21 ต.ค. "ออกพรรษา" วันหยุดภาคกลาง 17 จังหวัด! รู้จัก "วันหยุดประจำภาค" หลักเกณฑ์เป็นอย่างไร

21 ต.ค. "ออกพรรษา" วันหยุดภาคกลาง 17 จังหวัด! รู้จัก "วันหยุดประจำภาค" หลักเกณฑ์เป็นอย่างไร

"วันหยุดประจำภาค" คืออะไร? โดยเฉพาะ "วันออกพรรษา" ปีนี้ 21 ต.ค. 64 รัฐบาลกำหนดให้เป็น "วันหยุดประจำภาคกลาง" ทำให้ผู้ที่ทำงานในหน่วยงานรัฐในพื้นที่ภาคกลาง (กทม. + 17 จังหวัด) มี "วันหยุดยาว" 4 วันคือ 21-22-23-24 ต.ค. 64

สุดสัปดาห์นี้ จะมี "วันหยุดยาว" ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2564 อยู่หลายวัน โดยเฉพาะวันหยุดราชการกรณีพิเศษ ที่เรียกว่า "วันหยุดประจำภาค" ที่เพิ่งจะมีขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ แต่ทั้งนี้ วันหยุดประจำภาคไม่ได้กำหนดให้หยุดเหมือนกันทุกคน ทำให้วันหยุดยาวคราวนี้บางคนได้หยุด 3 วัน แต่บางคนก็ได้หยุด 4 วัน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมาเช็ครายละเอียดเรื่องนี้กันชัดๆ ดังนี้

1. วันหยุดประจำภาค คืออะไร?

มีข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊ค "ไทยคู่ฟ้า" การกำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ แบบหยุดทั้งประเทศ และวันหยุดราชการประจำภาค ประจำปี 2564 เป็นการเฉพาะนั้น กำหนดขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในปีนี้ 

โดยวันหยุดประจำภาคของปี 2564 ได้แก่

  • ภาคเหนือ : วันศุกร์ที่ 26 มี.ค. 64 (ประเพณีไหว้พระธาตุ)
  • ภาคอีสาน : วันจันทร์ที่ 10 พ.ค. 64 (ประเพณีงานบุญบั้งไฟ)
  • ภาคใต้ : วันพุธที่ 6 ต.ค. 64 (ประเพณีสารทเดือนสิบ)
  • ภาคกลาง : วันพฤหัสบดีที่ 21 ต.ค. 64 (เทศกาลออกพรรษา)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

2. วันหยุดประจำภาค ใช้เกณฑ์การหยุดแบบไหน?

วันหยุดประจำภาคกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า หากวันหยุดมีขึ้นที่ภาคไหน ก็ให้หยุดเฉพาะภาคนั้น และ "หยุดเฉพาะหน่วยงานของรัฐ" โดยดูจากสถานที่ตั้งของหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ โรงเรียน ว่าอยู่ในจังหวัดไหน ก็ให้หยุดตามวันหยุดประจำภาคนั้น เท่ากับว่า 1 คน จะมีวันหยุดประจำภาค 1 วัน

ส่วนพนักงาน ลูกจ้าง ของภาคเอกชนและธนาคารให้พิจารณาตามความเหมาะสม แต่รัฐบาลก็ขอความร่วมมือเพื่อให้เกิดความพร้อมเพรียงกัน

 

3. วันหยุดประจำภาคกลาง "ออกพรรษา" 2564 ใครได้หยุดบ้าง?

สำหรับประเด็นนี้มีรายละเอียดจาก สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ส่งหนังสือเวียนถึงหน่วยงานส่วนราชการ เรื่องวันหยุดราชการชดเชยและวันหยุดราชการประจำภาคในเดือนตุลาคม 2564 ระบุว่า วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นวันหยุดราชการประจำภาคกลางนั้น หมายถึง กรุงเทพมหานคร และจังหวัดในภาคกลาง อีก 17 จังหวัดเท่านั้น

โดยกำหนดจังหวัดตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ เรื่อง การจัดตั้งกลุ่มจังหวัดและกําหนดจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 

 

4. สรุปวันหยุดยาว ตุลาคม 2564 ใครได้หยุด 4 วัน?

สรุปว่า ผู้ที่ทำงานใน 'หน่วยงานราชการ' ที่อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง จะได้หยุดยาว 4 วันคือ วันที่ 21-22-23-24 ตุลาคม 2564

ส่วนผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ แต่ไม่ได้ทำงานในหน่วยงานราชการ (ทำงานเอกชน) รวมถึงประชาชนภาคอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาคกลาง ก็จะได้หยุดยาว 3 วัน คือ 22-23-24 ตุลาคม 2564

5. พื้นที่ภาคกลาง กทม. + 17 จังหวัด มีจังหวัดไหนบ้าง?

สำหรับพื้นที่ "ภาคกลาง" ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัด และกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ เรื่อง การจัดตั้งกลุ่มจังหวัดและกําหนดจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด (ฉบับที่ 3) ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร และอีก 17 จังหวัด ได้แก่ 

1.นนทบุรี 2.ปทุมธานี 3.นครปฐม 4.สมุทรปราการ 5.ชัยนาท  6.พระนครศรีอยุธยา 7.ลพบุรี 8.สระบุรี 9.สิงห์บุรี 10.อ่างทอง 11.กาญจนบุรี 12.ราชบุรี 13.สุพรรณบุรี 14.ประจวบคีรีขันธ์  15.เพชรบุรี 16.สมุทรสงคราม และ 17.สมุทรสาคร

ทั้งนี้ จังหวัดในภาคตะวันออก 8 จังหวัด ที่ประกอบด้วย 1.ฉะเชิงเทรา 2.ชลบุรี 3.ระยอง 4.จันทบุรี 5.ตราด 6.นครนายก 7.ปราจีนบุรี และ 8.สระแก้ว ไม่นับว่าเป็นภาคกลาง