โลกพิศวงของ“สมอง” กับหมอกิ๊ก-ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์

โลกพิศวงของ“สมอง” กับหมอกิ๊ก-ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์

บางที สมอง ก็อัศจรรย์เหลือเกิน แต่บางทีก็เพี้ยนๆ ป่วยแต่ไม่รู้ตัวว่าป่วย และนี่คือเรื่องราวของโรคทางสมอง ที่มีคำอธิบายจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้

เมื่อเร็วๆ นี้ทางรายการคุยวิทย์ติดตลก สื่อออนไลน์ โดย แทนไท ประเสริฐกุล จาก WiTCast 105 ได้เปิดประเด็นคุยสมองกับ หมอกิ๊ก-ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ แพทย์ด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และอาจารย์แพทย์ ผู้แปลหนังสือเรื่อง The Man Who Mistook His Wife For a Hatโดย Oliver Sacks หรือ ชายผู้เห็นภรรยาเป็นหมวก (โลกพิศวงของโรคสมอง)

อะไรทำให้คุณหมอหยิบหนังสือเล่มนี้มาแปล

ในอดีตไม่เคยมีใครเอาเคสคนไข้มาเล่า เพื่อสื่อสารกับวงการแพทย์ว่า มุมมองปัจจุบันที่เรามีต่อการดูแลผู้ป่วยหรือคนไข้ มันมีมิติมากกว่าแค่ความไม่สบาย ยังมีมุมที่เรามองไม่เห็นว่า มันมีผลกระทบอะไรได้บ้าง 

 

อย่างหนังเรื่อง AWAKENINGS ที่แสดงโดย โรบิน วิลเลียมส์ กับ โรเบิร์ต เดอ นิโร ก็สร้างจากหนังสือเล่มหนึ่ง เป็นเรื่องจริงจากประสบการณ์การรักษาช่วงแรกๆ ของคุณหมอโอลิเวอร์ 

อย่างหนังเรื่อง AWAKENINGS เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร

หนังเล่าว่า เขาได้ไปที่รพ.เล็กๆ แห่งหนึ่งมีคนไข้ 80 คน ทุกคนนั่งนิ่งไม่ขยับ เหม่อลอย บางคนโยกตัว สั่นมือ ไม่รับรู้ไม่ตอบสนอง บางคนนอนนิ่งมองเพดานทั้งวัน อยู่อย่างนี้มา 30-40 ปี จนคุณหมอโอลิเวอร์ไปเจอ แล้วพบว่าเป็นไข้สมองอักเสบ คุณหมอเข้าไปคุยกับหมอและพยาบาลว่ามีช่วงไหนบ้างที่เห็นความมีชีวิตของพวกเขา 

โลกพิศวงของ“สมอง” กับหมอกิ๊ก-ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์

คำตอบคือมีบางคนที่พอเปิดเพลงแล้ว มีปฎิกิริยาโต้ตอบเสียงเพลง

เขาเลยให้ทดลองยาตัวหนึ่งชื่อว่า ไอโดป้า ที่รักษาคนเป็นพาร์กินสัน แต่ยุคนั้นยังเป็นยาใหม่ พอให้ปุ๊บ เกิดปาฏิหาริย์จากคนที่นิ่งนั่งมองเพดานมา 30-40 ปี อยู่ดีๆ ก็ลุกขึ้นเดิน ตบมือ ยิ้ม ดีใจ ผ่านไปสองวันคุยจ้อไม่หยุดเลย แล้วก็มาเต้นรำกัน มีงานปาร์ตี้ ซึ่งมันมหัศจรรย์มาก 

นี่คือสิ่งที่โอลิเวอร์เห็นว่ามีคุณค่า ควรจดบันทึกและถ่ายทอดออกมาให้สังคมได้รับรู้ ที่สำคัญ น่าสนใจไม่เฉพาะวงการแพทย์ เพราะมันไม่ได้แตะแค่เรื่องของสมอง แต่ตั้งคำถามว่า มนุษย์คืออะไร

มีบทไหนที่คุณหมอชอบบ้าง

มีบทหนึ่ง คุณหมอโอลิเวอร์ได้รักษา DR.P ผู้มีภาวะการมองเห็นเหมือนจะเป็นปกติ แต่เขามักไปคุยกับหัวดับเพลิงข้างถนน ไปลูบหัวนึกว่าเป็นเด็กน้อย มองเห็นสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง เรียกว่าภาวะ Agnosai (แอคโนเซีย) รับรู้แต่ไม่รู้จัก 

