บรูซ แกสตัน จากอเมริกาสู่ศิษย์ครูระนาดเอกเจ้าของฉายา “ไข่มุกหล่นบนจานหยก”

บรูซ แกสตัน จากอเมริกาสู่ศิษย์ครูระนาดเอกเจ้าของฉายา “ไข่มุกหล่นบนจานหยก”

บรูซ แกสตัน นักดนตรีชาวอเมริกัน ถนัดเครื่องดนตรีตะวันตกตั้งแต่วัยเด็ก แต่ทำไมจึงมีความเชี่ยวชาญระนาดเอก ก่อตั้ง "วงฟองน้ำ" และสร้างคุณูปการกับวงการดนตรีไทยร่วมสมัย

เช้าวันที่ 17 ตุลาคม 2564 วงการดนตรีไทยร่วมสมัย ทราบข่าวการสูญเสียบุคคลสำคัญครั้งใหญ่ เฟซบุ๊กศิลปินหลายท่าน ผู้ใกล้ชิด บุคคลซึ่งเคยร่วมงาน ลูกศิษย์ ตลอดจนผู้เคารพนับถือและชื่นชอบในผลงานต่างโพสต์ข้อความอาลัยการจากไปของ บรูซ แกสตัน (Bruce Gaston) หนึ่งในปรมาจารย์ดนตรีไทยร่วมสมัยและผู้ร่วมก่อตั้งวงดนตรี ‘ฟองน้ำ’ ปรากฏการณ์อันลือลั่นแห่งยุคสมัยของวงการดนตรีไทยร่วมสมัย

เฟซบุ๊กวงดนตรีฟองน้ำ โพสต์ข้อความว่า “17 ตุลาคม 2564 แปดนาฬิกา Bruce Gaston ได้ละสังขารอย่างสงบไปสู่สวรรค์ชั้นวิมานทิพย์ดนตรี วงดนตรีฟองน้ำขอกราบลาอาจารย์ด้วยหัวใจอาลัยรักอย่างสุดซึ้ง”

อาจารย์บรูซ แกสตัน เป็นชาวอเมริกัน เป็นนักดนตรีที่ถนัดเครื่องดนตรีตะวันตกตั้งแต่วัยเด็ก แต่เพราะเหตุใดจึงได้รับการยกย่องจากวงการดนตรีไทยร่วมสมัย เป็นชาวต่างชาติเพียงคนเดียวในขณะนี้ที่ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม มอบรางวัล ศิลปาธรกิตติคุณ สาขาคีตศิลป์ ประจำปีพ.ศ.2552 รักดนตรีไทย ศึกษาพุทธศาสนา และใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยจวบจนวาระสุดท้าย

บรูซ แกสตัน จากอเมริกาสู่ศิษย์ครูระนาดเอกเจ้าของฉายา “ไข่มุกหล่นบนจานหยก”

บรูซ แกสตัน เกิดที่ แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปีพ.ศ.2490 เติบโตมาในครอบครัวที่รักเสียงดนตรี สัมผัสกับความงามอัศจรรย์ของสิ่งที่เรียกว่าดนตรีมาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ สามารถเล่นเครื่องดนตรีตะวันตกได้หลายเครื่อง โดยเฉพาะ เปียโน ออร์แกน และ เพลงขับร้องประสานเสียง 

จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย (University of Southern California) เมื่อปีพ.ศ. 2512 สาขาวิชาที่ชำนาญคือ ทฤษฎีดนตรี การประพันธ์เพลง และ ปรัชญา 

ทว่าในช่วงเวลานั้นเกิด สงครามเวียดนาม ขึ้นพอดี คนหนุ่มสาวชาวอเมริกันจำนวนมากถูกส่งตัวมาประจำการยังภูมิภาคอุษาคเนย์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการทางสงคราม 

บรูซ แกสตัน จากอเมริกาสู่ศิษย์ครูระนาดเอกเจ้าของฉายา “ไข่มุกหล่นบนจานหยก”

บรูซ แกสตัน เดือนมกราคม 2557

แต่เพราะดำเนินชีวิตและปฏิบัติตนตามแนวทาง มังสวิรัต ไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามที่ต้องเบียดเบียนเพื่อนมุนษย์ เด็กหนุ่มบรูซจึงเลือกรับใช้ชาติด้วยการทำงานอื่นตามสิทธิที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญสหรัฐ

พ.ศ.2514 รัฐบาลอเมริกันส่งตัว บรูซ แกสตัน ในวัย 22 ปี เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อเป็น ครูดนตรี ซึ่งเป็นการช่วยเหลือสังคม ทำให้เขาได้พบกับจุดเปลี่ยนของชีวิตครั้งยิ่งใหญ่

