูกชิ้นนับสิบร้านพลิกเปลี่ยนเป็นคึกคักทันตาเห็น
รายได้แต่ละร้านเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3 เท่าตัว ความหอมและเข้มข้นของน้ำจิ้ม บวกกับรสสัมผัสของลูกชิ้นกรอบๆ คือเครื่องการันตีความอร่อยที่เจ้าของเพลง Lalisa หวนระลึกถึงอยู่เสมอ
ความทรงจำที่มีค่า
ความทรงจำของใครก็ย่อมมีค่า เช่นเดียวกับลิซ่า ที่ราคาของความทรงจำมีราคาสูงเกินประเมินค่าได้ ที่สำคัญราคานั้นยังส่งผลสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
ชนิดที่นายกฯ ของไทยต้องเอ่ยปากชมนักร้องสาวว่า สร้างชื่อด้วยการนำศิลปวัฒนธรรมไทยดังไปทั่วโลก พร้อมทั้งสั่งคณะรัฐมนตรีสนับสนุนเยาวชน พลิกโฉมประเทศ
แต่ขณะเดียวกัน มีเสียงทวงถามถึงมาตรการรองรับในการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมจากรัฐบาล มากกว่าการชมเชยตามกระแส
เพราะแฟนคลับลิซ่ารู้กันเป็นอย่างดีว่า เด็กสาวจากจังหวัดบุรีรัมย์คนนี้ ใช้เวลาและความอดทนมากเพียงใด กว่าจะเป็นซุปเปอร์สตาร์ระดับโลก จนกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลในโลกยุคใหม่
ปรากฎการณ์ลิซ่าอยากกินลูกชิ้นทอด ทำให้เราเห็นความสำคัญของพลังแห่งซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) ที่สามารถปลุกความเงียบเหงาทางเศรษฐกิจให้ฟื้นคืนชีพได้
ยังรวมถึงสร้างอำนาจในการชักจูงหรือโน้มน้าวประเทศอื่นให้ปฏิบัติตามที่ตนประสงค์ โดยการสร้างเสน่ห์ ภาพลักษณ์ ความชื่นชม และความสมัครใจพร้อมที่จะร่วมมือกันต่อไป
ว่ากันว่า อำนาจแบบนี้จะได้รับการยอมรับมากกว่าอำนาจอำนาจเชิงบังคับ หรือ hard power
โจเซฟ ไน นักรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวไว้ในหนังสือ Soft Power : The Means to Success in World Politics ว่าแนวคิดพื้นฐานของอำนาจในการทำให้ผู้อื่นปฏิบัติตามความต้องการของเรามีอยู่สามวิธี คือ
หนึ่ง ใช้กำลังบังคับ สอง การล่อด้วยผลตอบแทน และสาม การจูงใจให้ร่วมมือ ซึ่งวิธีที่ได้ผลและใช้การลงทุนน้อยที่สุดจากทั้งสามวิธีก็คือ การสร้างแรงจูงใจ หรือหมายถึงการใช้ซอฟต์พาวเวอร์
ทั้งนี้ องค์ประกอบของซอฟต์พาวเวอร์มี 3 ประการ คือ 1. วัฒนธรรม 2. ค่านิยม 3. นโยบายต่างประเทศ โดยประโยชน์ของซอฟต์พาวเวอร์ทำให้เกิดการสร้างภาพลักษณ์กับประเทศ สร้างค่านิยม กระตุ้นเศรษฐกิจ และมีส่วนช่วยปรับเปลี่ยนทัศนคติให้กับชาวต่างชาติ
พลังซอฟต์พาวเวอร์
สำหรับ ลิซ่า ก่อนกล่าวถึงลูกชิ้นยืนกิน นักร้องสาวยังได้นำเสนอแลนมาร์คสำคัญอย่างปราสาทหินพนมรุ้ง โดยเป็นหนึ่งในฉากสำคัญของมิวสิควิดีโอเพลง Lalisa ที่มียอดวิว 100 ล้านวิวภายในเวลาเพียง 2 วันเศษ ทำสถิติเร็วสุดในยูทูป
ฉากที่ว่านั้นคือ ซุ้มประตูทางเข้าปราสาท ฉากสั้นๆ ไม่กี่วินาที แต่สร้างแรงสั่นสะเทือนมาถึงบุรีรัมย์ได้อีกเช่นกัน ทำให้คนทยอยมาเยี่ยมชมปราสาทหินมากขึ้นเป็นเท่าตัว
ในเพจอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง มีการโพสต์ให้หัวข้อ “เรียนรู้สถาปัตยกรรมปราสาทพนมรุ้ง สู่แรงบันดาลใจในฉาก MV ของลิซ่า BLACKPINK” ซึ่งเป็นการใช้จังหวะเวลาที่คนให้ความสนใจมาท่องเที่ยวปราสาทหินพนมรุ้งได้รับรู้ข้อมูลเชิงสถาปัตยกรรมที่ปรากฎในมิวสิควิดีโอ
ไม่เพียงเท่านั้น การสร้างพลังแห่งซอฟต์พาวเวอร์ยังต่อเนื่องไปถึงแผนการในอนาคต ตามที่ลิซ่ากล่าวกับ The Korea Times ว่าต้องการจะจัดตั้งสถาบันสอนเต้น K-POP ณ โรงเรียนโนนสุวรรณพิทยาคม จ.บุรีรัมย์ เป็นการพัฒนาจากห้องเรียนนาฏศิลป์เก่า โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มต้นในปีนี้