ผมเคยเจอคุณป้าคนหนึ่ง มาหาด้วยอาการอ่อนแรง แต่ตรวจแล้วก็ไม่เห็นว่าอ่อนแรงเลย เอาไฟฉายส่องตาดูแรงดันในสมอง ดูแล้วก็ยังไม่เจอสาเหตุ ก็ทิ้งช่วงหันมาเขียนประวัติสักพัก พอหันไป ป้ายังใส่แว่นไม่เสร็จ แกใส่แว่นแนวตั้ง ขาข้างหนึ่งจิ้มหน้าผาก อีกข้างจิ้มคาง แล้วบอกว่า นี่ล่ะ มันไม่มีแรง

หมอก็เลยอ๋อ ! เขาไม่รู้วิธีขยับร่างกาย หมอเลยทดสอบทางการแพทย์ถอดกระดุมป้าเม็ดหนึ่ง แล้วเห็นว่า ป้ามีปัญหาเรื่องการกลัดกระดุม นี่คือภาวะ อีแพคเซีย การวางแผนเคลื่อนไหว เป็นภาคกลับกันของ DR.P ที่มองเห็นแต่ไม่รู้จัก ส่วนเคสนี้ขยับได้ แต่ทำไม่เป็น

โลกพิศวงของ“สมอง” กับหมอกิ๊ก-ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์

พอคุณหมอโอลิเวอร์ให้ DR.P ดูดอกกุหลาบ เขาตอบว่า มันเป็นแท่งยาวๆ สีเขียว มีแผ่นสามมิติซับซ้อนสีแดง แต่พอให้ดมปุ๊บ ก็รู้ได้ทันทีว่านี่คือดอกกุหลาบ

แสดงว่าสัมผัสอื่นยังโอเค วิธีแก้ไขก็มาเลย พอหมอตรวจเสร็จเขาจะกลับบ้าน ก็ไปจับหัวเมียยกขึ้นมาใส่ นึกว่าหัวภรรยาเป็นหมวก แล้วหน้าเมียก็แบบว่า มันก็เป็นอย่างนี้แหละ กูเป็นหมวกมาหลายทีแล้ว

ในความเจ็บป่วยของ DR.P ตัวเขาเองไม่ได้รับรู้ว่าเป็นปัญหา นี่คือประเด็นเกี่ยวข้องกับมาตรฐานของความปกติ ว่าอะไรที่เรียกว่าคนปกติ หรือความเป็นปกติ  หมอจะมีตำราเล่มหนึ่งที่บอกว่าอันนี้คือปกติ ส่วนอันนี้คือไม่ปกติ แล้วพอเรารู้ว่าตรงนี้ไม่ปกติ เราก็ตั้งชื่อโรค

คุณหมอโอลิเวอร์เป็นคนแรกๆ ที่ได้ปฏิวัติการรักษาแบบเดิมๆ เขาทำอย่างไร

ปกติแล้ว หมอส่วนใหญ่เป็นฝ่ายตั้งรับแล้วคนไข้เป็นฝ่ายรุก แต่คุณหมอโอลิเวอร์มีไอเดียว่า ถ้าจะรู้จักคนไข้ต้องไปในที่ๆ เขาอยู่ เราจะเข้าใจผลกระทบที่มีต่อโรคจริงๆ 

เขาเลยไปขอกินข้าวบ้านคนไข้ แล้วได้เห็นอะไรเยอะมากที่เป็นศูนย์กลางในชีวิตเขา เขาจัดบ้านยังไง เขามีพฤติกรรมยังไง อย่าง DR.P ทานข้าวไปฮัมเพลงไปด้วย แต่พอมีอะไรมาเบี่ยงเบนเขาปุ๊บ หยุดร้องเพลง แล้วก็ทานข้าวต่อไม่ได้เลย

ผมเคยเห็นคนที่มีอาการเกร็งร่างกาย บางคนคอตึง เดินคอแข็งมาเลย ยาที่ช่วยคือ ยาคลายกล้ามเนื้อ กินแล้วง่วง ส่วนวิธีถัดมาคือ ฉีดโบท็อกซ์ ฉีดแล้วจะอ่อนแรง ตีนกาเกิดไม่ได้เพราะอ่อนแรง ไม่มีอาการเกร็ง กล้ามเนื้อตรงหน้าผากก็ขยับไม่ได้ หน้ามันก็จะเรียบ ถ้าให้ย่นหน้าก็ย่นไม่ได้ มันทำงานอย่างนี้ พอสามเดือนก็หายไป