ในปีนั้น บรูซ แกสตัน เริ่มทำงานเป็นครูอาสาสมัครสอนดนตรีในเขตภาคกลางตอนบน จังหวัดพิษณุโลก โดยสอนดนตรีให้เด็กชั้นประถมศึกษาโรงเรียนผดุงราษฎร์ โรงเรียนเอกชนในความดูแลกำกับของคริสตจักร

ด้วยความที่โรงเรียนไม่มีงบประมาณมากพอที่จะซื้อเครื่องดนตรีมากมายเหมือนโรงเรียนเอกชนร่ำรวยทั่วไป อาจารย์บรูซจึงค้นคิดหาวิธีที่จะสอนเด็กนักเรียนโดย ดัดแปลง ‘ไม้ไผ่’ ซึ่งเป็นวัสดุท้องถิ่น กับ ‘ขลุ่ย’ มาสร้างวงโยธวาทิต สอนเด็กนักเรียนเดินพาเหรดเท้าเปล่า และสอนให้รู้จักการเล่นดนตรีอย่างสร้างสรรค์ 

ระหว่างที่เป็นครูโรงเรียนผดุงราษฎร์นั้นเองก็ได้เกิดความสนใจใน เสียงดนตรีปี่พาทย์นางหงส์ ที่บรรเลงขณะเผาศพในป่าช้า จึงฝากตัวเป็นศิษย์นักดนตรีชาวบ้าน ได้รู้จักกับคุณค่าของเสียงดนตรีที่แตกต่างไปจากดนตรีตะวันตกที่คุ้นเคย 

อาจารย์บรูซยังได้พัฒนาความสนใจส่วนตัวไปยังด้าน พุทธศาสนา ซึ่งต่อมาทั้งดนตรีไทยและพุทธศาสนาได้กลายเป็นสิ่งหล่อหลอมให้ชีวิตของเด็กหนุ่มอเมริกันผู้นี้ดำเนินไปในทิศทางที่ไม่อาจประเมินคุณค่าได้

เมื่อเกิดโครงการสร้างหลักสูตรดนตรีระดับปริญญาตรีขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ณ วิทยาลัยพายัพ (มหาวิทยาลัยพายัพในปัจจุบัน) บรูซ แกสตัน ได้รับเลือกให้เข้าเป็นอาจารย์สอนดนตรีรุ่นแรก โดยทำหน้าที่สอนทั้งวิชาทฤษฎี ปฏิบัติ ดนตรีสร้างสรรค์ ดนตรีสำหรับเด็ก ดนตรีการละคร และดนตรีศาสนา  

บรูซ แกสตัน จากอเมริกาสู่ศิษย์ครูระนาดเอกเจ้าของฉายา “ไข่มุกหล่นบนจานหยก”

บรูซ แกสตัน และวงฟองน้ำ

การได้มาใช้ชีวิตอยู่อาศัย ณ จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ได้เรียนรู้ความหลากหลายของ ดนตรีท้องถิ่น ดนตรีล้านนาโบราณ ดนตรีชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ปะปนกันอยู่ในเขตภาคเหนือของไทย รวมทั้งรู้จักกับศิลปินพื้นบ้าน อาทิ ลุงหมอก ลุงต๋าคำ นักดนตรีตาพิการ 

ที่สำคัญคือได้พัฒนาความรู้เรื่องดนตรีไทยที่เข้มข้นขึ้น เนื่องจากในช่วงเวลาเดียวกันนั้น กรมศิลปากร เปิดสาขาวิทยาลัยนาฏศิลป์ขึ้นที่เชียงใหม่ อาจารย์บรูซจึงได้เข้าไปเรียนดนตรีไทยอย่างจริงจัง โดยหัดระนาดเอกกับ ครูสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ซึ่งเป็นครูจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ส่วนกลางส่งมาประจำการ และยังได้หัดปี่พาทย์รอบวงเพิ่มเติมจาก ครูโสภณ ซื่อต่อชาติ อดีตศิษย์ท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ซึ่งเดินทางไปพำนักอยู่กับครอบครัวทำกิจการค้าขายที่เชียงใหม่ 

พัฒนาการของการเรียนดนตรีทั้งดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้านในระยะนี้ ได้ส่งผลให้เกิดการทดลองประยุกต์ใช้ความรู้ทางดนตรีสากลกับดนตรีไทยในงานการเรียนการสอนที่วิทยาลัยพายัพ 

