3 ที่เที่ยว ‘ท่องเที่ยวชีวภาพ’ ต้นแบบการตลาดบ้านๆ ที่เข้าถึงชาวบ้านจริงๆ
พาไปรู้จัก 3 แหล่ง "ท่องเที่ยวชีวภาพ" ต้นแบบของการเติมเต็มกระแสรอง ที่คู่ขนานกับการท่องเที่ยวกระแสหลัก แต่เน้นชุมชนมีรายได้ไม่ใช่ผู้ประกอบการรายใหญ่
หลังจากที่บ้านเมืองพอผ่อนคลายจากสถานการณ์โควิดไปในระดับหนึ่ง อะไรหลาย ๆ อย่างก็เริ่มกลับมาเข้าที่เข้าทาง ผมก็ได้รับเชิญจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (สพภ.) ที่เขามีชื่อย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า BEDO ออกเสียงตัวย่อว่า "เบโด" ซึ่งนักข่าวหรือคนที่เกี่ยวข้องคงคุ้นกัน แต่คนที่ไม่คุ้นก็อาจจะงงๆ
เบโดเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นมาตอนปฏิรูปราชการเมื่อหลายปีก่อน มีมากันหลายองค์กรเยอะแยะ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 หลายหน่วยงานตามกระทรวงต่างๆ สำนักนายกก็มี (แต่ BEDO นี่ตั้งมาปี ๒๕๕๐ ตามพระราชกฤษฏีกาจัดตั้ง) แม้หลายหน่วยงานจะตั้งมานาน แต่คนก็ไม่ค่อยคุ้นชื่อหรอกครับ
เช่น องค์กรจัดการก๊าซเรือนกระจก สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ธนาคารที่ดิน ฯลฯ ขนาดผมอยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชนยังไม่รู้จักเลย บางที่ก็เงียบกริบ มีเบโดนี่แหละพอคุ้นหูบ้าง เขาชวนให้ไปร่วมฟังการทำงานเรื่อง การท่องเที่ยวชีวภาพ ที่เขาทำที่ผ่านมา กับที่จะทำในปีต่อไป แค่ฟังหัวข้อก็ชวนสงสัยแล้วว่า “ท่องเที่ยวชีวภาพ” เป็นอย่างไร?
“ท่องเที่ยวชีวภาพ” ซึ่งเขานิยามมาว่าเป็นการตลาดแบบบ้านๆ ซึ่งเขาจะมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุนการนำทรัพยากรชีวภาพในท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม รู้ค่า รู้รักษา รู้จักแบ่งปันรายได้มาฟื้นฟู ทรัพยากรให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
กิจกรรมที่เขาจะทำก็อย่างทำธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพในระดับชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน สนับสนุนช่องทางตลาดให้ชุมชน ซึ่งการท่องเที่ยวชีวภาพนี้ก็เป็นหนึ่งในหลายช่องทางเหล่านั้น
นิยามคำว่า “การท่องเที่ยว” คงไม่ต้องอธิบายความ แต่ “ท่องเที่ยวทางชีวภาพ” นอกจากจะไปดูไปถ่ายรูปไปร่วมกิจกรรม เขายังเน้นเรื่องสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยเน้นย้ำไปที่ชุมชน ผลประโยชน์ชุมชน “การท่องเที่ยวชีวภาพ” จึงเป็นการผสานผสมกันทั้งการพักผ่อนและการเรียนให้รู้คุณค่าไปในตัว
บอกมาแค่นี้ท่านผู้อ่านอาจจะยังไม่เห็นภาพเดี๋ยวผมจะเล่าถึงพื้นที่จริงที่เขาไปส่งเสริมในปีที่ผ่านๆ มาก็แล้วกัน
1. บ้านรวมไทย กุยบุรี ประจวบคีรีขันธ์
ที่นี่มีจุดขายคือการดูสัตว์ป่า ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ให้เห็นการจัดการ การจัดสรรปันส่วนทรัพยากรธรรมชาติทั้งของคนและสัตว์ป่าที่อยู่ร่วมกันได้ เพราะในสภาพสังคมปัจจุบัน ให้คนคืนพื้นที่ให้ช้างก็คงยาก หรือจะให้ช้างเข้ามาหากินในไร่สับปะรดก็คงยากอีก ดังนั้นทางออกก็คือการหารูปแบบที่อยู่ร่วมกัน ปรับเข้าหากันทั้งสัตว์ ทั้งคน แล้วที่นี่ประสบความสำเร็จ เพราะกลายเป็นชุมชนก็ได้ประโยชน์ อุทยานแห่งชาติเจ้าของพื้นที่ก็ได้ประโยชน์ และสัตว์ป่าก็ไม่รู้สึกว่าถูกจำกัดพื้นที่