หรือนำเขามาบำบัดด้วย การเต้น ให้ขยับร่างกาย ใช้ศิลปะประกอบดนตรี หรือ การปลูกต้นไม้ นำไปสู่การเข้าถึงความจริงในชีวิตที่สงบสุข คืนสู่ธรรมชาติ ก็เป็นหนทางหนึ่ง เพราะมนุษย์สมัยนี้ สัมผัสธรรมชาติลดลง ไปให้ความสำคัญกับเรื่องตรรกะ เหตุผล วนไปวนมา เหมือนสร้างโลกจำลองขึ้นมา แล้ววนอยู่ในนั้น ต้องทิ้งมันไปบ้าง

โลกพิศวงของ“สมอง” กับหมอกิ๊ก-ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ ดร.นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์

มีโรคสมองแบบไหนแปลกๆ บ้าง

มีบทหนึ่ง คุณยายอายุ 90 มาหาหมอแล้วบอกว่า เป็นอะไรไม่รู้ อยู่ดีๆ ก็รู้สึกระชุ่มกระชวยขึ้นมา แล้วก็ชอบดูหนุ่มๆ รู้สึกเหมือนได้เป็นสาวอีกรอบ เมื่อ 70 ปีก่อนเคยทำงานให้บริการทางเพศ แล้วติดเชื้อซิฟิลิส กินยาฆ่าเชื้อแล้ว แต่โรคมันคงไปกบดานที่ไหนสักแห่ง แล้วกลับมาทำให้พฤติกรรมเปลี่ยน 

หมอก็ให้ไปตรวจ ผลปรากฎว่า เป็นตามที่ยายพูดจริงๆ นี่เป็นครั้งแรกที่ค้นพบว่า คนเป็นซิฟิลิส หายไป 70 ปีแล้วมันกลับขึ้นมาใหม่ได้ เพราะมันไปอยู่ในตำแหน่งที่การกำจัดเชื้อทำได้ยาก โดยเฉพาะระบบประสาท ที่มีประตูแน่นหนา

ผมก็เคยเจอคนไข้ที่เป็นเอชไอวีขึ้นไปอยู่ในสมอง มาด้วยอาการแบบคุณยาย เห็นตูดต้องจับ แต่เป็นคุณลุง ลูกสาวพามา บอกว่าช่วงนี้นิสัยเปลี่ยน จากปกติเป็นคนไม่ค่อยพูด เงียบๆ ทำงาน ตอนนี้พูดเยอะ ทะลึ่ง เห็นตูดไม่ได้ เราต้องเรียนรู้จากคนใกล้ชิดเขาด้วย จะใช้มุมมองเราอย่างเดียวไม่ได้ ก็ให้ยาจะได้ไม่เป็นอีก แต่ถ้าเข้าสู่ระบบส่วนกลางก็ยากนิดหนึ่ง

มีโรคสมองแบบไหนที่มีผลกับการทำงานบ้าง

มีบทหนึ่ง ผู้ชายชื่อว่าเรย์ มีงานอดิเรกชอบตีกลอง มีภาวะ Tic Tourette คนที่เป็นจะกระตุกร่างกายเป็นพักๆ หรือส่งเสียงกระแอม ถ้าเป็นเยอะหน่อยก็เป็นคำที่ไม่สุภาพ เขาจะควบคุมได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แล้วมันจะระเบิดออกมา จากนั้นคลี่คลาย กลับไปเป็นใหม่ 

ปัญหาไม่ได้เกิดจากการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเดียว เป็นเรื่องของแรงขับในร่างกายมากกว่า ทำให้มีปัญหาในการใช้ชีวิต ทำงานไปได้สักพัก ก็ถูกไล่ออก เป็นความล้มเหลวของชีวิต

เหมือนโจ๊กเกอร์ ที่มีภาวะ Pseudobulbar Affect (ซูโดบัลบาร์พัลซี) หัวเราะ ร้องไห้ อย่างไม่มีเหตุผล ถึงเราจะติดป้ายบอกคนอื่นว่าเราเป็นโรคนี้ แต่มันก็เชื่อยาก เพราะว่าขอบแดนของโรคทางจิตเวชกับโรคทางสมอง มันมีจริงหรือ คนคิดว่าสมองกับจิตใจแยกขาดกัน