ผลงานเริ่มต้นที่สร้างชื่อเสียงได้แก่ อุปรากรเรื่องชูชก ซึ่งพัฒนาจากวรรณคดีชาดกทศชาติตอนพระเวสสันดร ใช้วิธีการขับร้องประสานเสียง วงดนตรีปี่พาทย์ กังสดาล และการออกแบบงานประติมากรรมขนาดใหญ่รูปชูชกบริโภคอาหารจนท้องแตกเป็นฉากละคร ผลงานโอเปร่าเรื่องนี้ได้นำออกแสดงผลงานทั้งในประเทศไทยและที่เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เริ่มปรากฏเสียงวิจารณ์ในสังคมไทยพอสมควร

บรูซ แกสตัน จากอเมริกาสู่ศิษย์ครูระนาดเอกเจ้าของฉายา “ไข่มุกหล่นบนจานหยก”

อ.บรูซและชาวฟองน้ำ ฟังเพลงที่บ้าน ดร.โดนัลด์ มิทเชลล์ นักดนตรีวิทยาคนสำคัญของอังกฤษที่ริทช์เมาท์การ์เด้น ลอนดอน พ.ศ.2530

จุดเปลี่ยนแปลงสำคัญหลังการใช้ชีวิตที่เชียงใหม่ได้ระยะหนึ่ง คือ การได้มีโอกาสร่วมงานมหกรรมดนตรีไทยอุดมศึกษา ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งในครั้งนั้น มีวงดนตรีไทยวงหนึ่งนำเพลงชื่อ ชเวดากอง มาบรรเลง ทำนองเพลงและจังหวะที่แปลกพิเศษจากเพลงไทยธรรมดาๆได้กระทบจิตใจ ทำให้เกิดความอยากรู้อยากทราบว่าเพลงนี้เป็นผลงานของใคร 

เมื่อนักดนตรีเล่าว่าผู้แต่งคือ ครูบุญยงค์ เกตุคง เป็นนักระนาดฝีมือเยี่ยมและยังมีชีวิตอยู่ ทำงานอยู่ที่วงดนตรีไทยเทศบาลกรุงเทพ อาจารย์บรูซไม่รอช้า รีบเดินทางจากเชียงใหม่มาฝากตัวเป็นศิษย์ครูบุญยงค์ ทุ่มเทเวลา แรงกาย แรงใจ ฝึกฝนดนตรีไทยกับครูบุญยงค์อย่างจริงจัง และความเมตตาของครูก็ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้อย่างไม่ปิดบัง ไม่ว่าจะ เพลงหน้าพาทย์พิธีกรรม เพลงประโคม เพลงหมู่ เพลงเดี่ยว จนมีฝีมือเยี่ยมในเชิงปี่พาทย์ โดยเฉพาะ ระนาดเอก ได้รับการถ่ายทอดวิชาเอาไว้มาก 

ครูบุญยงค์เป็นยอดนักระนาดที่เคยได้รับการยกย่องจากอดีตนายกรัฐมนตรีจีน โจว เอิน ไหล ว่ามีเสียงระนาดไพเราะประดุจ “ไข่มุกหล่นบนจานหยก” ในยามที่ท่านเดี่ยวระนาดอวดชาวจีนในการเดินทางไปเผยแพร่วัฒนธรรมเมื่อ พ.ศ.2500 

ความรู้ปี่พาทย์ของครูบุญยงค์ เป็นวิชาชั้นสูงได้สั่งสมมาจากบรรดายอดครูดนตรีไทยในอดีตทั้งสิ้น โดยเฉพาะ หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ครูเพชร จรรย์นาฏย์ ครูชื้น ดุริยประณีต ครูพุ่ม บาปุยะวาทย์ ครูหรั่ง พุ่มทองสุข ซึ่งวิชาเหล่านี้ได้ส่งต่อมาให้ บรูซ แกสตัน นำไปพัฒนางานดนตรีสร้างสรรค์อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด

การเป็นครูเป็นศิษย์ของนักดนตรีต่างชาติภาษาต่างวัฒนธรรมคู่นี้ ได้พัฒนาต่อมาเป็นวงดนตรีไทยร่วมสมัยที่สร้างตำนานให้กับประวัติศาสตร์สังคมไทยยาวนานในนามวงดนตรี “ฟองน้ำ” ในปีพ.ศ.2522

บรูซ แกสตัน จากอเมริกาสู่ศิษย์ครูระนาดเอกเจ้าของฉายา “ไข่มุกหล่นบนจานหยก” ปฐมบทวงฟองน้ำ 