ด้วยการสนับสนุนของมูลนิธิเกาหลีเพื่อการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศ ลิซ่าและทีมงานวางแผนไว้ว่าจะจัดตั้งสถาบันสอนเต้น K-POP ที่มีครูสอนเต้นเป็นคนในท้องถิ่น
นอกจากนี้โครงการยังสนับสนุนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โปรเจกเตอร์ และอุปกรณ์มัลติมีเดียอื่นๆ อีกด้วย ก่อนหน้านี้โรงเรียนเคยเปิดชั้นเรียนเต้นรำแบบดั้งเดิมหลังเลิกเรียน แต่ประสบปัญหาในดูแลรักษาเนื่องจากสภาพห้องเรียนเก่า
ตัวอย่างจากลิซ่า ทำให้เห็นถึงความสำคัญของซอฟต์พาวเวอร์ในแง่การกอบกู้เศษซากความฝันที่เคยผุพังมาก่อน รวมถึงการใช้ต่อยอดการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างเห็นผล ตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสร้างซอฟต์พาวเวอร์คือ เกาหลีใต้
(K-POPเกาหลีที่โด่งดังไปทั่วโลก)
ซอฟต์พาวเวอร์เกาหลีใต้
ว่ากันว่า การสร้างซอฟต์พาวเวอร์เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคที่ถูกญี่ปุ่นรุกราน ใช้เวลาหลายสิบปี หลังจากนั้นเกาหลีใต้ถูกจับตามองอย่างมากในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกวัฒนธรรม
เห็นได้จาก อิทธิพลทางวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ในสื่อบันเทิงระดับโลกขยายตัวข้ามอุตสาหกรรมไปในหลายสื่อ โดยถือเป็นทัพหน้าของการพัฒนาวัฒนธรรมรอบโลก
นักวางแผนเชิงนโยบายของเกาหลีใต้อ้างว่า กระแสคลั่งไคล้เกาหลีใต้ขับเคลื่อนด้วยคุณภาพของตัวศิลปินเป็นหลัก
จากระบบการสร้างคนที่มีคุณภาพ ในช่วงสิบกว่าปีมานี้จึงเห็นความร้อนแรงจากสื่อบันเทิงเกาหลีใต้ออกสู่ตลาดโลก เริ่มต้นจากกังนัมสไตล์กลายเป็นมิวสิควิดีโอเพลงแรกที่ฮิตติดชาร์ตของยูทูป
และรั้งอันดับ 10 ในลิสต์เพลงที่มีคนดูมากที่สุด เพลงสำหรับเด็กอย่าง ‘เบบี้ชาร์ค’ ที่มียอดคนดูจำนวนมากในยูทูปก็ผลิตโดยบริษัทสัญชาติเกาหลีใต้เช่นกัน
ขณะที่ต้นปีที่ผ่านมา บอยแบนด์ชื่อดังอย่าง BTS สร้างสถิติโลกใหม่ 5 รายการ เนื้อหาในเพลงยังมีประเด็นเรื่องชนชั้น ความรุนแรง ความเป็นชาติ ฯลฯ จนได้กลายเป็นทูตการท่องเที่ยวแห่งกรุงโซล
ซอฟต์พาวเวอร์ไทยไม่เติบโต
ว่าไปแล้ว ความคิดสร้างสรรค์ที่ดูเหมือนไม่มีที่สิ้นสุดของเกาหลีใต้ไม่ได้มา เพราะโชคช่วย หากแต่มาจากการวางแผนที่ชาญฉลาด โดยการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ลงทุนจำนวนมากในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1990 (ข้อมูลจาก eastasiaforum.org)
แน่นอนว่า เกาหลีใต้จัดสรร กลยุทธ์ เพื่อสร้างซอฟต์พาวเวอร์ในแนวทางเดียวกันที่ไต้หวันและสหราชอาณาจักรพยายามนำมาใช้
ด้วยเหตุนี้ ในปี 2021 นิตยสาร Monocole นิตยสารจากอังกฤษจัดอันดับให้ เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านซอฟต์พาวเวอร์เป็นอันดับที่ 2 รองจากเยอรมนี
ส่วนอันดับ 3 เป็นของฝรั่งเศส ตามมาด้วย ญี่ปุ่น ไต้หวัน สวิตเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ สวีเดน ตามลำดับ (ข้อมูลจาก Korea.net)
สำหรับประเทศไทย ไม่ใช่ว่าไม่มีความพยายามสร้างซอฟต์พาวเวอร์มาก่อน แต่ดำเนินการสำรวจปัญหามาแล้วระดับหนึ่ง และพบว่า การดำเนินการยังขาดการร่วมมือกันจากหน่วยงานต่างๆ และขาดการพัฒนาเชิงลึก
อีกทั้งกลไกรัฐยังไม่เอื้อต่อการพัฒนาสื่อบันเทิงหลายประเภท ซอฟต์พาวเวอร์สัญชาติไทยจึงไม่เติบโต และคงทำได้เพียงรอคอยฟ้าฝนจากต่างประเทศที่จะหล่นโปรยมาเป็นระลอกแบบปรากฎการณ์ลิซ่าอยากกินลูกชิ้นทอดนั่นเอง
.........................
ผลงานเรื่องนี้ : ตีพิมพ์ในเซคชั่นจุดประกายฉบับพิเศษ เนื่องในวันครบรอบ 35 ปีหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (6 ตุลาคม 2564)