หมอก็ให้ยารักษากับเรย์ไป รักษาได้ไม่นาน กลับมาแผลเต็มหน้าเลย เพราะเขาเห็นประตูหมุนแล้วจะกระโจนเข้าไป และยาก็ทำให้เขาตีกลองได้ไม่เหมือนเดิม เขารู้สึกว่าถ้าอยู่แบบเดิมก็ไม่ดี แต่ถ้าพรากสิ่งนี้ไป ก็ไม่ใช่ตัวเขาอีกต่อไป แล้วเขาจะเป็นใคร

คุณหมอใช้วิธีนั่งคุยเปิดใจรับยา คุยเสร็จให้ยาไปโดสเดิม กลับมาใหม่ก็ไม่มีแผลอย่างเดิมแล้ว มันมีความรู้สึกความนึกคิดเข้ามาเป็นปัจจัยด้วยว่าถ้าคุณพร้อมรับยา 

ผลอาจจะไม่ใช่ A+B= C แต่เป็น D ก็ได้ เรย์จึงกินยาเฉพาะวันทำงาน ส่วนวันหยุดไปตีกลองก็ไม่กิน นี่คือความพยายามในการรักษา ถ้าเราหาสูตรเจอ มันก็ตอบโจทย์ชีวิตหลายๆ ด้าน ทั้งชีวิตจิตใจและการทำงาน โลกพิศวงของ“สมอง” กับหมอกิ๊ก-ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์

โรคทางสมองที่น่าพิศวง มีไหม

เวลาสมองสื่อสารกัน จะทำงานด้วยภาษาหลายๆ แบบ แต่ละส่วนต้องประสานสอดคล้อง มีจังหวะขึ้นลงแต่ละตอนไม่เหมือนกัน มีการเคลื่อนไหวซับซ้อนมาก ยาช่วยได้ส่วนหนึ่ง ไม่ได้ทำให้สมบูรณ์มาก

ในหนังสือมีบทหนึ่งเล่าถึง สาวอินเดียที่มีอาการชัก แล้วหลุดไปอยู่อีกโลกหนึ่ง สายตาเหม่อลอยเหมือนอยู่ในโลกความฝัน แล้วบอกว่าตอนนี้ตัวเองอยู่ในบ้านเกิดที่อินเดีย ทั้งๆ ที่อยู่รพ. เธอมีก้อนเนื้อในสมองที่โต แล้วไปเบียดสมองส่วนขมับ ที่รวบรวมประสาทสัมผัสทั้งหลายเชื่อมกับความทรงจำ พอมันช็อตก็พาไปโผล่ที่ความทรงจำหลุดไปในภวังค์มีความสุขมากกว่าโลกความเป็นจริง

ส่วนอีกบทหนึ่ง มีคุณยายสองคน ตื่นมากลางดึก เพราะได้ยินเสียงดนตรีในหู เป็นเพลงเก่าๆ ตอนแรกก็ตกใจว่าใครมาเปิดเพลง เดินหาวิทยุทุกเครื่องก็ไม่ได้เปิด แล้วเพลงที่เปิดก็เป็นเพลงที่ชอบทั้งนั้นเลย 

ยายก็ไปหาหมอ พบว่าเกิดความผิดปกติไฟฟ้ารั่วในสมองส่วนความจำ มีจุดหนึ่งไปกระตุ้นเพลย์ลิสต์ในสมอง เพลงมันก็ขึ้นมาตลอด จนยายคุยกับหมอไม่ได้ ต้องรอเพลงจบก่อน พอเพลงจบแล้วหมอต้องรีบคุย

ผมเคยมีคนไข้คนหนึ่งไฟฟ้ารั่วตำแหน่งนี้  สมองของเขากลับไปอยู่ช่วงสมัยประถม เขาเห็นภาพเพื่อนกับคุณครู คุณครูก็ค่อยๆ ลอยเข้ามาใกล้ พอมาถึงหน้าก็จะหมดสติทุกครั้ง

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มแรกที่ผมแปล ผมตั้งใจมาก ผมรักหนังสือเล่มนี้มาก ถ้าให้เลือกหนังสือแปลได้แค่หนึ่งเรื่องในชีวิตนี้ ต้องเล่มนี้เลย ก็อยากให้ลองอ่าน

..................

รับฟังการพูดคุยเต็มๆ ได้ที่ https://www.witcastthailand.com/witcast-105/ หรือ podcast ช่อง WiTcast

วิดิโอไลฟ์ https://www.youtube.com/watch?v=v4wY0eoGK7I