ครูซึ่งเป็นแม่แบบความรู้ในเชิงทฤษฎีดนตรีไทย ประวัติศาสตร์ดนตรีไทยที่สำคัญอีกท่านคือ ครูมนตรี ตราโมท ซึ่งวงการศิลปวัฒนธรรมไทยยกย่องในความเป็นปราชญ์ของท่านผู้นี้ ทำให้การศึกษาดนตรีไทยของบรูซ แกสตัน มีความเข้มแข็งมั่นคงทั้งทางศิลป์และศาสตร์ 

เมื่อนับย้อนหลังไปยังครูดนตรีสมัยที่อยู่อเมริกา อาทิ จอห์น เคจ นักประพันธ์เพลงหัวก้าวหน้าและนักปรัชญาดนตรีคนสำคัญ, ชาร์ล ไอวฟ์ อดีตครูดนตรีอีกท่านที่บรูซให้ความเคารพนักถือ ก็ทำให้วิถีทางชีวิตของเขาที่เรียนรู้อยู่ในประเทศไทยแห่งนี้เป็นชีวิตที่มีความหมายยิ่งใหญ่มาก

นอกจากรักษาวิชาที่เป็นมรดกอดีต บรูซ แกสตันยังได้ริเริ่มสร้างพื้นที่และกิจกรรมใหม่ทางดนตรีร่วมสมัย โดยขั้นต้นก่อตั้ง วงดนตรีภาคีวัดอรุณ ร่วมกับ ดนู ฮันตระกูล, สมเถา สุจริตกุล เพื่อเปิดโอกาสให้สังคมไทยรู้จักกับดนตรีร่วมสมัยที่เกิดจากฝีมือคนไทยและความคิดใหม่ๆที่แลกเปลี่ยนกันอยู่ในโลกกว้างขณะนั้น 

อย่างไรก็ตาม วงดนตรีที่ถือว่าเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่แท้จริงของ บรูซ แกสตัน กับ ครูบุญยงค์ เกตุคง ร่วมกันคือ วงฟองน้ำ  ซึ่งเริ่มต้นสร้างผลงานสู่สาธารณชนอย่างจริงจังมาตั้งแต่ราว พ.ศ.2524 จนถึงปัจจุบัน มีสมาชิกร่วมก่อตั้งคือ จิรพรรณ อังศวานนท์ 

นักดนตรีที่ร่วมวง ‘ฟองน้ำ’ จำนวนมากเป็นทั้งนักดนตรีไทย นักดนตรีสากล ที่มีพื้นฐานทางดนตรีหลากหลาย มาร่วมเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันและสร้างงานใหม่ร่วมกัน นักดนตรีรุ่นแรก อาทิ ครูบุญยัง เกตุคง, ครูจำเนียร ศรีไทยพันธ์, สินนภา สารสาส มาจนถึงนักดนตรีรุ่นหลังอีกมากมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ อาทิ ละมูล เผือกทองคำ, พิณ เรืองนนท์, สมชาญ บุญเกิด, ประสาร วงศ์วิโรจน์รักษ์, ไกวัล กุลวัฒโนทัย, อานันท์ นาคคง, บุญรัตน์ ศิริรัตนพันธ, จิระเดช เสตะพันธุ์, ดำริห์ บรรณวิทยกิจ, แมนรัตน์ อรุณรุ่ง, มนตรี คล้ายฉ่ำ, สกล บุญศิริ ฯลฯ 

บรูซ แกสตัน จากอเมริกาสู่ศิษย์ครูระนาดเอกเจ้าของฉายา “ไข่มุกหล่นบนจานหยก”

บรูซ แกสตัน และวงฟองน้ำ รำลึกครูบุญยงค์ เกตุคง ที่วัดพระพิเรนทร์ 12 ก.ย.2539

ผลงานวง ‘ฟองน้ำ’ มีทั้งงานแสดงดนตรีสด งานบันทึกเสียง งานเพลงประกอบละคร เพลงประกอบภาพยนตร์ และงานสร้างสรรค์ร่วมกับศิลปินระดัลโลกมากมายตลอดช่วง 30 ปีของวงดนตรีที่เป็นตำนานวงนี้

อาจารย์บรูซ แกสตัน ได้ย้ายจากเชียงใหม่มาเป็นอาจารย์สอน วิชาดนตรีการละคร ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีผลงานเพลงประกอบละครสำคัญๆ ฝากไว้หลายชิ้นด้วยกัน เช่น พรายน้ำ คนดีที่เสฉวน อีดีปุสจอมราชันย์ แม่ค้าสงคราม พระสังข์-อิฟิกานีย์ เป็นต้น 