2. ชุมชนบ้านศรีเจริญ ต.เลยวังไส อ.ภูหลวง จ.เลย
ที่นี่เขาชูฝ้าย ซึ่งฝ้ายนั้นเรารู้แล้วว่าเมืองเลยเป็นดินแดนของการปลูกฝ้าย แต่ที่นี่มี “ฝ้ายตุ่น” ซึ่งเป็นฝ้ายสีหม่นเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ ที่นี่เบโดก็จะไปช่วยเน้นการทำผลิตภัณฑ์ฝ้าย สร้างลวดลาย เพิ่มวิธีการ รูปแบบการตัดเย็บ สร้างตลาดปันรัก เป็นแหล่งซื้อขายผลิตภัณฑ์ชุมชน เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง ที่มีผลมาจากป่าภูหลวง มีท่องเที่ยวน้ำตกในชุมชน
3. ลุ่มน้ำสทิงพระ
วิถีโหนด นา เล เชื่อมโยงวิถีชีวิตสามแบบในย่านเดียวกัน ที่ชุมชนท่าหิน สทิงพระ สงขลา คือ วิถีแห่งต้นตาลโตนด ท้องนาและวิถีทะเล สำหรับที่นี่ผมเคยไปมาเองก่อน ขับรถเพลินๆ ลงมาจากทางนครฯ หัวไทร เข้าเขตสงขลา มาระโนด แล้วเข้าสทิงพระ แล้วจึงเข้าสงขลา บอกเลยครับว่าเป็นเส้นทางที่น่าขับรถท่องเที่ยวมาก เส้นทางสวย สงบ
ช่วงนี้จะมีแหล่งน้ำใหญ่ต่อเนื่องกันจนออกทะเลใหญ่ นับจากทะเลน้อย ทะเลหลวง และทะเลสาบสงขลา พอเข้าเขตระโนด สทิงพระจะเห็นต้นตาลเรียงราย แล้วมีวิถีคนทำน้ำตาลโตนด เหมือนที่บ้านผมที่เพชรบุรีเลย แล้วทางด้านนี้เขาทำนากันด้วย ในช่วงที่เขาทำนา นาข้าวเขียวขจี จนข้าวตั้งท้องแล้วเหลืองอร่าม
ด้วยความที่อยู่ติดทะเลสาบใหญ่เลยมีวิธีคนทำประมงในทะเลสาบด้วย การท่องเที่ยวย่านนี้แค่เห็นชุมชน ภูมิทัศน์บ้านๆ ก็สวยแล้วครับ แล้วฝั่งด้านนี้ไม่ใช่เส้นทางหลักของนักท่องเที่ยว การรบกวนเลยไม่มาก แต่เขาก็มีการนั่งเรือชมทะเลบัวแดงเช่นกัน ผลิตภัณฑ์ในพื้นที่นอกจากสินค้าจากน้ำตาลโตนด ยังมีข้าวออร์แกนิคและปลามิหลัง หรือปลาดุกทะเล ยอมรับว่าอันนี้ผมไม่เคยกิน แต่เขาว่าเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าในท้องถิ่นที่ไปแล้วต้องลอง
นอกจากนี้ยังมีชุมชนลุ่มน้ำเวฬุ ต.วันยาว อ.ขลุง จันทบุรี นี่ก็เป็นวิถีริมทะเล ชมเหยี่ยวแดง พื้นที่ป่าชายเลนและผลิตภัณฑ์จากส้มจี๊ดที่มีมากในท้องถิ่น, ที่ลุ่มสุ่ม กาญจนบุรี ที่ป่งไคร้ เชียงใหม่อีก เหล่านี้คือที่เคยทำมาซึ่งเป้าหมายต่อไปเขาจะทำคือที่สวายสอ บุรีรัมย์ เส้นทางเชื่อมโยงปราสาทหิน ถิ่นกระเรียนไทย และที่คลองประสงค์ จ.กระบี่
จะเห็นว่า ไม่ว่าเขาจะส่งเสริมที่ใดก็ตาม เขาจะมีการเน้นย้ำสิ่งที่มีในชุมชนออกมานำเสนอ ไม่ได้เน้นการท่องเที่ยวแบบสุขสบายเหมือนท่องเที่ยวกระแสหลัก อย่าคิดว่าซ้ำซ้อน ผมกลับมองว่าเติมเต็มมากกว่า ขณะที่ท่องเที่ยวกระแสหลักอย่าง ททท. เน้นมานั่งร้านกาแฟและ DIY แต่ “ท่องเที่ยวชีวภาพ” เน้นชุมชนมีรายได้ไม่ใช่ผู้ประกอบการรายใหญ่
เนื้อที่ของผมอาจจะมีไม่มาก แต่ถ้าอยากรู้อะไรมากกว่านี้ ขอเชิญเยี่ยมชมและดูรายละเอียดได้ที่ www.bedo.or.th แล้วจะได้เห็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ต่างจากที่เราคุ้นเคย...