นอกจากวิชาละครเพลงที่สอนให้กับนิสิตคณะอักษรศาสตร์แล้ว ยังเป็นอาจารย์พิเศษ วิชาทฤษฎีเรียบเรียงเสียงประสานและการประพันธ์เพลง ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งบรรยาย วิชาอารยธรรม ในหัวข้อปรัชญาดนตรี

ภายหลังได้ลาออกจากอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย ดำเนินชีวิตเป็นศิลปินอิสระเต็มตัวและพัฒนางานสร้างสรรค์ผ่านวงดนตรีฟองน้ำในเชิงศิลปะอย่างกว้างขวาง

บรูซ แกสตัน จากอเมริกาสู่ศิษย์ครูระนาดเอกเจ้าของฉายา “ไข่มุกหล่นบนจานหยก” วงฟองน้ำ ทำเพลงประกอบภาพยนตร์เงียบเรื่อง ช้าง (Chang) ถ่ายทำและกำกับโดย Merian C. Cooper and Ernest B. Schoedsack (1927) เรียบเรียงดนตรีใหม่โดยบรูซ แกสตัน ราวพ.ศ.2529
 

ผลงานเด่นๆ ของ บรูซ แกสตัน ที่ควรกล่าวถึงมีมากมาย ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างงานสำคัญในเชิงสร้างสรรค์บางชิ้นดังนี้

  • พ.ศ. 2525 ประพันธ์เพลง เจ้าพระยาคอนแชร์โต ร่วมฉลองกรุงเทพมหานครอายุครบ 200 ปี บทเพลงนี้ได้นำเสนอมิติของดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีไทย ดนตรีไฟฟ้า ที่จัดวางเสียง จังหวะ ในพื้นที่และเวลาที่แตกต่างกัน รวมทั้งการประยุกต์พุทธปรัชญาเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์งานซึ่งยังปรากฏต่อเนื่องในผลงานชิ้นอื่นๆ อาทิ มรรคแปด อริยสัจสี่
  • พ.ศ. 2525 เพลงอาหนู สำหรับ Prepared Piano ระนาดทุ้ม และดนตรีไฟฟ้า แสดงในงานรำลึกจอห์น เคจ ณ มหานครนิวยอร์ก
  • พ.ศ. 2530 นำวงดนตรีฟองน้ำ ร่วมเทศกาลมหกรรมดนตรีราชสำนัก ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นการเดินทางครั้งสำคัญของครูดนตรีอาวุโสของวงการดนตรีไทยไปร่วมกันนำเสนอบทบาทหน้าที่ของดนตรีไทยในระบบบอุปถัมภ์ของราชสำนักซึ่งมีผลอย่างยิ่งต่อการพัฒนาดนตรีไทยในรอบหลายร้อยปีที่ผ่านมา
  • พ.ศ. 2530 ประพันธ์เพลง Thailand the golden Paradise เพื่อเฉลิมฉลองปีท่องเที่ยวไทย และถือเป็นเพลงหลักในการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยทั่วโลกนับแต่นั้นมา
  • พ.ศ. 2552-54 สร้างโอเปรา A Boy and A Tiger ทำการสอนดนตรี ประพันธ์เพลง กำกับการแสดง ให้กับกลุ่มเยาวชนบ้านเกดาร์ ซึ่งเป็นผลงานการทลายกำแพงอคติต่อผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ บรูซ แกสตัน ทุ่มเทพลังในการสร้างสรรค์มากที่สุดชิ้นหนึ่ง

ยังมีผลงานสร้างสรรค์สำคัญอีกจำนวนมากที่สะท้อนถึงความรู้ความคิดที่มีรากฐานจากการเข้าใจอดีต ปัจจุบัน อนาคต เข้าใจวิถีของโลกตะวันตก ตะวันออก โลกของจิต โลกของวัตถุ คุณค่าของดนตรีไทย คุณค่าของดนตรีสากล คุณค่าของดนตรีชาติพันธุ์ คุณค่าของดนตรีพื้นบ้านพื้นเมือง คุณค่าของดนตรีสมัยนิยม คุณค่าของดนตรีสังเคราะห์ และการผสมผสานศิลปะทุกส่วนให้สอดคล้องกับการก้าวไปในโลกปัจจุบัน อันเป็นรากฐานสู่ความก้าวหน้าที่เข้มแข็งในอนาคตของวงการดนตรีไทย

ขอเผยแพร่เกียรติคุณและแสดงความอาลัย อ.บรูซ แกสตัน มา ณ ที่นี้


ขอบคุณข้อมูลและภาพ : เฟซบุ๊ก Fong Naam – วงดนตรีฟองน้ำ